พลังงานนิวเคลียร์ที่กระเทือนอาชีพหมอฟัน : โดย ทพ.สมชัย สุขสุธรรมวงศ์

การทำอะไรเพื่อชนหมู่มาก บางครั้งก็อาจส่งผลกระทบถึงชนบางกลุ่มอย่างคาดไม่ถึง ดังเช่นพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ซึ่งผ่านออกมาเป็นกฎหมายตามที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 133 ตอนที่ 67 ก เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2559 โดยมีสาระสำคัญคือการปรับปรุง พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ.2504 ที่ได้บังคับใช้มาเป็นเวลานานแล้ว เพื่อให้บทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันได้รับการแก้ไข

เพราะปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีรังสีและนิวเคลียร์ จึงจำเป็นที่ต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและมั่นคงทางนิวเคลียร์และรังสี และการพิทักษ์ความปลอดภัยทางนิวเคลียร์เพื่อคุ้มครองประชาชนและสิ่งแวดล้อม เช่นขยะหรือกากกัมมันตรังสีต่างๆ และเพื่อให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์สากลที่เกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์

จะเห็นว่าเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 นี้ คือความทันสมัยเพื่อรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต เพื่อความปลอดภัยของประชาชน แต่ในส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัติฉบับนี้ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการร่างกฎกระทรวงในประเด็นปลีกย่อยเพื่อเป็นกฎหมายใช้บังคับ ได้มีบางมาตราที่มีผลกระทบต่อวิชาชีพทันตแพทย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เนื่องจากทันตแพทย์ที่ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะในภาคเอกชน ในคลินิก จำเป็นต้องครอบครองเครื่องกำเนิดรังสี ที่เรียกกันง่ายๆ ว่า เครื่องเอกซเรย์ฟัน ทำให้ทันตแพทย์ผู้ใช้งานเครื่องเอกซเรย์ทุกคนต้องไปขึ้นทะเบียนเพื่อสอบขอใบอนุญาตการเป็นเจ้าพนักงานความปลอดภัยรังสี หรือไม่ก็ต้องจัดหาเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยรังสีมาควบคุมการใช้งานเครื่องมือดังกล่าว

Advertisement

ผู้เขียนจึงเห็นว่าก่อนที่ผู้เกี่ยวข้องกับการร่างกฎหมายย่อยตามพระราชบัญญัตินั้น จะได้ดำเนินการอย่างไรควรจะได้ทราบข้อเท็จจริงของวิชาชีพทันตแพทย์ให้ชัดเจน เพื่อความเป็นธรรมในการออกกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นประโยชน์และเป็นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องของประชาชนที่มีต่อวิชาชีพทันตแพทย์

ศาสตร์ในการตรวจวินิจฉัยโรคทางการแพทย์เกี่ยวกับฟันตั้งแต่ครั้งในอดีต ได้อาศัย การคลำ เคาะ เขี่ย ซักประวัติอาการจากคำให้การของผู้ป่วย เช่นข้อมูลด้านระยะเวลา ข้อมูลของปัจจัยอะไรที่เป็นเหตุนำในการทำให้เกิดอาการ เป็นหลักใหญ่ในการวินิจฉัย และหากการตรวจวินิจฉัย ตามหลักการใหญ่ที่กล่าวมาไม่เพียงพอ ก็มีภาพถ่ายรังสี เพื่อนำมาประกอบการวินิจฉัยโรค ดังนั้นภาพถ่ายรังสีจึงเป็นข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่ช่วยยืนยันในยามที่ข้อมูลจากการวินิจฉัยเบื้องต้นยังไม่แน่นหนาพอ แต่ภาพถ่ายรังสีก็ไม่ใช่ข้อมูลหลักที่ต้องมีก่อนการวินิจฉัยปกติ

และเมื่อวิชาการด้านทันตกรรมที่พัฒนาก้าวหน้าไปมาก จึงมีศาสตร์ใหม่ๆ เกิดขึ้น เป็นการรักษาและฟื้นฟูสภาพที่ซับซ้อนมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีที่มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น บทบาทของภาพถ่ายรังสีเพื่อประกอบการวินิจฉัยจึงมีมากขึ้น แต่ศาสตร์ทางทันตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ที่ต้องพึ่งพิงภาพถ่ายรังสีนั้น ก็เป็นการตอบสนองผู้ป่วยเฉพาะกลุ่มหนึ่งที่มีทางเลือกในการรักษา และฟื้นฟูสภาพที่หลากหลายมากขึ้น เพราะผูกพันกับค่าใช้จ่าย

Advertisement

ต่อมาทันตแพทย์บางท่านก็เล่นบทบาทเดียวเพื่อลงในเชิงลึกทางวิชาการ เช่นบทบาทการฟื้นฟูบทบาทการรักษาที่ซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ เพื่อสนองต่อความต้องการของผู้ป่วยบางกลุ่มที่เรียกร้องบริการที่นอกเหนือออกไปจากการบริการตามมาตรฐานปกติ

เนื่องจากในการปฏิบัติทางการทันตแพทย์นั้นเป็นศาสตร์สาธารณสุขหนึ่ง ที่ประกอบด้วย การส่งเสริม การป้องกัน การรักษา และการฟื้นฟูสภาพ ผู้ป่วยมาหาหมอ โดยมากมักมาด้วยเหตุคือความไม่ปกติสุข เช่น เคี้ยวเจ็บ เคี้ยวแล้วเสียวฟัน มีอาการปวดที่เหงือกบ้างที่ฟันบ้าง เศษอาหารติดฟันจนเหงือกบวมบ้าง เคี้ยวอาหารไม่ได้บ้าง ต้องการให้หมอช่วยบำบัดบรรเทาความทุกข์ทางกายนี้ มีส่วนน้อยที่เข้ามาหาหมอเพียงเพราะต้องการตรวจปกติ ทั้งหมดนี้คือธรรมชาติโดยทั่วไป

อาจมีข้อสงสัยว่า การทำงานของหมออย่างไร เรียกการส่งเสริม อย่างไร เรียกป้องกัน หรือรักษา หรือฟื้นฟูสภาพ ผู้เขียนใคร่อธิบายเพื่อให้เห็นภาพดังนี้

หมอตรวจคนไข้และอธิบายถึงการรู้จักดูแลตนเอง ด้วยการเลือกใช้แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ที่เหมาะกับตนเอง รู้จักการใช้อุปกรณ์อื่นๆ ที่ช่วยทำความสะอาด อย่างนี้เราเรียกว่า หมอกำลังทำหน้าที่ ส่งเสริม ให้คนไข้มีความรู้ในการดูแลตนเอง

หมอตรวจคนไข้และอธิบายถึงความเสี่ยงของฟันบางซี่ที่อาจผุได้ง่ายในอนาคต เช่นร่องฟันลึก จึงจำเป็นต้องใช้สารบางตัวเคลือบปิดร่องฟัน หรือการทาและการกินฟลูออไรด์ เพื่อเป็นการป้องกันฟันที่ยังไม่ผุ ให้ผุยาก อย่างนี้เรียกว่า หมอกำลังทำหน้าที่ป้องกันโรคให้

หมอตรวจคนไข้ที่มาด้วยความไม่สบายในเรื่องปากและฟัน หมอจึงต้องบำบัดแก้ไขที่เหตุ เช่น อุดฟัน ถอนฟันขูดหินปูน รักษารากฟัน เพื่อให้คนไข้บรรเทาจากความทุกข์นี้ อย่างนี้หมอกำลังทำหน้าที่รักษาโรคให้

หมอตรวจคนไข้ ที่มีปัญหาการบดเคี้ยวเพราะฟันที่มีอยู่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ หรือไม่มีฟันเพื่อการบดเคี้ยว หมอใส่ฟันที่เป็นอวัยวะเพื่อทดแทน หรือจัดการเรียงตัวของฟันเสียใหม่ ให้กลับมามีประสิทธิภาพดังเดิม อย่างนี้หมอกำลังทำหน้าที่ ฟื้นฟูสภาพให้

บทบาทของทันตแพทย์โดยทั่วไป ก็จะมีบทบาทหลักๆ ในสี่บทบาทนี้ และทั้งสี่บทบาทนี้ก็ไม่ได้ต้องพึ่งพิงภาพถ่ายรังสีในทุกครั้ง โดยเฉพาะบทบาท การส่งเสริมและการป้องกันรวมทั้งการรักษาส่วนมาก จากข้อเท็จจริงตามที่กล่าวมาทั้งหมด ภาพรวมของระบบทันตสาธารณสุขทั้งหมด จึงปรากฏเป็นรูปธรรมในลักษณะดังต่อไปนี้

ภาครัฐที่ประกอบไปด้วย โรงพยาบาลที่มีแผนกทันตกรรมในระดับต่างๆ ตั้งแต่โรงพยาบาลศูนย์ ที่ให้การบริการในระดับที่ซับซ้อน เน้นการรักษาและการฟื้นฟูสภาพ โรงพยาบาลระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล ซึ่งการให้บริการก็แปรเปลี่ยนสัดส่วนลดหลั่นกันไป ส่วนนี้อยู่ในการดูแลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งยังกระจายไปอยู่อีกหลายกรมกอง ส่วนภาครัฐอื่นๆ ก็มี คณะทันตแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งโรงพยาบาลและศูนย์สาธารณสุขทั้งหลายที่ขึ้นอยู่ในการดูแลของกรุงเทพมหานคร ภาคเอกชน ที่ประกอบด้วย โรงพยาบาลทันตกรรมขนาดใหญ่ แผนกทันตกรรมตามโรงพยาบาล คลินิกทันตกรรมที่มีการให้บริการที่ซับซ้อน คลินิกทันตกรรมขนาดเล็ก ทั้งที่อยู่ในเมืองใหญ่และตามอำเภอและจังหวัดที่ห่างไกล

ที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า เครื่องมือเอกซเรย์ฟันไม่ใช่วัตถุที่ถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อ หรือถูกใช้ทุกครั้งที่มีการบริบาลในเรื่องฟันและเหงือก

ในเวลาต่อมาเครื่องมือเอกซเรย์ขนาดเล็กได้ถูกจัดเป็นอุปกรณ์ที่ต้องมีในคลินิกทันตกรรมทุกแห่ง ไม่มีข้อยกเว้น แม้ว่าทันตแพทย์ที่ปฏิบัติงานบางท่าน อาจมีความจำเป็นที่ต้องใช้เครื่องมือนี้น้อยมาก ดังที่กล่าวมาในเรื่องบทบาททั้งสี่ของทันตแพทย์ แต่เมื่อมีบทบัญญัติเป็นกฎหมาย ก็ต้องครอบครองเครื่องมือดังกล่าว

ดังนั้น เมื่อกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ ยามที่ทันตแพทย์ที่ต้องครอบครองเครื่องเอกซเรย์ฟัน ก็จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยรังสีเพื่อคอยดูแลการใช้งานเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งคน ซึ่งโดยความเป็นจริงหมอท่านนั้นอาจแทบไม่ได้ใช้งานเครื่องมือดังกล่าวนี้เลย และในหลักสูตรของการเรียนการสอนในคณะทันตแพทยศาสตร์นั้น มีการสอนการใช้เครื่องมือชนิดนี้ รวมทั้งการป้องกันทั้งตนเองและผู้ป่วยจากการรับรังสีอยู่แล้ว อีกทั้งเป็นวิชาชีพบังคับ ซึ่งทุกคนก็มีความคุ้นเคยและระมัดระวังตามที่ได้เรียนมา และในระหว่างการใช้งาน ที่ประกอบการวินิจฉัยในการตรวจผู้ป่วย ก็เป็นช่วงเวลาที่สั้นมากๆ ปริมาณรังสีก็ต่ำ และก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำบ่อยๆ หรือทุกครั้งที่มีการตรวจรักษา ดังนั้น ตัวหมอที่ผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนและปฏิบัติมานาน ก็ควรจะได้เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีด้วย

ประกอบกับที่ผ่านมาตั้งแต่ในอดีตจวบปัจจุบัน ไม่เคยมีรายงานความเจ็บป่วยทั้งตัวหมอและผู้ป่วยอันเนื่องมาจากการรับรังสีเอกซเรย์จากคลินิกทันตกรรม

เมื่อมองภาพรวมทั้งหมด ทั้งระบบการบริการ การใช้เทคนิคหรือใช้เครื่องมือที่ซับซ้อน ซึ่งรวมถึงเครื่องกำเนิดรังสี ที่เรียกว่าเครื่องเอกซเรย์ฟันนี้ตามที่กล่าวมาในตอนต้น เราจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงตัวแปรที่เป็นทั้งบุคลากรและเครื่องมือที่ประจำคลินิก ต้องแยกให้ชัดเจนด้วยความเป็นธรรมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เป็นปกติอยู่แล้ว

เพราะในพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 มาตรา 26 และมาตรา 29 (1)(ข) ที่กำหนดให้ผู้ครอบครองเครื่องกำเนิดรังสีหรือเครื่องเอกซเรย์ ต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีประจำการ ซึ่งก็เป็นความจำเป็น แต่ควรคำนึงถึงสภาวะความเป็นจริงของสถานประกอบการทางทันตกรรมที่มีความหลากหลาย ทั้งเทคนิคการให้บริการ ทั้งชนิดของการบริการ ทั้งบุคลากรที่ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะคลินิกทันตกรรมส่วนบุคคลขนาดเล็ก ที่ให้การบริการที่ไม่ซับซ้อน แต่จำเป็นต้องครอบครองเครื่องกำเนิดรังสี ที่ให้ปริมาณรังสีต่ำจนไม่มีรายงานอันตราย และก็ไม่ได้ใช้ในการวินิจฉัยมากมาย เพราะต้องทำตามกฎหมายที่บังคับให้ต้องมีเครื่องมือกำเนิดรังสีนี้ทุกคลินิก

จึงควรที่จะต้องทบทวนในเรื่องที่ทุกคลินิกจำเป็นต้องมีเครื่องกำเนิดรังสี ซึ่งควรเป็นเครื่องมือหรือวัตถุที่บุคลากรที่ประกอบการเป็นผู้ตัดสินใจว่าควรมีหรือไม่มี ตามความจำเป็น เพราะการที่ต้องมีภาพถ่ายรังสีประกอบการวินิจฉัย กับการที่ต้องครอบครองเครื่องถ่ายรังสีเป็นคนละประเด็น เช่นเดียวกับแพทย์ที่หากมีข้อสงสัยในการวินิจฉัย ก็สามารถส่งต่อผู้ป่วยไปเอกซเรย์ตามศูนย์ที่เขามีเครื่องเหล่านี้

ทั้งหมดนี้ ควรที่จะหาทางออกโดยทันตแพทยสภาซึ่งเป็นตัวแทนวิชาชีพประสานกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุข โดยออกกฎกระทรวงหรือแก้ไขกฎกระทรวงที่เหมาะสม ด้วยการระบุรายละเอียดให้ชัดเจน

ทั้งนี้ ก็เพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ที่ต้องถูกบังคับใช้ด้วยกฎหมายนี้ และเพื่อให้สมดังเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ ที่อนุญาตให้มีการกำหนดวิธีปฏิบัติให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image