แตรเฉลิมพระเกียรติ : โดย สุกรี เจริญสุข

ในงานประโคมดนตรีเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งดนตรีเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ ในงานเครื่องสูงนั้น ให้สังเกตว่า วงประโคมของงานเครื่องสูง ซึ่งประกอบด้วยแตร (ฝรั่ง) แตรงอน (แขก) สังข์ ปี่ไฉน และกลองชนะ (แขก) ล้วนแล้วแต่เป็นวัฒนธรรมอื่นที่รับเข้ามาทั้งสิ้น และเครื่องดนตรีแต่ละชนิดก็ไม่ขึ้นแก่กัน หมายความว่าไม่ได้บรรเลงด้วยกันแต่ทำหน้าที่เหมือนกัน

แตรฝรั่งนั้นเป็นวัฒนธรรมฝรั่งตะวันตก เข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนแตรงอน ซึ่งเป็นการทำเลียนแบบเขาควาย เขาวัว แต่นำมาทำด้วยโลหะเป็นวัฒนธรรมของแขกขาว

ส่วนสังข์นั้นเป็นวัฒนธรรมแขกเข้ามาพร้อมกับพวกพราหมณ์ และปี่ไฉนกลองชนะเป็นแขกอินเดียใต้ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีของพิธีพราหมณ์ทั้งอินเดียตอนเหนือและอินเดียตอนใต้

ยังมีเครื่องดนตรีอีก 2 ชิ้น แต่ก็ไม่มีบทบาทมากนักคือ กลองทอง (มโหระทึก กลองกบ) และฆ้องหุ่ย ซึ่งถือเป็นเครื่องดนตรีท้องถิ่น สำหรับกลองทองนั้น ทำด้วยโลหะ มีอิทธิพลมาจากจีนใต้และเวียดนาม ในสมัยสงครามเวียดนาม ทหารอเมริกันต้องไปทำกลองทองใหม่ (ปลอม) จากอินเดีย แล้วเอาไปมอบให้แก่ชาวชนเผ่าต่างๆ เพื่อสร้างมิตร ก็จะพบว่ามโหระทึกที่มีขายในท้องตลาด (มืด) ทำขึ้นในสมัยสงครามเวียดนาม ส่วนของดั้งเดิมนั้นหายาก เพราะใช้ในพิธีกรรม โลหะเป็นสมบัติของหัวหน้าเผ่าเท่านั้นที่จะมีไว้ได้ ส่วนฆ้องหุ่ยนั้นเป็นเครื่องดนตรีใช้ในพิธีกรรมท้องถิ่น พบเห็นทั่วไป มีใช้อยู่ทุกวัด

Advertisement

ทำไมในกองพระราชพิธีเครื่องสูง ไม่มีเครื่องดนตรีพื้นบ้าน เครื่องดนตรีท้องถิ่นร่วมอยู่ด้วย เพราะเครื่องดนตรีพื้นบ้านและเครื่องดนตรีท้องถิ่นส่วนใหญ่ทำด้วยไม้ หาได้ทั่วๆ ไป เป็นเครื่องดนตรีธรรมดา ไม่เป็นของที่หายาก และสูงไม่พอที่จะเป็นเครื่องสูง

ส่วนเครื่องดนตรีอื่นๆ นั้นก็หายาก โดยเฉพาะเครื่องโลหะ คนทั่วไปไม่สามารถที่จะมีได้ หรือไม่สามารถที่จะมีไว้ในครอบครองได้ จึงเป็นเครื่องดนตรีที่ขลังและศักดิ์สิทธิ์

สําหรับแตรตะวันตก (Natural Trumpet) ที่เรียกว่าแตรนั้น เพราะเป็นเครื่องดนตรีปากบาน เป่าออกมามีเสียง “แพร-แพร” ชาวบ้านเรียกว่า “แกร แก แพร และแตร” เมื่อแรกเข้ามาในสยามนั้น เรียกกันหลายชื่อ อาทิ แตรลำโพง แตรฝรั่ง แตรปากบาน แตรวิลันดา (ฮอลันดา) พวกเดียวกับเลื่อยฉลุเล็กๆ ที่เรียกว่า “เลื่อยลันดา” มีเพลงวิลันดาโอด ซึ่งในสมัยอยุธยาเป่าด้วยแตรวิลันดา ดูได้จากจิตรกรรมฝาผนัง ใช้ในการประโคมพระบรมศพ ซึ่งเป็นคนละเพลงกับเพลงไทยที่ชื่อวิลันดาโอด

Advertisement

แตรฝรั่งนั้นน่าจะเข้ามาในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ.2148-2153) ต่อมามีบทบาทสำคัญในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.2172-2199) ซึ่งพระองค์ทรงใช้ความรู้ตะวันตกอย่างมากในการบริหารประเทศ ที่มีหลักฐานแน่นอนนั้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199-2231) ใช้แตรในการประโคมงานแล้ว เนื่องจากแตรที่เข้ามาในสมัยอยุธยายังเป็นแตรที่เปลี่ยนเสียงโดยใช้ริมฝีปาก ยังไม่ได้พัฒนาให้มีนิ้วกดเพื่อเปลี่ยนเสียงแต่อย่างใด

แตรวิลันดาน่าจะนำเข้ามาโดยชาวฮอลันดา จึงยังคงใช้สืบทอดอยู่ในพระราชพิธีกระทั่งปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะเมื่อเปลี่ยนแปลงแล้ว ความศักดิ์สิทธิ์ก็จะหมดไป สำหรับพิธีกรรมนั้น จะต้องรักษาเอาไว้ให้มั่น เพราะเป็นสาระของความศักดิ์สิทธิ์ แม้ปัจจุบันแตรฝรั่งได้พัฒนาการไปไกลมากแล้ว

แตรวิลันดา เป่าโอดครวญในงานพระบรมศพ จึงเรียกเพลงที่เป่าว่า “วิลันดาโอด” ซึ่งก็คือเพลงที่แตรฝรั่งเป่าในงานพระบรมศพที่ได้ยินในทุกวันนี้ เป็นทำนองที่จำและบรรเลงสืบทอดกันมาแต่โบราณ ไม่มีใครตอบได้ว่าเป็นเพลงมีทำนองว่าอย่างไร เจ้าพนักงานแตรไม่ได้เป็นนักดนตรีแต่เป็นเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่เป่าแตร นานเข้าเมื่อมีปี่ไฉนเป่าในงานประโคม วิลันดาโอดก็จะโอดตามเสียงปี่ไฉน ส่วนปี่ไฉนกลองชนะนั้น เป่าเพลงโบราณเป็นทำนองสวดของพระที่สวดงานศพ ใช้คติเดียวกับวงกาหลอ ซึ่งเป็นวงกลองสี่ปี่หนึ่ง เป่าเพลงทำนองสวดของพระสวดศพ

ครูสมาน กาญจนะผลิน เคยนำทำนองเพลงแตรสำหรับเครื่องสูงใช้เป็นเกริ่นเพลง “สดุดีมหาราชา” ซึ่งใช้ในการประกอบภาพยนตร์เรื่องลมหนาว (พ.ศ.2509) เป็นทำนองที่ถูกแปรให้เป็นเสียงแตรสมัยใหม่ ซึ่งเป็นเพลงที่รู้จักทั่วไปในปัจจุบันคือขึ้นต้นเพลงสดุดีมหาราชา

เมื่อผู้เขียนกลับมาจากการศึกษาดนตรีจากต่างประเทศ (พ.ศ.2528) มีความร้อนวิชา อยากทำโน่นอยากทำนี่พอสมควร ก็พยายามที่จะศึกษาเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับดนตรีในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งดนตรีที่เกี่ยวกับพิธีกรรมในสังคมไทย ในปี พ.ศ.2530 ก็ได้ค้นคว้าเขียนหนังสือประวัติเพลงสรรเสริญพระบารมี “99 ปี เพลงสรรเสริญพระบารมี”

ต่อมาในปี พ.ศ.2532 ก็ได้เขียนหนังสือประวัติของเพลงชาติ ทั้งนี้ ได้เขียนบทความเกี่ยวกับดนตรี การวิจารณ์ดนตรี (สัพเพเหระ) ลงในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน หนังสือศิลปวัฒนธรรม วารสารถนนดนตรี ทำให้ต้องค้นคว้าหาข้อมูลที่เกี่ยวกับดนตรี พบผู้คนดนตรี นักดนตรี เครื่องดนตรี และพบเรื่องราวที่ไม่เคยรู้มาก่อน ทำให้รู้เรื่องดนตรีในพิธีกรรม

ได้พบแตรราชสำนัก เมื่อครั้งงานบันทึกเสียงดนตรีชาวสยาม (พ.ศ.2536) โดยได้บันทึกเสียงแตร สังข์ ปี่ไฉน กลองชนะ แตรงอน ฆ้องหุ่ย และกลองมโหระทึก ที่ใช้ในงานพระราชพิธีทั้งหลาย ซึ่งก็พบว่า “แตรราชสำนัก” ที่ใช้งานต่างๆ มานานนั้นชำรุดทรุดโทรมเต็มที ในใจก็เพียงอยากศึกษาให้มีความรู้เท่านั้น แต่ใจหนึ่งก็อยากจะซ่อมแตรให้สมบูรณ์ขึ้น เพราะได้พบเห็นแตรแล้วเหนื่อยล้าเหลือเกิน อีกใจหนึ่งก็ต้องการที่จะสร้างแตรใหม่ให้กับกองเครื่องสูง ซึ่งถือเป็นกองเกียรติยศสำหรับพระราชา เพื่อจะได้ใช้งานพระราชพิธีต่างๆ ในอนาคตได้อย่างสมพระเกียรติ

เมื่อได้เริ่มค้นคว้าเรื่องแตรเฉลิมพระเกียรติตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 แล้ว ก็พยายามที่จะหาแหล่งทุนเพื่อที่จะสร้างแตรราชสำนักขึ้นใหม่ เพื่อถวายแตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ติดต่อไปยังบริษัทที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทำแตรโบราณชาวเนเธอร์แลนด์ แต่เนื่องจากช่างแก่เกินไปและไม่มีลูกน้องที่จะช่วยทำงาน เกรงว่าจะสร้างแตรได้ไม่สำเร็จ

ต่อมาได้ติดต่อช่างชาวฝรั่งเศส เมื่อติดต่อประสานงานกันแล้ว ช่างก็เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน ประกอบกับค่าเงินบาทลอยตัว (กรกฎาคม พ.ศ.2540) ทำให้งบประมาณที่เตรียมไว้ไม่พอ ซึ่งในปี พ.ศ.2542 ได้ติดต่อกับช่างชาวเยอรมัน 2 คนพี่น้อง (Max and Heinrich Thein) ซึ่งมีร้านทำแตรโบราณที่เมืองเบรเมน (Bremen) ประเทศเยอรมนี เขาสามารถทำเสร็จจำนวน 22 คัน ตามคำแนะนำของผู้อำนวยการกองงานเครื่องสูง มีจำนวนแตรเพียงพอที่จะใช้งานหากมีงานซ้อน
พร้อมๆ กันได้

เมื่อสร้างแตรเฉลิมพระเกียรติเสร็จ จึงได้นำแตรเฉลิมพระเกียรติทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2543

แตรเฉลิมพระเกียรติได้พระราชทานให้แก่กองเครื่องสูง ซึ่งทำหน้าที่ประโคมในพระราชพิธีต่างๆ ประโคมในงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กองแตรเฉลิมพระเกียรติถือเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศที่ใช้บรรเลงเป็นเครื่องประดับยศของเจ้านาย จำนวนแตรที่เป่าก็ขึ้นอยู่กับชั้นยศของเจ้านายด้วย
กองงานเครื่องสูงที่เป็นเจ้าพนักงานประโคม ไม่ได้เป็นนักดนตรี แต่เจ้าพนักงานมีหน้าที่ประโคมประกอบพิธีกรรม ทำให้งานพระราชพิธีมีความศักดิ์สิทธิ์ ดนตรีพิธีกรรมไม่ได้เป็นความบันเทิงแต่เป็นเครื่องแสดงถึงพระราชอำนาจและแสดงถึงพระบารมีของพระเกียรติยศพระมหากษัตริย์ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะต้องมีผู้รู้อธิบาย ไม่ควรปล่อยให้นักบรรยาย บรรยายไปเรื่อยเปื่อย คนส่วนใหญ่จะไม่เข้าใจ เพราะคนเข้าใจแต่เพียงว่าดนตรีก็คือความบันเทิง

ความจริงแล้วดนตรีที่เป็นความบันเทิงนั้นมามีในสมัยหลังๆ ก่อนหน้านั้นดนตรีเป็นศิลปะชั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมและความศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image