ปลาที่ไม่ใช่ปลา โดย กล้า สมุทวณิช

เดี๋ยวนี้ในทางภาษาเขียน เราต้องระวังในการเขียนการเรียกชื่อสัตว์ทะเลหลายชนิด ที่เคยประกอบด้วยคำ “ปลา” แต่ตัวมันไม่ใช่ “ปลา” ในความหมายทางชีววิทยา เช่นเดิมเราเคยเรียกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดยักษ์ที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทร ลำตัวกลมยาวมีครีบมีหาง ว่า “ปลาวาฬ” เดี๋ยวนี้เขาก็ให้เหลือเรียก “วาฬ” เฉยๆ

“ปลาโลมา” ก็ให้เหลือเพียง “โลมา” “ปลาหมึก” ก็ต้องเป็น “หมึก” “ปลาดาว” เป็น “ดาวทะเล” ส่วนบางตัวแต่เดิมไม่เรียกว่าปลา แต่จริงๆ แล้วเป็นปลา ก็เอาคำว่า “ปลา” ไปเติมให้ เช่น “ม้าน้ำ” ก็เป็น “ปลาม้าน้ำ” เป็นต้น

นัยว่าเป็นข้อเสนอมาจากทางวงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ หมายให้คนไม่สับสนว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลรูปร่างคล้ายปลานั้น เป็น “ปลา” จริงๆ

มีข้อโต้แย้งจากสายผู้ใช้ภาษาอยู่บ้างว่า หากพิจารณากันในทางความหมายของคำแล้ว เราไม่จำเป็นที่จะต้องไปเคร่งเครียดเอาแก่การที่มีคำว่า “ปลา” นำหน้าสัตว์ที่ไม่ใช่ปลาแต่อย่างใด เพราะในที่นี่ คำว่า “ปลาวาฬ” นั้น เป็นคำทั้งคำที่หมายถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในทะเล ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Whale นั่นเอง ไม่ได้หมายถึง “ปลา” พันธุ์ “วาฬ” แต่อย่างใด อย่างภาษาอื่นก็มีคำประเภทนี้ เช่น Jellyfish ซึ่งภาษาอังกฤษแปลว่าแมงกะพรุนไม่ใช่ปลาวุ้น และเท่าที่ทราบราชบัณฑิตฝรั่งเขาก็ไม่ได้เสนอให้เปลี่ยนไปเรียกว่า Seajelly หรืออะไรเพื่อหลีกเลี่ยงคำว่า Fish ไม่ หรือเทียบภาษาไทยอย่างคำว่า “ขนมจีน” ก็ไม่ได้แปลว่าขนมที่มาจากเมืองจีน แต่มันเป็นชื่ออาหารเส้นชนิดนั้นทั้งคำเลย ซึ่งมีที่มาจากคำมอญว่า “คนอมจิน”

Advertisement

ถกเถียงกันไปพอให้ได้ลับตรรกะเล่นคำพอขำหัว สุดท้ายก็ว่ากันไปตามแต่ผู้พิสูจน์อักษรว่าท่านจะถือตำราเล่มใด ระหว่างเล่มที่ยอมให้เขียน “ปลาวาฬ” หรือจะตัดเหลือแค่ “วาฬ” เฉยๆ

ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดที่คนไทยกำลังต้องอ่านกันนี้ ก็มีอะไรบางอย่างที่คล้ายๆ กับ “ปลาวาฬไม่ใช่ปลา” นี้อยู่เหมือนกัน ปรากฏอยู่ระหว่าง “ศาล” ในหมวด 10 กับ “องค์กรอิสระ” ในหมด 12 คือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ในหมวด 11

แม้ประเทศไทยเราจะมี “ศาลรัฐธรรมนูญ” เป็นองค์กรตุลาการในรูปแบบศาลที่ทำหน้าที่พิจารณาคดีทางรัฐธรรมนูญมาเกือบยี่สิบปี ตั้งแต่ พ.ศ.2540 แล้วก็ตาม หากในทุกครั้ง การบัญญัติจัดตั้ง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ไว้ในรัฐธรรมนูญนั้น จะวางไว้เป็นส่วนย่อยหนึ่งของหมวดศาล (ปกติอยู่ในส่วนที่ 2) ปัจจุบันในหมวดที่ว่าด้วยเรื่อง “ศาล” ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงมีเพียง ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหารเท่านั้น

Advertisement

การแยกเรื่อง “ศาลรัฐธรรมนูญ” มาไว้เป็นหมวดพิเศษ ไม่รวมอยู่ในศาล ไม่รวมในองค์กรอิสระ เป็นหมวดของตัวเองเช่นเดียวกับกรณีของรัฐสภา (หมวด 7) และคณะรัฐมนตรี (หมวด 8) นั้น คงมีเหตุผลบางอย่าง ไม่ใช่แค่แยกออกมาโก้ๆ ให้โดดเด่น

มีภาษิตในการตีความข้อหนึ่งว่า กฎหมายเมื่อเขียนถึงสิ่งใด ต้องหมายถึงว่ากฎหมายไม่ประสงค์จะรวมถึงสิ่งอื่น (expression unius est exelusius alterius) ดังนั้น เมื่อในหมวด “ศาล” นั้น กำหนดทั้งหลักทั่วไปแห่งการใช้อำนาจศาลไว้ในส่วนที่หนึ่ง และกำหนดให้มีศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร นั่นย่อมหมายถึงว่า ในสายตาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” นั้นก็ไม่ใช่ “ศาล” แบบศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง และก็ไม่ขึ้นกับบทบัญญัติทั่วไปของ “ศาลทั้งหลาย” ด้วย เว้นแต่ที่มาตรา 205 วรรคท้าย ให้เอาบทบัญญัติบางเรื่องในหมวดศาลมาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งการบัญญัติรูปแบบนี้ยิ่งชัดเจนว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” ไม่ใช่ “ศาล” โดยสภาพ จึงต้องให้เอาบางเรื่องของ “ศาล” มาอนุโลมใช้

อีกทั้งมีข้อสังเกตในเรื่องการตีความกฎหมายว่า กฎหมายใหม่ที่เขียนแก้ไขให้แตกต่างจากกฎหมายเดิมจะมีเจตนารมณ์เพื่อแก้ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นจากการใช้กฎหมายฉบับก่อนหน้า ยิ่งทำให้เราสงสัยว่า การบัญญัติให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เป็น “ศาล” ในหมวด “ศาล” ของรัฐธรรมนูญสองฉบับที่ผ่านมา คือปี 2540 และ 2550 นั้นมีปัญหาหรือข้อขัดข้องประการใด จึงต้องตัดแยกออกจากหมวดศาลมาขึ้นหมวดใหม่ แต่ก็ยังประสงค์จะให้มีคำว่า “ศาล” ปรากฏอยู่ในชื่อ

หรือจะเหมือนกับที่ “ปลาวาฬ” ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดยักษ์แห่งมหาสมุทร รูปร่างคล้ายปลา มีครีบ มีหาง แต่ก็ไม่ใช่ “ปลา” เช่นใด “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้ จึงอาจเป็นเหมือนองค์กรผู้ใช้อำนาจทางรัฐธรรมนูญอำนาจหนึ่ง ที่มีองค์อำนาจเรียกชื่อตำแหน่งว่าตุลาการ ทำงานในระบบองค์คณะ มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคล้ายศาล แต่ก็ไม่ได้เป็น “ศาล” คำ “ศาล” ที่นำหน้า “ศาลรัฐธรรมนูญ” จึงเหมือนคำว่า “ปลา” ใน “ปลาวาฬ” ด้วยประการฉะนี้ คือไม่สื่อถึงทั้งความเป็นศาลหรือความเป็นปลา

อีกทั้งเมื่อกางอำนาจหน้าที่ของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตามร่างรัฐธรรมนูญออกมาดูก็น่าสะพรึง ด้วยร่างรัฐธรรมนูญนี้ให้อำนาจ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เป็นกลายองค์กรผู้ทรงอำนาจที่สุดในรัฐธรรมนูญ ทั้งด้วยอำนาจเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวในการตีความจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญ ผ่านมาตรา 7 เดิมที่กลายร่างใหม่มาเป็นมาตรา 207 อยู่ในหมวดพิเศษว่าด้วย “ศาลรัฐธรรมนูญ” และอำนาจในการควบคุมฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแบบสะดวกสบายหลายช่องทาง แต่กว้างขวางด้วยการใช้ถ้อยคำเป็นนามธรรมที่ตีความได้สุดห้วงสมุทร ทั้งยังเร็วทันใจในบางคดีสามารถตัดสินให้คณะรัฐมนตรีพ้นไปทั้งคณะได้ภายในเจ็ดวันนับแต่วันฟ้องเลยก็ยังได้ เช่น ในมาตรา 139

ความยิ่งใหญ่น่ากลัวของอำนาจขนาดมหึมานี้เอง จึงไม่อาจปกปิดสายตาของผู้อ่านรัฐธรรมนูญและสนใจการบ้านการเมือง รองๆ จากเรื่องระบบการเลือกตั้ง ที่มาของนายกรัฐมนตรี และระบบการได้มาของวุฒิสภาเลยทีเดียว คล้ายเงาตะคุ่มของสัตว์ยักษ์ใต้มหาสมุทร ที่อาจโผล่ขึ้นมากลืนเสียงกลืนสิทธิของประชาชนที่ใช้อำนาจผ่านตัวแทนของตัวเองในระบบเลือกตั้ง หายลงไปในท้องปลาวาฬจนหมดสิ้น

อำนาจมหาศาลอันมหาศาล ชี้เป็นตายในทางการเมืองเหนือองค์กรอื่นๆ ผิดจากธรรมชาติของอำนาจตุลาการซึ่งควรเป็นอำนาจในเชิงระงับข้อพิพาทขัดแย้งและอาจถูกตรวจสอบถ่วงดุลได้โดยอำนาจอื่นๆ ในระดับเดียวกันแล้ว องค์กรทรงอำนาจขนาดนี้ ควรมีชื่อเรียกอื่นที่ไม่ต้องขึ้นด้วยคำว่า “ศาล” ให้สับสนกับองค์กรใช้อำนาจตุลาการ เหมือนที่คนเคร่งครัดทางสัตววิทยาไม่อยากให้เรียกตัววาฬโดยมีคำว่าปลากระกอบอยู่

หรือชื่อนั้นไม่สำคัญอันใด ปลาฉลามบางตัวก็ไม่ดุร้าย เป็นพี่ใหญ่ใจดีแห่งท้องทะเลเช่น “ฉลามวาฬ” ในขณะที่ปลาวาฬที่คนชอบคิดว่าเป็นสัตว์ใหญ่รักสงบ ก็มีพวกที่เป็นผู้ล่าระดับบนอย่างปลาวาฬเพชฌฆาตที่จับกระทั่งแมวน้ำหรือสิงโตทะเลกินได้เหมือนกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image