เข้าใจโครงการปลูกข้าวโพดทดแทนนาปรังกันดีหรือยัง? : โดย ดำรง พงษ์ธรรม

เห็นโครงการของรัฐบาลเกี่ยวกับการปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ทดแทนข้าวนาปรัง แล้วเลยเถิดเป็นข่าวลือไปว่าประเทศไทยจะเลิกปลูกข้าว หันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กันหมด ทำให้รู้สึกสะท้อนใจว่าคนไทยมาถึงจุดนี้กันได้อย่างไรเพราะของแบบนี้แค่มีสติสักหน่อย…ย่อมรู้ได้ทันทีว่าเป็นไปไม่ได้และไม่มีรัฐบาลใดเสียสติไปทำเช่นนั้น

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ถึงกับต้องออกมาอธิบายว่าโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนการปลูกข้าวนาปรังนั้น เป้าหมายก็คือต้องการบริหารจัดการน้ำในช่วงที่ไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับปลูกข้าว เนื่องจากข้าวต้องใช้น้ำในปริมาณสูงถึงไร่ละ 1,200-3,500 ลูกบาศก์เมตร ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีการใช้น้ำตลอดการปลูกเพียงไร่ละ 500-700 ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น จึงเห็นควรที่จะปรับลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรังลง

ขณะเดียวกันข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังเป็นพืชที่มีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาดผู้ผลิตอาหารสัตว์ ถึง 7.8 ล้านตัน อีกทั้งรัฐยังสามารถกำหนดราคารับซื้อได้อย่างชัดเจน ตามมาตรฐานที่กรมการค้าภายในกำหนด โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เบอร์ 2 ความชื้น 14.5% ราคาต้องไม่ต่ำกว่า 8 บาทต่อกิโลกรัม ณ หน้าโรงงานกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวนาได้ว่าจะมีรายได้เพิ่มไม่น้อยกว่าการทำนาปรัง และจากที่ได้นำร่องส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทดแทนข้าวนาปรังในปี 2558 ก็พบว่าชาวนาสามารถผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้เฉลี่ย 900-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ มีกำไรจากการผลิตไร่ละ 2,000-4,000 บาท

หลังจากศึกษาโครงการและลองทำความเข้าใจสักหน่อย ก็พบว่าเป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์ต่อชาวนาไทยหลายประการทีเดียว

Advertisement

ประการแรก ช่วยลดปริมาณผลผลิตข้าวที่กำลังล้นตลาด ดังที่เห็นเป็นข่าวกันอยู่ในขณะนี้ว่าราคาข้าวต่ำสุดในรอบ 10 ปี หากปริมาณการผลิตข้าวลดลง จะช่วยพยุงราคาข้าวขึ้นได้ตามหลักดีมานด์ซัพพลาย

ประการที่ 2 ลดความเสี่ยงต่อการขาดทุนของชาวนาที่ปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากไม่มีปริมาณน้ำเพียงพอ ขณะเดียวกันก็เพิ่มทางเลือกให้กับชาวนา

ประการที่ 3 ชาวนาจะเข้าร่วมโครงการหรือไม่ก็เป็นไปอย่างสมัครใจ ไม่มีการบังคับ แต่ไม่ใช่ว่าผู้สมัครทุกรายจะเข้าร่วมโครงการได้ เนื่องจากต้องมีการพิจารณาคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมตามศักยภาพของดิน ซึ่งจะพิจารณาจากหลักวิชาการด้านเมล็ดพันธุ์ การปรับปรุงสภาพพื้นที่เพาะปลูก ชลประทานและความร่วมมือของกลุ่มเกษตรกรในการปรับเปลี่ยน ทั้งหมดจะดำเนินการบนพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้อง โดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน เป็นต้น

Advertisement

ประการที่ 4 ชาวนามีอิสระในการเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย จากบริษัทใดก็ได้ที่เป็นสมาชิกของสมาคมผู้ค้าพันธุ์พืชไทย ขณะที่ผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่จะสนับสนุนทางวิชาการ สนับสนุนอุปกรณ์วิเคราะห์ดิน และสอนเทคนิคการตรวจดิน ตลอดจนสอนวิธีการคำนวณสูตรปุ๋ยให้แก่ชาวนา เพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวโพดที่มีคุณภาพ อันจะส่งผลถึงรายได้ที่สูงขึ้นด้วย

ประการที่ 5 แม้ทุกวันนี้ประเทศไทยจะเปิดเสรีนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านได้ ภายใต้ข้อตกลงการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังคงต้องพิจารณาถึงเกณฑ์การเพาะปลูกที่ได้มาตรฐาน GAP และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงพื้นที่เพาะปลูกไม่ได้มาจากการทำลายป่า ดังนั้น แม้ราคาข้าวโพดนำเข้าจะถูกกว่าข้าวโพดในประเทศแค่ไหนก็ไม่สามารถนำเข้าข้าวโพดเหล่านั้นได้ จึงช่วยยืนยันได้ว่ามีความพร้อมรับซื้อผลผลิตข้าวโพดทดแทนนาปรังซึ่งมีเอกสารสิทธิถูกต้องอย่างเต็มที่

หากกังวลว่าการปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ทดแทนข้าวนาปรังจะกระทบกลไกปกติของแวดวงการค้าการขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ก็ลองมาดูด้านสถานการณ์ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กันบ้าง

ปกติปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งประเทศจะมีจำนวนราว 4.7 ล้านตัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ที่ 7.8 ล้านตัน ดังนั้น ในแต่ละปีประเทศไทยจึงจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบชนิดอื่นเพื่อชดเชยส่วนที่ขาด แต่เพื่อเป็นการปกป้องช่วยเหลือชาวไร่อย่างชัดเจน สมาชิกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยจึงวางเงื่อนไขว่าถ้าโรงงานอาหารสัตว์แห่งใดรับซื้อข้าวโพดจากในประเทศ 1 ส่วน จึงจะมีสิทธินำเข้าวัตถุดิบอื่น 1 ส่วน (อัตราส่วน 1:1) เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการนำเข้าและการดูแลผลผลิตในประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชาวไร่ข้าวโพดอย่างยิ่ง

กลไกของกระบวนการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อธิบายง่ายๆ ได้ว่ามี 3 ขั้นตอน จะเริ่มที่ผลผลิตที่ได้จากการเก็บเกี่ยวของ “เกษตรกร” จากนั้นผลผลิตเหล่านั้นจะถูกลำเลียงมาขายให้ “พ่อค้าพืชไร่” ซึ่งจะรับซื้อจากเกษตรกรแล้วนำมากำจัดความชื้นเก็บเข้าสต็อก เพื่อรอขายในช่วงปลายฤดูกาลที่ราคามักจะสูงขึ้น และจะส่งออกข้าวโพดด้วยหากในตลาดโลกมีราคาสูงกว่าในประเทศ กลุ่มนี้ไม่มีการถูกควบคุมหรือวางเงื่อนไขโดยรัฐแต่อย่างใด กลไกขั้นต่อไปคือการที่พ่อค้าจะขายข้าวโพดต่อไปยัง “โรงงานอาหารสัตว์” ซึ่งปลายทางนี่เองที่ถูกรัฐกำหนดการรับซื้อทั้งปริมาณและราคา

สำหรับในตลาดโลก ปีนี้ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในตลาดโลกมีราคาลดต่ำลงมาก ซึ่งเกิดจากหลายประเทศโดยเฉพาะจีนมีสต๊อกสูงถึง 200 ล้านตัน เพียงพอที่จะสามารถใช้ได้ตลอดทั้งปี ส่งผลให้ความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในตลาดโลกลดลง ราคาข้าวโพดของตลาดกลางชิคาโกจึงต่ำกว่าราคาประกาศในประเทศไทยเสียอีก ดังนั้น จึงไม่มีพ่อค้าพืชไร่รายไหนทำการส่งออกและไม่สามารถรับซื้อข้าวโพดเพื่อทำสต๊อกสำหรับปลายฤดูกาลนี้ได้ เนื่องจากเสี่ยงต่อการขาดทุน ทำให้ปริมาณข้าวโพดจึงล้นอยู่ในประเทศค่อนข้างมาก

ราคาข้าวโพด 3 บาทที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ เป็นราคาที่ “พ่อค้าพืชไร่” รับซื้อจากเกษตรกร และมาส่งขายต่อให้โรงงานอาหารสัตว์ ซึ่งจะขายข้าวโพดความชื้น 14.5% ได้ในราคาไม่ต่ำกว่า 8 บาท ณ พื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ตามเงื่อนไขที่รัฐกำกับ “โรงงานอาหารสัตว์” ไว้ ซึ่งบรรดารายใหญ่ของประเทศ เช่น ซีพี เบทาโกร ฯลฯ ต้องปฏิบัติตาม

ถึงตรงนี้รัฐก็น่าจะพอมองเห็นที่มาของปัญหา ดังนั้น เมื่อข้าวโพดล้นเพราะสะดุดตรงขั้นตอนใดก็ควรแก้ไขที่ขั้นตอนนั้น เพื่อให้กลไกการรับซื้อข้าวโพดเดินต่อได้และไม่ทำให้ชาวไร่ต้องเดือดร้อน

ส่วนโครงการปลูกข้าวโพดทดแทนนาปรังของรัฐบาลนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับกลไกเหล่านี้ เป็นคนละโครงการที่มุ่งช่วยเหลือชาวนาและบริหารจัดการน้ำเป็นหลัก…อย่าเอามาปะปนกันครับ

เรียบเรียงโดย ดำรง พงษ์ธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image