ไทยพบพม่า : ‘โลกของรัสเซีย’ กับมายด์เซตแบบกองทัพพม่า

ในระหว่างที่ผู้เขียนกำลังค้นคว้าเพื่ออธิบายเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับรัสเซีย ที่หลายคนมองว่าแน่นแฟ้นขึ้นแบบผิดสังเกต ก็บังเอิญไปพบข้อเขียนของ สตานิสลาฟ คูเชอร์ (Stanislav Kucher) ที่กล่าวถึงโลกทัศน์ของ วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ที่อาจทำให้เราเข้าใจสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนได้มากขึ้น โลกทัศน์ดังกล่าวมีชื่อเรียกในภาษารัสเซียว่า “รุสกี้ มีร์” (Russkiy mir) แปลตรงตัวคือ “โลกของรัสเซีย” คำอธิบายของคอนเซ็ปต์นี้คือเมื่อใดก็ตามที่ปูตินกล่าวถึง “รัสเซีย” เขาไม่ได้หมายถึงแต่เพียงพื้นที่ในสหพันธรัฐรัสเซียเท่านั้น แต่ยังหมายถึงทุกที่ที่มีคนรัสเซียอาศัยอยู่ หรือที่ที่มีคนใช้ภาษารัสเซีย แม้จะเป็นคนเพียงหยิบมือเดียวก็ตาม

สิ่งที่เรียกว่า “โลกของรัสเซีย” ยังหมายถึงที่ใดก็ตามที่มีผู้ชื่นชมและเคารพปูติน แม้จะไม่ใช่พื้นที่ที่พูดภาษารัสเซีย หรือแทบไม่รู้จักรัสเซียเลย แต่ตราบใดก็ตามที่รัสเซีย (โดยเฉพาะรัฐบาลรัสเซีย) ได้รับการต้อนรับอย่างดี รัสเซียก็จะถือว่าพื้นที่หรือประเทศเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของ “โลกรัสเซีย”

ที่มาของแนวคิดนี้อาจได้รับอิทธิพลจากลัทธิคอมมิวนิสต์ที่มีวรรคทองวรรคหนึ่งว่า “คนงานทั่วโลกสามัคคีกัน!” ย้อนกลับไปหลังการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 พรรคบอลเชวิคมีนโยบายเพื่อให้เกิดการปฏิวัติขึ้นทั่วโลก และเมื่อรัสเซียกลายเป็นสหภาพโซเวียตแล้ว ผู้นำทุกยุคก็มีนโยบายแผ่อิทธิพลของโซเวียตและแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์โซเวียตออกไปให้กว้างขวางที่สุด พื้นที่ยุทธศาสตร์ของโซเวียตในขณะนั้นคือยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ที่เป็นรัฐบริวารของโซเวียตมานานหลายสิบปีตราบจนวาระสุดท้ายของสหภาพโซเวียตในต้นทศวรรษ 1990

เมื่อนึกถึงความยิ่งใหญ่ของโซเวียตในอดีต ผู้นำชาตินิยมจัดอย่างปูตินย่อมมองไปถึงการสร้างจักรวรรดิรัสเซียยุคใหม่ จึงไม่น่าแปลกใจที่แนวคิดเรื่องโลกของรัสเซียจะถูกนำกลับมาพูดถึงบ่อยครั้งตั้งแต่เกิดสงครามในยูเครน

Advertisement

แล้วแนวคิดทางการเมืองของผู้นำรัสเซียมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับพม่าของเรา?

หลายปีที่ผ่านมา คนที่ติดตามข่าวจากพม่าก็คงจะพอทราบว่ากองทัพพม่าหันไปพึ่งพารัสเซียมากขึ้น เรียกว่าทั้งสองชาติมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น พม่าซื้ออาวุธจำนวนมากจากรัสเซีย และรัสเซียก็ส่งผู้นำระดับสูงในกองทัพและรัฐบาลของตนมาเยือนพม่าบ่อยครั้ง ตั้งแต่ในยุคที่รัฐบาลพลเรือนจากพรรค NLD ยังอยู่ในอำนาจ

ล่าสุด พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการกองทัพและผู้นำคณะรัฐประหารพม่าเพิ่งเดินทางไปเยือนรัสเซีย โดยปกติผู้นำระดับสูงในกองทัพพม่าจะไม่ค่อยเดินทางออกนอกประเทศ ส่วนหนึ่งอาจมาจากเหตุผลด้านความปลอดภัย และอีกเหตุผลหนึ่งคือก่อนหน้านี้ไม่มีเหตุผลที่ผู้นำกองทัพพม่าจะต้องไปเยือนประเทศต่างๆ เพราะการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมักเป็นเรื่องของฝ่ายพลเรือนมากกว่า แต่สำหรับมิน อ่อง ลายแล้ว เขาเดินทางไปเยือนรัสเซีย 2 ปีติด

Advertisement

ในปี 2021 เขาเดินทางไปงานประชุมด้านความมั่นคงที่มอสโก แต่ก่อนหน้านั้นได้แวะที่เมืองเอียร์คุสต์ (Irkitsk) ในเขตไซบีเรีย เพื่อไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตเครื่องบิน ซู-30 ของบริษัทผลิตเครื่องบินรบใหม่ที่รัฐบาลรัสเซียเพิ่งตั้งขึ้นมาในนาม United Aircraft Building Corporation จากการควบรวมบริษัทผลิตเครื่องบิน 5 แห่ง ได้แก่ อิลยูชิน มิโคยัน ซุคฮอย ตูโปเลฟ และยาคอฟเลฟ

ในการเยือนรัสเซียครั้งล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2022 จุดประสงค์ของมิน อ่อง ลายในครั้งนี้มี 2 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ การสานสัมพันธ์ด้านการทหาร และการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดียิ่งขึ้นกับบริษัทพลังงานของรัสเซีย เมื่อเดินทางถึงมอสโก รัสเซียส่งคนระดับสูงมาต้อนรับผู้นำคณะรัฐประหารพม่า ไม่ว่าจะเป็น เซียร์เกย์ ชอยกู (Sergei Shoigu) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และอเล็กซานเดอร์ วาซิลิเยวิช โฟมิน (Alexander Vasilievich Fomin) รัฐมนตรีช่วยกลาโหม ทั้งสองคนเคยได้รับเชิญให้ไปเยือนพม่ามาแล้ว ที่ผ่านมา ผู้นำรัฐประหารพม่ายังไม่เคยพบกับวลาดิมีร์ ปูติน อย่างเป็นทางการ ไม่มีรายงานว่าทั้งสองเคยเจอกันมาก่อนหรือไม่ หลังเกิดรัฐประหารในพม่า แต่สำหรับ มิน อ่อง ลาย วาระหลักที่เขามีกับรัสเซีย ไม่ใช่การได้รับเกียรติให้ร่วมพูดคุยกับปูติน หากแต่เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ทางด้านการทหาร และการมีแหล่งซื้อยุทธภัณฑ์ได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องนั่งตอบคำถามสื่อหรือถูกกดดันโดยรัฐบาลชาติตะวันตก

รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของรัสเซียอธิบายการเยือนของมิน อ่อง ลาย ไว้ว่าเป็นการเยือนแบบ “ส่วนตัว” โดยมีจุดประสงค์เพื่อ “ค่อยๆ เพิ่มความร่วมมือหลายด้านระหว่างกระทรวงกลาโหมของทั้งสองประเทศ” สื่อฝั่งกองทัพพม่ายังเสริมด้วยว่าการสานสัมพันธ์กับรัสเซียเกิดจากความต้องการเพิ่มขีดความสามารถด้านการทหารของพม่า เนื่องจากเกิด “ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง” ในพม่า

นอกจากการไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตเครื่องบินรบที่ไซบีเรีย มิน อ่อง ลายยังไปเยี่ยมชมบริษัท Rosoboronexport บริษัทผลิตอาวุธรายใหญ่ที่มีรัฐบาลรัสเซียหนุนหลัง Rosoboronexport นอกจากจะเป็นบริษัทด้านพลังงานนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว ยังเป็นบริษัทที่จัดหาอาวุธให้กับกองทัพพม่ามากที่สุดอีกด้วย ข้อมูลเกี่ยวกับข้อตกลงระหว่างมิน อ่อง ลาย กับ Rosoboronexport ไม่ชัดเจนนัก จนหลายฝ่ายเกรงว่าอาจมีการเจรจาลับๆ เพื่อกล่าวถึงความร่วมมือด้านการพัฒนาแหล่งพลังงานนิวเคลียร์หรืออาวุธนิวเคลียร์ในพม่าก็เป็นได้

ความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับรัสเซียในปัจจุบันถือว่าสดใส พม่ารู้ดีว่าการคบค้ากับรัสเซียไว้มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย ประการแรกคือการเข้าหาประเทศที่มีอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศ ย่อมทำให้พม่ามีเพื่อนและพันธมิตรที่ดี เรียกว่าคบไว้ก็ไม่มีอะไรเสียหาย ประการที่สอง ท่ามกลางสงครามกลางเมืองที่ยิ่งทวีความรุนแรง กองทัพพม่าไม่มีทางเลือกนอกจากเร่งเพิ่มขุมพลังของตนเอง เราจึงเห็นกองทัพพม่าเจรจาซื้ออาวุธเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และประการสุดท้าย พม่ามีนิสัยอยู่อย่างหนึ่งที่ทำยังไงก็แก้ไม่หาย นั่นคือความหวาดระแวงชาวต่างชาติ แต่เนื่องจากรัสเซียไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนในพม่า ไม่ได้อยู่ข้างโลกตะวันตกที่นักชาตินิยมพม่าเกลียดชังนักหนา และที่สำคัญคือไม่ได้มีเขตแดนติดกับพม่า ทำให้โอกาสที่พม่าจะมีข้อพิพาทกับรัสเซีย เหมือนที่พม่ามีกรณีพิพาทกับจีนมาก่อน คงเกิดขึ้นได้ยาก

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า ขึ้นชื่อว่าพม่าแล้ว ผู้นำระดับสูงในกองทัพและคณะรัฐประหาร ยังไงก็ไม่มีทางเชื่อมั่นชาวต่างชาติ (ไม่ว่าจะเป็นคนหน้าตาใกล้ๆ กัน มีเขตแดนติดกันอย่างไทย หรือคนต่างชาติที่ไม่มีพื้นที่ติดกันเลยอย่างรัสเซีย) เพราะวาทกรรมรักชาติแบบพม่าสอนให้คนในกองทัพมีความระแวดระวัง (prudence) ต่อการแทรกแซงจากภายนอก และไม่มีความไว้วางใจใคร (paranoia) ในที่สุด ความสัมพันธ์กับรัสเซีย ก็จะเป็นไปในเชิงไม่มีภาระผูกพัน (no strings attached) เป็นความสบายใจของทุกฝ่าย แต่หากถามว่าโลกตะวันตกจะต้องหวาดกลัวความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับรัสเซียหรือไม่ ผู้เขียนคิดว่าคงไม่ขนาดนั้น แต่ที่ควรจะต้องกลัวมากเป็นพิเศษคือปริมาณอาวุธจำนวนมหาศาลที่พม่าจะซื้อจากรัสเซีย เพื่อมาปราบปรามขบวนการต่อต้านคณะรัฐประหาร ที่ในที่สุดแล้วจะยิ่งทำให้สงครามกลางเมืองครั้งนี้ยืดเยื้อยาวนาน และไม่มีทางจะจบลงง่ายๆ อย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image