สุจิตต์ วงษ์เทศ : เครื่องประโคมศักดิ์สิทธิ์จากอินเดีย-ลังกา-ชวา สู่ราชสำนักลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นปี่พาทย์นางหงส์

วงปี่พาทย์นางหงส์ (ตามแบบแผนเดิม) ใช้ปี่ชวา, กลองมลายู (2 ใบ) (ภาพจากหนังสือของกรมศิลปากร)

ปี่พาทย์นางหงส์ มีรากเหง้าความเป็นมาจากปี่กลอง เครื่องประโคมศักดิ์สิทธิ์ของราชสำนักดั้งเดิมของอุษาคเนย์และในไทย

ต่อมาคลายความศักดิ์สิทธิ์เป็นเครื่องประโคมงานศพของสามัญชนคนทั่วไป

ทำนองเดียวกับเมรุเผาศพตามวัดทั่วประเทศในไทย มีรากเหง้าจากพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระศพพระเจ้าแผ่นดินยุคอยุธยา ต่อมาลดความศักดิ์สิทธิ์ลงเป็นเมรุเผาศพเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่

นานเข้าพวกเจ้าสัวอยากขึ้นเมรุบ้าง ก็ทำเมรุเลียนแบบของหลวงไปถวายวัด เลยส่งผลให้ศพชาวบ้านก็ได้เผาบนเมรุในวัดทั่วประเทศจนทุกวันนี้

Advertisement

ปี่กลอง

ปี่กลอง หมายถึง ปี่กับกลองในวัฒนธรรมไม้ไผ่ มีกำเนิดและใช้ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์มากกว่า 3,000 ปีมาแล้ว เป็นเครื่องประโคมประเภท “ตีเป่า” เก่าสุดของอุษาคเนย์และของโลก (แต่เรียกชื่อต่างกัน)

ปี่ ยุคแรกเริ่มมีเสียงเดียว ทำจากพืชตระกูลไม้ไผ่ (เช่น ปี่จุ่ม หรือ ปี่ชุม) หรือกระดูกสัตว์

กลอง ทำจากกระบอกไม้ไผ่ (ในกลุ่มที่เรียกภายหลังว่า เกราะ, โกร่ง เช่น ตีเกราะเคาะไม้)

Advertisement

วงปี่กลอง เป็นเครื่องประโคมศักดิ์สิทธิ์และเก่าแก่มากๆ แล้วมีพัฒนาการต่อเนื่องไม่ขาดสายจนทุกวันนี้

อินเดียเรียกภายหลังว่า ปัญจตุริย (อ่านว่า ปัน-จะ-ตุ-ริ-ยะ) ประกอบด้วย ปี่สรไน 1 เลา กับกลอง (ต่างชนิดกัน) 4 ใบ

ลังกาได้ต้นแบบจากอินเดีย แล้วเรียกตามประเพณีของตนว่า มังคลเภรี (อ่านว่า มัง-คะ-ละ-เพ-รี)

ปี่ กลอง ฆ้อง

ปี่ กลอง ฆ้อง หมายถึง ปี่, กลอง, และฆ้อง ในวัฒนธรรมโลหะของอุษาคเนย์ ราว 2,500 ปีมาแล้ว

ฆ้องที่เพิ่มเข้ามาทำด้วยโลหะผสมเรียกสำริด เป็นวัฒนธรรมพื้นเมืองอุษาคเนย์ ไม่พบในอินเดียและลังกา

สู่ราชสำนักอุษาคเนย์

ราวเรือน พ.ศ. 1000 เครื่องประโคมปัญจตุริยจากอินเดีย แพร่หลายถึงอุษาคเนย์ทั้งหมู่เกาะและภาคพื้นทวีปแผ่นดินใหญ่

ราชสำนักของรัฐใหญ่ครั้งนั้น รับมาเป็นเครื่องประโคมศักดิ์สิทธิ์ มีอย่างน้อย 4 แห่ง ได้แก่ 1. ราชสำนักรัฐชวา (อินโดนีเซีย), 2. ราชสำนักรัฐฟูนัน-เจนละ (กัมพูชา), 3. ราชสำนักรัฐศรีเกษตร (พม่า), 4. ราชสำนักรัฐทวารวดี (ในไทย เรียกตามเอกสารจีนว่า โถโลโปตี, หลั่งยะสิว, จินหลิน)

ราชสำนักในไทย

ราชสำนักในไทยรับแบบแผนวงปี่กลองจากทุกแหล่งที่ถูกเรียกเป็นแขกทั้งอินเดีย, ลังกา, และชวา บางทีจำแนกไม่ออกว่าอะไรรับจากไหน? เช่น

กลองแขก ยุคต้นอยุธยา (ราว พ.ศ. 1900) จัดไว้ในกรมแตร (สำหรับเป่าพร้อมตีกลองแขกประโคมนำเสด็จ) พนักงานกลองแขก มีชื่อตำแหน่งว่า หมื่นราชาราช ศักดินา 200

คำว่า แขก ในไทยใช้เรียกคนนับถือศาสนาพราหมณ์ เรียกแขกพราหมณ์ กับคนนับถือศาสนาอิสลาม เรียกแขกมุสลิม

ดังนั้น กลองแขกจึงเป็นได้ทั้งแขกอินเดีย, แขกลังกา, แขกชวา-มลายู (แม้กลองชนะก็อยู่ในกลุ่มเดียวกัน คือต้นทางจากกลองอินเดีย ขึงหนังรอบตัว)

ปี่ไฉน ยุคต้นอยุธยา (ราว พ.ศ. 1900) จัดไว้ในกรมมหรสพ เป็นพนักงานปี่พาทย์มีชื่อตำแหน่งว่า ขุนไฉนไพเราะ ศักดินา 200

คำว่า ไฉน กลายจากคำเปอร์เซีย (อิหร่าน) ว่า สรไน เครื่องเป่าศักดิ์สิทธิ์ของราชสำนัก น่าจะรับผ่านอินเดียตั้งแต่ยุคทวารวดี (ก่อนอยุธยา) ราวหลัง พ.ศ. 1000

ปี่ชวา กลองแขก

ปี่ชวา กลองแขก น่าจะอยู่ในราชสำนักรัฐลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ก่อนยุคอยุธยา

ยกย่องเป็นวงประโคมศักดิ์สิทธิ์ ใช้ในพระราชพิธี และกิจกรรมอันเกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดิน เพราะคนในวัฒนธรรมชวา-มลายูมีบทบาทหน้าที่สำคัญในราชสำนักสืบจนยุคอยุธยา, ธนบุรี, รัตนโกสินทร์

ปี่ชวา กลองแขก ก็คือ ปี่ไฉน กับกลอง 4 ใบ เรียก ปัญจตุริย ที่ราชสำนักชวารับจากอินเดีย แต่ไทยรับจากชวาอีกทอดหนึ่ง เลยเรียกว่า ปี่ชวา

ชวา-มลายู

คนในวัฒนธรรมชวา-มลายู เป็นผู้ชำนาญการเดินเรือทางทะเลสมุทรเลียบชายฝั่งและหมู่เกาะต่างๆ ตั้งแต่ราว 3,000 ปีมาแล้ว จากนั้นมีบทบาทสำคัญทางการค้าโลกสืบเนื่องไม่ขาดสาย เช่น

  1. ควบคุมการค้าข้ามคาบสมุทร ในนาม “ศรีวิชัย”
  2. สถาปนารัฐจามปา นับถือฮินดู-พุทธ ในเวียดนามภาคกลาง แล้วเกี่ยวข้องกับกำเนิดรัฐกัมพูชา มีนิทานเรื่องนางนาค (ชาวพื้นเมือง) กับ พระทอง (จากจามปา)
  3. ควบคุมการค้าทางทะเลอันดามัน ให้รัฐอยุธยา ในตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี”
  4. ควบคุมกองเรือให้รัฐอยุธยา ในนาม “อาสาจาม” เจ้ากรมอาสาจาม มีบรรดาศักดิ์ “พระราชวังสรร” ศักดินา 2,000
  5. คำว่า ละคร (การแสดงมีนิยาย) มีรากจากตระกูลภาษาชวา-มลายู ว่า เล-กอง legon ชื่อเพลงมโหรีจำนวนไม่น้อยยุคอยุธยา มาจากภาษาและทำนองเพลงชวา-มลายู

กลองสี่ ปี่หนึ่ง

ปี่กลองจากอินเดียมีเครื่องประโคม 5 อย่าง เรียก “ปัญจตุริย” ถูกแปลงชื่อเป็นไทยว่า กลองสี่ ปี่หนึ่ง

เมื่อรับปี่ชวา กลองแขก มาใช้ในวงประโคมนำเสด็จยุคอยุธยา เพิ่ม ฆ้อง 1 ใบ เป็น ปี่ ฆ้อง กลอง ก็ยังรักษาชื่อหลักคือ กลองสี่ ปี่หนึ่ง (เพราะฆ้องเป็นเครื่องตีพื้นเมือง ไม่ใช่เครื่องหลักแต่แรก หากเป็นเครื่องเพิ่มภายหลัง)

วงบัวลอย ประโคมศพ

กลองสี่ ปี่หนึ่ง และฆ้อง 1 ใบ เมื่อประโคมในงานศพ บางทีเรียก วงบัวลอย เพราะเล่นเพลงบัวลอยเป็นเพลงขึ้นต้น แล้วตามด้วยเพลงต่างๆ มีชื่อตามลำดับได้แก่ นางหน่าย, กระดี้รี้, นางหงส์, หกคะเมน, ไต่ลวด

ตอนเผาศพเล่นเพลงตามลำดับดังนี้ ทุบมะพร้าว, แร้งกระพือปีก, กาจับปากโลง, ชักฟืนสามดุ้น, ไฟชุม จะใช้เพลงอื่นแทรกบ้างก็ได้ แต่ห้ามเพลงมงคล เช่น มหาฤกษ์, มหาชัย, สาธุการ ฯลฯ กำหนดว่าเวลาจุดไฟต้องใช้เพลงบัวลอย

[สรุปจากจดหมายของพระยาอนุมานราชธน กราบทูลสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อ 7 มีนาคม 2482 อยู่ในหนังสือบันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2506]

ปี่พาทย์นางหงส์

ปี่พาทย์พิธีของราชสำนักอยุธยา มีชื่อในเอกสารราว พ.ศ. 1900 ว่า “ปี่พาทย์ฆ้องวง” น่าจะหมายถึงปี่กลองกับฆ้องวงเป็นหลัก

ปี่ (คือ ปี่นอก, ปี่ใน) กลอง (คือ กลองทัด, กลองตะโพน) ฆ้อง (คือ ฆ้องวง)

ระนาด จะมีหรือไม่มียังไม่พบหลักฐาน ถ้ามีก็ไม่ใช่ระนาดเอกอย่างทุกวันนี้ (เพราะเพิ่งประดิษฐ์ใหม่ ราวหลัง ร. 2) แต่น่าจะเป็นลูกระนาดไม้ไผ่อย่างระนาดทุ้มปัจจุบัน

ปี่พาทย์พิธี ต้องประโคมงานศพของหลวง ร่วมกับกลองสี่ ปี่หนึ่ง (ทำเพลงบัวลอยกับเพลงนางหงส์)

นานเข้าปี่พาทย์พิธีก็เอาเพลงนางหงส์ของปี่ชวา กลองแขก ไปปรับใช้บรรเลงบ้างเพื่ออวดฝีมือ (หรือเรียกได้ว่าสร้างสรรค์ตามประเพณี)

แล้วยกปี่ชวาไปเป่า (แทนปี่นอก ปี่ใน) บางทีเอากลองแขกตี (แทนกลองทัด, ตะโพน) เริ่มเรียกว่า ปี่พาทย์นางหงส์ เป็นที่รู้ทั่วกันในหมู่ครูดนตรีปี่พาทย์

มีร่องรอยสำคัญอยู่ในจดหมายของพระยาอนุมานราชธน กราบทูลสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อ 7 มีนาคม 2482 มีใจความสำคัญว่า

“ในเวลานี้ปี่พาทย์ที่เขาจ้างไปประโคมศพก็เล่นแต่ทำนองเพลงนางหงส์ 2 ชั้น…

ต่อนั้นไปก็ทำเพลงต่างๆ เป็นเพลงตับ หรือออกเป็นเพลงภาษาเท่านั้น”

เครื่องกลองแขก หลวงศรีวาทิต (อ่อน โกมลวาทิน) ตีกลองแขก, หมื่นตันตริการเจนจิตร (สาย ศศิผลิน) เป่าปี่ชวา, พระประดับดุริยกิจ (แหยม วีณิน) ตีกลองแขก, ขุนบรรจงทุ้มเลิศ (ปลั่ง ประสานศัพท์) ตีฆ้องโหม่ง  [ภาพและคำอธิบาย พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ ตำนานเครื่องมโหรีปี่พาทย์ ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พิมพ์เนื่องในงานฌาปนกิจศพ หม่อมพลับ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ณ เมรุวัดสระเกศ ปี พ.ศ. 2482]
เครื่องกลองแขก หลวงศรีวาทิต (อ่อน โกมลวาทิน) ตีกลองแขก, หมื่นตันตริการเจนจิตร (สาย ศศิผลิน) เป่าปี่ชวา, พระประดับดุริยกิจ (แหยม วีณิน) ตีกลองแขก, ขุนบรรจงทุ้มเลิศ (ปลั่ง ประสานศัพท์) ตีฆ้องโหม่ง
[ภาพและคำอธิบาย พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ ตำนานเครื่องมโหรีปี่พาทย์ ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พิมพ์เนื่องในงานฌาปนกิจศพ หม่อมพลับ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ณ เมรุวัดสระเกศ ปี พ.ศ. 2482]
สามัญชนมีทรัพย์เท่านั้นถึงจะมีเงินจ้างปี่พาทย์นางหงส์ไปประโคมงานศพ พร้อมกลองสี่ ปี่หนึ่ง ทำบัวลอยตอนเผาศพ เลียนแบบงานหลวง หรือถ้าทรัพย์ไม่มากพอก็ลดกลองเหลือ 2 ใบ แต่คนไม่มีทรัพย์ก็มีไม่ได้ ไม่ว่าปี่พาทย์แบบไหน?

ปี่กลองแบบเดียวกันนี้ยังใช้ในการละเล่นกระบี่กระบอง (ตามต้นแบบสิละของมลายู) แล้วมีเมื่อชกมวยไทยในสนามมวย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image