พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : ภาพยนตร์กับการสร้างเมือง

เร็วๆ นี้จะมีกิจกรรมแนวการฉายหนังกลางแปลงในกรุงเทพมหานคร ในฐานะส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางวัฒนธรรมและเทศกาลใหม่ที่ร่วมมือกันระหว่างหลายฝ่าย

กิจกรรมดังกล่าวน่าจะได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างคึกคักไม่น้อยกว่าดนตรีในสวน และการกลับมาของการเล่นดนตรีสดของวงระดับนักเรียน/เยาวชนต่างๆ

ความคึกคักของกิจกรรมทางวัฒนธรรมร่วมสมัยเหล่านี้ รวมทั้งเรื่องของ pride month หรือการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครซึ่งประจวบเหมาะกับช่วงเวลาของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำให้ผมอดไม่ได้ว่า “ความเบ่งบานแห่งกรุงเทพฯ” หรืออาจจะเรียกว่า Bangkok Spring ได้เกิดขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งแล้ว หลังจากการก่อตัวอันยาวนานของการลุกขึ้นของผู้คนทั้งคนหนุ่มสาวและวัยอื่นๆ ในเมืองแห่งนี้ต่อสิ่งที่กดทับและครอบงำพวกเขามานาน ราวกับการถูกแช่แข็งมาพักใหญ่ในทุกๆ ด้าน

การเบ่งบานของกิจกรรมเหล่านี้ในหลายที่ รวมทั้งเพลงที่นำมาร้องของวงเยาวชนทำให้อดนึกไม่ได้ว่า สิ่งเหล่านี้ได้เปิดเผยตัวออกมาจากโลกแห่งการแช่แข็งอย่างน้อยแปดปีที่เต็มไปด้วยบทเพลงที่ทั่นผู้นำคนปัจจุบันที่ยึดอำนาจและปกครองประเทศมาเป็นเวลายาวนานได้แต่งและเปิดกรอกหูผู้คน รวมทั้งคำขวัญสิบสองประการ และทัศนคติจำนวนมากที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับเนื้อร้องของเพลงต่างๆ ที่ทั่นผู้นำทยอยเผยแพร่ด้านเดียว เพื่อแสดงความรักและคาดหวังความสามัคคีจากประชาชน

Advertisement

การเบ่งบานและแพร่กระจายของกิจกรรมทางวัฒนธรรมร่วมสมัยเหล่านี้ไม่ได้เกิดแค่เพราะวิกฤตโควิดนั้นลดลง แต่มันสะท้อนถึงการกดทับของกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ และการปิดกั้นกิจกรรมบันเทิงไว้อย่างยาวนาน โดยปราศจากการต่อรองและทำความเข้าใจถึงความจำเป็นในเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ และเงื่อนไขทางวัฒนธรรมของสังคมหนึ่งๆ ที่เรื่องเหล่านี้เคยเป็นเสมือนลมหายใจของเมืองและของประเทศ

ไม่นับว่าการแสดงดนตรีของเด็กรุ่นนี้จำนวนหนึ่งคือการเล่นเพลงของเมื่อสิบปีก่อน หรือช่วงเวลาก่อนการรัฐประหารและความขัดแย้งของสีเสื้อ อาจเป็นเพราะว่าเวลาที่ความเบ่งบานของเสรีภาพนั้นมีอยู่มากกว่าช่วงวิกฤตการเมืองเป็นต้นมา

สําหรับในส่วนของกิจกรรมการฉายภาพยนตร์ในกรุงเทพฯที่เรียกกันว่าเทศกาลหนังกลางแปลงนั้น ผมก็คิดว่าเป็นอีกกิจกรรมที่น่าสนใจ เพราะเท่าที่ทราบจากข่าวนั้น กิจกรรมดังกล่าวนี้ไม่ใช่กิจกรรมที่เพียงแต่ฉายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ หรือฉายที่พื้นที่ไหนสักแห่งในกรุงเทพฯ

Advertisement

แต่มีการเลือกพื้นที่ที่จะฉายด้วย อาทิ การฉายภาพยนตร์ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับสยามสแควร์ในพื้นที่สยามสแควร์ หรือมีการฉายในพื้นที่คลองเตย ลานคนเมือง สวนรถไฟ และอีกหลายพื้นที่

ความน่าสนใจเรื่องนี้มีอยู่อย่างมาก นอกเหนือจากความบันเทิงและการสร้างกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร เพราะทำให้เรามีโอกาสได้คิดถึงเรื่องอีกหลายเรื่องโดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างภาพยนตร์กับเมือง ที่มากไปกว่าการที่เมืองนั้นเป็นพื้นที่ที่มีการฉายภาพยนตร์ และในรอบนี้พื้นที่ในเมืองที่มีการฉายภาพยนตร์ก็ไม่ได้อยู่ในโรงภาพยนตร์ แต่เป็นพื้นที่สาธารณะหลากหลายรูปแบบ ทั้งของกรุงเทพมหานครเองในฐานะหน่วยงานของรัฐ ของชุมชน และของบริษัทเอกชนเอง

ส่วนที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างภาพยนตร์กับเมืองนั้นเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนอยู่พอสมควร และเรื่องนี้ยังไม่ค่อยมีการกล่าวถึงอย่างเป็นระบบมากนักในวงการวิชาการไทย หรือที่ผ่านมาแม้จะมีกิจกรรมของการฉายภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับเมือง ก็มักจะชี้ไปในทางของการสะท้อนปัญหาของเมืองต่างๆ ที่เป็นฉากหลังของภาพยนตร์เพื่อนำมาอภิปรายถกเถียงในเรื่องของการพัฒนาเมือง

นอกจากนั้น ที่ผ่านมาการพูดถึงเรื่องของภาพยนตร์กับสังคมก็มักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการทำความเข้าใจเรื่องของอัตลักษณ์ของความเป็นชาติ (ความเป็นไทย) ของภาพยนตร์ โดยเฉพาะการหาลักษณะร่วมและประวัติศาสตร์ความเป็นมาของภาพยนตร์ไทย หรือการสนใจศึกษาผลงานของผู้กำกับสัญชาติไทยที่มีผลงานโดดเด่น รวมทั้งที่มีผลงานในระดับโลก

สิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของความตื่นตัวในวงวิชาการระดับโลกก็คือความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของการทำความเข้าใจเรื่องเมืองกับภาพยนตร์ ในความหมายที่ว่าภาพยนตร์นั้นเล่าเรื่องเมืองอย่างไรทั้งในเมืองที่มีจริงๆ หรือเมืองสมมุติที่สามารถเชื่อมโยงกับเมืองที่เป็นจริงได้ (อาทิ การทำความเข้าใจเรื่องของเมืองที่เป็นฉากหลังของภาพยนตร์อย่างแบทแมน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเมืองสมมุติ แต่ผู้คนก็อาจจะนึกถึงเมืองบางเมืองในความเข้าใจของพวกเขาได้)

หรือเมืองที่แม้ว่าจะมีจริง แต่ในมุมมองของคนเล่าเรื่อง และในมุมมองของตัวเอกในเรื่องเขาอาจจะมีประสบการณ์บางอย่างที่หลายคนอาจจะไม่ทราบหรือประสบมาก่อน หรืออาจจะเป็นจินตนาการใหม่ๆ ที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อน (เช่น ฉากของกรุงเทพฯใน หมานคร เป็นต้น)

เรื่องที่จะมีการฉายหนังกลางแปลงในกรุงเทพฯจากภาพยนตร์มากมายหลายเรื่องในรอบนี้ จึงไม่ใช่แค่เรื่องชีวิตของผู้คนที่หลากหลายในกรุงเทพมหานคร และห้วงเวลาที่แตกต่างกันที่ภาพยนตร์จะถ่ายทอดออกมาว่ากรุงเทพฯในยุคต่างๆ นั้นเป็นอย่างไร

แต่ยังน่าสนใจในการพิจารณาว่าผู้คนในเรื่องรวมทั้งมุมมองของผู้สร้าง (ทั้งกำกับและเขียนบท) นั้นเขาต้องการเล่าเรื่องอะไร เขามีมุมมองต่อเมืองแห่งนี้อย่างไร

ซึ่งในแง่นี้ก็คือ เมืองนั้นไม่ได้ถูกสร้างในทางกายภาพโดยนักผังเมือง วิศวกร สถาปนิก หรือผู้คนต่างๆ ในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยังถูกสร้างขึ้นทั้งในจินตนาการ และในจินตนาการร่วมที่แบ่งปันกันจนก่อกำเนิดภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ที่เล่าเรื่องของเมือง และในบางเรื่องอาจจะสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการจดจำ และอาจจะนำไปสู่การกระตุกต่อมคิดและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเมืองขึ้นได้ในอนาคต

ที่เล่ามานี้ทำให้เราคิดต่อไปอีกว่า เมืองที่ถูกสร้างขึ้นในภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นจินตนาการที่เหมือนจะหลุดจากความเป็นจริงไปไกล หรือที่เหมือนกับเกิดขึ้นจริงๆ มาในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง (อาทิ การอ้างว่า “สร้างจากเรื่องจริง”) นั้นไม่ใช่แค่ถูกสร้างในฐานะเป็นเมืองที่ปรากฏขึ้นในการเล่าเรื่องผ่านแผ่นฟิล์มเท่านั้น แต่มันยังบอกเล่าเรื่องราวของ “ความเป็นสมัยใหม่” (modernity) ที่มีการก่อตัว และมีความหลากหลายของมิติการดำรงอยู่ การเปลี่ยนแปลง และภาวะวิกฤตได้อย่างซับซ้อน และมีความเฉพาะตัว ทำให้เห็นมิติเชิงพื้นที่ได้อย่างเด่นชัดขึ้น

อย่างน้อยในกรณีของกรุงเทพฯนั้น เราจะได้เห็นความสัมพันธ์ของผู้คน หรือมุมมองจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีต่อเมือง และการใช้ชีวิตของพวกเขา ไม่ว่าเรื่องนั้นจะจริง หรือถูกปรุงแต่ง หรือถูกถ่ายทอด

เรื่องเหล่านี้มีความหลากหลายทั้งจากยุคหนังวัยรุ่นที่เกี่ยวพันกับพื้นที่อย่างสยามสแควร์ หรือการถ่ายทอดเรื่องราวของคนชั้นล่างในสังคมที่เข้ามาดิ้นรนทำมาหากินในกรุงเทพฯ (โดยเฉพาะอย่างภาพยนตร์ในตำนานหลายเรื่องที่เล่าเรื่องราวมุมมองเหล่านี้จาก “ท่านมุ้ย” ซึ่งอยู่ในอีกฐานันดรหนึ่ง)

รวมถึงภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวของคนชั้นล่างจากมุมมองของคนที่อยู่ในชนชั้นนั้นมาก่อนจากผู้กำกับอีกหลายคน หรือแม้กระทั่งการสร้างเมืองในภาพยนตร์ให้มีความหมายที่ซับซ้อนไปอีกหลายแบบแทนที่จะมีแต่เรื่องของคนต่างจังหวัดที่เข้ามาดิ้นรนในเมือง และพบกับน้ำใจและอุปสรรคในเมือง อย่างภาพยนตร์หลายเรื่องที่พูดถึงชีวิตในเมืองยุคใหม่ เช่น รถไฟฟ้ามาหานะเธอ

ไล่เรียงมาถึงเรื่องของชีวิตและความรักในเมือง เรื่องสยองขวัญในเมือง และแม้กระทั่งมุมมองของภาพยนตร์ต่างชาติที่ใช้ฉากของกรุงเทพฯในการเล่าเรื่องของพวกเขา หรือยังน่าสนใจไปอีกแบบที่จะดูว่าเขาใช้โลเกชั่นกรุงเทพฯไปเล่าเรื่องเมืองในจินตนาการที่เป็นเมืองอื่นอย่างไร เช่น ถ่ายทำที่กรุงเทพฯแทนที่จะไปถ่ายที่เมืองนั้นๆ หรือถ่ายที่กรุงเทพฯในฐานะที่เป็นกรุงเทพฯในแบบของเขา และยังหมายรวมไปถึงการถ่ายทำที่กรุงเทพฯเพื่อให้เป็นจินตนาการของเมืองสมมุติสักแห่งหนึ่ง

อีกส่วนหนึ่งที่เคยมีการตั้งประเด็นกันมาก็คือ การเล่าเรื่องเมือง โดยเฉพาะเมืองในยุคสมัยใหม่และยุคร่วมสมัยนี้ เราจะเล่าเรื่องมันด้วยสื่ออะไรได้บ้าง และสื่อไหนที่สร้างความน่าสนใจหรือแม้กระทั่งเหมาะสมที่จะนำมาเล่าได้ และก็มีการเสนอว่าการเล่าเรื่องเมือง (หรือสร้างเมือง สร้างเรื่องเล่าของเมือง) ผ่านภาพยนตร์นั้นยังเป็นการเล่าเรื่องที่น่าสนใจมากที่สุด และโดยธรรมชาติหรือจริตของภาพยนตร์เองนี่แหละที่ทำให้เราเห็นเมืองในมุมมองที่ซับซ้อนกว่าการเล่าเรื่องเมืองหรือสร้างเมืองผ่านนวนิยาย หรือสื่อแบบอื่นๆ เช่น ภาพถ่าย

แม้ว่าเรื่องนี้อาจจะถกเถียงกันได้มาก แต่ก็ท้าทายให้คิดว่าภาพยนตร์นั้นถ่ายทอดเรื่องราว หรือสร้างทั้งเรื่องราว และสร้างทั้งเมืองกรุงเทพฯขึ้นมาในแบบไหนบ้าง ในยุคสมัยที่ต่างกัน ในเรื่องราวของผู้คนในเรื่องที่ต่างกัน และในมุมมองของตัวผู้สร้าง ผู้กำกับ ผู้เขียนบท รวมไปถึงการตอบรับที่แตกต่างกันของผู้คนด้วย ว่าทำไมบางเรื่องจึงเป็นที่นิยมมากเป็นพิเศษ

ตัวผมเองก็แอบตื่นเต้นไปด้วยที่จะได้ชมภาพยนตร์กลางแปลงในกรุงเทพมหานคร เพราะบรรยากาศการชมย่อมจะแตกต่างไปจากการจัดฉายในโรงภาพยนตร์อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะโรงภาพยนตร์ในยุคหลังนั้นมีไม่กี่เจ้า และถูกสร้างมาให้เหมือนกันหมด แต่หากเรานำเอาภาพยนตร์เรื่องเดียวกันมาฉายในพื้นที่ที่แตกต่างกัน ในกระแสของการชมภาพยนตร์ในจอคอม และในมือถือหรือแท็บเล็ตคนเดียว หรือดูในทีวีหกสิบนิ้วที่บ้านนั้นความแตกต่างจะเป็นอย่างไร บรรยากาศของเมืองจริงที่ซ้อนทับไปกับเมืองที่ถูกสร้างและเล่าในเรื่องนั้นจะทำให้เรารู้สึกอะไรเพิ่มขึ้น หรือแตกต่างกันไปบ้าง

ในประการสุดท้าย การพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาพยนตร์ เมือง และสังคมนั้น ยังรวมไปถึงความสนใจใหม่ๆ ในวงการศึกษาสังคมวิทยาและการเมืองที่พยายามทำความเข้าใจการเคลื่อนไหวทางสังคมผ่านการจัดเทศกาลฉายภาพยนตร์ เพื่อกระตุ้นความเปลี่ยนแปลงของผู้คนในสังคมโดยเฉพาะในเมืองนั้นๆ ซึ่งความสนใจในเรื่องนี้ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างการจัดเทศกาลภาพยนตร์เพื่อส่งเสริม “อุตสาหกรรมภาพยนตร์” ในความหมายของผู้ผลิต และผู้ให้ทุนที่เป็นเอกชน กับเทศกาลภาพยนตร์ที่จัดโดยมีจุดมุ่งหมายทางการเมืองและสังคม (activist film festival) ที่ให้ความสนใจกับตัวผู้เข้าร่วมงาน หรือผู้เข้าชมเป็นพิเศษว่าพวกเขาจะรับรู้ และตื่นตัวทางการเมืองไหม และด้วยกระบวนการอะไร เพราะว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะเข้าใจว่าแต่ละคนที่เข้าร่วมงานนั้นรับสาส์นได้เหมือนกัน

รวมไปถึงการตั้งคำถามที่ว่า แม้ว่าเมื่อมาชมภาพยนตร์ร่วมกันแล้วซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อตอบโต้การครองความคิดของระบอบที่เป็นอยู่ แต่เมื่อชมภาพยนตร์เสร็จแล้วแยกย้ายกันกลับไป การเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องจากนั้นจะเป็นไปได้แค่ไหนอย่างไร คำถามนี้ไม่ใช่คำถามในทางพฤติกรรมและจิตวิทยาและการรับรู้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรื่องของความท้าทายของการจัดงานและจัดองค์กร และจัดกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงด้วย

ที่เล่ามานี้เป็นส่วนเล็กๆ ที่ผมคิดว่าน่าตั้งคำถามว่า เมื่อเราผ่านการชมภาพยนตร์กลางแปลงในรอบนี้ที่กรุงเทพฯแล้ว เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างทั้งในตัวของเราและของผู้คนที่เข้าร่วม มากกว่าการจัดงานนี้เพื่อความบันเทิงในฐานะกิจกรรมอย่างหนึ่งของเมืองที่ลงไว้ในตารางของกิจกรรมประจำปี หรือเป็นกิจกรรมที่เมืองอื่นๆ ก็อยากทำตามในแง่ของรูปแบบกิจกรรมเท่านั้นเอง

หมายเหตุบางส่วนพัฒนาจาก C.Brunsdon. 2012. The attractions of the cinematic city. Screen. 52:3: 209-227. J.Anderson and L.Webb. 2016. Introduction: Decentering the Cinematic City: Film and Media in the Digital Age. In Global Cinematic Cities: New Landscapes of Film and Media. NY: Columbia University Press. และ L.Davies. Not Only Projections on a Darkroom: Theorizing Activist Film Festivals in the Lives of Campaigns and Social Movements. FramesCinemaJournal.com

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image