ที่เห็นและเป็นไป : ทั้ง ‘เป็นโทษ’ และ ‘เสียหาย’

ที่เห็นและเป็นไป : ทั้ง ‘เป็นโทษ’ และ ‘เสียหาย’

 

ทั้ง ‘เป็นโทษ’ และ ‘เสียหาย’

พยายามจะคิดว่า พ.ร.บ.เลือกตั้งฯที่คิด ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ด้วยการนำจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 500 คน มาคำนวณว่าแต่ละพรรคจะมี “ส.ส.พึงมี” กี่คน จะด้วยวิธีไหน

ตรงไปตรงมาที่สุดคือ เอาคะแนนบัตรบัญชีรายชื่อที่เป็นบัตรดีทั้งหมดมาเป็นตัวตั้ง แล้วหารด้วย 500 จะได้ตัวเลขว่า ส.ส. 1 คน จะมาจากคะแนนเท่าไร

Advertisement

จากนั้นเอาคะแนนบัตรบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคได้รับมาตั้งแล้วหาร จะได้คะแนนของ ส.ส. 1 คน

ที่พรรคการเมืองหนึ่งๆ จะได้จำนวน “ส.ส.พึงมี” ว่าเป็นเท่าไร

จากนั้นไปดูว่าแต่ละพรรคได้ “ส.ส.เขต” เท่าไร

Advertisement

พรรคไหนได้เกิน “ส.ส.พึงมี” ไปแล้ว จะถูกตัดโควต้า ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ “ไม่ว่าบัตรเลือกพรรคจะมีประชาชนเทคะแนนให้แค่ไหน”

พรรคที่ได้ “ส.ส.เขต” ไม่ถึง “ส.ส.พึงมี” ก็เอาจำนวน “ส.ส.เขต” มาลบ “ส.ส.พึงมี” เพื่อให้ได้ตัวเลขที่จะเติมเข้าไปให้ได้ตาม “ส.ส.พึงมี”

หลังจากนั้นจะมีวิธีการอีกทางเพื่อเคลียร์ที่เหลือที่ขาดให้ลงตัว

ความยุ่งยากซับซ้อนจะเกิดจาก ต้องเอาจำนวน “ส.ส.พึงมี” ที่คำนวณได้จากการหารด้วย 500 เอามายัดลงใน 100 คน ตามจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด

วิธีการที่ตรงไปตรงมาจะเป็นแบบว่า ตัดโควต้าของพรรคที่ได้ ส.ส.เขตเกิน ส.ส.พึงมีไปแล้วออก

แล้วเอาคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ทั้งหมดมาตั้ง และกำหนดให้เป็น 100 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นเอาคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของแต่ละพรรคมาคำนวณว่าคะแนนที่ได้จะเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ จาก 100 เปอร์เซ็นต์นั้น

ซึ่งจะได้เท่ากับจำนวน “ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์” ของพรรคนั้น

ยกตัวอย่าง มีบัตรดีของการเลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 35 ล้านใบ ถือเป็น 100 เปอร์เซ็นต์

พรรคที่ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 10 ล้าน จะคิดเป็น (100 คูณ 10,000,000) หาร 35,000,000 เท่ากับ 28.57 เปอร์เซ็นต์

พรรคที่ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 70,000 จะคิดเป็น (100 คูณ 70,000) หารด้วย 35,000,000 เท่ากับ 0.2 เปอร์เซ็นต์

28.57 เปอร์เซ็นต์ จะเท่ากับสิทธิได้ ส.ส. 28-29 คน (ตามการปัดเศษ)

ส่วนที่ได้ 0.2 เท่ากับได้สิทธิ ส.ส.ไม่ถึง “ครึ่งคน” (จากเมื่อครั้งรัฐธรรมนูญเก่าเลือกด้วยบัตรใบเดียวประมาณ 70,000 เสียงจะได้ ส.ส. 1 คน)

ตรงนี้เองทำให้น่าคิดว่า “หารปาร์ตี้ลิสต์ด้วย 500” จะเป็นประโยชน์กับ “พรรคเล็กพรรคน้อยลงไป”

ยิ่งเป็นพรรคกระจิริด 30,000-40,000 คะแนน ซึ่งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วน่าจะเป็น “ผงฝุ่น” มากกว่าเป็น “เศษ” ยิ่งมองไม่เห็นโอกาส

และเมื่อ “พรรคใหญ่” มีความคิดว่าจะตั้ง “พรรคคู่ขนาน” ขึ้นมา พรรคหนึ่งหาเสียง ส.ส.เขต ที่พรรคไปใช้เก็บคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ แล้วค่อยเอามาทำงานร่วมกัน 2 พรรคเป็นหนึ่งเดียวทีหลัง จะทำให้มีพรรคใหญ่ที่จะมีส่วนแบ่งใน 100 คนของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากขึ้น

โอกาสสัดส่วนของพรรคเล็กที่จะหลุดเป็น “ฝุ่นผง” ใน “ส.ส.พึงมี” จะมากขึ้น

จะเห็นได้ว่าความพยายามสร้างกติกาที่ฝืนหลักการของรัฐธรรมนูญขึ้นมา เพื่อหวังว่าจะช่วยให้ตัวเองมีโอกาสของพรรคเล็ก และปิดทางแลนด์สไลด์ของพรรคใหญ่แบบนี้ ดูจะเป็นเรื่องคิดผิดเสียมากกว่า

ชัยชนะในการเลือกตั้งนั้น ปัจจัยที่ชี้ขาดมี 3 ส่วนคือ

ความนิยมในพรรค-ตัวผู้สมัคร-กระแสในขณะหาเสียง

ผู้สมัคร และพรรคค่อนข้างจะมีคำตอบในใจของผู้เลือกตั้งแล้วจะไว้วางใจกับใคร

แต่กระแสเป็นเรื่องที่เกิดความเปลี่ยนแปลงไปตามความเป็นจริงในขณะหนึ่งๆ มีเงื่อนไขหลายอย่างเป็นตัวกำหนด ไม่ว่าจะเป็นเงินซื้อเสียง จนถึงความดีงาม ชอบธรรม

ในส่วนของกระแสนี้ต้องยอมรับว่า “สันดานที่คิดแต่จะเอาเปรียบคนอื่น” มีผลสูงมาก

คนที่มีสำนึกปกติ หรือที่เรียกว่า “สามัญสำนึก” จะรังเกียจพวกที่จ้องเอารัดเอาเปรีบบคนอื่น และพร้อมจะรุมประณาม

โลกในยุคสมัยที่ทุกคนมีสื่ออยู่ในมือ สามารถออกปากออกเสียง แสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระตลอดเวลา

ท่านทั้งหลายลองถามตัวเองกันเถิดว่า กระแสต่อ “สันดานเอารัดเอาเปรียบ” นั้นจะออกมาทางไหน และส่งผลอย่างไร

ลองนึกให้ดีเถอะว่ากระแสเช่นนี้จะส่งผลไปถึงไหน

คิดล่วงหน้าเอาไว้เลย ว่าแม้กระทั่งจะฟันฝ่าไปจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลท่ามกลางเสียงประณามในความไม่ให้ค่ากับอำนาจประชาชน ด้วยเชื่อมั่นในการเอื้ออำนวยอำนาจให้เกี่ยวข้องกติกาซึ่งสร้างขึ้นมาเพื่อเอาเปรียบมากกว่า

การบริหารอำนาจหลังจากนั้นจะเป็นไปท่ามกลางความรู้สึกหมิ่นแคลนของประชาชนหรือไม่

การมีอำนาจท่ามกลางเสียงสาปแช่ง แม้จะเอื้อต่อการแสวงประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้องได้ แต่คำถามก็คือความสุขของชีวิตเกิดขึ้นด้วยประโยชน์โภชน์ผลที่ได้มาด้วยวิธีเช่นนี้เป็นที่ควรภาคภูมิใจของคนในครอบครัวหรือ

ดังนั้น ที่น่าพิจารณาที่สุดของความพยายามที่จะทำให้พวกตัวเองได้เปรียบโดยเลือกที่จะละเมิดหลักการเช่นนี้ เกิด “ผลดีหรือผลเสียมากกว่ากับตัวเอง”

ประการแรก จะสร้างเงื่อนไขให้พ่ายแพ้อย่างหมดรูป ในกติกาที่ตัวเองกำหนดและถูกประณามหนักหน่วงตลอดการหาเสียงเลือกตั้ง เพราะเป็นกติกาที่เอื้อให้คู่ต่อสู้พลิกวิธีการมาสร้างความได้เปรียบอย่างง่ายดาย และหากดันทุรังที่จะหาทางเอาชนะด้วยการใช้กลไกอำนาจที่ตัวเองแต่งตั้งไว้มาช่วยหลังการเลือกตั้ง จะเป็นการเสริมภาพความเลวร้ายให้ตัวเองหนักขึ้น

ประการที่สอง จะยิ่งขยายความชอบธรรมของคู่แข่งให้โดดเด่นขึ้น ทั้งในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง หรือหลังการสืบทอดอำนาจสำเร็จแล้ว

ที่สำคัญที่สุด ความสำเร็จของการสืบทอดอำนาจที่ทำให้เกิดรัฐบาลที่ไร้ความชอบธรรมในความรู้สึกของประชาชน และนานาประเทศนี้

ไม่มีอะไรที่เป็นผลดีต่อชาติบ้านเมืองเลย

การทบทวนใหม่ ว่าควรนำพากติกาของประเทศไปในทำนองคลองธรรม เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรมีสำนึกรับผิดชอบร่วมกัน

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image