Social Etiquette : มารยาททางสังคม โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

“หลวงพ่อแพ” แห่งวัดพิกุลทอง อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี และ “พระพุทธวรญาณ” แห่งวัดกวิศรารามราชวรวิหาร อ.เมือง จ.ลพบุรี อริยสงฆ์แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำลพบุรี ทั้งสองท่านเป็นเพื่อนกัน วันเดือนปีเกิดตรงกันพร้อมกัน คือ วันจันทร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ.2448 ขึ้น 12 ค่ำเดือนยี่ ปีมะเส็ง เป็นเกจิอาจารย์ผู้ทรงคุณธรรม มีพุทธบารมี เป็นที่เคารพนับถือ ถึงพร้อมด้วย “ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ” ที่คนไทยทั้งประเทศ และนานาชาติให้ความเคารพนับถือ และยังเป็นที่ระลึกกราบไหว้บูชาเสมอมานับจนถึงปัจจุบัน

มีธรรมะประจำของหลวงพ่อทั้งสองท่านสอดคล้องกัน เวลาที่ท่านไปแสดงพระธรรมเทศนาที่ส่วนราชการ โรงเรียน บ้าน ชุมชน แม้ห้างร้าน บริษัทต่างๆ 6 คำที่ท่านอบรมกล่อมเกลาสั่งสอนเสมอๆ แก่ชาวบ้าน คนยากดีมีจน ร่ำรวย สูงศักดิ์ ไม่เว้นอย่างเท่าเทียมกัน และทุกคนพึงมีและปฏิบัติตัวให้เป็นกิจวัตรเพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิต และยังผลทำให้ตนเองและครอบครัว องค์กรทุกองค์กรอยู่ได้อย่างมีความสุข คือ วินัย หน้าที่ สามัคคี เสียสละ สัจจะ กตเวที

ผู้เขียนในฐานะเป็นลูกศิษย์ยาวนาน ตั้งแต่ครั้งเป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลพบุรี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี ได้ริเริ่มใช้กับตนเองได้ปฏิบัติให้ได้ให้มีในตัวตน แล้วขยายสู่เพื่อนฝูง บริวาร และองค์กร ให้ยึดถือคำสอนของหลวงพ่อเรื่อยมา จนถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข นับว่าได้ผล มีกับตนเอง ครอบครัว หน่วยงานที่ผู้เขียนทุกระดับตั้งแต่ สสจ., กอง, กรม, และกระทรวงสาธารณสุข นับว่าได้ผลดี จากคำสอนของ “หลวงพ่อ” สองท่าน

ผู้เขียนได้เคยวิเคราะห์คำสอน 6 คำ พบว่าฐานรากที่เป็นที่มาคือ แก่นจาก “ศีลธรรม” ผู้เขียนกำหนดชื่อเอาเองว่า สิ่งยึดเหนี่ยวของ “หลวงพ่อ” ทั้งสองท่าน คือ “จัตุรัสชีวิต” ที่พึงปฏิบัติให้ได้ คือ 1.พรหมวิหารธรรม 4 อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ทุกคนควรต้องมีจิตใจและกายเป็น “พรหม เป็นพื้นฐานแห่งการอยู่อย่างสงบสุข เยือกเย็นได้ 2. ฆราวาสธรรม 4 อันได้แก่ สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ ทุกคนในฐานะเป็นปุถุชนคน
ธรรมดาๆ เพื่อให้มี “วินัย หน้าที่ ต่อตนเองและผู้อื่น” จึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ด้วยการมีสัจจะ อดทน และรู้จักให้ 3.สังคหวัตถุ 4 อันได้แก่ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตตา สังคมชุมชนจะเป็นปกติสุข อยู่ด้วยกันแบบร่วมสุขร่วมทุกข์ เอื้ออาทรต่อกัน ต้องมีการให้ เสียสละ สามัคคีกันในสังคม 4.อิทธิบาท 4 อันได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา การทำงาน หรือกรรมที่พึงปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ของคน จะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของความเป็นตัวตน คือ ความสำเร็จในงาน จะบรรลุอย่างต้องถึงพร้อมด้วยความมุ่งมั่น อุตสาหะ ตริตรอง มีเหตุ มีผล ถึงพร้อมด้วย 6 คำดังกล่าวอย่างมีประสิทธิผล

Advertisement

เมื่อผู้เขียนได้มาเป็นอาจารย์ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งมีสาขาแพทยศาสตร์ แพทย์แผนไทยประยุกต์ แพทย์แผนจีน เวชกิจฉุกเฉิน สาขาอนามัยชุมชน อนามัยสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย ส่งเสริมสุขภาพและมีคู่ขนานนิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ แต่ละชั้นปีมีนิสิตกว่า 1,000 คน เบ็ดเสร็จที่คณะมี 4,500 คน โดยประมาณ ก็ได้นำคำสอนของ “หลวงพ่อ” ทั้งสองท่านมาใช้ที่คณะโดยกำหนด 6 คำนี้ ให้เป็น “อัตลักษณ์” ของคณะแพทยศาสตร์ที่นิสิตทุกคนในคณะทั้งสี่พันกว่าคน รวมถึงอาจารย์ และบุคลากรอีกเกือบ 200 คน พึงต้องมีปฏิบัติเป็นต้นแบบให้กับ “ลูกศิษย์” และนิสิตหรือลูกศิษย์ของเราชั้นปีที่ 6 ต้องเป็นต้นแบบให้ชั้นปีที่ 5, 4, 3, 2 และปีที่ 1 (Freshy น้องใหม่) ของเรา ซึ่งอาจารย์ ดร.สมคิด จูหว้า ดร.น้ำเงิน จันทร์มณี และคณาจารย์ทุกคน ได้ประเมินและติดตามลูกศิษย์ที่จบไปแล้ว 5 รุ่น ไป รพสต. รพช. โรงพยาบาลทั่วไป รวมถึงเทศบาล อบต. โรงงาน บริษัท ห้างร้าน ได้ถามไถ่การปฏิบัติตัวของลูกศิษย์กับ Boss เขา ก็จะได้คำชมว่าเด็กเรามี 6 คำนี้ โดยเฉพาะอ่อนน้อมถ่อมตน นับเป็นความภูมิใจของ “อาจารย์” ทุกคนในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยาที่เด็กของเรายังยึดถือคำสอนของ “หลวงพ่อ” ทั้งสองท่านของเราอย่างต่อเนื่อง นับว่าเด็กหรือลูกศิษย์ของเราไม่ได้เรียนเก่งตั้งแต่ต้นมา แต่เมื่อจบแล้วมีงานทำทุกคนเป็น “คนดี” ของสังคมที่ไปอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุข สร้างรายได้ให้ตนเอง ครอบครัว องค์กรที่ไปอยู่ และเพิ่มรายได้ให้ประเทศชาติก็น่าจะพึงพอใจแล้ว

ที่สำคัญคือ ศ.เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ นายกสภามหาวิทยาลัยพะเยา และ ศ.พิเศษ ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา ก็พึงพอใจด้วย

แต่อย่างไรก็ตามแต่ เกร็ดชีวิตทั่วๆ ไป โดยเฉพาะการอยู่ในสังคม ซึ่งละเอียดอ่อน พึงปฏิบัติให้ดี ถูกต้อง ผู้อื่นที่ร่วมอยู่กับเราจะโดยตรงหรือโดยอ้อมมาพบมาเห็น “เรา” ด้วยความมี “มารยาท” ที่ดีงามก็จะบ่งบอกสะท้อนถึงกำพืด ภูมิหลัง หรือชาติกำเนิดเราได้อย่างดี หากประมวลเบื้องต้น น่าจะมี 20-25 ประการ ดังนี้

Advertisement

1.เวลาที่เราไปทานข้าวร้านอาหาร ร่วมโต๊ะกับ “หัวหน้า” Boss หรือ “ใครก็ได้ที่เป็นเจ้าภาพ” ต้องรอให้ “หัวหน้า” เอ่ยปากให้สั่งอาหารได้ตามอัธยาศัย

2.เวลาทานอาหาร ต้องรอทานพร้อมกันทั้งโต๊ะ และต้องให้หัวหน้าหรือเจ้าภาพเปิดก่อน “เสมอ” แล้วคนอื่นจะเริ่มกินตามได้

3.เวลาไปกินบุฟเฟต์ อย่าสั่งเยอะเกิน แล้วอย่าสั่งเผื่อคนอื่นโดยไม่ได้ถามก่อน พอเหลือปุ๊บคนจะมองว่าชีวิตคุณขาดทันที

4.ระมัดระวัง การล้วง แคะ แกะ เกา ในที่สาธารณะแบบไม่รู้ตัว เช่น แคะขี้หู แคะขี้ตา แคะขี้มูก เกาหัว เกาใต้ร่มผ้า เป็นต้น บางทีเราทำไปแบบไม่รู้ตัว แค่คนข้างนอกดูรู้ ไม่เป็นไร แต่ไม่งามเท่านั้น!

5.คนที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ คือ เด็ก ผู้หญิง ผู้ใหญ่ คนแก่ เจอ 3-4 กลุ่มนี้ต้องควรใส่ใจเสมอ เช่น เปิดประตูให้ ตักข้าวให้เลื่อนอาหารให้ใกล้ๆ หรือช่วยตักให้ หรือช่วยถือของ บ่งบอกถึงความมีเมตตา เอื้ออาทร

6.แต่งตัวดีเสมอ สะอาด เรียบร้อย สุภาพสีให้สอดคล้องพองาม ดูแล้วสง่างามเสมอ ไม่ต้อง Brand name เพราะคนส่วนใหญ่จะตัดสินใจคนที่ภายนอกก่อนเสมอ โดยที่เขาไม่รู้หรือรู้ตัวก็ตาม แต่งตัวดี ด้วยบุคลิกดี สำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว

7.เวลาออกงานที่ไม่ใช่ไปเซเว่น หรือไปเดินตลาดห้ามใส่ “รองเท้าแตะ” ทุกกรณี ผู้ชายควรตัดผมให้เรียบร้อย และสวมรองเท้าผ้าใบ และรองเท้าที่เหมาะสมแก่กาลเทศะ ในขณะที่ผู้หญิงต้อง “แต่งหน้าเสมอ” ผมเผ้าเซตเรียบร้อย อย่าปล่อยแก่ และมีกระเป๋าถือกับรองเท้าที่ใส่แล้วดูดีทั้งสีและรูปทรง ถูกกาลเทศะ เพราะคนจะมองจากศีรษะจรดเท้า

8.“ดีพอ” ไม่ได้แปลว่าต้อง Brand name ทุกชิ้นเสมอไป ประหยัดเสียบ้างจะดีมาก หลักคือ สี สไตล์ ไซซ์ ต้องแมตช์กันของดีไม่จำเป็นต้องแพง เหมือน “คนดี” ไม่จำเป็นต้อง “สวย” และมีแบรนด์

9.เมื่อคุณคิดจะเข้าสังคม คุณต้องทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นให้ได้อย่าง “เนียนๆ” เช่น ไปร้องคาราโอเกะกัน แต่คุณนั่งนิ่งๆ ทื่อๆ เรียบร้อยอยู่คนเดียว อย่าทำแบบนี้เพราะนอกจากคุณจะอึดอัด ถ้าไม่อยากทำแต่แรก จำไว้ว่า “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตามเสมอ”

10.เวลาออกงานปาร์ตี้ที่มี Theme การแต่งตัวตามธีม คือ การที่คุณเคารพเจ้าภาพ เคารพเจ้าของงาน และสะท้อนถึงการเคารพตนเอง ไม่ใช่การเล่น ใหญ่แต่อย่างใด พึงเข้าใจใหม่ด้วย

11.เวลาไปพบผู้ใหญ่ที่มีเชื้อสายจีน ซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้น การมีของติดไม้ติดมือเป็นเรื่องสำคัญ ที่ห้ามละเลย เป็นตัวช่วยสื่อสาร สายสัมพันธ์ที่ยากที่จะลืม

12.เทศกาลต่างๆ เช่น การให้ของในวันขึ้นปีใหม่ วันเกิด หรือโอกาสได้ตำแหน่งใหม่ เป็นธุรกิจใหม่ เป็นเรื่องที่คุณต้องทำ ถ้าคุณอยากรักษา connection ให้ยั่งยืน

13.ฝึกนิสัยให้ “ไม่เบียดเบียนสังคม” เช่น การไม่ทิ้งขยะลงตามพื้นที่สาธารณะ ใช้อะไรก็เก็บให้เป็นที่ ไม่จอดรถในที่ห้ามจอดขวางคนอื่นการเบียดเบียนสังคมเป็น “การเห็นแก่ตัว” มักจะทำตอนไม่มีใครเห็น แต่คุณย่อมรู้ตนเอง

14.เวลาเข้าสังคมบ่อยครั้งที่คุณจะร่วมวงสนทนากับคนที่ไม่เคยคุยด้วยมาก่อน สิ่งที่คุณควรทำ คือ กระจายการคุยให้ทั่วถึง อย่าให้ใครโดดเดี่ยวอยู่นอกวง สิ่งต้องห้าม คือคุยกับคนที่รู้จักคุณอย่างเดียว โดยไม่สนใจคนอื่น

15.เสน่ห์ที่ดีที่สุดคือ “ความมั่นใจในตัวเอง” และสิ่งที่งดงามที่สุดบนร่างกายมนุษย์ คือ “รอยยิ้ม” ไม่ใช่ยิ้มด้วยปาก แต่จงยิ้มด้วยใจให้ไปทั้งใบหน้า ตา คิ้ว โหนกแก้ม จมูก มุมปาก คนถึงจะสัมผัสได้ จำไว้ว่ารอยยิ้มและความมั่นใจในตัวเองที่ “พอดีๆ” เป็นประตูสำคัญ ในการ “เข้าสังคม”

16.มารยาทในการเข้า “ลิฟต์” คนที่เข้าคนแรกควรจะประจำอยู่ที่ปุ่มกดเสมอ อย่างน้อยคือ ช่วยกดปุ่มปิด-เปิด ประตู คนที่เข้าไปทีหลังบอกชั้นให้คนช่วยกดให้ ต้องจบประโยคด้วยคำว่า “ขอบคุณ” ทุกครั้ง แบบไม่มีข้อยกเว้น และจำไว้เสมอว่า ในลิฟต์ไม่ควรมีใครคุยอะไรกันทั้งนั้น

17.หลักการสั่งอาหารเมื่อทานข้าวกับผู้ใหญ่ (มีคนเลี้ยง) ไม่ควรสั่งอาหารราคาสูงกว่าราคาเฉลี่ยในเมนู ควรสั่งอาหารราคากลางๆ เพื่อ Play safe ข้อสำคัญคือ ห้ามสั่งของที่ราคาแพงกว่าเจ้าภาพเด็ดขาด

18.ด้วยในการตักอาหารก็สำคัญมาก ขอให้คุณคิดถึงคนทั้งโต๊ะเสมอ เช่น โต๊ะมี 8 คน มีสั่งเมนูกุ้งเผา มีกุ้งอยู่ 4 ตัว คุณต้องตักไปแค่ครึ่งตัวเท่านั้น การที่คุณยกไปทั้งตัว สะท้อนลึกๆ ว่าคุณสนใจแต่ตัวเอง ไม่แคร์คนอื่น…ระวังใจเขาใจเรา

19.มารยาทในการเข้าห้องน้ำสาธารณะ สุขภัณฑ์ที่คุณใช้เสร็จต้องสะอาดเท่ากับก่อนที่คุณจะใช้ สำหรับผู้ชายที่ชอบฉี่ในห้องน้ำ ต้องยกฝาครอบชักโครกก่อนเสมอ สำหรับห้องน้ำที่มีสายฉีดระมัดระวังอย่าให้พื้นเปียกน้ำ เช่นเดียวกันเวลาล้างมืออย่าสะบัดน้ำลงมือ ให้เช็ดมือด้วยทิชชู หรือเป่าเครื่องเป่าให้แห้งแทน

20.สำหรับสุภาพบุรุษ Lady first เป็นมารยาทสำคัญที่เป็นสากล การเปิดประตูให้ผู้หญิง การให้ผู้หญิงเลือกที่นั่งก่อน การกดลิฟต์ให้เขาเข้าก่อน ทุกอย่างเป็นสิ่งที่สวยงาม ที่สุภาพบุรุษพึงกระทำ 21.กลิ่นเป็นสิ่งที่ต้องดูแล ให้มี 3 กลิ่น ที่คุณต้องดูแล คือ กลิ่นปาก กลิ่นตัว และกลิ่นเท้า ร้อยละ 80 ของคนที่มีปัญหาเรื่องกลิ่น มักไม่รู้ตัวเองว่ามีปัญหานี้ และมักไม่มีใครกล้าบอก 22.การพูดจาที่สุภาพ อ่อนโยน คือคุณสมบัติของผู้เป็นใหญ่ความอ่อนโยนคือสิ่งที่คุณต้องคงไว้

23.ใส่ใจในรายละเอียดในเรื่องเล็กน้อย จะทำให้ “คุณดูแตกต่าง” จากคนทั่วไป เช่น เลื่อนเก้าอี้เก็บทุกครั้งหลังจากลุก ปิดฝาและจัดวางพวงเครื่องปรุงให้อยู่จุดเดิมทุกครั้ง หลังทานร้านก๋วยเตี๋ยว การเก็บถาดอาหาร จงฝึกตนให้เป็นคนใส่ใจเรื่องเล็กน้อยบ้างแต่พอดี ก็จะดีอย่าละเลย 24.คำพูดที่คุณควรต้องพูดติดปาก คือ คำว่า สวัสดีค่ะ (ไหว้) สวัสดีครับ (ไหว้) ขอบคุณครับ ขอโทษค่ะ ขอได้โปรด ยินดีด้วยครับ ยิ่งพูดคำเหล่านี้ได้ง่ายเท่าไหร่ คุณจะได้เกียรติจากคนรอบข้างมากขึ้น เกียรติเป็นหนึ่งเรื่องที่ให้ก่อน ที่จะได้เสมอ…ไม่หนัก ง่ายๆ สบายฝึกไว้ให้เคยชินมีแต่ได้กับได้ 25.โดยเฉพาะคำว่า “ขอบคุณ” ยินดีด้วยครับต้องพูดให้ติดปาก จนเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง

โดยรวมสรุปแล้ว “มารยาทพึงปฏิบัติ” มีตามที่กล่าวแล้ว น่าจะมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย เพียงแต่จังหวะ กาลเทศะ ความพอดี ความเหมาะสมกับคน กับเวลา กับโอกาสนั้นสำคัญ ใครมีแล้ว ทำได้แล้ว ก็ฝึกเพิ่มเติมได้ ใครยังไม่มี ไม่ได้ทำก็ขอให้เริ่มตั้งแต่วันนี้ แล้วจะรู้สึกว่าเรามีเครื่องประดับ เครื่องอาภรณ์ สร้างเสน่ห์ สร้างบุคลิกภาพที่น่ารัก น่าคบ น่าปฏิบัติติดตัวเราแบบไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องหา “ตัวเรา” สร้างได้เองเท่านั้น ประเสริฐสุด และสถาพร ท้ายสุดฝึกให้เป็นนิสัยเพื่อความสุขของตัวเองและคนอื่นในครอบครัว และสังคมเป็นสุข

ผู้เขียนต้องขอกราบนมัสการหลวงพ่อทั้งสองท่าน คือ หลวงพ่อแพ แห่งวัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี และ หลวงพ่อพุทธวรญาณ แห่งวัดกวิศรารามราชวรวิหาร จ.ลพบุรี ว่าธรรมที่ท่านอบรมสั่งสอน 6 คำ คือ “วินัย หน้าที่สามัคคี เสียสละ สัจจะ กตเวที” ยังคงเป็นอมตะนิรันดร์กาล ที่ทรงประสิทธิภาพประสิทธิผลแก่ “ผู้ปฏิบัติ” เริ่มทำเลยครับวันนี้ “เราทำความดี” เพื่อ “เป็นคนดีของพ่อหลวง” ของเราไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image