ความลับของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาตามหมวดที่ 2 มาตรา 1 วรรค 3 ได้กำหนดให้รัฐสภาอเมริกันเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยรัฐสภาก็ได้กำหนดเอาวันอังคารแรกของเดือนพฤศจิกายนของทุก 4 ปีเป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดีมาตั้งแต่แรกเริ่มตั้งประเทศ ซึ่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาครั้งที่ 58 จึงกำหนดเป็นวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2559 นี้เป็นวันที่ชาวอเมริกันจะเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ของพวกเขา

แต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีผู้ที่เป็นทั้งประมุขของประเทศ หัวหน้าฝ่ายบริหารและผู้บัญชาการทหารสูงสุดผู้มีอำนาจเต็มของสหรัฐอเมริกา โดยความจริงแล้วเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม คือเป็นการเลือกผู้ที่อาสาไปคัดเลือกประธานาธิบดีอีกทีหนึ่ง มิได้เป็นการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน
จากรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาตามหมวดที่ 2 มาตรา 1 วรรค 2 ได้กำหนดให้แต่ละมลรัฐ (มีอยู่ 50 มลรัฐในปัจจุบัน) โดยสภานิติบัญญัติแต่งตั้งคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี (Electoral College) ขึ้น โดยมีข้อแม้ว่าบรรดาผู้เป็นคณะเลือกตั้งนี้ต้องไม่มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น และทำหน้าที่เป็นคณะผู้เลือกตั้งเพียงครั้งเดียวแล้วก็หมดหน้าที่ไป โดยจำนวนของคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีนั้นใช้เกณฑ์จากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐของมลรัฐนั้นบวกกับจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มีอยู่ 2 คนกับทุกมลรัฐ ซึ่งรวมกันแล้วมลรัฐหนึ่งจะมีคณะผู้เลือกตั้งอย่างน้อย 3 คน เพราะฉะนั้นแต่ละมลรัฐจึงมีคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งไม่เท่ากัน โดยเฉพาะมลรัฐที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคภูเขาทางภาคตะวันตก อาทิ ไวโอมิง มอนแทนา นอร์ทดาโคตา และเซาท์ดาโคตา ที่มีพลเมืองเบาบาง ก็จะมีคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งเพียงมลรัฐละ 3 เสียงเท่านั้น ในขณะที่มลรัฐแคลิฟอร์เนียมีคะแนนเสียงมากที่สุดถึง 55 คะแนนเสียง
เนื่องจากเป็นมลรัฐที่มีพลเมืองมากที่สุด ส่วนมลรัฐที่มีคะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้งรองๆ ลงมาคือ เท็กซัส 38 เสียง นิวยอร์ก 29 เสียง ฟลอริดา 29 เสียง อิลลินอยส์ 20 เสียง และเพนซิลเวเนีย 20 เสียง เป็นต้น

ดังนั้น คณะเลือกตั้งประธานาธิบดีที่เรียกว่า Electoral College ปัจจุบันมีอยู่ 538 คน ตามจำนวนของวุฒิสมาชิกที่มีอยู่ 100 คน บวกกับจำนวนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 435+3 (จากดิสตริกแห่งโคลัมเบีย ซึ่งเป็นที่ตั้งนครหลวงวอชิงตัน แต่ไม่ได้เป็นมลรัฐ) กติกาการนับคะแนนของแต่ละมลรัฐนั้นเหมือนกันคือ “Winner takes all-ผู้ชนะเหมาหมด” คือสมมุติโดยยกตัวอย่างมลรัฐแคลิฟอร์เนียที่มีพลเมือง 40 ล้านคน และมี Electoral College 55 คะแนน เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา นางฮิลลารี คลินตัน ได้คะแนนเสียงที่พลเมืองแคลิฟอร์เนียเลือกเธอ 20,000,001 คน (ยี่สิบล้านหนึ่งคน) ส่วนนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้คะแนนเสียงจากพลเมืองแคลิฟอร์เนียที่เลือกเขา 19,999,999 คน (สิบเก้าล้านเก้าแสนเก้าหมื่นเก้าพันเก้าร้อยเก้าสิบเก้าคน) ซึ่งตามกติกาผู้ชนะเหมาหมดแล้ว นางฮิลลารี คลินตัน ก็จะได้คะแนนเสียงของ Electoral College ของมลรัฐแคลิฟอร์เนียทั้ง 55 เสียง โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์จะไม่ได้เลยแม้แต่คะแนนเสียงเดียว

การตัดสินผลแพ้ชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา คือการที่ผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งคนใดคนหนึ่งได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ตั้งแต่ 270 คะแนนขึ้นไป คือได้คะแนนเสียงข้างมากของคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ที่มีอยู่ทั้งหมด 538 เสียงนั่นเอง

Advertisement

ครับ! ในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกามีการเลือกตั้งประธานาธิบดีถึง 3 ครั้งที่ผู้ชนะได้เป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนน้อยกว่าผู้แพ้ แต่ไปชนะตัดสินกันที่ Electoral College ซึ่งครั้งหลังสุดก็เมื่อ 16 ปีที่ผ่านมานี้เอง ใน พ.ศ.2543 (ค.ศ.2000) ที่นายจอร์จ ดับเบิลยู. บุช แห่งพรรครีพับลิกัน ได้รับเลือกตั้งจากคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ 49,036,353 คะแนน น้อยกว่านายอัล กอร์ แห่งพรรคเดโมแครต ซึ่งได้คะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ 49,252,780 คะแนน แบบว่าคะแนนแพ้กันถึง 216,427 คะแนนเลยทีเดียว
แต่พอนับคะแนน Electoral College ปรากฎว่านายจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ได้ 271 คะแนน ส่วนนายอัล กอร์ ได้ 267 คะแนน ทำให้นายจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ได้เป็นประธานาธิบดีไป

มีข้อน่าสังเกตว่า เหตุการณ์แบบนี้ทั้ง 3 ครั้งทำให้ตัวแทนของพรรครีพับลิกันได้เป็นประธานาธิบดีทั้ง 3 ครั้ง แต่ครั้งนี้คงจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมี 32 มลรัฐ จาก 50 มลรัฐ ได้จัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้ว และคนที่เลือกตั้งล่วงหน้าล้วนแล้วแต่เป็นผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตเป็นส่วนใหญ่ และผลสำรวจโพลของทุกสำนักในอเมริกาก็แสดงว่านางฮิลลารี คลินตัน ทิ้งห่างนายโดนัลด์ ทรัมป์แบบหายห่วง แม้ว่าเมื่อวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมานี้ ผู้อำนวยการของ FBI (สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐอเมริกา) ได้แจ้งไปที่สภาผู้แทนราษฎรทราบว่าได้พบหลักฐานจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของสามีของผู้ช่วยคนสำคัญของนางคลินตันที่อาจจะเกี่ยวพันกับการอาจกระทำความผิดในเรื่องเอกสารลับของทางการสหรัฐอเมริกา เมื่อสมัยที่นางฮิลลารี คลินตัน ยังดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมื่อ 4 ปีก่อน จึงจะต้องสืบสวนและสอบสวนต่อไปซึ่งก็เป็นเรื่องฮือฮา และทั้งนายโดนัลด์ ทรัมป์ และพรรครีพับลิกันต่างก็ช่วยกันประโคมข่าวนี้กันเป็นงานมหกรรมเลยทีเดียว

แต่อย่างไรก็ตาม หลังวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายนนี้ นางฮิลลารี คลินตัน คงจะชนะการเลือกตั้งค่อนข้างแน่ และสหรัฐอเมริกาก็คงจะได้ประธานาธิบดีหญิงเป็นครั้งแรกกันเสียที

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image