ผลการศึกษา วงการสื่อกำลังทำให้วิทยาศาสตร์ของมนุษยชาติล่มสลาย : คอลัมน์ Future perfect โดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

ต้องบอกคุณผู้อ่านก่อนเลยครับว่า-ผมพาดหัวเว่อร์! ที่ว่าวงการสื่อจะทำให้วิทยาศาสตร์ล่มสลายน่ะ ไม่ถึงขนาดนั้นหรอก แต่นี่เป็นความเว่อร์ด้วยความจงใจ เพราะมันเกี่ยวกับสิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้อย่างแนบแน่น

เมื่อไม่นานมานี้มีผลการวิจัยจาก UC San Diego ว่า การใช้ Facebook นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับอายุที่ยืนยาวขึ้น (Life Expectancy) โดยงานวิจัยเต็มๆ มีชื่อว่า “Online social integration is associated with reduced mortality risk” (การเข้าสังคมออนไลน์นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการตายที่ลดลง)

ก่อนที่จะเล่าต่อไปได้ ผมต้องเล่าก่อนว่าสิ่งที่นักวิจัยค้นพบในงานครั้งนี้คือ เขาพบว่า คนใช้เฟซบุ๊กมีโอกาสในการตายน้อยว่าคนที่ไม่ใช้ 12% เมื่อพูดคำว่า โอกาสในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงว่าการใช้เฟซบุ๊กทำให้เรามีโอกาสตายน้อยกว่าคนที่ไม่ใช้นะครับ แต่หมายถึงว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊ก โดยสถิติแล้วจะมีโอกาสที่จะตายน้อยกว่าไม่ใช้ นั่นเอง โดยนักวิจัยก็ยอมรับว่า งานวิจัยครั้งนี้ไม่ได้เอาตัวแปรอื่นๆ เข้ามาควบคุม เช่น การที่คนใช้เฟซบุ๊กตายน้อยกว่า อาจจะเป็นเพราะคนที่มีโอกาสใช้เฟซบุ๊ก เป็นคนที่มีโอกาสในชีวิตมากกว่า มีสถานะทางการเงิน การศึกษา ดีกว่าคนที่ไม่ใช้เฟซบุ๊กโดยรวมก็ได้ ซึ่งปัจจัยพวกนี้อาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลอย่างแท้จริงมากกว่าการใช้หรือไม่ใช้เฟซบุ๊ก และการวิจัยที่แท้จริงยังลงลึกไปมากกว่านั้น โดยบอกว่า คนที่ “รับเพื่อน” บนเฟซบุ๊ก อาจมีความเสี่ยงในการตายน้อยกว่า ในขณะที่คนที่ “แอดเพื่อน” (ไปแอดเขา) ไม่ได้สัมพันธ์กับความเสี่ยงในการตายที่ลดลง โดยงานวิจัยเองก็พูดเพียงว่านี่เป็นงานวิจัย “ความสัมพันธ์” โดยที่ไม่ได้บอก ว่าเฟซบุ๊ก “ทำให้” ความเสี่ยงในการตายลดลงแต่อย่างใด

แต่เรื่องที่จะเล่าในครั้งนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลการศึกษาครั้งนี้ตรงๆ นะครับ แต่ไปเกี่ยวข้องกับ “วิธี” ที่สื่อออกมาพูดถึงการศึกษาครั้งนี้ต่างหาก

Advertisement

ลองดูพาดหัวข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ ถึงการวิจัยครั้งนี้กันครับ

New York Times พาดหัวว่า Facebook Could Be Associated with a Longer Life, Study Finds (งานวิจัยพบว่าเฟซบุ๊กอาจเชื่อมโยงกับชีวิตที่ยืนยาวขึ้น), The Independent พาดหัวว่า Facebook users less likely to die, says a major study conducted by social network on 12 million people (คนใช้เฟซบุ๊กตายน้อยกว่า ตามงานวิจัยชิ้นใหญ่ที่ศึกษาโดยโซเชียลเน็ตเวิร์กผ่านผู้ใช้กว่า 12 ล้านคน)

The Next Web พาดหัวว่า Study: Moderate Facebook use could lead to longer lives (งานวิจัย: การใช้เฟซบุ๊กแบบพอเหมาะอาจทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้น) ในขณะที่ Mirror พาดหัวว่า Facebook users live longer: Researchers claim social networks can boost your life expectancy (คนใช้เฟซบุ๊กอายุยืนกว่า: นักวิจัยอ้างว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กสามารถยืดอายุได้)
เห็นไหมครับว่า สารที่นักวิจัยพยายามจะสื่อกับสารที่สื่อออกมานั้นแตกต่างกันทีละเล็กทีละน้อย และเมื่อมาที่สำนักข่าวไทยๆ ซึ่งแปลมาอีกที สารก็อาจจะถูกบิดเบือนไปอีกครั้ง

Advertisement

ที่มีปัญหาน้อยที่สุดสำหรับผมคือนิวยอร์กไทมส์ เพราะใช้คำว่า Associated (ซึ่งแปลว่าเกี่ยวข้อง) ซึ่งเป็นคำที่นักวิจัยใช้เพื่ออธิบายงานตัวเองในขณะที่ The Next Web กับ Mirror นั้นมีปัญหามากหน่อย เพราะ The Next Web บอกว่า
การใช้เฟซบุ๊ก “อาจทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้น” คือไปใส่ว่าการใช้เฟซบุ๊กเป็นเหตุผลสำหรับการมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ส่วน Mirror นั้นยิ่งแย่ เพราะพาดหัวว่าการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กสามารถ “ยืด” อายุได้เลย

นี่เป็นปัญหาเรื้อรังของความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับวงการวิทยาศาสตร์ เมื่อนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัยตีพิมพ์ผลงานที่เต็มไปด้วยความระมัดระวังและข้อจำกัด สื่อก็มักจะหยิบผลงานเหล่านั้นไปใส่สีตีไข่จนทำให้ความหมายเปลี่ยนไปอีกแบบ และอาจทำให้ผู้รับข่าวสารจำนวนมากเข้าใจผิดๆ ได้เลย เช่น ครั้งหนึ่ง สื่อพาดหัวว่า “การใส่บราทำให้เกิดมะเร็ง” ทั้งๆ ที่ผลการวิจัยนั้นก็ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ผ่านการตรวจสอบ หรืออีกครั้งหนึ่ง สื่อพาดหัวว่า “น้ำตาลนั้นเสพติดได้เหมือนโคเคนและเฮโรอีน” ซึ่งจริงๆ แล้วผลการวิจัยบอกเพียงแค่ว่า หนูที่ได้รับน้ำตาลเข้าไปมากๆ มีอาการ (symptom) ที่คล้ายกับหนูที่ติดโคเคนและนิโคตินเท่านั้นเอง แต่สื่อพาดหัวแบบด่วนสรุปเกินไป เพราะนี่เป็นการทดลองในหนู และก็เป็นอาการที่ “เกี่ยวเนื่อง” กัน ซึ่งไม่ได้แปลว่า “เหมือน” กัน

วงการวิทยาศาสตร์พยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้หลายต่อหลายครั้งนะครับ พวกเขาเปลี่ยนแปลงวิธีการตรวจสอบบทความวิทยาศาสตร์ที่ตีพิมพ์ในวารสารด้วยความหวังว่าจะทำให้สื่อนำงานไปสื่อสารต่ออย่างเที่ยงตรงมากขึ้นทีเดียว เช่น มีการริเริ่มที่จะตีพิมพ์เฉพาะวิธีการ (methodology) และคำถามในแต่ละงานวิจัยเท่านั้น โดยไม่ตีพิมพ์ผล (result) เพื่อให้นักข่าวไม่สามารถเอาผลไปสรุปมั่วๆ ได้ แต่ปัญหานี้ก็ไม่หาย ยังคงเรื้อรังต่อไป เพราะนักเขียนทางด้านวิทยาศาสตร์และสุขภาพต้องการข่าวสดใหม่ที่สามารถ “ดึงความสนใจ” จากผู้อ่านได้ตลอดเวลา และคำว่า “วิทยาศาสตร์” หรือ “งานวิจัย” ก็ดูจะให้ความน่าเชื่อถือกับการอวดอ้างอย่างไรก็ได้สำหรับพวกเขา

การอ่านข่าววิทยาศาสตร์และสุขภาพในปัจจุบันจึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง ไม่ต่างจากข่าวประเภทอื่นๆ หลายครั้งเมื่อเห็นสื่อพาดหัวข่าวที่ดูเหลือเชื่อ เกินจริงเกินไป ผมจึงถึงกับต้องไปหางานวิจัยตัวต้นฉบับมาอ่านเพื่อตรวจสอบว่าที่พาดหัวนั้นเกินไปหรือไม่ อย่างไร เพราะกลัวว่าจะได้ความเชื่อหรือความรู้ไปผิดๆ

แต่ปัญหาก็คือ บางครั้งเมื่อเราลดการ์ดลง ไม่ระมัดระวังเพราะเป็นการอ่านเล่นๆ ไม่ได้ทำงาน หรือกระทั่งอ่านเฉพาะพาดหัว ความเชื่อผิดๆ เหล่านี้ก็จะฝังลงไปในตัวเราโดยไม่รู้ตัว จนเราอาจคิดว่ามันเป็นความจริงเข้าได้ในวันใดวันหนึ่งเช่นเดียวกับพาดหัวคอลัมน์นี้
ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image