ข่าวลือในฐานะเครื่องมือสร้างความกลัวที่มีประสิทธิภาพ โดย ลลิตา หาญวงษ์

พม่าคือสังคมที่อุดมด้วยข่าวลือ ตลอดหลายสิบปีที่ประชาชนอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร การปิดกั้นเสรีภาพและการควบคุมสื่ออย่างเข้มงวด ทำให้ประชาชนมีวิธีการสื่อสารและกระจายข่าว ที่รัฐบาลทหารอาจไม่ต้องการให้ประชาชนรับรู้ ในหนังสือเรื่อง Finding George Orwell in Burma (ตามหาจอร์จ ออร์เวลที่พม่า) ที่เขียนโดยเอ็มมา ลาร์กิน (Emma Larkin) นักเขียนชาวอังกฤษ-แคนาเดียน กล่าวถึงวิธีที่รัฐบาลทหารตั้งแต่ในยุคเน วิน เรื่อยมาจนถึงยุค SLORC และ SPDC ใช้ เพื่อปิดปากไม่ให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล โดยการใช้ตำรวจนอกเครื่องแบบและสายลับของทหาร ที่เรียกว่า “เอ็มไอ” ที่คอยสังเกตพฤติกรรมและดักฟังประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน หรือสิ่งที่เรียกว่าข่าวลือ และแหล่งที่จะคอยสังเกตความผิดปกติได้ดีที่สุดก็คือในพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะร้านน้ำชา ร้านอาหาร หรือตลาดนั่นเอง

ในยุคที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในชีวิตคนพม่า ข่าวลือพบได้ทั่วไปสื่อโซเชียลทุกแพลตฟอร์มโดยเฉพาะเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นที่นิยมมากสำหรับคนพม่า อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นเมื่อ 18 เดือนก่อน บทบาทของโซเชียลมีเดียลดลงไป เพราะประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหารจำเป็นต้องรักษาความปลอดภัยและหันไปใช้แอพพลิเคชั่นที่มีความปลอดภัยและเป็นส่วนตัวกว่าในการสื่อสาร เช่น Telegram และ Signal ปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับรัฐประหาร คือการกลับมาของข่าวลือ ทั้งนี้ ผู้อ่านต้องแยกให้ออกว่าข่าวลือในพม่า มีทั้งที่เป็นเฟคนิวส์ และที่เป็นข่าวลือที่เป็นความจริง

อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนอยากกล่าวถึงคือผู้นำระดับสูงในทุกระดับของพม่า ทั้งในกองทัพ ระบบราชการ หรือในแวดวงธุรกิจ ให้ความสำคัญกับการเก็บความลับเป็นอย่างมาก เราแทบจะไม่เห็นผู้นำคณะรัฐประหารออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อ ไม่เคยมีเหตุการณ์ที่สื่อนำไมโครโฟนไปจ่อปากนักการเมืองเพื่อถามคำถามที่สื่อหรือสังคมสงสัย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนในกองทัพและแวดวงการเมืองพม่าซีเรียสเรื่องความปลอดภัย และถือหลักปฏิบัติว่าจะให้สัมภาษณ์เมื่อต้องการให้สัมภาษณ์ ดังนั้น จึงไม่ปรากฏอาชีพอย่างนักข่าวสายกองทัพที่มีคอนเน็กชั่นที่ดีกับนายพลทั้งหลาย และส่วนสุดท้ายคงเป็นทัศนคติของคนระดับสูงเหล่านี้ที่มองว่าตนมีสถานะที่แตกต่างจากประชาชนทั่วไป และเรื่องใดก็ตามที่เกี่ยวกับการเมือง หรือความมั่นคง ก็จะไม่มีวันแพร่งพรายออกสู่ภายนอก

ด้วยเหตุนี้ ข่าวลือหรือการสังเกต “ภาษาทางกาย” สำหรับนักข่าวหรือคนทั่วๆ ไปในพม่าจึงเป็นสิ่งจำเป็นควบคู่กับการคาดการณ์ ตั้งแต่คณะรัฐประหารออกมาแถลงว่าได้ประหารชีวิตนักโทษการเมือง 4 คน ไปเมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม ก็มีข่าวลือเกี่ยวกับการประหารนักโทษการเมืองคนอื่นๆ ตามมาเรื่อยๆ ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวชินดวิน (Chindwin News Agency) รายงานว่าคณะรัฐประหารตัดสินประหารชีวิตนักโทษการเมือง ที่เป็นสมาชิกกองทัพพิทักษ์ประชาชน (PDF) ในมณฑลมัณฑะเลย์ เพิ่มอีก 6 คน บทความจากชินดวินอ้างรายงานฉบับหนึ่งที่ช่องเมียวดี ซึ่งเป็นช่องโทรทัศน์ของกองทัพ นำมาเผยแพร่ แต่ไม่มีใครยืนยันได้ว่าข่าวการตัดสินประหารชีวิตนักโทษการเมืองเพิ่มอีก 6 คนนี้เป็นความจริงกี่มากน้อย และทั้ง 6 คนถูกประหารชีวิตไปแล้วหรือยัง

Advertisement

เมื่อสมาชิก PDF ทั้ง 6 คนถูกจับกุมตัวได้ สื่อของคณะรัฐประหารกล่าวหาคนเหล่านี้ว่าได้รับการฝึกฝนโดยกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (Ta’ang National Liberation Army หรือ TNLA) หนึ่งในกองกำลังที่เคลื่อนไหวในรัฐฉาน และเป็นไม้เบื่อไม้เมากับกองทัพพม่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้จะไม่มีสำนักข่าวใดที่ยืนยันข่าวการตัดสินประหารชีวิตดังกล่าวได้ แต่ซอ มิน ทุน (Zaw Min Tun) โฆษกของกองทัพ เป็นคนที่ให้สัมภาษณ์กับ BBC พม่าเองว่ากองทัพ/คณะรัฐประหารมีแผนจะประหารผู้ต่อต้านเพิ่มอีกหลายคน โดยกล่าวเพียงว่า “การประหารชีวิตจะยังมีต่อไป ตามตัวบทของกฎหมาย” และยังกล่าวว่าผู้ที่ต้องโทษประหารชีวิตอาจได้รับการผ่อนผัน ขึ้นอยู่กับประเภทอาชญากรรมของแต่ละคน ยกตัวอย่างหากมีนักโทษการเมืองที่มีคดีติดตัวหลายคดี และแต่ละคดีมีโทษร้ายแรงถึงประหารชีวิต นักโทษในกลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ถูกประหารชีวิต

หากประเมินจากคำอธิบายของโฆษกกองทัพ กองทัพจะเลือกประหารชีวิตนักโทษที่มีคดีที่ถูกตัดสินประหารชีวิตมากกว่า 1 คดี สำนักข่าว Myanmar Now อธิบายว่าในขณะนี้ มีนักโทษการเมือง 2 คนในเรือนจำอินเส่ง ได้แก่ เท็ต ไป่ โซ (Htet Paing Soe) และเวย ยาน ทุน (Wai Yan Tun) ที่ถูกตัดสินประหารชีวิต 4 และ 3 ครั้ง ตามลำดับ ทั้งสองคนถูกกล่าวหาว่าได้รับการฝึกมาจากกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army หรือ KNLA) และเป็นผู้ร่วมก่อการเพื่อโจมตีฝ่ายที่สนับสนุนรัฐประหารและกองทัพพม่า

ข่าวการประหารชีวิตนักโทษการเมือง 4 คนแรกไปถึงหูนักโทษการเมืองคนอื่นๆ ที่ถูกควบคุมตัวไว้ในเรือนจำทั่วพม่า นักโทษการเมืองที่ถูกควบคุมตัวไว้ในแถบเมืองมัณฑะเลย์ออกมาเรียกร้องให้คณะรัฐประหารยุติโทษประหารชีวิต โดยส่งข้อความผ่านไปทางตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Myanmar National Human Rights Commission) ที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นมา และยังเรียกร้องว่านักโทษการเมืองที่ถูกควบคุมตัวอยู่ควรมีโอกาสได้พบคนในครอบครัวผ่านทางโทรศัพท์หรือทางอินเตอร์เน็ต แต่ก็มีฝ่ายสนับสนุนกองทัพและคณะรัฐประหารที่ออกมาเรียกร้องให้กองทัพจัดการนักโทษการเมืองกลุ่มนี้อย่างหนัก

ท่ามกลางข่าวการประหารชีวิตนักโทษการเมือง ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและที่ยังไม่เกิดขึ้น (แต่เมื่อมีข่าวลือออกมา โอกาสที่จะเกิดขึ้นย่อมมีสูงขึ้นแน่นอน) ก็พอจะมีข่าวดีอยู่บ้างเมื่อมีข่าวออกมาว่ามีผู้ต้องโทษประหารชีวิตคนหนึ่งที่กลับคำให้การ และถูกตัดสินให้รับโทษจำคุกตลอดชีวิตแทนประหารชีวิต และยังมีอีกกรณีหนึ่งที่ส่อง เล พเย (Saung Lay Pyay) นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยดะโกงในย่างกุ้ง ที่เคยเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร ก็ได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต หลังจากก่อนหน้านี้เขาถูกตัดสินต้องโทษประหารชีวิตไปแล้ว

ใจของคนในกองทัพพม่าเป็นอะไรที่ยากแท้หยั่งถึง เราไม่มีวันรู้เลยว่าในอนาคตจะมีนักโทษการเมืองที่ถูกประหารชีวิตอีกกี่คน หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าการประหารชีวิตบุคคลสำหรับ “ไฮโปรไฟล์” สุดๆ ทั้งโก จิมมี่ และเพียว เซยา ตอ ซึ่งเป็นทั้งแอคทิวิสต์และนักการเมืองคนสำคัญของพรรค NLD เป็นเหมือนการเขียนเสือให้วัวกลัว และเพื่อสร้างบรรยากาศหม่นๆ ให้ฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร และเพื่อประกาศว่ากองทัพพร้อมที่จะลงโทษใครก็ตามที่ขวางเส้นทางสู่อำนาจของตนเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image