การจ้างงานและขนาดทุนอุตสาหกรรม และนัยสำคัญต่อการบริหารบ้านเมือง

ความตื่นตัวของการนำข้อมูลขนาดใหญ่เป็นที่ประจักษ์อย่างชัดเจน ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณหน่วยงานรัฐหลายแห่งที่ตระหนักถึงความสำคัญของการบันทึกข้อมูลที่สะท้อนความต้องการของประชาชน หรือการปฏิบัติการของหน่วยงาน เช่น บันทึกข้อมูลผู้ป่วยเป็นรายบุคคล รายวัน รายโรงพยาบาล บันทึกข้อมูลด้านเศรษฐกิจโรงงานคือ ขนาดทุนและการจ้างงานกระจายในพื้นที่จังหวัด-อำเภออย่างไร? ช่วยให้ความรู้ระดับพื้นที่ซึ่งถือว่าเป็นมิติใหม่ในการวิจัยบ้านเรา ในโอกาสนี้ผู้เขียนนำข้อมูลจดทะเบียนกรมโรงงานอุตสาหกรรม วิเคราะห์ว่าทุนอุตสาหกรรมและจำนวนการจ้างงานกระจายลงพื้นที่อำเภออย่างไร? นับเป็นข้อมูลที่มีคุณค่ายิ่งทั้งในมิติวิชาการและการบริหารจัดการเมืองดังจะอภิปรายต่อไป

กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีหน้าที่กำกับตรวจสอบโรงงานทั่วประเทศตามกฎหมาย ได้บันทึกสถิติขนาดทุน-การจ้างงาน-เครื่องจักร (วัดด้วยกำลังม้า) เป็นข้อมูลสนเทศที่มีประโยชน์หลายสถาน ในโอกาสนี้ขอนำมาวิเคราะห์การกระจายตามพื้นที่ (จังหวัด/อำเภอ) เป็นที่ทราบดีว่า “ทุน” และ “การจ้างงาน” มี
นัยสำคัญต่อการบริหารเมือง ตัวอย่างเช่น อำเภอที่มีโรงงานจำนวนมาก-การจ้างงานหลายหมื่นคน ย่อมหมายถึงผลต่อเนื่องต่อความต้องการบ้าน หอพัก อพาร์ตเมนต์ ร้านอาหาร สถานบริการต่างๆ และนัยต่อภาครัฐคือ การจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมของเทศบาล หรือ อบต.

จากฐานข้อมูลของกรมโรงงานฯปี 2563 ระบุว่ามีโรงงานที่จดทะเบียนกระจายใน 886 อำเภอ โดยมีลักษณะกระจุกตัวสูงในบางอำเภอที่มี “ความพร้อม” วัดด้วยการคมนาคมขนส่งสะดวก ไฟฟ้าประปาและสิ่งอำนวยความสะดวก ห่างไกลจากชุมชนหรือสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ หนึ่งในหัวข้อการวิจัยในมิติเศรษฐศาสตร์ให้ความสำคัญคือ การจ้างงานในโรงงานส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจังหวัด/อำเภออย่างไร? เพราะว่าแรงงานมีรายได้-มีความต้องการบ้าน/ห้องเช่า ซื้อข้าวของและสินค้าบริการ ซื้อบริการหลายรูปแบบ สถานประกอบการและแรงงานยังจ่ายภาษีหรือค่าธรรมเนียมให้แก่เทศบาล / อบต. ซึ่งนำมาจัดบริการสาธารณะหลายรูปแบบ (เช่น จัดการขยะ)

คำศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ใช้เรียกว่า “ตัวทวีคูณท้องถิ่น” (local multiplier) จึงนำข้อมูลการจ้างงานและขนาดทุนระดับพื้นที่ (จังหวัด/อำเภอ) มาเป็นพระเอกหรือ “ตัวเดินเรื่อง” ในละครหรือภาพยนตร์ รูปภาพที่ 1 แสดงการกระจุกตัวของการจ้างงานอุตสาหกรรมว่า “เขาทำงาน-อยู่กินกันที่ไหน?” เรียง 30 อำเภอที่มีคนทำงานสูงสุด ลำดับที่หนึ่งคือ อ.เมืองสมุทรสาคร มีแรงงานเกือบ 2 แสนคน (ถ้าหากนับรวมสมาชิกครัวเรือนอาจจะสูงถึง 5-6 แสนคน) ลำดับถัดมาสมุทรปราการ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา เป็นต้น ตัวแทนอำเภอที่เป็นฐานอุตสาหกรรมในภาคเหนือคือ ลำพูน และขอนแก่นในภาคอีสาน (แรงงานกว่า 2 หมื่นคนเศษ-นับว่าไม่น้อยเหมือนกัน)

Advertisement

รูปภาพที่ 1 อำเภอที่มีการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมสูง

ขนาดทุนก็มีความสำคัญ โรงงานอุตสาหกรรมมีความสัมพันธ์กันที่มีภาษาเรียกว่า โรงงานแม่-ลูก เช่น การผลิตรถยนต์กับผลิตชิ้นส่วนจะอยู่ใกล้กัน เงินทุนส่วนสำคัญได้จากสินเชื่อสถาบันการเงิน การผลิตสินค้าบางประเภทให้ทุนสูง ใช้เงินทุนหลักพัน/หมื่นล้านบาทต่อโรงงาน รูปภาพที่ 2 แสดงการกระจุกตัวของทุนอุตสาหกรรมตามจังหวัด/อำเภอซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน สะท้อนการกระจุกตัวสูงในจังหวัดระยอง ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ เป็นต้น

Advertisement

รูปภาพที่ 2 อำเภอที่มีทุนอุตสาหกรรมลงในพื้นที่สูง

ตัวทวีคูณท้องถิ่น (local multiplier) เกิดจากอัจฉริยภาพของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียง John Maynard Keynes แต่ในอดีตการบันทึกข้อมูลสถิติยังไม่มาก ในปัจจุบันมีข้อมูลขนาดใหญ่ที่ระบุจำนวนคน-ขนาดทุนและสะท้อนมิติพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาแล้วจึงนำมาวิเคราะห์ตัวทวีคูณระดับอำเภอหรือมลรัฐได้อย่างชัดเจน ผลงานนี้ยังมีไม่มากในเมืองไทยของเราแต่จะ
เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน การที่มีผู้คนและเงินทุนลงพื้นที่อำเภอ/จังหวัดหมายถึงความต้องการบริการสาธารณะในแต่ละเมือง ซึ่งแน่นอนว่าแตกต่างกัน รายได้นำไปสู่รายจ่ายหมวดอาหาร ที่อยู่อาศัย การขนส่ง การบริการ ขยะ และปัญหาความแออัด ฯลฯ ส่งกระทบทั้งทางบวกทางลบ เงินเดือนพนักงานหนึ่งคน (สมมุติว่าเฉลี่ย 3 หมื่นบาทต่อเดือน) ถูกนำไปจับจ่ายใช้สอย (2.4 หมื่นบาทต่อเดือนคือ เก็บออมไว้ 20%)สถิติอำเภอบางพลีระบุว่ามีการจ้างงานในโรงงานแสนคนโดยประมาณ หมายถึงเงินใช้จ่ายสะพัด 2.4 พันล้านบาทต่อเดือนเป็นค่าอาหาร ค่าที่พักอาศัย ค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายนันทนาการ ค่ายารักษาโรค ฯลฯ กระจายในอำเภอนั้นๆ หรือใกล้เคียง เงินเดือนอีกส่วนหนึ่ง “ส่งกลับให้ให้ครอบครัวบ้านเกิด” (ส่วนใหญ่จากภาคอีสาน ภาคเหนือ หรือจากประเทศเพื่อนบ้าน) ดังนั้น เราจำแนกตัวทวีคูณออกเป็น 3 วง วงในหมายถึงอำเภอที่อยู่อาศัยหรือรอบข้าง รอบกลางและรอบนอก หมายถึงจังหวัด/อำเภอที่ห่างไกลออกไปซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวปลาอาหารส่งมาป้อนความต้องการในเมืองใหญ่รวมทั้งอำเภอที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าอุตสาหกรรม

การที่ผู้คนมารวมกันจำนวนมากนับหมื่นนับแสนคน ย่อมมีนัยต่อการบริหารบ้านเมืองและรัฐประศาสนศาสตร์อย่างแน่นอน เทศบาล อบต. อบจ. ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ล้วนมีหน้าที่จัดหาบริการสาธารณะหรือแก้ไขปัญหาให้กับแรงงานหรือสถานประกอบการ (ถ้ามี) เช่น แก้ปัญหาการจราจรหนาแน่น การจัดการขยะมูลฝอย จัดสวนสาธารณะเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจเป็นปอดให้คนเมือง แต่หน่วยงานท้องถิ่นก็ได้รับผลประโยชน์จากภาษีค่าธรรมเนียมต่างๆ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อมจากโรงงาน-สถานประกอบการ-ผู้ใช้แรงงานเช่นเดียวกัน ผู้ใช้แรงงานนับหมื่นนับแสนคนยังมีบทบาทในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทางการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์

ภคพร วัฒนดำรงค์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image