อุ้มข้าว-ประชารัฐ โดย จำลอง ดอกปิก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา(แฟ้มภาพ)

ราคาข้าวหอมมะลิตกต่ำเป็นประวัติการณ์เป็นข้อเท็จจริง

ไม่มีใครสร้างราคา หากแต่เป็นเรื่องกลไกการตลาด

เมื่อผลผลิตในตลาดโลกล้นเกินกว่าปริมาณความต้องการบริโภค เกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลาย

ราคาก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไหลรูด ตกต่ำเป็นธรรมดา

Advertisement

ราคาข้าวถูกกำหนดโดยตลาดโลก เหมือนสินค้าทางการเกษตรอื่น เหมือนยางพารา

โรงสี พ่อค้าคนกลาง อาจทำให้ราคาบิดเบี้ยวได้บ้าง ในบางพื้นที่ บางแห่ง แต่ก็เพียงเล็กน้อย และจำกัดอยู่ในวงแคบๆ ไม่มีอำนาจทางการตลาดสูง ถึงขั้นปั่น หรือกดราคา ต่อให้จับมือนักการเมืองใหญ่ก็ไม่มีอิทธิพลเหนือตลาดโลก

ไม่มีทางกำหนดราคาอะไรได้

Advertisement

ที่พอกำหนดได้ คือนโยบายรัฐบาล

จำกัดพื้นที่เพาะปลูก ควบคุมตัวเลขปริมาณผลผลิตในแต่ละฤดูกาลให้พอเหมาะพอดี สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การบริโภคภายในประเทศ ส่งออก ใช้ในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสต๊อกข้าวภาครัฐและเอกชน

เพื่อหาจุดสมดุล ผลผลิตลดลง แต่มีเพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศและส่งออก ซึ่งจะเป็นหลักประกัน ช่วยค้ำยัน พยุงราคาเอาไว้

แต่กระนั้น ในทางปฏิบัติก็เป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง

ตัวเลขจากกรมการข้าว ปีนี้มีปริมาณข้าวออกสู่ตลาด 28 ล้านตัน เกินกว่าแผนที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ที่ระดับ 25.1 ล้านตัน มากกว่าเป้าหมายกระทรวงเกษตรฯ ที่จำนวน 27.7 ล้านตัน

ล้นเกินปริมาณที่ควรจะเป็น

ตลาดโลกก็เช่นเดียวกัน การบริโภคข้าวลดลง สวนทางกับผลผลิตของทุกประเทศ

ราคาจึงยืนอยู่ไม่ได้

คำสั่งซื้อหรือออเดอร์ต่างประเทศที่อิงราคากลางซื้อขายในตลาดโลกนั้นกดดัน ส่งผลต่อราคาข้าวในประเทศ

มองจากข้อเท็จจริง ตัวเลขส่งออกในแต่ละปีที่ประมาณ 10 ล้านตัน ในขณะที่ตลาดตัน ข้าวท่วมตลาด และมีการแข่งขันสูง

ในประเทศก็ตกอยู่ในภาวะไม่ต่างกัน

สาเหตุหลัก ราคาข้าววูบไม่ได้เกิดจากโรงสีกดราคา ไปจนถึงไม่ยอมรับซื้อ

แต่เป็นเพราะคำสั่งซื้อ ออเดอร์ปลายทางที่อิงกับราคากลาง-ราคาตลาดโลกเป็นหลัก

ทั้งนี้ทั้งนั้น ในอดีตและปัจจุบัน ไม่ว่าต้นตอเกิดจากไหนก็ตาม ทุกครั้งที่ราคาตกต่ำ รัฐบาลมีมาตรการแก้ไม่กี่วิธี และทุกแนวทาง ไม่ว่าเรียกชื่อใด แต่เนื้อแท้ก็คือการเข้าไปแทรกแซง พยุงราคา

รัฐบาลนี้เลือกใช้จำนำยุ้งฉาง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ผลักดันเป็นนโยบายรับจำนำข้าว

แต่โดยหลัก ไม่ใช่การรับจำนำ โดยความหมายอย่างที่ผู้คนทั่วไปเข้าใจ

หากแต่คือการซื้อขาดมากกว่า

ขึ้นชื่อว่าจำนำ หลักธรรมดาต้องมีการไถ่ถอนคืน

การที่ใครคนใดคนหนึ่งจะไปไถ่คืน ของที่นำไปตึ๊งไว้ต้องมีค่าสูงกว่า

หากไม่ไปไถ่ของออกจะขาดทุน โรงรับจำนำไม่มีทางตีราคาให้เท่ากับหรือมากกว่าราคาตลาดอยู่แล้ว

แต่การจำนำข้าว ไม่ว่าเรียกชื่อใด ที่ดำเนินการโดยโรงตึ๊งใหญ่รัฐบาล ที่เป็นนโยบายรับทุกเมล็ดก็ดี ที่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็ดี รัฐรับจำนำไว้ในราคาสูงกว่าตลาดทั้งสิ้น เกษตรกรที่ไหนจะไปไถ่คืน

ขายขาดดีกว่า

การขายขาดภายใต้ชื่อ “จำนำ” นี้ หักกลบลบหนี้แล้ว รัฐขาดทุน ต้องรับภาระความเสียหายนั้นเอาไว้

ยอมเข้าเนื้อเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร คนยากจนของประเทศ

ภาระความเสียหายขึ้นอยู่กับขนาดของการรับจำนำ กระเป๋าซ้าย-กระเป๋าขวา ควักจากตรงไหน มีส่วนต่างที่ต้องจ่ายเหมือนกัน แตกต่างที่จำนวนตัวเลขและแหล่งเงิน

จะเรียกประชานิยม ประชารัฐ แต่โดยสรุปคือเหมือนกัน

เป็นมาตรการช่วยเหลือชาวนา

รับจำนำราคาสูงกว่าตลาด-รัฐขาดทุน

ที่ต่างกันคือ มีรัฐบาลบางชุดเท่านั้นทำได้-ถูกกฎหมาย?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image