สะพานแห่งกาลเวลา : จับตา ‘เซนทอรัส’ โอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ : โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

สะพานแห่งกาลเวลา : จับตา ‘เซนทอรัส’ โอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ : โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
(ภาพ-NIAID)

 

จับตา ‘เซนทอรัส’ โอมิครอนสายพันธุ์ใหม่

จนถึงขณะนี้ แม้แต่นักไวรัสวิทยาและนักระบาดวิทยาชั้นนำของโลกยังยอมรับว่า ไม่สามารถบอกได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะสิ้นสุดลงได้เมื่อใดและอย่างไร

Advertisement

เหตุผลก็คือประสบการณ์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าโควิด-19 กลายพันธุ์ได้ไม่หยุดหย่อน และยิ่งกลายพันธุ์ก็ยิ่งทวีขีดความสามารถในการแพร่ระบาดได้เร็วยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

จาก “อัลฟ่า” กลายเป็น “เดลต้า” แล้วก็กลายเป็น โอมิครอน ที่กลายพันธุ์ต่อเนื่องอีนุงตุงนังเป็นสายพันธุ์ย่อยต่างๆ เรื่อยมาจนกระทั่งถึงตอนนี้

โอมิครอน บีเอ1 แพร่ระบาดแทนที่เดลต้า แล้วเพียงไม่ช้าไม่นาน บีเอ.2.12.1 ก็เข้าแทนที่ บีเอ.1 จากนั้นโลกก็เผชิญกับระลอกการระบาดใหม่โดยเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย บีเอ.4 และ บีเอ.5 ที่เป็นเหตุให้ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกพุ่งขึ้นอีกครั้ง ไม่ว่าจะในเอเชีย อเมริกา หรือยุโรป

Advertisement

บีเอ.5 กลายเป็นสายพันธุ์ระบาดหลักในสหรัฐอเมริกาได้เพียงแค่สัปดาห์เดียว ก็มีการค้นพบเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาอีกแล้ว

นั่นคือ “บีเอ.2.75” ที่มีการขนานนามกันในแวดวงทวิตเตอร์ว่า “เซนทอรัส” เพื่อให้ง่ายต่อการเรียกขานเท่านั้น ไม่มีเหตุผลอย่างอื่น

“บีเอ.2.75” พบครั้งแรกในอินเดีย เมื่อมีการจำแนกพันธุกรรมของเชื้อที่ระบาดอยู่ในราวเดือนพฤษภาคม

ที่น่ากลัวก็คือ เจ้าเซนทอรัสที่ว่านี้ใช้เวลาเพียงเดือนเดียว แพร่ระบาดในอินเดียเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าตัว

พอถึง 13 กรกฎาคม มาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคขององค์การอนามัยโลก ก็ออกมาระบุว่า นับตั้งแต่แรกพบในอินเดียเรื่อยมา ปรากฏ “บีเอ.2.75” ระบาดแล้วในราว “14 ประเทศ” รวมทั้งประเทศอย่าง แคนาดา, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, เยอรมนี, นิวซีแลนด์, สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ที่พบแล้วใน 7 รัฐด้วยกัน

ประเทศล่าสุดในยุโรปที่ออกมาแถลงถึงการพบการระบาดของ “บีเอ.2.75” ก็คือ เนเธอร์แลนด์

ศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรคแห่งยุโรป (ยุโรปซีดีซี) ประกาศให้ “บีเอ.2.75” เป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่ “ต้องจับตา” ไปพร้อมๆ กัน

ราช ราชนารยานัน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐอาร์คันซอ สหรัฐอเมริกา บอกว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น แสดงให้เห็นว่า “บีเอ.2.75” นี้ สามารถขยายตัว แพร่ระบาดได้เร็วกว่า บีเอ.5 ที่กำลังเป็นข้อวิตกอยู่ในเวลานี้เสียอีก

ทอม พีค็อค นักไวรัสวิทยาของ อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ชี้เพิ่มเติมว่า เมื่อพิจารณาจากลักษณะของการกลายพันธุ์, การแพร่ระบาดข้ามประเทศได้อย่างรวดเร็วแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ว่า “บีเอ.2.75” อาจมีขีดความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีกว่า บีเอ.5 ด้วยซ้ำไป

ดร.แอนโธนี ฟาวซี หัวหน้าทีมรับมือโควิดของทำเนียบขาว ยอมรับว่า “บีเอ.2.75” น่ากังวลอยู่ เพราะเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน ที่ระบาดต่อเนื่องกันมาในช่วงหลายเดือนหลังนี้ ตัวที่อุบัติขึ้นใหม่จะมีความได้เปรียบในเชิงการแพร่ระบาดเหนือกว่าตัวเก่าเสมอ

ฟาน เคอร์โคฟ ระบุว่า แม้จะพบในหลายประเทศแล้ว แต่ตัวอย่างที่ได้รับการจำแนกพันธุกรรมอย่างถูกต้องมีอยู่น้อย ทำให้ความเข้าใจต่อเชื้อตัวใหม่นี้จำกัดตามไปด้วย

แมทธิว บินนิคเกอร์ ผู้อำนวยการคลินิกไวรัสวิทยาของ มาโย คลินิก ในรัฐมินนิโซตา ระบุว่า “บีเอ.2.75” เป็นเชื้อที่กลายพันธุ์ต่อเนื่องมาจากโอมิครอน บีเอ.2 ที่เคยระบาดเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานั่นแหละ แต่ตำแหน่งที่กลายพันธุ์มีมากมาย เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ย่อยทั้งหลายของโอมิครอนที่ผ่านๆ มา

ข้อสังเกตของบินนิคเกอร์ก็คือ การกลายพันธุ์เหล่านี้บางส่วน เกิดขึ้นกับตัวหนามโปรตีนในส่วนที่จะใช้จับเกาะกับตัวรีเซ็ปเตอร์ของเซลล์ในร่างกายคนเรา เลยทำให้มันสามารถจับเกาะได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายยืนยันตรงกันในเวลานี้ว่า ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าเจ้าตัวร้ายใหม่นี้ สามารถทำให้ผู้ที่ได้รับเชื้อเข้าไปป่วยหนักกว่าเดิมได้หรือไม่? ตอบสนองกับยาที่มีใช้กันอยู่ในเวลานี้หรือไม่?

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ “บีเอ.2.75” เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าการผลิตวัคซีนสำหรับโอมิครอนนั้นยากลำบากเพียงใด

วิจัยและทดลองกับเชื้อตัวเก่ายังไม่ทันเสร็จ เชื้อตัวใหม่โผล่มาอีกแล้ว และแพร่ได้รุนแรงกว่าเดิมอีกด้วย

ในหลายประเทศกำลังผ่อนคลายมาตรการรับมือกับโควิด-19 เปิดให้ทำกิจกรรมทั้งหลายกันมากขึ้น โอกาสที่ “บีเอ.2.75” จะแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางก็มีมากขึ้นตามไปด้วย

นักวิชาการบางคนชี้ว่า “บีเอ.2.75” จะกลายเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดหลักไปทั่วโลก ภายในเวลา 12 สัปดาห์ นับตั้งแต่พบครั้งแรก

นั่นหมายความว่าการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 อาจเกิดขึ้นได้ในอีกไม่ช้าไม่นานนี้

เตรียมรับมือกันให้ดีก็แล้วกันครับ

ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image