การทำแท้ง(ไม่)เสรีศาลสูงสุดและการเมืองในอเมริกา โดย สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

ดุลยภาพ ดุลยพินิจ : การทำแท้ง(ไม่)เสรีศาลสูงสุดและการเมืองในอเมริกา โดย สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

เมื่อ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ศาลสูงสุดหรือศาลฎีกาสหรัฐอเมริกา (Supreme Court of the United States: SCOTUS) พิพากษายกเลิกคำตัดสินคดี Roe v Wade ที่เคยพิพากษาเมื่อปี 2516 ว่าการทำแท้งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญสหรัฐ ซึ่งแปลง่ายๆ ว่าในตอนนั้นการทำแท้งของสตรีสหรัฐถูกกฎหมาย แต่นับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน ศกนี้ การทำแท้งขัดรัฐธรรมนูญหรือผิดกฎหมายนั่นเองตามคำพิพากษาของศาลสูงสุด แต่ในระดับมลรัฐต่างๆ จะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายเมื่อไรหรืออย่างไร ก็เป็นเรื่องของแต่ละมลรัฐ

สถาบันกัตต์มาเชอร์ (Guttmacher Institute) ที่สนับสนุนทางเลือกที่ให้สตรีมีสิทธิทำแท้ง ประเมินว่าจะมีรัฐทั้งหมด 26 แห่ง ซึ่งมักอยู่ทางใต้และตะวันตกตอนกลางหรือเขตมิดเวสต์ เตรียมออกกฎหมายห้ามทำแท้ง นั่นหมายความว่าผู้หญิงหลายล้านคนในอเมริกาที่ต้องการทำแท้งจำเป็นต้องเดินทางข้ามไปยังรัฐที่สิทธิการทำแท้งได้รับการคุ้มครอง (บางรัฐที่ยังอนุญาตให้ทำแท้งได้ถูกกฎหมายอย่างรัฐมินนิโซตากำลังเตรียมรับมือกับการหลั่งไหลเข้ามาของผู้ที่ต้องการทำแท้ง)

การกลับลำของศาลสูงสุดมาพิพากษาว่าการทำแท้งผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญครั้งนี้ทำให้สตรีวัยเจริญพันธุ์ในอเมริกาออกมาประท้วงอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่ตั้งแต่หน้าศาลสูงสุดในวอชิงตัน ดี.ซี. ในรัฐต่างๆ ที่กำลังจะห้ามการทำแท้ง และขณะนี้การประท้วงขยายไปจนถึงอังกฤษ ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย

เรื่องมันยาว ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับการเมืองของอเมริกาพอสมควรโดยไม่ค่อยเกี่ยวกับนโยบายประชากรสักเท่าไหร่ ผู้เขียนขอค่อยๆ ไล่เรียงสู่กันฟังย่อๆ ก็แล้วกัน

Advertisement

อันดับแรก การเมืองในสหรัฐแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายใหญ่ๆ คือ ฝ่ายอนุรักษนิยม (Conservative) ได้แก่ พรรครีพับลิกัน และ ฝ่ายเสรีนิยม (Liberal) ได้แก่ พรรคเดโมแครต ซึ่งในเรื่องของการทำแท้ง พรรครีพับลิกันซึ่งเป็นพวกหัวเก่าค้านการทำแท้งเสรี ขณะที่พรรคเดโมแครตเห็นตรงข้ามโดยเชื่อในเรื่องสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิในการทำแท้ง โดยทั้งสองพรรคได้ต่อสู้กันเรื่องนี้มานานหลายสิบปีและคำพิพากษาเมื่อ วันที่ 24 มิถุนายนปีนี้ ก็สะท้อนให้เห็นถึงความขุ่นใจของทั้งสองฝ่าย ที่กล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่ามีความคิด “สุดโต่ง” และ “หัวรุนแรง” และที่สำคัญคือคำพิพากษาของศาลครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อการเลือกตั้งกึ่งวาระ (mid-term election) ของอเมริกาที่จะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนนี้

อันดับต่อมา คณะตุลาการในศาลฎีกาก็มี 2 ฝ่ายอย่างเงียบๆ คือฝ่ายอนุรักษนิยม และฝ่ายเสรีนิยม โดยฝ่ายอนุรักษนิยมก็คือตุลาการที่แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีพรรคอนุรักษนิยมหรือพรรครีพับลิกัน ที่เสนอชื่อให้วุฒิสภาแต่งตั้ง และฝ่ายเสรีนิยมก็คือตุลาการที่แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีพรรคอนุรักษนิยมหรือพรรคเดโมแครต (แต่ก็ไม่เสมอไป สมัยประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน และไอเซ็นฮาว ซึ่งเป็นรีพับลิกันเคยแต่งตั้งตุลาการที่เป็นเสรีนิยม) ซึ่งกระบวนการคือประธานาธิบดีจะเสนอชื่อให้วุฒิสภารับรอง เมื่อได้รับแต่งตั้งแล้ว ตุลาการดำรงตำแหน่งจนกว่าจะเสียชีวิต ลาออก เกษียณอายุ หรือถูกถอดเพราะมีการฟ้องให้ขับออกจากตำแหน่ง (impeachment) แต่ยังไม่เคยมีตุลาการถูกถอดด้วยวิธีนี้ คณะตุลาการประกอบด้วย ประธานศาล (Chief Justice) หนึ่งคน และตุลาการสมทบ (Associate Justice) อีกแปดคน ตุลาการแต่ละคนมีหนึ่งเสียงในการลงคะแนน หลายๆ คดีมีการวินิจฉัยด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ ในกรณีที่คะแนนเท่ากัน ประธานศาลจะเป็นผู้ออกเสียงตัดสิน ปัจจุบัน (2565) ศาลฎีกามีตุลาการที่รับการเสนอชื่อแต่งตั้งโดยพรรครีพับลิกัน 6 คน และโดยพรรคเดโมแครต 3 คน โดยประธานศาลคนปัจจุบันพรรครีพับลิกันเป็นผู้เสนอชื่อแต่งตั้ง

อันดับสาม กฎหมายการทำแท้งในอเมริกาแตกต่างกันในแต่ละรัฐ กฎหมายบางรัฐห้ามทำแท้งโดยไม่ได้กำหนดอายุการตั้งครรภ์เว้นแต่สตรีผู้ตั้งครรภ์จะถึงแก่ชีวิตจากการตั้งครรภ์ บางรัฐอนุญาตให้เลือกวิธียุติการตั้งครรภ์ (elective abortion เนื่องจากความต้องการของมารดาโดยไม่ต้องมีเหตุผลทางการแพทย์) ได้โดยไม่กำหนดอายุครรภ์ การทำแท้งเป็นเรื่องมีการโต้แย้งกันอย่างมากและมีการแบ่งฝ่ายในวัฒนธรรม การเมือง และสังคมของอเมริกา ตั้งแต่ปี 2519 (หลังคดี Reo v. Wade) พรรครีพับลิกันได้พยายามจำกัดการเข้าถึงการทำแท้งหรือทำให้การทำแท้งเป็นอาชญากรรม ขณะที่พรรคเดโมแครตพยายามปกป้องและสนับสนุนการเข้าถึงการทำแท้ง รวมทั้งการเข้าถึงการคุมกำเนิดได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ ในภาพรวมอาจแบ่งแนวคิดการอนุญาตให้ทำแท้งเป็น 2 กลุ่ม คือ “ฝ่ายปกป้องสตรีในการทำแท้ง (pro choice)” ที่เห็นว่าสตรีมีสิทธิที่จะเลือกยุติการตั้งครรภ์ของตนหรือไม่ กับ “ฝ่ายปกป้องชีวิตทารก (pro life)” ที่เห็นว่าทารกในครรภ์มีสิทธิมีชีวิต ความสนับสนุนการทำแท้งในอเมริกาค่อยๆ เพิ่มขึ้นหลังคดี Roe v. Wade เมื่อเดือนมกราคม 2516 แต่ก็ไม่เพิ่มขึ้นอีกตั้งแต่ปี 2553

Advertisement

คดี Roe v. Wade (โร วี เวด-2516) เป็นคดีประวัติศาสตร์ของศาลสูงสุดสหรัฐที่ตัดสินว่ารัฐธรรมนูญของอเมริกาคุ้มครองเสรีภาพของสตรีที่จะเลือกทำแท้งหรือไม่ คำตัดสินดังกล่าวทำให้ต้องยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งของรัฐบาลกลางและมลรัฐหลายฉบับ และเป็นจุดที่ทำให้มีการถกเถียงกันอย่างมากมายต่อมาเรื่องการทำแท้งในอเมริกา

ที่เรียกคดีนี้ว่า Roe v. Wade หรือสั้นๆ ว่า Roe (ตามข่าวในสื่อต่างๆ) มาจากชื่อสมมุติ (ทางกฎหมาย) Jane Roe ที่ใช้เรียกนางนอร์มา แมคคอร์วี ซึ่งอาศัยอยู่รัฐเท็กซัส และต้องการทำแท้ง แต่กฎหมายรัฐเท็กซัสถือว่าการทำแท้งผิดกฎหมาย ยกเว้นกรณีที่รักษาชีวิตผู้เป็นมารดา ส่วน Wade นั้นเป็นชื่อ นาย Henry Wade ซึ่งเป็นอัยการอำเภอคู่กรณี ซึ่งศาลชั้นต้นตัดสินให้ Roe ชนะ แต่ Wade อุทธรณ์ศาลสูงสุด

ผลอย่างที่ทราบคือ ศาลสูงสุดตัดสินให้ Roe ชนะด้วยคะแนน 7-2 โดยศาลอ้างถึงรัฐธรรมนูญอเมริกา ฉบับปรับปรุงแก้ไขครั้งที่ 14 เรื่อง “สิทธิความเป็นส่วนตัว” (Right to privacy) ซึ่งคุ้มครองสิทธิของสตรีในการทำแท้ง และตัดสินว่าสตรีในสหรัฐอเมริกามีสิทธิพื้นฐานที่จะทำแท้งหรือไม่โดยปราศจากข้อจำกัดของ
ภาครัฐ และยกเลิกการห้ามทำแท้งของรัฐเท็กซัสเนื่องจากผิดรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา คำตัดสินดังกล่าวมีผลให้ต้องยกเลิกกฎหมายการทำแท้งของรัฐบาลกลางและมลรัฐหลายฉบับ และเป็นจุดที่ทำให้มีการถกเถียงกันอย่างมากมายต่อมาเรื่องการทำแท้งในอเมริกา

อันดับสี่ การกลับมาของกฎหมายห้ามทำแท้ง การพิจารณาสิทธิการทำแท้งโดยศาลสูงครั้งใหม่เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน มีขึ้นเมื่อศาลต้องวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับกฎหมายของรัฐมิสซิสซิปปีที่ห้ามการทำแท้งทุกชนิดหลังจากตั้งครรภ์ 15 สัปดาห์ ซึ่งเป็นเกณฑ์การตั้งครรภ์หลายสัปดาห์ที่เร็วกว่าเกณฑ์ที่เคยถูกระบุในคดี Roe v. Wade เมื่อปี 2516

ในคดีของรัฐมิสซิสซิปปี องค์กรสุขภาพสตรี (Women’s Health Organization) ซึ่งเป็นคลินิกทำเเท้งแห่งเดียวของรัฐ ต้องการให้ศาลพิจารณาความถูกต้องของกฎหมายห้ามทำแท้งของรัฐปี 2561 โดยกล่าวว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวขัดกับการพิจารณาของศาลของรัฐบาลกลางในอดีต (2516)

รัฐมิสซิสซิปปีต่อสู้กลับจนถึงศาลสูงโดยขอให้ศาลพิจารณาคว่ำคำตัดสินในคดี Roe v. Wade และระบุในการยื่นขอพิจารณาคดีว่า “ไม่มีส่วนใด” ในรัฐธรรมนูญอเมริกันที่ “สนับสนุนสิทธิการทำแท้ง”

ศาลสูงสุดมีมติ 6-3 รับกฎหมายของรัฐมิสซิสซิปปีที่ห้ามทำแท้งหลังจากท้อง 15 สัปดาห์ (โดย 6 เสียง มาจากผู้พิพากษาสายอนุรักษนิยม) แต่มีมติ 5-4 ต่อประเด็นให้คว่ำคดี Roe (ที่ตัดสินไปเมื่อราว 50 ปีที่แล้วที่ให้การทำแท้งเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญสหรัฐ) ที่ประธานศาลเสนอให้พิจารณาแยกออกมา โดยเขาได้ลงมติไม่เห็นด้วยกับการคว่ำการตัดสินคดีเก่าดังกล่าว

อันดับห้า การเมือง ทันทีที่ศาลแถลงการณ์ผลการพิพากษา ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก็ออกมาแถลงแสดงความผิดหวัง โดยกล่าวว่านี่เป็นวันที่น่าเศร้าสำหรับประเทศ แต่การต่อสู้ยังไม่จบ” และกล่าวว่า รัฐบาลจะดำเนินการทุกอย่างเพื่อปกป้องสิทธิในการทำแท้ง พร้อมกับถือโอกาสหาเสียงโดยเรียกร้องให้ชาวอเมริกันลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายนเลือกผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่สนับสนุนการใช้สิทธิทำแท้งตามรัฐธรรมนูญ

ต่อมาวันที่ 2 กรกฎาคม 2565 ประธานาธิบดีไบเดน ออกมากล่าวสำทับว่า “เรื่องนี้ยังไม่จบ” และเริ่มเร่งทำงานด้านนี้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งเรียกประชุมผู้ว่าการรัฐเพื่อปกป้องการเข้าถึงการรักษาพยาบาลอนามัยเจริญพันธุ์ ขณะที่นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี และนางจิล ไบเดน สตรีหมายเลขหนึ่ง ก็ออกมาช่วยโวยอีกสองแรง

อีกมุมหนึ่ง อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ (พรรครีพับลิกัน) ออกมาฉวยโอกาสหาเสียงเหมือนกันโดยอ้างว่าคำตัดสินของศาลสูงสุดเป็นผลงานของตนว่า “ข้าพเจ้าได้ทำทุกอย่างตามสัญญา รวมทั้งการเสนอชื่อและรับรองตุลาการศาลสูงสุด 3 ท่าน”

ปัจจุบัน พรรคเดโมแครตมีเสียงข้างมากในสภาคองเกรส แต่หลังการเลือกตั้งกลางวาระในเดือนพฤศจิกายน เสียงอาจจะหายไป โดยเสียงของพรรครีพับลิกันเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้พรรครีพับลิกันสามารถออกกฎหมายห้ามทำแท้งของรัฐบาลกลางได้

เรื่องกฎหมายการทำแท้ง (ไม่) เสรียังไม่จบ สิ่งที่ผู้เขียนยังไม่ได้พูดถึงคือเหตุผลของการสนับสนุนหรือคัดค้านกฎหมายการทำแท้งเสรี ซึ่งนอกจากเหตุผลทางการเมืองและความเชื่อเรื่องสิทธิของประชาชน ยังมีเหตุผลทางการแพทย์ และเหตุผลทางด้านเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งกฎหมายไทยและอาเซียนเกี่ยวกับการทำแท้งอีก เป็นต้น

ขอผลัดไว้ก่อนครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image