สืบทอดศรัทธาผ่านศิลปะ ‘โนรา’จะไม่ตาย ภูมิปัญญาถิ่นใต้ ในวันที่กลายเป็นมรดกโลก

เพราะมี “หลวงปู่ทวด” เหยียบน้ำทะเลจืด

ตำนานอริยสงฆ์องค์สําคัญ อันเป็นหลักใจรวมศรัทธาผู้คนในลุ่มทะเลสาบสงขลามาช้านาน

หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด

เพราะมี “แม่ทวดยายหฺมฺลี” หรือ “ทวดนวลทองสำลี”

พระพุทธรูปที่เกี่ยวพันกับตำนานบรรพบุรุษ “ครูต้นโนรา” ผู้บุกเบิกศิลปะการร่ายรำที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ของคนปักษ์ใต้

Advertisement

และด้วยศรัทธาแรงกล้า จึงนำพาคนสงขลาและชาวใต้ตอนล่าง เดินทางไกลมาร่วมงานสำคัญยังวัดโบราณ
แห่งนี้ ที่ก่อตั้งมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 21-22

ในวาระที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียน ศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ “โนรา : Nora”, dance drama in southern Thailand” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม ไทยพีบีเอส อาสาทำหน้าที่สื่อกลาง เป็นกาวประสานการมีส่วนร่วมระหว่างศิลปิน ชุมชนโนรา ตลอดจนสถาบันการศึกษา จัดเฉลิมฉลอง “โนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” ครั้งยิ่งใหญ่เมื่อไม่นานมานี้ ที่วัดราชประดิษฐาน หรือ “วัดพะโคะ” อ.สทิงพระ จ.สงขลา หวังกระตุ้นความตระหนักรู้ถึงคุณค่าของศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ให้ลูกหลานสานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น

เพื่อวันหน้า “โนรา” จะได้ไม่กลายเป็นเพียง “ตำนาน”

“แม่ทวดยายหฺมฺลี หรือ ทวดนวลทองสำลี ครูต้นโนรา

 

ลูกหลานไม่ลืมคุณ บวงสรวง‘ครูต้น’บรรพชนโนรา

ไก่ขันไม่ทันสิ้นเสียง ชาวบ้านเดินเท้าขึ้นสู่ลานหน้าบันไดพญานาค หิ้วอาหารถิ่น ขนม น้ำ หอบศรัทธามาร่วมใส่บาตร ทำบุญอุทิศกุศลแด่ครูบรรพบุรุษโนรา ก่อนย้ายไปยังเรือนแก้ว เพื่อร่วมพิธีสวดสมโภช ถวายทวดนวลทองสำลี

สำหรับทวดนวลทองสำลี เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางอุ้มบาตร ทำจากเนื้อสำริด สูง 150 เซนติเมตร แต่งกายคล้ายโนรา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยคนใต้มีความเชื่อว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นอนุสรณ์ของ “นางนวลทองสำลี” ธิดาพระยาสายฟ้าฟาด เจ้าเมืองพัทลุง ผู้ให้กำเนิด “ขุนศรีศรัทธา” ต้นตำนานมโนราห์

ทุกปีจึงมีการอัญเชิญทวดนวลทองสำลีออกมาจากเรือนแก้ว เพื่อประทับบนเรือพระ ในประเพณีตักบาตรเทโวและลากพระโบราณ งานบุญสำคัญของชาวบ้าน อ.สทิงพระ ช่วงเทศกาลออกพรรษา

เข็มนาฬิกาแตะที่เลข 8 ยายอบ ทองอ่อน ทายาทสืบทอดสายตระกูล ผู้ดูแล “ทวดนวลทองสำลี” กาดถวายเครื่อง 12 ประกอบด้วย ขนมแดง ขนมขาว ขนมโค ข้าว แกง หมากพลู ผลไม้ ดอกไม้ ธูปเทียน สงฆ์ 5 รูปทำพิธีสวดสมโภช

ดนตรีบรรเลงทำนองแขก โนรา 4 ราย วาดลวดลายรำถวาย
ทวดนวลทองสำลี เป็นเวลากว่า 10 นาที

เจ้าอาวาสวัดพะโคะยกขนมโค (ขนมพื้นถิ่น) ใส่พานทองเดินออกมา ไม่ทันเอ่ยปากชวนผู้ร่วมงานก็กรูเข้ารุมหยิบรับประทานส่วนบุญนั้นอย่างคุ้นเคย แล้วตั้งแถวร่วมพิธีอัญเชิญทวดนวลทองสำลี สู่บริเวณพื้นที่ปะรำพิธีด้วยใจจดจ่อ โดยมี “ยายอบ” อุ้มส่วนเท้าของรูปหล่อทวดนวลทองสำลี รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) ถือหัวเชือกสายสิญจน์เดินนำขบวน ตามด้วยลูกหลาน ผู้มีจิตศรัทธา จับสายสิญจน์ติดสอยห้อยท้ายขบวน

เมื่อทวดนวลทองสำลีขึ้นประดิษฐานยังแท่นเบญจา บริเวณลานหน้าพระสุวรรณมาลิกเจดีย์ ศรีรัตนมหาธาตุ กลุ่มควันจากธูป และเสียงสวดบาลีสำเนียงใต้ของครูหมอโนรา ประกอบกับดนตรีพื้นถิ่นในพิธีบวงสรวงเชิญดวงวิญญาณมาปกปักษ์รักษาลูกหลาน ยิ่งชวนให้ขนลุก

ความตอนหนึ่งจากบทสวด ครูหมอโนรากล่าวขอบคุณครู ผู้สอนให้รู้จักศาสนา บาลีทั้ง 7 คำภีร์

ขอเชิญมาสิงสถิต ขอปัญญา ขอน้อมนำคำสอน ขอให้มีชัย

“ไม่เคยลืมพระคุณครู ข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน ตกแต่งเรียงราย ทั้งข้าวเหนียว ข้าวจ้าว… บายศรี ไหว้ครูมารดาผู้โฉมศรี

ไหว้คุณพระบิดา ที่ปกปักรักษา ขอให้เข้ามาช่วยชักนำวิชา คุณครูมาช่วยปกปักษ์รักษาลูกหลานในวันนี้”

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประธานในพิธี ร่วมโปรยดอกดาวเรือง

ครูหมอโนราชวนลูกหลานน้อมรำลึกถึงบรรพบุรุษ ขอให้ผลบุญกุศลนี้สะท้อนกลับ ก่อนลาของไหว้ให้ลูกหลานได้ทานอาหาร
แม่ทวด เจ้าอาวาสวัดพะโคะพรมน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลในเวลาเดียวกัน

สิ้นเสียงสวดไม่นาน โนรา 164 คน หลากเพศ-วัย ทั้งชาวบ้าน เยาวชนจากสถาบันการศึกษาหลายแห่งในจังหวัดสงขลา ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และยะลา ค่อยๆ รำลงมาจากยอดลาน
หน้าพระสุวรรณมาลิกเจดีย์ ห้อมล้อมปะรำพิธี ถวายเป็นพุทธบูชาหลวงปู่ทวด และทวดนวลทองสำลี ด้วยความศรัทธา

ท่วงท่ารำชดช้อย ทว่าแข็งแกร่ง ประสานบทร้องทำนองใต้ที่ทรงพลัง แฝงด้วยความเชื่อเรื่องบรรพชนและพุทธศาสนา โดยมี ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ครูโนราอาวุโส เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “โนราธรรมนิตย์ ดำรงศิลป์ ศ.สาโรช” นำขบวนโนรา และออกแบบกระบวนท่าทั้งหมดนี้

ชู‘ซอฟต์เพาเวอร์’ไทย กระตุ้นท่องเที่ยว

พิพัฒน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวขอบคุณไทยพีบีเอส
ที่เป็นเจ้าภาพจัดงาน พร้อมเอ่ยปากชมว่า เป็นพิธีที่งดงามมาก

“เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ ที่โนราได้มีการประกาศรับรองโดยองค์การยูเนสโก เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เป็นการพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า ไทยมีวัฒนธรรมประเพณีที่สวยงามมาแต่โบราณ

วันนี้เราที่เป็นลูกหลาน ทำอย่างไรที่จะเผยแพร่สิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นซอฟต์เพาเวอร์อย่างหนึ่งให้โลกรู้ว่า เมืองไทยเรามีดีอะไรบ้าง”

รมต.พิพัฒน์ยังรับปากด้วยว่า นอกเหนือจากโนรา จะนำประเพณี วัฒนธรรมที่เป็นจุดเด่นของไทย มาประชาสัมพันธ์นำเสนอสู่ยูเนสโก เพื่อประกาศเป็นมรดกโลกในโอกาสต่อไป

“ผมคิดว่าเมืองไทยเรายังมีอีกหลายชนิดที่จะเป็นซอฟต์เพาเวอร์มาช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว สิ่งเหล่านี้ประเมินค่าไม่ได้ พี่น้องคนไทยควรภาคภูมิใจ การจัดงานที่วัดพะโคะวันนี้เป็นการรำโนราเพื่อถวายทวดนวลทองสำลี ซึ่งอยู่คู่กับวัดพะโคะมาแต่โบราณ ชาว อ.สทิงพระ และข้างเคียง ก็ล้วนแต่เคารพและบูชา หากใครมีโอกาสแวะเวียนมาแถวนี้ก็ขอเชิญชวนมาท่องเที่ยวตามรอยหลวงปู่ทวด”

สอน‘กตเวที’ผ่านพิธีกรรม

หลังได้ยินเช่นนั้น ผศ.ธรรมนิตย์ก็บอกว่า ศิลปินโนราทุกคนและชาวบ้านที่อนุรักษ์ สืบสานการแสดงโนรามาตั้งแต่อดีตยิ่งภาคภูมิใจ ที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลให้การสนับสนุน และมีทิศทางมองโนราให้เชื่อมโยงต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และอนาคต

จึงขอฝากความหวัง ร่วมผลักดันโนราให้รุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป

“อีกประการ ชาวไทยทุกคนทั่วโลก ไม่เฉพาะชาวภาคใต้ ที่อนุรักษ์ สืบทอดศิลปะการแสดงโนรามาโดยอดีต และยั่งยืนมานานแล้ว ก็ขอให้มีความเข้มแข็งสืบต่อไป เรามีการสืบทอดผ่านสายตระกูลในครอบครัว อนุรักษ์ผ่านชาวบ้านภาคใต้ สอนให้ลูกรู้จักกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษผ่านพิธีกรรมโนรา ผ่านศิลปะการแสดง ซึ่งถ่ายทอดโดยอัตโนมัติ ถือเป็นความเข้มแข็งที่มีเอกลักษณ์

ถือเป็นนิมิตหมายอันดีของศิลปะการแสดงโนราในภาคใต้ และทั่วโลก” ผศ.ธรรมนิตย์กล่าวด้วยความยินดี

รุ้งนภา ชุมประเสริฐ

ชดช้อยแต่แข็งแกร่ง ไม่ใช่แค่การแสดง แต่เป็นจิตวิญญาณ

“ฝึกรำโนราครั้งแรกตั้งแต่เรียน ม.3 ตอนนี้ทำงานเป็นคุณครูสอนวิชานาฏศิลป์ เพราะชอบโนรามาก มีความฝันอยากรำโนราตั้งแต่เด็ก”

รุ้งนภา ชุมประเสริฐ ครูนาฏศิลป์ ร.ร.อนุบาลยะลา เปิดใจในวัย 25 ปี ที่ตอนนี้ได้เป็นศิษย์ของอาจารย์ธรรมนิตย์ ร่วมรำแถวหน้าสุดในพิธี

ด้วยความที่เกิดภาคใต้ ได้เห็นรุ่นพี่ขึ้นแสดง บวกกับความเป็นเด็กชอบแสดงออก จึงนำพา “รุ้งนภา” สู่เส้นทางสายนี้

“ได้เรียนโนรามาตั้งแต่เด็ก พอคลุกคลีกับโนราเรารู้สึกว่าถนัดด้านนี้มากๆ ได้รำรับใช้ในงานที่เกี่ยวกับโนรามาตลอด ในจังหวัดมีงานอะไรก็จะไปรำ เราได้รู้ว่า ‘โนราไม่ได้เป็นแค่การแสดง’ หลังจากที่ได้รำโนราก็รู้สึกว่าตัวเองแข็งแรงมากๆ ได้ออกกำลังกายไปด้วย”

“โนรามีทั้งความอ่อนช้อยและแข็งแรง มีเสน่ห์มากๆ ลีลา
อ่อนช้อยแฝงอยู่ในจังหวะที่กระฉับกระเฉง ถ้าตัวผู้แสดงเขารำแล้วรู้สึกอินเข้าไปในนั้นจริงๆ จะรู้ว่าต้องรำให้แข็งแรง แต่การถ่ายทอดออกมาจะต้องให้ ‘นุ่มนวล’ ไม่หยาบเกินไป”

รุ้งนภายอมรับว่า ถ้าวันหนึ่งศิลปะการร่ายรำโนราหายไปคงรู้สึกเสียดาย แต่เชื่อว่าสิ่งที่มีเสน่ห์เช่นนี้ รุ่นต่อรุ่นจะสืบทอดไว้ไม่ให้หายไป

“ปัจจุบันนี้มีคนสนใจโนรามาก ยิ่งเห็นความสำคัญ เมื่อได้ทราบกันว่าโนราได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมฯ คนรุ่นใหม่ยิ่งชื่นชอบโนรามากขึ้น บางกลุ่มก็หันกลับมาแสดง” รุ้งนภาคิดเห็นเช่นนั้น

หันไปถาม จักรพงค์ ไชยสาร ลูกศิษย์ครูธรรมนิตย์ ในวัย 16 ปี จาก ร.ร.นาทวีวิทยาคม บอกว่า เริ่มรำโนราตั้งแต่ 4-5 ขวบ ดีใจและภูมิใจมากๆ ที่ได้มาเป็นตัวแทนรำถวายทวดนวลทองสำลีในพิธีนี้เป็นครั้งแรก

ก่อนตอบข้อสงสัยในฐานะคนรุ่นใหม่ ทำไมคนที่นี่ถึงมีความเชื่อในเรื่องทวดนวลทองสำลี?

“ย่าทวดมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัว เป็นบรรพบุรุษมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ ใครขออะไรก็ได้สมปรารถนา และพูดต่อๆ กันมาว่าศักดิ์สิทธิ์ ขอได้สมใจทุกคน เคยขอว่าอยากรำที่นี่ ก็ได้มารำที่นี่จริงๆ”

สำหรับจักรพงค์ สนใจโนราเพราะโตมาก็เห็นครูหมอโนราอยู่ในบ้าน

“เราเห็นบรรพบุรุษที่เขารำโนรามาก่อน แล้วเราก็มีความชื่นชอบ รักในตรงนี้ ดีใจมากๆ ที่ได้มารำสืบสานศิลปะของภาคใต้ เห็นอยู่ในบ้านตลอด รุ่นพ่อแม่ก็รำด้วย”

เอกจิตรา จันทร์จิตจริงใจ
จักรพงค์ ไชยสาร

‘โนราต้องไม่ตาย’เคลื่อนไปตามสมัย หวังบรรจุในหลักสูตรท้องถิ่น

หลังเสร็จสิ้นพิธีเปิด ที่เวทีกลางแจ้งมีการแสดงโนราผสมผสานตลอดทั้งวันเพื่อการเฉลิมฉลอง ทั้งแบบพิธีกรรม เล่าเรื่อง โนราแขก 2 ภาษา ไปจนถึงโนราบันเทิง คั่นด้วยเวทีเสวนาชวนมองทิศทาง หลังโนราไทยได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

เอกจิตรา จันทร์จิตจริงใจ อายุ 76 ปี เดินทางมาจาก อ.จะนะ จ.สงขลา พา 2 หลานสาวมาซึบซับโนราตามความชอบ แต่ส่วนตัวมาเพื่อร่วมฟังเสวนาในช่วงบ่าย “เหลียวหลัง แลหน้า เมื่อ ‘โนรา’ ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล” เป็นประเด็นที่สนใจอยู่

เอกจิตราเล่าว่า เป็นครูมาตั้งแต่ 2521 เมื่อปี 2529 เป็นคนแรกใน อ.จะนะ ที่นำโนราเข้ามาสอนในโรงเรียนและชุมชน

แต่นั้นมา โนรายังไม่ได้รับการบรรจุในหลักสูตรท้องถิ่น

“เราเห็นคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างนี้ เลยทำมาตลอดตอนเป็นครู เมื่อมาเป็นผู้บริหารโรงเรียนก็ไม่ได้ทำแล้ว แต่จะไปร่วมเสวนาเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรม กับสภาจังหวัดด้วย

ตั้งแต่โนราได้เป็นมรดกโลก เมื่อ 15 ธันวาคม 2564 ด้วยความภาคภูมิใจ เราเคยเห็น จ.พัทลุง จัดไปไม่รู้กี่ครั้งแล้ว งานใหญ่ด้วย ส่วนตัวก็คิดอยู่ตลอดเวลาว่าเมื่อไหร่ จ.สงขลา เราจะจัด เราอยากเห็น เพราะเป็นมรดกของภาคใต้ ไม่ได้ผูกอยู่แค่จังหวัดไหน วัฒนธรรมมันไหลลื่นกัน เราอยากได้ความรู้ มาเพื่อฟังเสวนาโดยเฉพาะ ในงานนี้ ประเด็นนี้ และคุ้มค่ามากในการมาวันนี้” เอกจิตราเผย

พร้อมเล่าถึงโนราใน อ.จะนะ บ้านเกิด ซึ่งก็มีอยู่เยอะเช่นกัน แต่จะเป็นโนราแขก เพราะมีคนมุสลิมอยู่มาก คนพุทธมีน้อย

แต่ก็อยากจะจัดงานแบบนี้ด้วยกำลังที่พอจะมีอยู่

“เมื่อมรดกของเราได้ขึ้นทะเบียน เราต้องทำอะไรสักอย่างในอำเภอของเรา ในวงแคบ อยากให้ชาวบ้านได้เรียนรู้

คิดไว้ว่าอยากจะชวน 4 อำเภอใน จ.สงขลา มาร่วมกัน จะให้เวลาผ่านไป ไม่ตีเหล็กตอนร้อนก็ไม่ได้ เราต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง”

อะไรที่เป็นแรงขับให้ผูกพันกับโนรา? สำหรับ “เอกจิตรา” บอกว่า อยู่กับโนรามาตั้งแต่เด็ก ไม่ได้มีบรรพบุรุษเป็นครูโนรา แต่คุณตาเป็นนายหนังตะลุงหลวงในสมัยก่อน และมีลูกศิษย์พอสมควร

ครูโนราทำพิธีบวงสรวง

“คุณตาเป็นคนตัดตัวตลก ‘ไอ้โถ’ คนแรก เราสายศิลปินพื้นบ้าน แม้ไม่ใช่โนรา แต่ว่าโนรากับหนังตะลุงก็ควบคู่กันไป ก็เลยชอบทั้ง 2 อย่าง”

แล้วอยากเห็นโนราไปสู่จุดไหน?

“อยากจะเห็นการสืบทอด เห็นเด็กรุ่นใหม่ได้มาเรียนรู้ เหมือนที่วิทยากรบอก เรามีตำนาน แต่ตำนานกับประวัติศาสตร์มันคนละเรื่องกัน ‘เรายังไม่ได้ชำระประวัติศาสตร์’ ก็อยากจะเห็นโนราไปถึงจุดนั้น”

ถ้าโนราจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เอกจิตราก็รับได้

“เพราะถ้าโนราไม่ปรับ จะไม่มีพื้นที่ จะหมดไป ที่วิทยากรพูดประทับใจมาก จะต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ เพราะวัฒนธรรมต้องไม่ตาย ต้องเคลื่อนไปตามบริบทของยุคสมัย เหมือนน้ำนิ่ง
ก็เน่า ดังนั้น มันต้องเคลื่อนไปข้างหน้า”

อธิษฐาน จันทร์กลม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image