ไทยพบพม่า : ประหาร 4 เกิด 4 แสน

พม่าสร้างความฮือฮาให้ทั่วโลกมาตั้งแต่หลายเดือนก่อนเมื่อคณะรัฐประหารประกาศว่าจะประหารชีวิตนักโทษการเมืองจำนวนหนึ่ง และในที่สุดก็มีการประหารชีวิตนักโทษการเมืองกลุ่มแรก 4 คนไปจริงๆ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รายชื่อผู้ที่ถูกประหารชีวิต ประกอบด้วย เพียว เซยา ตอ (Phyo Zeya Thaw) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรค NLD คนสนิทของด่อ ออง ซาน ซูจี และยังเป็นนักร้องเพลงฮิพฮอพชื่อดัง โก จิมมี่ (Ko Jimmy) แอคทิวิสต์การเมืองคนสำคัญจากกลุ่ม 88 หละ เมี้ยว อ่อง (Hla Myo Aung) และอ่อง ธูระ ซอ (Aung Thura Zaw) สองคนหลังถูกกล่าวหาว่าร่วมกันสังหารสายของกองทัพ (ซึ่งเป็นผู้หญิง)

คณะรัฐประหารประกาศว่าจะประหารนักโทษการเมืองกลุ่มแรกมาตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน แต่ในเวลานั้น ไม่มีใครคาดคิดว่ากองทัพพม่า “เอาจริง” เพราะเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี ที่พม่ามีการประหารชีวิตที่ผ่านมา ตั้งแต่ในยุค SLORC ต่อมาถึง SPDC แม้จะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและจำกัดสิทธิทางการเมืองของประชาชน แต่ก็ไม่เคยมีการประหารนักโทษการเมืองมาก่อน เพราะแนวทางที่รัฐบาลทหารมักนำมาใช้คือการซ้อมทรมาน การกักขังหน่วงเหนี่ยว หรือทำอย่างไรก็ได้ให้นักโทษการเมืองมีบาดแผลทางจิตใจ แกนนำหลายคนออกมากลายเป็นคนพิการ ทั้งทางร่างกายและทางสมอง

แต่สถานการณ์หลังรัฐประหารในคราวนี้ไม่เหมือนเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา กองทัพและคณะรัฐประหารคงคิดมาแล้วว่าสถานการณ์จะย่ำแย่ลงอย่างแน่นอน ด้วยมีการจัดตั้งขบวนการประชาชน ที่นับวันยิ่งเข้มแข็งขึ้นเพราะได้แรงสนับสนุนจากกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายตามแนวชายแดนไทย-พม่า และกองกำลังอื่นๆ อย่างกองทัพอาระกัน (AA) ที่เข้มแข็งขึ้นตามลำดับ จึงต้องเร่งตัดไม้ข่มนาม เชือดไก่ให้ลิงดู และสร้างความหวาดกลัว

สำนักข่าว Myanmar Now รายงานว่านักโทษการเมืองทั้ง 4 คนถูกประหารชีวิตในเช้าวันเสาร์ หนึ่งวันก่อนหน้านั้น มีการเชิญญาติๆ เข้าไปพบนักโทษการเมืองทั้ง 4 คน แต่เรือนจำอนุญาตให้สื่อสารกันผ่านซูมเท่านั้น หลังการประหารชีวิต ญาติไม่ได้รับอนุญาตให้นำตัวทั้ง 4 คนไปประกอบพิธีทางศาสนา แต่เรือนจำจัดการเผาศพในเย็นวันเสาร์ ก่อนวันประหารชีวิต เรือนจำแจ้งกับทั้ง 4 ครอบครัวว่าไม่จำเป็นต้องนำยาหรืออาหารเข้าไปเยี่ยมอีกต่อไปแล้ว และเรือนจำจะดำเนินการกับนักโทษการเมืองด้วยกระบวนการภายในของเรือนจำเอง ไม่มีการรายงานว่าคณะรัฐประหารใช้วิธีการประหารด้วยวิธีใด แม้หลายฝ่ายเชื่อว่าจะเป็นการแขวนคอ

Advertisement

รายงานเรื่องการประหารชีวิตที่ออกมาไม่มีความชัดเจน ผู้บัญชาการเรือนจำอินเส่งบอกเพียงว่าไม่สามารถเปิดเผยวันและเวลาที่ประหารชีวิตได้ แต่จากคำพูดนี้ทุกฝ่ายก็รับทราบตรงกันว่าทั้ง 4 คนน่าจะถูกประหารชีวิตไปเรียบร้อยแล้ว แต่ก็มีคำพูดที่มาจากปากของโฆษกกองทัพ ที่ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีภาคภาษาพม่า ว่า “นี่ไม่ใช่เวลาที่ดีที่จะประหารชีวิตนักโทษ” แต่เมื่อมีสื่อไปถามโฆษกกองทัพต่อถึงเรื่องนี้ ซอ มิน ทุน
(Zaw Min Tun) ตอบมาเพียงว่าไม่มีประโยชน์ที่จะต่อความยาวสาวความยืดในเรื่องนี้ เพราะทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย และจะไม่นำเรื่องนี้ไปพูดถึงในการแถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชนด้วย

แน่นอนว่าคณะรัฐประหารเตรียมรับแรงกระเพื่อมจากการประหารชีวิตนักโทษการเมือง 4 คนเอาไว้แล้ว การรับมือที่ดีที่สุดก็คือการไม่สนใจ ไม่รู้ไม่เห็น และไม่เอาความคิดเห็นของคนทั่วโลกมาสั่นคลอนความเชื่อของตน เพราะที่ผ่านมา คณะรัฐประหารพม่าก็ชี้ให้เห็นแล้วว่า “โนสนโนแคร์” ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในไทย รัฐบาลไทยคงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการแก้ข่าวและเดินสายเพื่อปรับความเข้าใจกับทั่วโลก แต่ในกรณีของผู้นำคณะรัฐประหารพม่า แม้จะคล้ายกับผู้นำไทยตรงที่เป็นผู้นำทหารเหมือนกัน แต่ข้อที่แตกต่างอย่างมากคือผู้นำพม่าไม่เคยเอาความคิดเห็นของใครหน้าไหนมาใส่ใจ ไม่ว่าจะเป็นความเห็นของประชาชนในประเทศ หรือของหน่วยงานระดับโลกก็ตาม

ความต่างอย่างที่สองคือผู้นำทหารแบบพม่านั้นมีลักษณะร่วมกันคือหวาดระแวงชาวต่างชาติอย่างหนัก แม้แต่อาเซียนเองที่หลายคนฝากความหวังไว้ว่าอาจจะช่วยแก้ไขวิกฤตการณ์การเมืองในพม่าได้บ้าง ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่สามารถทำอะไรได้ ใช้ไม้อ่อนก็แล้ว ไม้แข็งก็แล้ว แต่การเจรจากับพม่าจะไม่มีทางสำเร็จ หากการเจรจานั้นไม่ได้มาจากเจตจำนงของผู้นำคณะรัฐประหารเอง

Advertisement

กรณีของการประหารนี้ก็สร้างความกระอักกระอ่วนให้หลายชาติ ดูตัวอย่างของสิงคโปร์น่าจะชัดเจนที่สุด ที่ผ่านมาเรียกว่าสิงคโปร์เป็นชาติในอาเซียนเป็นตัวตั้งตัวตีให้เกิดการเจรจาในพม่า และมีประณามคณะรัฐประหารพม่าอยู่บ่อยครั้ง ที่เข่นฆ่าประชาชนไปนับพันคนแล้ว แต่มาครั้งนี้สิงคโปร์พูดอะไรไม่ได้มาก อยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอย่างสิ้นเชิง เพราะตัวเองก็เพิ่งจะประหารชีวิตนักโทษคนหนึ่งในข้อหานำเข้ายาเสพติดผิดกฎหมาย ไปเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ท่ามกลางการประณามจากทั่วโลก หรือในวันที่ 26 กรกฎาคม ญี่ปุ่นก็เพิ่งประหารชีวิตนักโทษที่ก่อคดีแทงประชาชน 8 คนในห้างแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว

จะเห็นได้ว่าประเทศอย่างสิงคโปร์ที่มีท่าทีแข็งกร้าวต่อพม่ามาตลอด ไม่สามารถออกความเห็นเรื่องการประหารชีวิตนักโทษทั้ง 4 คนได้ ส่วนญี่ปุ่น ที่เป็นคู่ค้าสำคัญของพม่าก็ไม่ได้อยู่ในสถานะจะประณามพม่าเรื่องการประหารชีวิตเช่นกัน ไม่ต้องพูดถึงไทย ที่ลอยตัวอยู่เหนือทุกปัญหาที่เกี่ยวกับการเมืองภายในพม่า เพราะยังอยากรักษาความสัมพันธ์แบบ “เอ็กซ์คลูซีฟ” แบบนี้ไว้นานๆ

ในอนาคต คณะรัฐประหารอาจทยอยประหารนักโทษการเมืองเพิ่มเติม แม้ในสื่อโซเชียลของพม่ามีรายงานออกมาว่าเรือนจำอาจประหารนักโทษเพิ่มอีก 3 คนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นักโทษการเมืองที่ได้รับโทษประหารชีวิตยังมีอยู่นับร้อยชีวิต ถ้าเป็นเมื่อหลายเดือนก่อน ผู้เขียนก็คิดไม่ต่างจากผู้อ่านหลายท่านว่าคณะรัฐประหารคงไม่เห็นความสำคัญของการประหารชีวิตนักโทษการเมืองนัก ส่วนหนึ่งเพราะเป็นปรากฏการณ์ใหม่มากๆ สำหรับรัฐบาลทหารในยุคหลังเน วิน และอีกส่วนหนึ่งเพราะรู้ดีว่าจะยิ่งทำให้สถานการณ์การต่อต้านรัฐประหารรุนแรงขึ้น สงครามกลางเมืองเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่มีประชาชนคนแรกเสียชีวิตจากการล้อมปราบของกองทัพ

แต่ในครั้งนี้สงครามกลางเมืองจะเกิดขึ้นแบบเต็มรูปแบบ และจะเป็นการรบแบบที่ต้องมีการสูญเสีย ตายกันไปข้างหนึ่ง แข่งกันว่าใครจะยืนระยะได้ยาวกว่ากัน และมีทรัพยากรมากกว่ากันในระยะยาว พม่าในวันนี้ไม่มีวันกลับไปเป็นพม่าที่แสนสงบอีกต่อไปแล้ว ว่าแต่…พม่าเคยสงบมาก่อนจริงๆ หรือ?

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image