สุจิตต์ วงษ์เทศ : ไม่มีเห่เรือ ยุคอยุธยา สมัยพระนารายณ์ จากบันทึกของลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศส

(บน) เรือยาวรับคณะทูตพิเศษจากราชสำนักฝรั่งเศส (ล่าง) เรือยาวของพระเจ้ากรุงสยาม เชิญพระราชสาส์นของสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส [ลายเส้นรูปประกอบทุกรูป จากหนังสือ บันทึกของลาลูแบร์]

ในเรือพระที่นั่งยุคอยุธยาไม่มีคนเห่เรือ อย่างที่เข้าใจกันทุกวันนี้ว่ามีเห่ถวายพระเจ้าแผ่นดินขณะเสด็จทางชลมารค

ลาลูแบร์บันทึกไว้ ดังนี้

“สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามจึงทรงมีเรือยาวพระที่นั่งต้นอย่างงดงามไว้เป็นอันมาก ลำเรือนั้นทำจากซุงท่อนเดียว ลางลำมีความยาวตั้งแต่ 16 ถึง 20 วา”

“ในเรือยาวสำหรับงานพระราชพิธี หรือในขบวนเรือพระที่นั่งต้นของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม ซึ่งชาวปอรตุเกศเรียกว่าเรือหลวง—นั้น ตรงกลางลำมีที่นั่งแต่เฉพาะที่เดียว กินเนื้อที่เกือบเต็มความกว้างของลำเรือ และที่นั่งนั้นก็มีคนนั่งแต่ผู้เดียวกับสาตราวุธเท่านั้น”

Advertisement

“เรือพระที่นั่งต้น ลำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนั้น มีกรมการหรือเจ้าพนักงาน 4 นายเป็นผู้บังคับฝีพายทั้งลำ อยู่ข้างหน้า 2 คน ข้างหลัง 2 คน นั่งขัดสมาธิ นี้แลคือสิ่งประกอบทั้งสิ้นของเรือพระที่นั่งต้น”

“ในเรือยาวลำหนึ่ง ลางทีก็มีฝีพายตั้ง 100 ถึง 120 คน นั่งขัดสมาธิเรียงคู่กันไปบนแผ่นกระดาน”

จะเห็นว่าไม่มีที่ทางของคนเห่เรือ เพราะยุคอยุธยาไม่เคยมีเห่เรือเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จทางชลมารค ถ้ามีจริงลาลูแบร์คงบันทึกไว้ด้วย เพราะต้องเห็นและต้องได้ยินคำบอกเล่า

Advertisement
(บน) เรือยาวของขุนนาง (ล่าง) แผนผังเรือยาวกับกระทงเรือที่พวกฝีพายนั่ง และฐานที่ตั้งกูบ-พาย
(บน) เรือยาวของขุนนาง (ล่าง) แผนผังเรือยาวกับกระทงเรือที่พวกฝีพายนั่ง และฐานที่ตั้งกูบ-พาย

เรือขุนนาง มีร้องรำทำเพลง ไม่มีเห่เรือ

เรือขุนนางมีฝีพาย 10 กว่าคน พวกนี้ไม่ต้องสำรวมเหมือนฝีพายเรือพระที่นั่งของพระเจ้าแผ่นดิน จึงเป่าปี่ตีกลองร้องเพลงเข้าจังหวะพายเรืออย่างสนุกสนาน

ลาลูแบร์บันทึกว่า

“ขุนนางชั้นผู้น้อยก็มีเรือขนาดสั้นกว่าและมีฝีพายน้อยคน เพียง 16 หรือ 20 คนก็พอแล้ว พวกฝีพายนั้นร้องเพลง หรือออกเสียงให้จังหวะเพื่อที่จะพายได้พร้อมๆ กัน แล้วก็จ้วงพายเป็นจังหวะด้วยอาการเคลื่อนไหวแขนและไหล่อย่างแข็งขัน แต่ก็ดูง่ายๆ และสง่างามมาก”

“น้ำหนักตัวของฝีพายนี้เป็นอับเฉาของเรือไปในตัว และทำให้เรือแล่นอยู่บนผิวน้ำ อันเนื่องจากด้ามพายนั้นสั้นมาก และอาการที่เรือบรรทุกฝีพายไว้มากคน แล้วจ้วงพายพร้อมๆ กันด้วยกำลังแรง ทำให้เรือแล่นฉิวน่าดูนัก—–”

ที่ว่าพวกฝีพาย “ร้องเพลงหรือออกเสียงให้จังหวะ” (เป็นสำนวนโวหารการแปลจากภาษาฝรั่งเศส) ไม่ใช่เห่เรืออย่างที่เข้าใจปัจจุบัน

ความสนุกสนานร้องรำทำเพลงดังกล่าวเป็นเรื่องปกติ เพราะยังมีบอกไว้ในกฎมณเฑียรบาลอีกว่า “ร้องเรือเป่าขลุ่ยเป่าปี่ตีทับขับรำโห่ร้องนี่นัน” และ “ร้องเพลงเรือเป่าปี่เป่าขลุ่ยสีซอดีดจะเข้กระจับปี่ตีโทนทับโห่ร้องนี่นัน”

(บน) เรือยาวของขุนนาง (ล่าง) แผนผังเรือยาวกับกระทงเรือที่พวกฝีพายนั่ง และฐานที่ตั้งกูบ-พาย

ร้องรำทำเพลงโห่เห่ต้อนรับทูตจากฝรั่งเศส

ยุคอยุธยา ไม่มีเห่เรือในขบวนเรือรับอัครราชทูตพิเศษจากราชสำนักฝรั่งเศส มีแต่เสียงโห่ร้องเล่นร้องรำทำเพลงประโคมแห่แหนในเรือสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยา

ลาลูแบร์บันทึกสิ่งที่เห็นและได้ยินด้วยตนเองดังต่อไปนี้

“เมื่อคณะเอกอัครราชทูตพิเศษแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (กรุงฝรั่งเศส) เคลื่อนเข้าสู่ลำแม่น้ำ (เจ้าพระยา) นั้น ความสง่างามของริ้วขบวนแห่แหนทำให้ข้าพเจ้าได้รับความประหลาดใจอย่างไม่นึกฝันเป็นอันมาก ตัวลำแม่น้ำเองก็กว้างพอดู ถึงแม้จะคดเคี้ยวก็มีร่องกลางน้ำใหญ่พอที่เรือจะผ่านเข้าไปได้โดยสะดวก และทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำนั้นก็มีสวนต้นผลไม้เขียวชอุ่มติดต่อกันไปไม่ขาดระยะ น่าจะเป็นเวทีละครอันงามยิ่งของโลกสำหรับประกอบงานเฉลิมฉลองได้อย่างโก้และภูมิฐานนัก

และความภูมิฐานใดๆ ก็ไม่สะดุดเด่นเท่าการที่มีผู้คนเป็นอันมากทอดตัวเข้ามาเพื่อบำรุงบำเรอตัวท่าน มีผู้คนเกือบ 3,000 ในเรือยาว 70 หรือ 80 ลำ มาร่วมขบวนแห่แหนคณะเอกอัครราชทูตพิเศษ ลอยลำขนาบไปเป็นสองแถว ให้เรือของคณะเอกอัครทูตพิเศษอยู่ตรงกลาง

ทุกลำคึกคักและเคลื่อนไหวไม่หยุดยั้ง จักษุประสาทนั้นจ้องมองอยู่กับสิ่งเพลิดเพลินเจริญตานานาประการ และจำนวนลำเรือที่มาร่วมขบวนแห่แหนกับความงามของน่านน้ำ หากโสตประสาทนั้นได้รับความสำราญจากเสียงกึกก้อง แต่ไพเราะด้วยเสียงเห่, เสียงโห่ และเสียงกระจับปี่สีซอ”

“สิ่งเหล่านี้ไม่เหลือรอยให้คาดคิดว่าโดยธรรมดาแล้ว น่านน้ำนี้ก็มีแต่ความเงียบสงบอยู่เป็นนิจ ในยามราตรีก็งามไปอีกอย่างหนึ่ง เพราะเรือยาวแต่ละลำก็จุดประทีปโคมไฟของตนขึ้น และมีศัพท์สำเนียงอันแสนเสนาะแว่ววิเวกมาในราตรีกาล”

สรุปว่าไม่มีเห่เรือยุคอยุธยา สมัยพระนารารยณ์ และตลอดยุคอยุธยาจนกรุงแตกก็ไม่มีเห่เรือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image