สะพานแห่งกาลเวลา : ความรู้เกี่ยวกับ ‘ฝีดาษลิง’ โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-CDC via AP)

ในที่สุด องค์การอนามัยโลก ก็ประกาศให้ โรคฝีดาษลิง หรือ Monkeypox เป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลกไปจนได้ เมื่อ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ด้วยเหตุที่ว่า เมื่อถึงตอนนั้น มีผู้คนมากกว่า 20,000 คน ใน 75 ประเทศ ติดเชื้อนี้ไปแล้ว

ประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกา พบผู้ติดเชื้อทั่วประเทศแล้วเกือบ 5,000 คน ในยุโรปรวมกันแล้วน่าจะมากยิ่งกว่า

ในไทย พบผู้ติดเชื้อแล้วอย่างน้อย 2 ราย แม้ว่าอาจเป็นเชื้อ “นำเข้า” ทั้งหมดก็ตามที

Advertisement

สถานการณ์การระบาดทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางคนถึงกับขมวดคิ้วนิ่วหน้า วิตกกันอยู่ครามครันว่า ฝีดาษลิง อาจระบาดเร็วและรุนแรงเกินกว่าจะควบคุมได้

สิ่งหนึ่งซึ่งรบกวนจิตใจผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกไม่น้อยก็คือ ฝีดาษลิง ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ แต่เป็นโรคที่รู้จักกันดีอยู่ก่อนแล้ว แพทย์ทั้งหลายมีความเข้าใจ มีองค์ความรู้อยู่ไม่น้อยว่า โรคนี้ระบาดได้อย่างไร ที่ผ่านมาเคยมีการทดสอบ ทดลอง และมีทั้งวัคซีน รวมถึงยารักษาแล้วอีกด้วย

ปัญหาก็คือ ตั้งแต่พบการระบาดนอกพื้นที่จำเพาะในแอฟริกา เรื่อยมาจนถึงขณะนี้ มีงานวิจัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่แสดงให้เห็นว่า ฝีดาษลิงที่แพร่อยู่ในเวลานี้ มีพฤติกรรมที่แตกต่างออกไปจากที่เคยพบเห็นกันในแอฟริกา จนทำให้คำถามสำคัญบางคำถามกลายเป็นเรื่องลึกลับที่ต้องค้นหา วิจัยใหม่ขึ้นมา

Advertisement

เช่น คำถามที่สำคัญที่ว่า ไวรัสก่อโรคฝีดาษลิงในครั้งนี้ แพร่ระบาดอย่างไร เป็นต้น

ข้อมูลของ ศูนย์เพื่อการควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า 99 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง เป็นชายวัยผู้ใหญ่ ในสหรัฐอเมริกาเอง มีผู้หญิงติดเชื้อนี้เพียงแต่ 13 รายเท่านั้น ที่อยู่ในวัยเด็กยิ่งน้อยลงไปอีกคือแค่ 2 ราย

นักวิจัยพบเชื้อไวรัสนี้ปรากฏอยู่ทั้งใน น้ำลาย, ปัสสาวะ, อุจจาระ และน้ำอสุจิ แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่า ของเหลวในร่างกายเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อได้หรือไม่ หรือการติดเชื้อสามารถเกิดขึ้นจากของเหลวเหล่านี้ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ นอกเหนือจากช่องทางติดต่อที่เป็นที่รู้กันมาก่อนหน้านี้ว่า เกิดได้เมื่อมีการสัมผัสใกล้ชิดมาก เช่น ผิวต่อผิวสัมผัสกัน

แต่การที่การแพร่ระบาดเกิดขึ้นอยู่ในแวดวงหรือเครือข่ายทางเพศเป็นหลัก ทำให้นักวิจัยอดคลางแคลงใจไม่ได้

ข้อมูลของซีดีซีระบุว่า ผู้ติดเชื้อจะแพร่เชื้อได้ ต้องแสดงอาการการติดเชื้อออกมาก่อน ผู้ที่ติดเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการ ไม่สามารถแพร่เชื้อได้

แต่ขณะนี้มีงานวิจัยอย่างน้อย 1 ชิ้นที่ผู้วิจัยพบว่า ชายผู้หนึ่งมีเชื้อไวรัสก่อโรคฝีดาษลิงอยู่ในตัวทั้งๆ ที่ไม่เคยแสดงอาการให้เห็นเลย

รูปแบบของอาการก็แตกต่างออกไปจากที่เคยเกิดขึ้นในการระบาดในแอฟริกา ซึ่งมักติดเชื้อจากการสัมผัสกับสัตว์ที่มีเชื้ออยู่ในตัว เช่น สัตว์ขนาดเล็กที่ล่ามาเป็นอาหาร เป็นต้น ผู้ติดเชื้อในแอฟริกามักมีอาการไข้ ปวดเนื้อตัว แล้วจึงเกิดผื่น ตุ่ม ขึ้นตามใบหน้า ฝ่ามือ และเท้า ก่อนลุกลามออกไปทั่วตัว

แต่คนที่ติดเชื้อรอบใหม่นอกแอฟริกา มักไม่มีอาการไข้ ผื่นหรือตุ่มมีจำนวนจำกัด เกิดขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ และ ทวารหนัก จนอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศอื่นๆ ได้โดยง่าย

ในอังกฤษ มีการกำหนดอาการของโรคเพิ่มเติม เป็นการเกิดตุ่มในปาก และบริเวณทวาร หรือมีอาการปวดและเลือดออกบริเวณทวารหนักเพิ่มเข้าไปด้วย

เมื่อราวกลางเดือนกรกฎาคม เจา เปาโล โกเมส นักวิจัยจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ประเทศโปรตุเกส เพิ่งเผยแพร่ผลวิจัยล่าสุดออกมา หลังจากนำทีมวิจัยจำแนกพันธุกรรมของไวรัสฝีดาษลิงที่แพร่ระบาดอยู่ในเวลานี้ 15 ตัวอย่าง นำไปเปรียบเทียบกับพันธุกรรมของไวรัสฝีดาษลิงที่เคยระบาดในแอฟริกา ระหว่างปี 2018-2019 พบว่า มีการกลายพันธุ์ไปมากถึง 50 ครั้งในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา

การกลายพันธุ์มากครั้งในระดับนั้นในช่วงเวลาจำกัดเช่นนั้น ถือว่าเป็นเรื่องแปลกสำหรับไวรัสฝีดาษลิง ที่จัดเป็น ดีเอ็นเอไวรัส ไม่ใช่ อาร์เอ็นเอ ไวรัสเหมือนกับไวรัสก่อโรคโควิด

ทีมวิจัยของโกเมสพบว่า โปรตีนในจีโนมของไวรัสซึ่งประกอบด้วย A, C, G และ T ของไวรัสที่ระบาดอยู่ในเวลานี้ ผิดไปจากเดิม คือ มีแนวโน้มที่จะมี A กับ T มากกว่า พันธุกรรมเดิมในแอฟริกา นั่นคือการกลายพันธุ์ที่อาจทำให้มันแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น

ซึ่งเตือนให้เรารู้ว่า ไวรัส ไม่ว่าจะเป็นชนิดไหน หากเราปล่อยให้ระบาดไปเรื่อยๆ โดยไม่หาทางยุติ

ถึงวันหนึ่งมันอาจกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ที่ร้ายแรงกว่าเดิมขึ้นมาได้อย่างที่ใครๆ คาดกันไปไม่ถึงนั่นเองครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image