‘ยุวดี ธัญญสิริ’ ในเสียงสะท้อน : คอลัมน์โครงร่างตำนานคน โดยการ์ตอง

ยุวดี ธัญญศิริ

แทบจะไม่มีใครที่ทำอาชีพนักข่าวในปัจจุบันไม่รับรู้ถึงความเป็น “เจ๊ยุ แห่งทำเนียบรัฐบาล”

ยุวดี ธัญญสิริ อาจจะไม่ใช่นักข่าวที่อาวุโสสูงสุด แต่หากนับนักข่าวในพื้นที่ที่ยังทำงานอย่างแข็งขันเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่แค่โฉบไปโฉบมา หรืออยู่ทำหน้าที่ในส่วนกลางในกองบรรณาธิการเสียมากกว่า เชื่อว่าไม่น่าจะมีใครที่อาวุโสเกิน “เจ๊ยุ”

ดังนั้นเมื่อ ยุวดี ธัญญสิริ ถูกห้ามเข้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นแหล่งปฏิบัติหน้าที่ตลอดชีวิตการทำงานกว่า 40 ปี จึงเป็นเรื่องที่สะเทือนความรู้สึก

แน่นอนคนที่ได้รับผลกระทบทางความรู้สึกจากคำสั่งนี้น่าจะเป็น “เจ๊ยุ” เอง แต่หากติดตามการแสดงออกของเพื่อนนักข่าว ไม่ว่าจะเป็นรุ่นน้องๆ จนลงมาถึงรุ่นลูก หรือรุ่นหลานที่มีประสบการณ์ร่วมการทำงานกับ “เจ๊ยุ” จะพบว่ามีแรงสะเทือนใจ
สะท้อนมาไม่น้อย

Advertisement

ละที่จะพูดถึงความถูกความควรกับปฏิบัติการรักษาระเบียบ กติกาการเข้าทำเนียบรัฐบาลที่ผู้มีอำนาจบอกว่าเป็นส่วนหนึ่งของงานความมั่นคงออกไป

ละที่จะหาเหตุผลว่าทำไมหนังสือพิมพ์ต้นสังกัดจึงไม่ออกใบรับรองการทำงานให้ “เจ๊ยุ” จนนำมาซึ่งการไม่มีสิทธิที่จะได้รับบัตรสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลที่เจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งให้รื้อทำใหม่ทั้งหมด จนเป็นเหตุให้ “เจ๊ยุ” ถูกห้ามเข้าทำเนียบรัฐบาลในฐานะสื่อมวลชน

แต่มองในมุมในวันที่ขาด “เจ๊ยุ” ในรังนกกระจอก ผู้ร่วมวิชาชีพรุ่นน้อง รุ่นลูก รุ่นหลาน เกิดความรู้สึกว่าขาดอะไรไปบ้าง
ในมิติของวิชาชีพ “เจ๊ยุ” ไม่เพียงจะได้รับการกล่าวขานเป็น “บันทึกตำนานการทำข่าวเคลื่อนที่” ซึ่งพร้อมจะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับนักข่าวรุ่นหลังๆ มาตลอด วันนี้ห้องสมุดแห่งประสบการณ์ที่ชื่อ “ยุวดี ธัญญสิริ” ถูกสั่งปิดไปแล้ว
ยังมีความอาวุโสที่ผ่านผู้คนมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือนักการเมือง กระทั่งผู้มีอำนาจทั้งหลายล้วนเป็นคนที่พบเห็น “เจ๊ยุ” มาตั้งแต่ตัวเองยังเป็นผู้น้อยหรือเป็นเด็ก ทำให้ “เจ๊ยุ” เป็นผู้ที่สามารถแก้ปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างแหล่งข่าวกับนักข่าวในทำเนียบรัฐบาลได้หลายๆ ครั้ง

Advertisement

“เจ๊ยุ” สามารถจัดการให้ไปกันได้ระหว่าง “ศักดิ์ศรีของนักข่าว” กับ “การให้เกียรติแหล่งข่าว” อยู่แทบทุกครั้ง

บางครั้งเอ็ดตะโรนักข่าวที่วางตัวไม่เหมาะสม มีอยู่บ้างทำความเข้าใจกับแหล่งข่าว ชี้แจงแทนนักข่าวรุ่นลูกรุ่นหลาน

การอยู่ร่วมกันของนักข่าวที่มาจากต้นสังกัดที่แตกต่าง ในมุมของ “เสรีภาพ” ไม่มีใครยอมให้ใครเหนือกว่า ทว่าการอยู่ร่วมกันจำเป็นต้องมีกฎระเบียบบางอย่างที่ป้องกันความวุ่นวาย

“เจ๊ยุ” อาศัยประสบการณ์และความเกรงอกเกรงใจมาเป็นระเบียบนั้น ตั้งแต่เรื่องแต่งเนื้อแต่งตัวจนถึงการวางตัวของนักข่าว

เลยไปถึงกิจกรรมที่นักข่าวควรมีวาระที่จะต้องทำร่วมกัน การรักษาระเบียบประเพณีของห้องนักข่าวประจำทำเนียบ หรือที่เรียกกันว่า “รังนกกระจอก”

สิ่งที่ ยุวดี ธัญญสิริ ทำเป็นประโยชน์ไม่น้อยทั้งต่อวงการสื่อมวลชน ทั้งต่อ “เจ้าหน้าที่ในทำเนียบรัฐบาล” ทั้งต่อ “สติของผู้มีอำนาจในแต่ละยุค”

เหล่านี้คือเสียงสะท้อนที่ดังจากนักข่าวรุ่นน้อง รุ่นลูก รุ่นหลาน ในวันที่ “เจ๊ยุ” ต้องเดินกลับบ้าน หลังจากเจ้าหน้าที่ป้อมยามหน้าทำเนียบไม่ให้เข้าไปอยู่ในที่ที่เคยอยู่มากว่า 40 ปี

น่าสนใจตรงที่เป็นเสียงสะท้อนที่ดังไปถึงผู้บริหารองค์กรวิชาชีพสื่อหรือไม่ และพวกเขาเหล่านั้นคิดอย่างไร

การ์ตอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image