คนหัวหมอ : คอลัมน์คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง โดย กล้า สมุทวณิช

คําว่า “คนหัวหมอ” เป็นสำนวนเปรียบเปรยที่มีความหมายไปในทางไม่ค่อยจะดีสักเท่าไร มักใช้ในทางเหน็บแนมหรือตั้งรังเกียจ

อันสำนวน “หัวหมอ” นี้ ตามความหมายพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า “บุคคลที่ชอบตั้งตัวเป็นเสมือนผู้รอบรู้หรือนักกฎหมาย อ้างเหตุอ้างผลเพื่อโต้แย้งในเรื่องต่างๆ” ส่วนพจนานุกรมฉบับ Lexitron ของ NECTEC ให้ความหมายไว้หมายถึง “คนที่ชอบอ้างกฎหมายเพื่อประโยชน์ของตน” คำ “หมอ” ที่ประกอบอยู่กับคนหัวหมอนี้ จึงหมายถึง “หมอความ” หรือนักกฎหมาย

ด้วยว่าภาพของ “คนหัวหมอ” จึงเป็นภาพของคนที่ชอบเอาเปรียบด้วยข้อกฎหมาย หรือการใช้เหตุผลเชิงตัวอักษร หรือการอ้างกฎอ้างเกณฑ์ต่างๆ ที่อ้างมาแล้วเป็นประโยชน์แก่ตนเอง ดังนั้นจึงไม่มีนักกฎหมายที่ไหนน่าจะดีใจที่ถูกชมว่าเป็นคนหัวหมอแน่ๆ

“คนหัวหมอ” ที่มีชื่อเสียงที่สุดในวัฒนธรรมไทยน่าจะเป็นตัวเอกจากนิทานเรื่อง “ศรีธนญชัย” ซึ่งเป็น “หัวหมอตัวพ่อ” ก็ว่าได้ เพราะร้อยละเก้าสิบห้าของการเล่นเล่ห์เพทุบายของศรีธนญชัยนั้น เป็นการเล่นเอากับ “คำ” แบบเถรตรงด้วยเจตนาแปลความแบบลดเลี้ยวทั้งสิ้น เช่น เรื่องขอที่ดินเท่า “แมวดิ้นตาย” คือการเอาแมวไปไล่ตีจนไปดิ้นตายตรงไหนก็ถือว่าสุดเขตที่ดินของตนบ้าง หรือยืมเงินโดยมีกำหนดจะคืนภายใน “สองเดือน” คือขอให้เจ้าหนี้รอเมื่อพระจันทร์ขึ้นสองดวงบ้าง

Advertisement

ข้อร้ายคือ กลายเป็นบางคนกลับมองว่าพฤติกรรมแบบศรีธนญชัยนี้ถือเป็นความ “เจ้าปัญญา” และเอานิทานศรีธนญชัยไปเล่าให้เด็กๆ ฟังหรือเป็นนิทานสอนกันในวิชาภาษาไทย ทำให้หลายครั้งการเล่นคำแบบ “ศรีธนญชัย” นั้นถูกนำไปใช้จริงในการถกเถียงหรือลามไปสู่การแปลถ้อยคำปรับความในกฎหมาย กฎเกณฑ์ หรือข้อสัญญากันจริงๆ จนสมัยหนึ่งมีผู้เปรียบเปรยว่าสำนักคิดที่มีอิทธิพลมากในวงการกฎหมายเมืองไทย คือ “สำนักคิดศรีธนญชัย” ที่เน้นการพลิกแพลงถ้อยคำเชิงตัวอักษรมากกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งเป็นการเหน็บกันแบบกึ่งเล่นกึ่งจริงที่คนทำงานกฎหมายได้ยินแล้วก็จุก

มีเรื่องเล่าเรื่องตลกๆ เกี่ยวกับ “คนหัวหมอ” ไว้ในคดีแรงงานคดีหนึ่ง ที่มีประเด็นต่อสู้กันว่านายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยที่ลูกจ้างประสบอุบัติเหตุในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ นักกฎหมายฝ่ายนายจ้างพยายามต่อสู้ว่าลูกจ้างนั้นประสบอุบัติเหตุเพราะกระทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ในข้อที่ว่า “ห้ามเสพเครื่องดองของเมาในขณะทำงาน” โดยอ้างต่อศาลว่าก่อนเกิดอุบัติเหตุนั้นลูกจ้างตั้งวงกินฝรั่งดอง มะม่วงดองกับเพื่อนร่วมงาน ดังนั้น ถือเป็นการเสพ “เครื่องดอง” ซึ่งต้องห้ามตามข้อบังคับเป็นเหตุที่ทางนายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบ

เรื่องนี้ฟังแล้วก็ได้แต่หวังว่าคงไม่ใช่เรื่องจริง เป็นมุขตลกเพื่อยกเป็นตัวอย่างของการพลิกแพลงกฎหมายแบบ “คนหัวหมอ” ที่ไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

Advertisement

ในปัจจุบันที่เราอาจเรียกว่าเป็นยุคทองของนักกฎหมาย เพราะในแทบทุกความขัดแย้งหรือปัญหาในสังคมหรือการเมือง จะต้องมีคนไปขอความเห็นนักกฎหมายว่า ในเรื่องนี้กฎหมายมีว่าอย่างไร ใครจะมีสิทธิแค่ไหนเพียงไร ทำอะไรได้บ้างทำไม่ได้บ้าง ความเห็นของนักกฎหมายจึงมีสอดแทรกเป็นยาดำไปในแทบทุกประเด็นทางสังคมและการเมืองในหน้าสื่อ

อีกทั้งนักกฎหมายสมัยนี้ก็เริ่มมีบทบาททาง “รุก” มากขึ้น อาจจะเพราะรูปแบบการสื่อสารแบบใหม่ทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทำให้นักกฎหมายนั้นไม่จำเป็นต้องนั่งรอเป็นที่ปรึกษาหรือคอยให้มีคนมาถามเสียก่อน โดยบางครั้งไม่มีใครถามก็อุตส่าห์จะแสดงความเห็นมาก็ได้ ใครใช้ถูกช่องก็สร้างชื่อเสียงขึ้นมาได้ในเวลาอันสั้น

เช่นเร็วๆ นี้ มีข่าวที่ชาวนามีปัญหาเรื่องราคาข้าวตกต่ำ ก็มีผู้พยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการให้ชาวนาหรือลูกหลานชาวนาสีข้าวบรรจุขายเองแบบผู้ผลิตถึงผู้บริโภคโดยไม่ผ่านวงจรพ่อค้าคนกลาง ซึ่งปัจจุบันทำได้สะดวกขึ้นด้วยเทคโนโลยีโซเชียลเน็ตเวิร์ก

ก็ปรากฏว่าอุตส่าห์มี “นักให้ความเห็นทางกฎหมาย” มาชี้คุกตะรางให้ชาวบ้านโดยไม่ต้องมีใครถามว่ามีกฎหมายห้ามอย่างโน้นอย่างนี้ แถมเป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญาเพื่อมาป้องปรามมิให้ชาวนาขายข้าวได้เอง โดยอ้างกฎหมายพระราชบัญญัติขายตรง และการตีความกฎหมายที่ให้ผลประหลาดว่าใครค้าขายอะไรต่อกันโดยตรงผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ตนั้นจะต้องถูกบังคับด้วยกฎหมายฉบับนั้นไปทั้งหมด

ในภายหลังนักให้ความเห็นทางกฎหมายท่านนั้นก็คงได้รับคำตอบทั้งแบบนิ่มๆ และแข็งๆ ไปแล้วจากประชาชนผู้เกี่ยวข้อง ผู้คนในแวดวงกฎหมายด้วยกัน และจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องแล้วว่าการ “ตีความกฎหมาย” ของเขานั้นผิดไปจากที่ควรจะเป็นอย่างไร หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นแท้แล้วมุ่งจะใช้บังคับแก่กรณีไหนอย่างไรบ้าง

นี่อาจจะเป็นข้อเตือนใจที่ดีสำหรับ “นักกฎหมาย” ที่นิยมมาแสดงความเห็นต่อสาธารณชน ว่านอกจากความเด่นดังหรือชื่อเสียงที่อาจเป็นผลพลอยได้แล้ว ท่านจะต้องรับความเสี่ยงจากการถูก “ตรวจการบ้าน” จากผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผู้รู้จริง” ได้เสมอ ด้วยช่องทางเดียวกันนี้เอง

และข้อสำคัญที่สุดคือการ “ตีความกฎหมาย” นั้น สิ่งที่จะต้องพิจารณายิ่งกว่าลายลักษณ์อักษรหรือ “ตัวบท” คือเจตนารมณ์ของกฎหมาย ว่ากฎหมายที่ท่านอ้างนั้นเขามุ่งจะใช้กับกรณีไหนอย่างไร กฎหมายนั้นตราขึ้นเพื่อหมายแก้ปัญหาอะไร และเรื่องที่นำมาปรับนั้นเข้าข่ายกับสิ่งที่กฎหมายนั้นมุ่งจะใช้บังคับหรือไม่

โดยเฉพาะหากจะชี้ว่าใครกระทำผิด “กฎหมาย” ที่มีโทษทางอาญา หรือเป็นกฎหมายปกครองที่มีเนื้อหาไปในทางจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะต้องตีความอย่างเคร่งครัดระมัดระวังเท่าที่มันควรจะเป็น ไม่ใช่ตีความอย่างขยายความเพื่อมุ่งจะห้ามปราม เอาผิด หรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้คนจนเกินกว่าเจตนารมณ์กฎหมายนั้นหมายจะใช้บังคับ ทั้งไม่ได้สัดส่วนกับประโยชน์สาธารณะในเรื่องที่กฎหมายมุ่งคุ้มครอง

การแสวงหาเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะนำมาอธิบายปรับใช้ให้พบ จึงมีความจำเป็นในอันดับแรกสำหรับการจะพิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมาย เพื่อให้เข้าใจและปรับใช้ “เนื้อความ” ลายลักษณ์อักษรแห่งกฎหมายได้ถูกต้องเหมาะตรงกับกรณีที่สงสัย

เพราะการใช้กฎหมายไม่ควรเป็นเรื่องของการเล่นคำแบบ “คนหัวหมอ” ที่มุ่งแต่จะกางตัวบทแกะเอาแต่เฉพาะถ้อยคำออกมาแปลความหมายแบบสุดแต่ที่ผู้แปลจะใช้ประโยชน์เพื่อสนับสนุนข้ออ้างข้อเถียงของตน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image