คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ‘เอ็มพาธี’พื้นที่และการชุมนุม

เมื่อครั้งที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศสเคยเจอการประท้วงนัดหยุดงานครั้งใหญ่ระดับประเทศที่ส่งผลต่อแทบทุกการคมนาคมขนส่งและบริการสาธารณะ จนเหลือแค่บริการขั้นต่ำสุดตามกฎหมายจริงๆ ซึ่งส่งผลกระทบหนักระดับคนฝรั่งเศสยังออกปาก จึงได้โอกาสสอบถามความรู้สึกของพลเมืองที่อยู่ในประเทศที่ถือว่าการ
นัดหยุดงานถือเป็นเสรีภาพที่มีคุณค่าระดับรัฐธรรมนูญ ว่ารู้สึกอย่างไรกับความลำบากเดือดร้อนที่ได้รับจาก
การใช้ “สิทธิ” ใน “เสรีภาพ” นี้

คำตอบที่ได้รับมานั้นเรียกว่าเปิดมุมมองใหม่ คือเขายักไหล่แล้วบอกว่า ก็ลำบากแน่ล่ะ แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจและทนได้ เพราะในเวลาที่เราจะใช้สิทธิในเสรีภาพในการประท้วงเพื่อยื่นข้อเรียกร้องของเรานี้บ้าง พวกที่นัดหยุดงานในวันนี้เขาก็เป็นฝ่ายที่ต้องอดทนอดกลั้นต่อความเดือดร้อน และรับฟังข้อเรียกร้องของพวกเราด้วยวิธีการเดียวกัน

ซึ่งเรื่องนี้เห็นด้วยไม่เห็นด้วยก็ว่าไป แต่ก็ควรยอมรับว่าเป็นวิธีคิดที่นักเลงดีอยู่

ระลึกถึงบทสนทนานี้เพราะเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

Advertisement

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อาศัยอำนาจตามกฎหมายการชุมนุมสาธารณะกำหนดให้พื้นที่ซึ่งอยู่ในอำนาจจัดการของ กทม. 7 จุดทั่วกรุงเทพฯให้เป็น “สถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะ”

การประกาศนี้เป็นไปตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่ให้อำนาจหน่วยงานของรัฐอาจจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะก็ได้ โดยวรรคสองของมาตราเดียวกันบัญญัติไว้โดยชัดเจนว่า “การจัดให้มีสถานที่เพื่อการชุมนุมสาธารณะตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อเสรีภาพของประชาชนที่จะจัดการชุมนุมสาธารณะในที่สาธารณะอื่น”

ดังนั้นที่ คุณช่อ พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า การจัดพื้นที่ให้ชุมนุมของ กทม.นี้ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมาชุมนุมภายใต้กฎหมายได้ก็ตาม แต่โดยหลักการ ประชาชนก็ยังชอบที่จะไปชุมนุมกันที่อื่นก็ได้ไม่ใช่การป่วนเมือง นั้นจึงเป็นการพูดย้ำหลักการตามกฎหมายนี้เรียกว่าแทบจะตามตัวบทเท่านั้นเอง แต่ก็อาจจะผิดเวลาไปหน่อย เลยโดนทัวร์ลงกันไป

Advertisement

ส่วน “นักร้อง” ขาประจำที่ออกมาแสดงความเห็นว่า การที่คุณชัชชาติประกาศสถานที่ชุมนุมแล้ว หากมีการชุมนุมที่อื่นแล้ว กทม.ไม่จัดการ ก็จะถือว่าผู้ว่าฯ มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก็เป็นการ
ปล่อยไก่แบบพากย์ไปเรื่อยไม่ได้อ่านกฎหมาย รู้สึกว่าที่ผ่านมานั้นเขาจะ “ยังไม่เข็ด” อันนี้ก็ต้องฝากฝ่ายทีมกฎหมายที่กำลังดำเนินคดีเดิมอยู่ช่วยพิจารณากันไป

เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะนี้ ถือเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานสำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยตรงของประชาชนที่มีต่อประเด็นทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ แต่ก็เป็นเสรีภาพที่มีเงื่อนไข พื้นฐานที่สุดคือจะต้องเป็นการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธ ส่วนเงื่อนไขอื่นๆ คือควรจะกระทบกระเทือนต่อการใช้ชีวิตของคนกลุ่มอื่นในสังคมและความปลอดภัย และบริการสาธารณะให้น้อยที่สุด

ทั้งนี้ โดยหลักการของกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในสากลประเทศ ซึ่งของไทยก็ใช้หลักการเดียวกัน คือการชุมนุมสาธารณะต้องสามารถกระทำได้เป็นหลัก เรื่องไม่ให้ชุมนุมต้องเป็นข้อยกเว้น ดังนั้น การยื่นต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าจะจัดการชุมนุมจึงไม่ใช่การ “ขออนุญาต” แต่เป็นเพียงการ “แจ้งให้ทราบ” เพื่อก่อให้เกิดหน้าที่ให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะมาอำนวยความสะดวกให้การชุมนุมนั้นเป็นได้ราบรื่น รวมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องได้รู้ถึงผลกระทบที่อาจเกิดจากการชุมนุมด้วย

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติของไทยที่ผ่านมา กลับปรากฏว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐพยายามขัดขวางการชุมนุมสาธารณะของประชาชนที่เห็นว่ามีวัตถุประสงค์อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลทุกประการ ในขณะที่การชุมนุมที่สนับสนุนฝ่ายรัฐรูปแบบเดียวกันสามารถทำได้ตามปกติ (ถ้าใครความจำยังดีคงระลึกเปรียบเทียบระหว่างการวิ่งไล่ลุงกับเดินเชียร์ลุงกันได้)

หรือถ้าไม่อาจห้ามด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะได้แล้ว ก็อาจจะสรรหากฎหมายแปลกๆ มาใช้เป็นข้ออ้างอำนาจเพื่อห้ามการชุมนุม เช่น กฎหมายว่าด้วยการป้องกันโรคระบาดโดยอ้างเหตุโควิด ทั้งที่เลยไปอีกไม่กี่เมตรในห้างสรรพสินค้าใกล้ๆ นั้น ก็มีการรวมตัวของผู้คนหนาแน่นกว่าการชุมนุมที่ห้ามนั้นอีก หรือกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาด รวมถึงการใช้วิธีการสร้างอุปสรรคทางอื่น เช่น ห้ามการชุมนุมไม่ได้แต่ก็ไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องขยายเสียง หรือไม่จัดรถสุขาสาธารณะมาให้ หรือถึงผู้จัดจะจัดหามาเองก็ดำเนินการขัดขวางต่างๆ นานาดังที่เราคงเคยได้เห็นกันในการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมาหลายครั้ง

ทั้งนี้ เราอาจแยกพิจารณาเรื่องของ “การชุมนุมสาธารณะ” กับ “การชุมนุมประท้วง” ออกจากกัน เพราะการชุมนุมสองประเภทนี้มีจุดแตกต่างกันในเชิงรูปแบบ ดังที่กฎหมายที่เกี่ยวกับการชุมนุมของบางประเทศได้แยกกฎหมายที่ใช้กับการชุมนุมสาธารณะกับการชุมนุมประท้วงออกจากกัน เพราะการชุมนุมสองรูปแบบนี้มีวัตถุประสงค์ รูปแบบ และธรรมชาติที่แตกต่างกัน การดำเนินการจัดการจึงต้องแตกต่างกันด้วย

“การชุมนุมสาธารณะ” นั้นจะมีลักษณะเป็นการชุมนุมอยู่กับที่บนพื้นที่จำกัดแน่นอน จะเป็นพื้นที่กลางแจ้งหรือในร่มก็ได้ แต่จะไม่มีการเคลื่อนขบวนหรือขยายตัวออกไปมากนัก แตกต่างจาก “การชุมนุมประท้วง” ซึ่งสามารถขยายตัวและเคลื่อนตัวไปได้

นอกจากนี้ “การชุมนุมสาธารณะ” ก็ไม่ได้มีเป้าหมายหลักที่จะก่อให้เกิด “ความเดือดร้อน” แก่รัฐหรือบุคคลภายนอก และการชุมนุมสาธารณะนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดความเห็นทางการเมืองได้อยู่บ้าง แตกต่างจากการชุมนุมประท้วง ที่การสร้างความเดือดร้อน หรือความลำบากยุ่งยากเกินกว่าปกติ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำเสนอปัญหาและข้อเรียกร้องต่อสังคม

ที่มาชวนแยกเรื่อง “การชุมนุมสาธารณะ” ออกจาก “การชุมนุมประท้วง” นี้ก็เพื่อจะพิจารณาว่า พื้นที่ทั้ง 7 จุดที่ท่านผู้ว่าฯกทม.จะได้จัดไว้ให้นี้ น่าจะหมายใจกำหนดให้เป็น “เวทีชุมนุมสาธารณะ” เพื่อการแสดงออกทางความคิดความเห็นทางการเมืองได้อย่างเต็มที่โดยไม่กระทบกระเทือนหรือก่อให้เกิดความไม่สะดวกของผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง การจราจร หรือบริการสาธารณะ ซึ่งเป็นธรรมชาติของการจัด “ชุมนุมสาธารณะ” ที่ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความไม่สะดวกหรือเดือดร้อนยุ่งยากแก่ฝ่ายใดอยู่แล้ว

ซึ่งก็น่าจะเป็นประโยชน์อยู่ที่จะมีพื้นที่ที่สามารถชุมนุมเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ให้สามารถวิพากษ์วิจารณ์อำนาจรัฐได้โดยชอบตามกฎหมายที่รับรองแล้วโดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และด้วยอำนาจความชอบด้วยกฎหมายนั้น และเป็นพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การดูแลรับผิดชอบของ กทม. ก็จะไม่มีอำนาจรัฐอื่นที่เข้ามาห้ามปรามแทรกแซงหรือสลายการชุมนุม กระทั่งจะจัดเจ้าหน้าที่ คฝ.มาล้อมพื้นที่หรือเที่ยวสุ่มตรวจคนเข้าออกนั้น ต่อให้อยากทำก็ทำไม่ได้

ลองคิดภาพแล้วคงจะน่าสนุกดีถ้าใครสักคนจะจัดอะไรคล้ายๆ งานเฟสติวัลถลกหนังหัวอำนาจรัฐ ทำแกงเผด็จการ แบบมหกรรมถนนคนเดิน ยิ่งถ้าสามารถจัดใหญ่กันได้ทุกจุดชุมนุมสาธารณะทั่วกรุงเทพฯ
ก็คงจะเป็นปรากฏการณ์อย่างที่ฝ่ายผู้มีอำนาจได้แต่อุกอั่งถั่งใจ

อย่างไรก็ตาม ในทางกฎหมาย ประชาชนยังคงมีสิทธิเลือกว่าจะไม่ชุมนุมกันในสถานที่ที่ กทม.จัดไว้
โดยจะชุมนุมสาธารณะบนพื้นที่อื่น หรือจะชุมนุมประท้วงลงถนนนั้น ถ้าไม่เป็นกรณีที่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการชุมนุม ก็ยังคงสามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายด้วย

สำหรับ “การชุมนุมประท้วง” นั้นคือการนำปัญหาหรือความเดือดร้อนที่ผู้ประท้วงได้รับมานำเสนอต่อสังคม เช่นนี้การสร้างแรงกดดันต่อสังคมและรัฐผ่านการสร้างความไม่สะดวก จึงถือเป็น “อาวุธ” ของการประท้วง ทำให้โดยธรรมชาติแล้วการชุมนุมประท้วงจะต้องส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกสบายหรืออาจเป็นความเดือดร้อนต่อผู้อื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมหรือร่วมประท้วงด้วยแน่ๆ โดยเราก็ต้องยืนยันในหลักการให้ชัดเจนก่อนว่า การก่อความเดือดร้อนระดับหนึ่งเพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องนั้นไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ใช่เรื่องที่ทำลายประชาธิปไตยหรือเป็นเรื่องป่วนเมืองวุ่นวาย ตราบใดที่มันยังคงอยู่ในระดับที่พอสมควรแก่เหตุหรือได้
สัดส่วนพอรับได้ และไม่ใช่การจงใจละเมิดกฎหมายเพื่อมุ่งประโยชน์แอบแฝงอื่น

หากต้องยอมรับเช่นกันว่าการชุมนุมในลักษณะดังกล่าวต้องอาศัยการยอมรับและความอดกลั้นจากฝ่ายที่ไม่ได้เข้าร่วม หรือไม่ได้ยินดีกับการชุมนุมในลักษณะดังกล่าวด้วย ดังนั้นจึงต้องเห็นอกเห็นใจต่อความเดือดร้อนที่พวกเขาจะต้องได้รับในฐานะพลเมืองด้วยเช่นกัน

ฝ่ายผู้ชุมนุมหรืออยากชุมนุมในรูปแบบนั้นจึงควรมีสิ่งที่เรียกว่า “เอ็มพาธี” (Empathy) คือความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมด้วย ซึ่งโดยสภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ ที่ยืดเยื้อยาวนาน พวกเขาก็อาจจะอยู่ในสภาวะที่หนักหนามานานแล้ว จนอยากเรียกร้องขอสภาวะที่ “สงบเรียบร้อย” ในความหมายง่ายๆ ต่อเนื่องยาวนานสักหน่อย ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เพียงแค่คุณช่อออกมายืนยันหลักการธรรมดาๆ ที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายแท้ๆ จึงได้รับความเห็นส่วนใหญ่ไปในทางไม่เห็นด้วย

ข้อที่ควรยึดถือไว้เป็นสำคัญคือ ผู้คนแต่ละฝ่ายในฝั่งประชาธิปไตยด้วยกันต้องอย่ามองอีกฝ่ายเป็นศัตรูหรือคู่แข่งกันจนเกินไป ฝ่ายที่เชื่อในการชุมนุมแบบลงถนนที่เป็นการแสดงออกทางการเมืองโดยตรง ก็ต้องฟังและเห็นใจฝ่ายที่เชื่อว่ามันมีทางออกอื่นผ่านกระบวนการทางการเมืองในระบบ โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่เหมือนกับว่าคุณชัชชาติกำลังเป็นความหวังขับเคลื่อนทางการเมืองในรูปแบบใหม่

แต่กระนั้นฝ่ายที่เชื่อในทางออกอื่นก็ต้องยอมรับว่า ถ้าในที่สุดหนทางที่เหมือนจะ “สงบกว่า” นั้นมันยังไม่สามารถนำพากลไกประชาธิปไตยที่ยุติธรรมตามถูกตามควรกลับมาได้อย่างที่ควรจะเป็น มีการเล่นตลกทางการเมืองเล่นแร่แปรกติกาจนเสียงของประชาชนไม่มีความหมายอีกครั้ง วิถีทางการลงถนนก็อาจจะเป็นการต่อสู้ระดับต่อมา รวมถึงต้องใจกว้างยอมรับว่ามันมีอีกหลายเรื่องหลายประเด็น ก็ยังจำเป็นที่จะต้องเรียกร้องด้วยวิถีทางการชุมนุมประท้วงอยู่

อย่างไรก็ตาม เชื่อเถิดว่าหากถึงเวลาที่สถานการณ์มันเข้าขั้นสุกงอมเพียงพอ อย่างที่ใครๆ ก็รับรู้หรือ
สัมผัสกันได้ เราทั้งหลายก็จะรู้กันได้ด้วยตัวเองว่ามันจะถึงวาระที่จะ “ลงถนน” กันได้แล้ว โดยฉันทามติของสังคมแล้วก็จะไม่มีใครยกเรื่องความลำบากเดือดร้อนกีดขวางการจราจรหรือรบกวนความสงบสุขอะไรมาพูดถึงกัน

เรื่องนี้ถ้าใครเคยเข้าร่วมการชุมนุมครั้งใหญ่เมื่อสักสองปีที่แล้ว คงนึกภาพผู้คนที่อยู่รายรอบริมถนนในพื้นที่การชุมนุม ต่างเปิดบ้านรับผู้ชุมนุมที่เดินขบวนผ่านมาให้ไปใช้ห้องน้ำ เอาน้ำเย็นมาแจก และโห่ร้องแสดงสัญลักษณ์ให้กำลังใจกันได้

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image