สะพานแห่งกาลเวลา : คลื่นความร้อน โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-earthobservatory/nasa)

ฮีต เวฟ หรือคลื่นความร้อน เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถกลายเป็นภัยคุกคามที่สามารถคร่าชีวิตผู้คนได้โดยง่าย หากไม่มีการเตรียมการเตือนภัยล่วงหน้าที่ดีพอ

เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในยุโรปและอเมริกาในเวลานี้นั่นเอง

ฮีต เวฟ มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ แบบแรกคือแบบสะสมความร้อน เกิดขึ้นในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งซึ่งมีความร้อนสะสมอยู่เป็นเวลานาน อากาศแห้ง ลมนิ่ง เมื่อสะสมต่อเนื่องนานหลายวันก็จะยิ่งกลายเป็นคลื่นความร้อน ส่งผลให้อุณหภูมิสูงผิดปกติ

คลื่นความร้อนแบบที่ 2 เรียกกันว่า แบบพัดพาความร้อน เกิดขึ้นเมื่อกระแสลมพัดพาหอบเอาความร้อนจากพื้นที่ทะเลทรายขึ้นไปปกคลุมอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นเขตหนาว เช่น กรณีคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หรือในยุโรป เป็นต้น

Advertisement

ตอนนี้ ยุโรปเจอปัญหาคลื่นความร้อนอย่างหนัก ส่งผลคุกคามต่อประชากรเป็นเรือนล้าน ในสเปนและโปรตุเกส มีผู้เสียชีวิตจากฮีตเวฟระลอกนี้แล้วมากกว่า 1,000 คน ในฝรั่งเศสต้องอพยพผู้คนนับหมื่นนับแสนเพื่อหลบหนีไฟป่าที่เกิดจากคลื่นความร้อน

ในสหราชอาณาจักร ท่าอากาศยานต้องระงับทำการบิน เนื่องจากรันเวย์ร้อนจัดจนละลาย ปูดโป่ง เช่นเดียวกับเส้นทางรถไฟบางสาย ที่ต้องระงับการเดินรถชั่วคราวเพราะความร้อนทำให้รางโก่ง บิดงอผิดรูป บางประเทศตรวจวัดอุณหภูมิได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์

นักอุตุนิยมวิทยาของอังกฤษคาดการณ์ว่า ภาวะอย่างนี้จะเป็นไปต่อเนื่องอีกจนกระทั่งถึงต้นเดือนสิงหาคมนี้

Advertisement

ที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงเวลาเดียวกัน ภาวะคลื่นความร้อนยังเกิดขึ้นพร้อมกันในหลายพื้นที่ของซีกโลกตอนเหนือ หลายประเทศอย่าง จีน หรือประเทศในแถบแอฟริกาตอนเหนือ เรื่อยไปจนถึงสหรัฐอเมริกา ก็เผชิญกับ ฮีต เวฟ กันถ้วนหน้า

ปรากฏการณ์ที่เกิดคลื่นความร้อนขึ้นพร้อมๆ กันในหลายๆ ภูมิภาคของโลกเช่นนี้ เรียกกันว่า “คอนเคอร์เรนต์ ฮีต เวฟ” (Concurrent heat waves) ซึ่งปกติแล้วจะเกิดให้เห็นได้ยากมาก

แต่ที่น่าสังเกตก็คือ ปีนี้ และปีที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

เพราะปีที่ผ่านมา พื้นที่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก ก็เกิดฮีต เวฟ ขึ้นพร้อมๆ กับที่ เกิดขึ้นในยุโรป เช่นเดียวกัน

ทีปติ ซิงห์ นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตัน ชี้ว่า เป็นไปได้ว่าฮีต เวฟเกิดบ่อยครั้งขึ้นเพราะอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นเหมือนๆ กันไปทั่วโลก

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็เกิดปรากฏการณ์ที่ยากที่จะเกิดขึ้น บังเกิดขึ้นกับโลก นั่นคือการเกิดฮีต เวฟขึ้นพร้อมๆ กันบริเวณขั้วเหนือและขั้วใต้ของโลก ทั้งๆ ที่โดยปกติแล้วฤดูกาลของขั้วโลกทั้งสองจะตรงกันข้ามกันอยู่เสมอ

ไล่เลี่ยกันนั้น คลื่นความร้อนปกคลุมไปทั่วอินเดียและปากีสถานต่อเนื่องนานถึง 2 เดือน ต่อมาในเดือนมิถุนายน ปรากฏการณ์ฮีต เวฟก็ปกคลุมสหรัฐอเมริกาและยุโรป พร้อมๆ กันในขณะที่ตูนิเซียในแอฟริกาเหนือก็ต้องต่อสู้กับไฟป่าอย่างหนัก

ภาะโลกร้อน ส่งผลต่อการเกิดภาวะฮีต เวฟหรือไม่? นักวิทยาศาสตร์จาก เวิร์ลด์ เวเธอร์ แอททริบิวชัน วิเคราะห์ข้อมูลทั้งหลายอย่างละเอียดแล้วแถลงเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นไปได้สูงที่จะส่งผลให้เกิดฮีต เวฟเพิ่มมากขึ้นถึง 30 เท่า

หรือพูดง่ายๆ ว่า ยิ่งอุณหภูมิโลกสูงขึ้นเท่าใดฮีต เวฟยิ่งเกิดขึ้นได้ง่ายและมากขึ้นเท่านั้น

นักวิจัยของ เนชันแนล ไคลเมท แอสเซสส์เมนต์ เปรียบเทียบข้อมูลแล้วระบุว่า ฮีต เวฟในสหรัฐอเมริกา ในเวลานี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าในทศวรรษ 1960 ถึง 3 เท่าตัว

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) องค์กรที่ปรึกษาของสหประชาชาติ ระบุว่า แนวโน้มดังกล่าวเป็นไปได้ทั่วทั้งโลก

ที่น่าสังเกตก็คือ คลื่นความร้อนไม่เพียงเกิดบ่อยครั้งขึ้นเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นแล้วคงอยู่นานกว่าเดิมมากขึ้นอีกด้วย และปรากฏการณ์การเกิดคลื่นความร้อนพร้อมกันมากกว่า 2 พื้นที่ หรือคอนเคอร์เรนต์ ฮีต เวฟ ก็จะเกิดให้เห็นบ่อยครั้งขึ้นอีกด้วย

ผลการศึกษาเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ยังพบด้วยว่าฮีต เวฟที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางมากกว่าเดิมถึง 46 เปอร์เซ็นต์ และจุดสูงสุดของอุณหภูมิ ยังเพิ่มขึ้นกว่าเมื่อ 40 ปีเศษที่ผ่านมาถึง 17 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ตรงกับที่เคยเตือนเอาไว้เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา

เราอาจไม่จำเป็นต้องเผชิญอะไรที่ย่ำแย่เลวร้ายเช่นนี้ก็ได้ หากเราเชื่อและทำตามคำเตือนที่ว่านั้น

ถึงตอนนี้เท่าที่โลกต้องพยายามทำเพื่อแก้ปัญหานี้ก็คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

พร้อมกันนั้นก็เตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมความคิดให้พร้อม เพื่อรับมือกับภาวะภูมิอากาศสุดโต่งที่จะสุดโต่งและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image