‘รัฐยานยนต์’ ของพลเอกประยุทธ์!

…ปกติแล้ว เรามักชอบเปรียบเปรยว่า ประเทศเป็น “รัฐนาวา” ที่มีผู้นำประเทศเป็นกัปตัน และกัปตันมีภารกิจหลักที่จะต้องนำเรือพร้อมผู้โดยสารจำนวนมากไปสู่ท่าเรือที่เป็นจุดหมายปลายทางให้ได้อย่างปลอดภัย ดังนั้น ในยามที่รัฐนาวาไทยเผชิญมหาวิกฤต ทุกคนจึงหวังว่า ผู้นำรัฐบาลปัจจุบันจะไม่ทำให้รัฐนาวาไทยลำนี้กลายเป็น “เรือไททานิค” ที่ชนกับวิกฤตที่เป็นดังภูเขาน้ำแข็ง และจมลงกลางทะเล

แต่วันนี้ผู้นำไทยมีอุปมาอุปไมยใหม่ในการแถลงที่เชียงใหม่เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 ว่า ประเทศไทยเป็นเหมือนรถยนต์ ถ้าเป็นเช่นนี้ ขอเรียกประเทศว่าเป็น “รัฐยานยนต์” .. แน่นอนว่า ไม่ใช่ “เรือแป๊ะ” อีกต่อไปแล้ว เพราะในสถานการณ์อย่างนี้ เรือแป๊ะทานคลื่นลมแรงของปัญหาต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่องไม่ได้ และคงจมลงกลาง “มหาสมุทรแห่งวิกฤต” อย่างแน่นอน

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึงรัฐยานยนต์ไทยที่เขาเป็น “พลขับ” หลักคันนี้ว่า อย่างไรเสีย คนไทยคง “ต้องนั่งรถคันเดียวกันไป จะเป็นจะตายก็ต้องช่วยกันเข็น เข็นให้มันวิ่ง ดีกว่ามีเครื่องยนต์ด้วยซ้ำ…”

แต่ว่าที่จริงมีคำถามมานานแล้วว่า “รัฐยานยนต์ไทย” ที่ขับโดยพลเอกประยุทธ์ในสถานการณ์วิกฤตซ้ำซ้อนหลายชุดที่เกิดอย่างต่อเนื่องนั้น จะวิ่งไปข้างหน้าได้หรือไม่ เพราะวันนี้คนในสังคมไทยเป็นจำนวนมากมีความสงสัยอย่างเหลือเกินว่า “รถยี่ห้อ คสช.” ที่วิ่งมาตั้งแต่รัฐประหาร 2557 และมาจูนเครื่องหลังเลือกตั้ง 2562 จะยังวิ่งได้จริงหรือไม่?

Advertisement

หรือว่า “รัฐยานยนต์ไทย” ของรัฐบาลในปัจจุบันเป็น “รถรุ่นเก่า” ที่ขับไปไหนมาไหนไม่ได้มาระยะหนึ่งแล้ว และเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตใหญ่ รถคันนี้กลับวิ่งไม่ได้ จนท่านผู้นำต้องออกมาเรียกร้องให้พวกเราช่วยกันเข็น

หากสิ่งที่น่าตกใจจากคำอุปมาคือ ต่อให้พวกเราประชาชนลงมาเข็น รถคันนี้ก็อาจจะวิ่งไม่ได้ เพราะ “ไม่มีเครื่องยนต์” เพราะท่านได้ให้กำลังใจแบบลมๆแล้งๆ แก่พวกเราว่า “เข็นให้มันวิ่ง ดีกว่ามีเครื่องยนต์ด้วยซ้ำ” คำกล่าวเช่นนี้จึงเสมือนการสื่อสารทางการเมืองของผู้นำรัฐบาลที่บอกกับพวกเราว่า “รัฐยานยนต์ไทยไม่มีเครื่องยนต์” ถ้าเช่นนั้นแล้ว ยานยนต์ไทยที่ไม่มีเครื่องยนต์คันนี้จะวิ่งไปข้างหน้าอย่างไร

แม้พี่น้องประชาชนต้องลงมาช่วยกันเข็น และออกแรงเข็นไปเรื่อยๆ เพื่อให้บรรดาผู้นำรัฐบาลได้นั่งสบายๆ ในรถนี้ต่อไป แต่ปัญหาคือ เราจะต้องเข็นกันไปอีกนานเท่าใด และเราทั้งหลายต้องใช้แรงเข็นรัฐยานยนต์ของพลเอกประยุทธ์ ไปถึงเมื่อใด

บางทีอดเปรียบเทียบไม่ได้ในกรณีของรถที่ปราศจากเครื่องยนต์เช่นนี้ ซึ่งอาจไม่แตกต่างกับกรณีการจัดซื้อรถถังยูเครนในอดีต ซึ่งสุดท้ายแล้ว กลายเป็นรถถังที่มีปัญหาเครื่องยนต์ เพราะทางเยอรมนีไม่ส่งมอบเครื่องยนต์ให้ จนเป็นปุจฉามานานว่า รถถังยูเครนชุดนี้ ถูกส่งมอบกี่คัน และที่ยังวิ่งได้มีกี่คัน … การจัดหาเรือดำน้ำจากจีนก็เผชิญปัญหาไม่แตกต่างกัน โดยไม่มีเครื่องยนต์จากเยอรมนีส่งมอบตามข้อตกลง จนกลายเป็นเรื่องขบขันในสื่อโซเชี่ยลว่า เรือดำน้ำไทยไม่มีเครื่องยนต์ … การจัดซื้อ “เรือเหาะ” ที่เหาะไม่ได้ และไม่สามารถใช้ในภารกิจของการตรวจการณ์ทางทหารได้ จนโครงการสิ้นสภาพไป ก็เป็นเรือเหาะที่ไม่มีเครื่องอะไรในตัวเอง

ภาวะเช่นนี้อาจเป็นภาพสะท้อนถึงความคุ้นชินของผู้นำทหารที่จัดซื้อจัดหา “ยานรบที่ปราศจากเครื่องยนต์” หรือ จีที-200 ก็เป็นการจัดซื้อเครื่องมือสนับสนุนการรบที่ “ไม่มีไส้ใน” ที่เป็นอุปกรณ์การทำงาน อาจไม่ต่างกับรถถังที่มีปัญหาเครื่องยนต์ เรือดำน้ำที่ไม่มีเครื่องยนต์ หรือเรือเหาะที่เหาะไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ประเทศจะเป็นรถที่ปราศจากเครื่องยนต์ไม่ได้ และเครื่องยนต์ที่มีต้องมีแรงม้ามากพอที่จะพารัฐยานยนต์ไทย เคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้ … ไม่มีใครต้องการ รัฐยานยนต์ที่ปราศจากเครื่องยนต์อย่างแน่นอน

ยิ่งในภาวะที่ประเทศเผชิญวิกฤตซ้ำซ้อนกัน 6 ชุดใหญ่ๆ ได้แก่ 1) โรคระบาด 2) วิกฤตสงครามยูเครน 3) วิกฤตเศรษฐกิจ 4) วิกฤตพลังงาน 5) วิกฤตอาหาร และ 6) วิกฤตปุ๋ย ซึ่งผลที่ตามมาอย่างมีนัยสำคัญคือ ราคาค่าครองชีพที่สูงขึ้น ราคาพลังงานที่สูงขึ้น และราคาอาหารที่สูงขึ้น

ผลสืบเนื่องจากปัญหาขนาดใหญ่เหล่านี้ได้กลายเป็น “วิกฤตการเมือง” ในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย และในหลายประเทศ ผลของ “ค่าครองชีพสูง-พลังงานขาด-อาหารแพง” คือ ปัญหาพื้นฐาน 3 ประการที่เป็นจุดเริ่มต้นของประท้วงใหญ่ต่อต้านรัฐบาล เช่นในกรณีของศรีลังกา เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้

นอกจากนี้คงปฎิเสธไม่ได้ว่า ยิ่งมีวิกฤตใหญ่ คนยิ่งมีความคาดหวังฝีมือในการแก้ปัญหาของรัฐบาล เพราะโดยหลักการวิชารัฐศาสตร์แล้ว ประเทศมีรัฐบาลก็เพื่อทำหน้าที่ในการแก้ปัญหาของประเทศ … ไม่เช่นนั้น เราจะมีรัฐบาลไปเพื่ออะไร ผู้นำรัฐบาลที่ดีจึงต้องไม่กล่าวโทษประชาชนในภาวะที่การแก้ปัญหาของเขาไม่ประสบความสำเร็จ หากแต่ผู้นำจะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่ว่าเขาจะเป็น “กัปตันของรัฐนาวา” หรือเป็น “คนขับของรัฐยานยนต์” เขาผู้นั้น มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะพายานพาหนะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ และรัฐยานยนต์นี้จะต้องไม่ “พลิกคว่ำเทกระจาด” ด้วยคนขับที่ไร้ฝีมือ เพราะในรถคันนี้มีชีวิตของประชาชนทั้งหมดในประเทศเป็นเดิมพัน

ในสถานการณ์ปัจจุบัน เราคงต้องยอมรับความจริงประการสำคัญว่า คนในประเทศหลายส่วนไม่ได้รู้สึกว่า รัฐยานยนต์ของพลเอกประยุทธ์มีพลังขับเคลื่อนเดินรถได้จริง และมีความรู้สึกคล้ายกันว่า พลเอกประยุทธ์ซึ่งเป็นคนขับและถือพวงมาลัยรถคันนี้ มาตั้งแต่รัฐประหาร 2557 และเอารถมาเข้าอู่ตกแต่งใหม่ด้วยการเลือกตั้ง 2562 นั้น ไม่สามารถพายานยนต์ไทยไม่วิ่งไปไหนได้

อีกทั้ง หลายครั้งในการเดินทาง เราไม่รู้ว่าคนขับจะพาเราไปไหน และหลายครั้งเรากลับพบว่า รถวิ่งไม่ค่อยได้ ซึ่งว่าที่จริง วิ่งไม่ได้มาพักใหญ่แล้ว เพราะรถคันนี้ใช้เครื่องยนต์แรงม้าต่ำ และคนขับก็ขาดทักษะของการ “ขับรถในยามวิกฤต” … ไม่สามารถเอามาใช้ขับรถบนเส้นทาง “วิบากจากวิกฤต” เช่นในปัจจุบันได้

แต่วันนี้ท่านผู้นำมาบอกเพิ่มเติมจนน่าตกใจว่า รถไม่มีเครื่องยนต์ และให้พวกเราลงมาช่วยกันเข็น … คนไทยไม่ใจจืดใจดำจนไม่อยากช่วยเข็น แต่หากเป็นไปได้ ก็อยากขอเข็นรถที่มีเครื่องยนต์ เพราะเข็นแล้วเครื่องจะได้ติด วิ่งไปต่อได้ และถ้าขอได้อีกประการ ก็อยากขอเปลี่ยนคนขับรถด้วย เพราะคนขับคนนี้ขับมานาน แม้เขาอาจจะเคยขับ “รถบรรทุกทหาร” มาก่อน แต่เมื่อต้องมาขับ “รัฐยานยนต์ไทย” ที่เป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่โดยมีประชาชนจำนวนมากเป็นผู้โดยสารนั้น เราพบว่า เขาขับรถคันนี้ “ฉวัดเฉวียน” ไปมา จนผู้คนบนรถเริ่มไม่แน่ใจว่า คนขับรถทหารคนนี้จะพาเราไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัยหรือไม่

หรือว่าถึงเวลา ที่จะต้องเปลี่ยนคนขับใหม่ และเปลี่ยนเอารถที่มีเครื่องยนต์ใหม่มาใช้ด้วย เพราะวิกฤตไทยครั้งนี้ใหญ่มากเกินกว่าที่จะใช้ “คนขับรถทหาร” และ “รถเก่าปะผุยี่ห้อ คสช.” แล้ว!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image