เพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นบทเพลงที่วงดุริยางค์บรรเลงเพื่อสรรเสริญพระเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดิน เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงเฉลิมพระเกียรติประจำพระอิสริยยศ บรรเลงรับเสด็จ พระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และผู้แทนพระองค์เท่านั้น เมื่อมีการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ทุกคนก็ต้องลุกขึ้นยืนตรง ทำความเคารพจนกว่าเพลงจะบรรเลงจบลง
เพลงสรรเสริญพระบารมีใช้บรรเลงเนื่องในโอกาสต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าอยู่หัว การรับเสด็จ การส่งเสด็จ การเฉลิมพระเกียรติ การถวายพระพร การถวายความเคารพ เป็นต้น เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเอกราชของชาติ
เพลงสรรเสริญพระบารมี มีชื่ออยู่หลายฉบับด้วยกัน กล่าวคือฉบับแรกเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีไทย ซึ่งใช้มาตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 2 หรือเพลงบุหลันลอยเลื่อน (บุหลันเลื่อนลอยฟ้า, ทรงพระสุบิน, สรรเสริญพระจันทร์) เจ้าพนักงานดนตรีประโคมรับเสด็จฯ ซึ่งเพลงฉบับเดิมมาจากเพลงตับสรรเสริญพระบารมี ประกอบด้วย เพลงสรรเสริญพระบารมี กินรีฟ้อน ศศิธรทรงกลด นิยมประโคมรับเสด็จ และส่งเสด็จ
ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (พ.ศ.2394-2411) ได้มีการนำเพลงใหม่มารับเสด็จ ตามอย่างฝรั่ง เพราะหัวหน้ากองแตรเป็นฝรั่งชาวอังกฤษ (Thomas George Knox) พ.ศ.2395 โดยใช้บทเพลงก็อดเซฟเดอะควีน (God Save the Queen) ต่อมาเรียกชื่อว่า สรรเสริญพระบารมีอังกฤษ หรือเพลงจอมราชจงเจริญเขียนเนื้อร้องโดยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เนื้อร้องมีอยู่ว่า
“ความสุขสมบัติทั้งบริวาร เจริญพละปฏิภาณผ่องแผ้ว จงยืนพระชนมานนับรอบร้อยแฮ มีพระเกียรติเพริศแพร้วเล่ห์เพี้ยงจันทร” ซึ่งดูหลักฐานได้จาก “99 ปี เพลงสรรเสริญพระบารมี”
ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ยังใช้เพลงจอมราชจงเจริญ (ทำนอง God Save the Queen) เป็นเพลงเกียรติยศเพื่อรับเสด็จ อยู่กระทั่งปี พ.ศ.2414 ทรงรับสั่งให้ครูดนตรี (ครูมรกฏ ครูมีแขก และครูขุนเณร) ประชุมกันเพื่อที่จะเปลี่ยนทำนองเพลงเกียรติยศ (รับเสด็จ) เสียใหม่ เพราะทำนองเพลงสรรเสริญที่ใช้รับเสด็จไปตรงกับเพลงของชาติอื่นๆ เมื่อครั้งวงดนตรีบรรเลงเพลงเกียรติยศเพื่อรับเสด็จ รัชกาลที่ 5 ที่สิงคโปร์และที่ปัตตาเวีย (Batavia/จาการ์ตาปัจจุบัน เมืองสับปะรด) ในเมื่อเมืองสยามไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งอย่างสิงคโปร์หรืออย่างปัตตาเวีย
ครูดนตรีทั้ง 3 คน (ครูมรกฏ ครูมีแขก และครูขุนเณร) จึงต้องเปลี่ยนไปใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีไทย (บุหลันลอยเลื่อนทางฝรั่ง) เพื่อรับเสด็จแทน ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 เพลงบุหลันลอยเลื่อนทางฝรั่ง เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นเพลงสรรเสริญเสือป่า ใช้เป็นเพลงรับเสด็จฯ ระหว่างปี พ.ศ.2414-2431
ในระหว่างนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชประสงค์ที่จะให้มีเพลงรับเสด็จเป็นทำนองฝรั่ง แต่เป็นบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นใหม่เฉพาะ จึงประกาศประกวดทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมี
ยังมีเพลงสรรเสริญพระนารายณ์อีกเพลงหนึ่ง ซึ่งมักจะทำให้คนสับสน ดั้งเดิมนั้นมีบทเพลงสยามโบราณปรากฏอยู่ในหนังสือลาลูแบร์ ชื่อ เพลงสายสมร (Siamese Song) ซึ่งเขียนบันทึกเป็นโน้ตเพลงเอาไว้ ลาลูแบร์นั้นเป็นเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้ากรุงสยาม (สมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ในปี พ.ศ.2230 ก็บันทึกสิ่งที่พบและได้ยินในกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ รวมทั้งบันทึกโน้ตเพลงตามเสียงที่ได้ยินเอาไว้ด้วย
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป (พ.ศ.2442) ก็มีหนังสือสำหรับการประชาสัมพันธ์ประเทศสยามชื่อ “สยามอาณาจักรแห่งช้างเผือก” ในหนังสือเล่มนั้นมีโน้ตเพลงอยู่ 2 เพลงด้วยกัน คือ เพลงสรรเสริญพระบารมี (ฉบับปัจจุบัน) พิมพ์เป็นโปสการ์ดสี ซึ่งฝรั่งนิยมพิมพ์ขายทั่วโลก มีธงช้างสีแดงด้านหนึ่ง
อีกด้านหนึ่งเป็นตราแผ่นดินรัชกาลที่ 5 เดิมเป็นสมบัติของนายเฮนริช ชอร์ (Heinrich Suhr) ช่างชาวเยอรมัน ทำงานที่ห้าง
มาร์ควอลด์ (Markwald พ.ศ.2450-2457) และมีเพลงสรรเสริญพระนารายณ์ ซึ่งเป็นทำนองเพลงสายสมรนั่นเอง พิมพ์บรรจุไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย
เมื่อพระเจนดุริยางค์ทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก (พ.ศ.2484) ก็ใช้เพลงสายสมรเป็นเพลงดำเนินทำนองหลัก และเรียกชื่อเพลงนี้ใหม่ว่า “ศรีอยุธยา” บางครั้งก็เรียกว่า “สรรเสริญพระนารายณ์”
บทเพลงสรรเสริญพระบารมี (ฉบับปัจจุบัน) ประพันธ์ทำนองโดย ปโยตร์ สชูโรฟสกี (Pyotr Schurovsky) มีชีวิตระหว่างปี พ.ศ.2393-2451 เรียนดนตรีที่กรุงมอสโก เป็นนักเปียโน นักประพันธ์เพลง และเป็นผู้ดูแลควบคุมวงดนตรีที่โรงมหรสพเมืองคาร์คอฟ (Kharkov) และวงดนตรีคณะบอลชอย (Bolshoi) ซึ่งถือเป็นวงดนตรีประกอบบัลเลต์ที่ดีที่สุดของโลก
ทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมี ถูกส่งมาถึงกรุงสยามผ่านสิงคโปร์ เมื่อสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้รับก็ทรงแต่งเนื้อร้องใส่กับทำนอง เนื้อร้องและทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมี ออกแสดงครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ แรม 4 ค่ำ ปีชวด (24 กันยายน พ.ศ.2431) ในงานเฉลิมพระชนมพรรษา ที่หน้าศาลากรมยุทธนาธิการ (กระทรวงกลาโหม) ซึ่งเป็นรายการแสดงพร้อมกับเพลงเขมรไทรโยค เป็นครั้งแรก
ต่อมาในปี พ.ศ.2435 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรง (พอพระทัย) โปรดพระราชทานกล่องยานัตถุ์ ทำด้วยเงิน สลักพระปรมาภิไธย พระราชทานให้แก่ ปโยตร์ สชูโรฟสกี
สําหรับเนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีเนื้อร้องอยู่ 5 สำนวนด้วยกัน ทุกสำนวนใช้ทำนองเดิม ซึ่งเนื้อร้องยังเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีในความหมายเดิม คือเป็นบทเพลงเฉลิมพระเกียรติ แต่ปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับงานแต่ละครั้ง
ต่อมาเมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีถูกปรับใช้มีเพียงเนื้อร้องสำนวนเดียว โดยเปลี่ยนเนื้อร้องวรรคสุดท้ายจาก “ฉะนี้” เป็น “ไชโย” เนื่องจากคำว่า “ฉะนี้” เมื่อใส่ทำนองแล้ว ฟังเป็น “ชะนี”
ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กระทั่งปัจจุบัน เนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีใช้เพียงสำนวนเดียว ไม่มีเนื้อร้องฉบับอื่นอีกเลย ส่วนทำนองเพลงสรรเสริญพระบารมี ก็ใช้มาตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2431 กระทั่งปัจจุบัน เป็นเวลา 128 ปี ผ่านการบรรเลงรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 รัชกาล
ในสมัยรัฐบาล จอมพล แปลก พิบูลสงคราม มีความเข้าใจว่า “ประเทศที่เจริญแล้วใช้เพลงชาติสั้นๆ ส่วนประเทศที่ด้อยพัฒนาใช้เพลงชาติยาวๆ” โดยเปรียบเทียบระหว่างเพลงสรรเสริญพระบารมีกับเพลงชาติอังกฤษ (God Save the Queen) จึงมีดำริที่จะตัดเพลงสรรเสริญพระบารมีให้สั้นลง นักดนตรีเรียกว่า “เพลงสรรเสริญพระบารมีสังเขป เพลงสรรเสริญตัด หรือเพลงสรรเสริญยิเก” สำหรับเนื้อเพลงสรรเสริญยิเก ลงท้ายด้วย “ชโย”
เนื่องจากเพลงสรรเสริญพระบารมี วรรคสุดท้ายจบลงด้วยคำว่า “ไชโย” ซึ่งเหมือนกับเพลงชาติไทย ที่จบคำสุดท้ายด้วย “ไชโย” เหมือนกัน
ฝรั่งที่รู้จักประเทศไทยใหม่ๆ ก็จะนิยมเหมาเอาว่าเป็นวัฒนธรรม “ไชโย”
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต ในวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ทำให้บทเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นบทเพลงที่มีบทบาทสำคัญมาก สำหรับการพยุงความรู้สึกและเข้าถึงจิตใจของคนไทยทุกคน ประวัติเพลงสรรเสริญพระบารมี ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้คนไทยได้รู้จักเพลงมากขึ้น
สุกรี เจริญสุข