ราชภัฏ มหาวิทยาลัยแห่งพระราชา : โดย รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ปัจจุบันสังคมไทยผู้คนมีการตื่นตัวและให้ความสำคัญต่อการศึกษาในทุกระดับ และโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาด้วยแล้ว ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่ผู้ปกครองตลอดจนคนรุ่นใหม่ต่างใฝ่ฝันในการเข้ารับการศึกษา และหากดูถึงจำนวนของสถาบันอุดมศึกษาหรือที่คนทั่วไปเรียกว่ามหาวิทยาลัย วันนี้มหาวิทยาลัยของไทยทั้งที่อยู่ในการบริหารจัดการโดยภาครัฐและเอกชนมีจำนวนมากขึ้นตามความนิยมของสังคม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระมหากษัตริย์ที่สนพระราชหฤทัยในการศึกษาของชาติทุกระดับ และโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษานั้นถือได้ว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในโลกที่เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรให้กับบัณฑิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2493 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในเรื่องนี้ได้มีการบันทึกไว้ว่า การเสด็จพระราชดำเนินเพื่อพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยต่างๆ นั้นนับเป็นจำนวนกว่าสี่หมื่นครั้ง และในแต่ละครั้งพระองค์ยังมีพระมหากรุณาธิคุณด้วยการมีกระแสพระราชดำรัสกับผู้เกี่ยวข้องว่าพระองค์จะเสด็จฯพระราชทานปริญญาบัตรให้กับบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจนกว่าจะไม่มีแรง

ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด เหล่าบัณฑิตทั้งหลายที่ได้เข้าเฝ้าฯรับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์พระองค์ท่านนั้นถือได้ว่าเป็นบุคคลที่โชคดีที่ได้เข้าเฝ้าฯอย่างใกล้ชิด ในขณะเดียวกันทุกครั้งพระองค์ท่านยังได้มีพระมหา
กรุณาธิคุณพระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อให้บัณฑิตได้นำไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและปฏิบัติหน้าที่เพื่อรับใช้สังคมและประเทศชาติในอนาคต

Advertisement

กาลครั้งหนึ่งเมื่อการศึกษาได้รับการพัฒนาและเป็นที่สนใจของการเข้ารับการศึกษาของสังคมมากขึ้น ทุกสถาบันการศึกษาย่อมที่จะต้องปรับตัวและพัฒนาตนเองให้เหมาะกับสภาพการณ์สังคมของแต่ละยุค หนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาที่ต้องมีการปรับตัวให้เป็นที่ยอมรับและมีช่องทางในการจัดการศึกษาที่หลากหลายมากกว่าบทบาทในหน้าที่เดิมคือวิทยาลัยครู

ในยุคปี 2530 เป็นต้นมา จะพบว่าบัณฑิตวิชาชีพครูถึงจุดอิ่มตัว วิทยาลัยครูในสมัยนั้นซึ่งมีจำนวน 36 แห่ง สังกัดกรมการฝึกหัดครู กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ และมีบทบาทหน้าที่ในการผลิตครูได้ถึงปริญญาตรีเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยน ผู้บริหารในกรมการฝึกหัดครูและกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นจึงได้มีแนวคิดที่จะขยายการผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาต่างๆ นอกเหนือจากวิชาชีพครูเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาและอุปสรรคที่พบคือการยอมรับของสังคม อันเนื่องมาจากผลผลิตของวิทยาลัยครูซึ่งสังคมในขณะนั้นมองว่าความเชี่ยวชาญหรือความถนัดคือการสอนและผลิตนักศึกษาวิชาชีพครูเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้เอง ผู้บริหารในขณะนั้นจึงได้ขอพระราชทานนามวิทยาลัยครูใหม่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และแล้ววันหนึ่งซึ่งตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 ชาววิทยาลัยครูทั้งมวลก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่านด้วยการพระราชทานนามว่า “ราชภัฏ” ซึ่งหมายถึง ข้าราชการหรือคนของพระราชา ต่อมาชาวราชภัฏทั่วประเทศจึงเรียกขานตัวเองว่า “คนของพระราชา ข้าของแผ่นดิน” และพร้อมกันนั้นพระองค์ท่านยังได้พระราชทานตราสัญลักษณ์ประจำสถาบันเป็นดวงตราพระราชลัญจกรซึ่งเป็นดวงตราประจำพระองค์ท่านด้วย

Advertisement

นับได้ว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นที่ชาวราชภัฏได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่านในครั้งนั้น

วันนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏจึงเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการพัฒนาจากโรงเรียนฝึกหัดครูในอดีต สู่การเป็นมหาวิทยาลัย มีที่ตั้งทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 ซึ่งบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏก็ไม่แตกต่างจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วไป แต่จุดเน้นของมหาวิทยาลัยราชภัฏตามมาตรา 7 ใน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 อาจจะแตกต่างจากบางมหาวิทยาลัยที่ระบุให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่เสริมสร้างพลังปัญญาของแผ่นดิน ฟื้นฟูพลังการเรียนรู้ เชิดชูภูมิปัญญาของท้องถิ่น สร้างสรรค์ศิลปวิทยา เพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนของปวงชน มีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพขึ้นสูง ทำการสอน วิจัย ให้การบริการวิชาการแก่สังคม ปรับปรุงถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี ทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู

วันนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศมีการพัฒนาการเพื่อการเข้าสู่เวทีของการเป็นสถาบันอุดมศึกษาคุณภาพ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการสร้างพลังในการเป็นฐานเพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและประเทศชาติ ภายใต้วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของผู้บริหารที่ได้ผนึกพลังของประชาคม จนทำให้ราชภัฏเป็นหนึ่งในองค์กรทางการศึกษาที่สังคมและชุมชนสามารถพึ่งพิงได้ ซึ่งการดำเนินการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นจึงเป็นไปตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะให้สถาบันแห่งนี้เป็นที่พึ่งของสังคมโดยเฉพาะท้องถิ่นและชุมชนต่างๆ ที่กำลังรอการพัฒนาด้วยวิชาการและนวัตกรรมใหม่

อย่างไรก็ตาม จากการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก วันนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งคงจะต้องมองไกลไปถึงอนาคตเพื่อการก้าวเดินอย่างมั่นคง ภายใต้พันธกิจที่จะต้องมีการแข่งขันและก้าวให้ทันกับยุคโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะการพัฒนาทุนมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 และการเข้าสู่มหาวิทยาลัย 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล ในขณะเดียวกัน วันนี้การที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไทยอย่างเฉกเช่นในอดีตคงไม่พอ ตัวแปรที่สำคัญในการที่จะผลักดันให้มหาวิทยาลัยราชภัฏก้าวเดินอย่างมีคุณค่า และเป็นที่ยอมรับของสังคมอุดมศึกษาตลอดจนผู้คนทั่วไป ได้แก่การแข่งขันเพื่อการจัดอันดับขององค์กรทางการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งหากทุกสถาบันเตรียมการแต่เร็ววันจะแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาการที่จะก้าวไปสู่จุดเปลี่ยนและความท้าทายในอนาคต

การแข่งขันหรือการปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการพัฒนาคน โดยเฉพาะการผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ และเป็นบัณฑิตอันเป็นที่ยอมรับหรือเป็นที่พึงประสงค์ของสังคม จึงถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของทุกมหาวิทยาลัยที่ผู้บริหารและทุกภาคส่วนจะต้องมีความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปให้ถึง เพราะนั่นหมายถึงการเป็นองค์กรการศึกษาคุณภาพชั้นนำอย่างแท้จริง

ในอดีตสังคมไทยบางส่วนไม่ค่อยที่จะให้ความสำคัญและยอมรับมหาวิทยาลัยราชภัฏมากนัก ทั้งนี้ เพราะค่านิยมหรือความเชื่อเกี่ยวกับคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษานั้นส่วนใหญ่มักจะมีความเชื่อมั่นต่อมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่มีการก่อเกิดมาก่อนมหาวิทยาลัยราชภัฏ

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ชาวราชภัฏจึงได้ผนึกพลังรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต่างๆ จนวันนี้ราชภัฏจึงเป็นที่ยอมรับของสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะองค์กรผู้ใช้บัณฑิตทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเห็นแล้วว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏไม่ใช่เป็นวิทยาลัยครูอย่างในอดีตที่ผ่านมา และพร้อมที่จะแข่งขันกับสถาบันอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศได้อย่างไม่น้อยหน้าใคร

ตัวชี้วัดที่สำคัญในการส่งผลให้มหาวิทยาลัยราชภัฏมีการพัฒนาการจนเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศสืบเนื่องมาจากการที่ผู้บริหารได้ศึกษาวิเคราะห์สภาพการณ์ทางสังคม ตลอดจนการใช้ฐานความรู้จากการวิจัยคิดค้นองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ เพื่อให้เป็นองค์กรทางการศึกษาที่ทรงคุณค่าอย่างแท้จริง ซึ่งผลที่ตามมาคือบัณฑิตมีคุณภาพ มีงานรองรับ ดังเช่นผลการศึกษาความพึงพอใจขององค์กรต่างๆ ที่มีต่อบัณฑิตราชภัฏ พบว่าผู้ใช้บัณฑิตมีความพึงพอใจด้านความรู้ความสามารถทางวิชาการตามลักษณะงานในสาขานั้นๆ มาเป็นอันดับหนึ่ง

รองลงมาได้แก่ ความพึงพอใจด้านความรู้ความสามารถพื้นฐานที่ส่งผลต่อการทำงาน ตามด้วยด้านคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณในวิชาชีพ

จากผลการสำรวจดังกล่าวคงไม่เพียงพอต่อการเพิ่มคุณภาพของบัณฑิต เพราะสถาบันอุดมศึกษาทั่วไปก็สามารถดำเนินการได้ แต่อย่างไรก็ตาม ชาวราชภัฏทั้งมวลจะต้องแสวงหาแนวทางตลอดจนผลักดันนวัตกรรมใหม่ในการสร้างบัณฑิตให้โดดเด่นและแตกต่างด้วยการผลิตบัณฑิตให้เป็นบัณฑิตมืออาชีพ ด้วยผู้สร้างที่เป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง

จากสภาวะที่สังคมเกิดการแข่งขันโดยเฉพาะในแวดวงอุดมศึกษา วันนี้หากสถาบันใดมีผลการจัดอันดับอยู่ในระดับต้นๆ ทั้งในและต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือนานาชาติ แน่นอนย่อมเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าสถาบันนั้นผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่องค์กรจัดอันดับกำหนดและเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการ พร้อมกันนั้นถึงแม้ว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏจะเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลมีความคล่องตัวและอิสระในการบริหารจัดการตามพระราชบัญญัติและข้อบังคับของสถาบันที่นั้นๆ มาเป็นฐานในการบริหารจัดการ ในสภาพการณ์ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏจะเดินไปข้างหน้าหรือการแสวงหาแนวทางแห่งการพัฒนาแต่เพียงผู้เดียวหรือโดดเดี่ยวคงไม่ได้ นโยบายในการบริหารจัดการศึกษาของรัฐบาลจึงเป็นช่องทางหนึ่งที่จะผลักดันให้มหาวิทยาลัยราชภัฏซึ่งถือได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งพระราชาจะได้ก้าวเดินอย่างสง่างามและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมอย่างแท้จริง

พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้นโยบายแก่อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ 38 แห่ง เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2558 โดยมีสาระสำคัญ 6 ประเด็น อาทิ การให้มหาวิทยาลัยราชภัฏมีความเป็นเลิศ เพื่อต้องการให้มหาวิทยาลัยราชภัฏในแต่ละพื้นที่มีความโดดเด่นในสาขาวิชาที่ผลิตแตกต่างกันไป, การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษแก่ผู้เรียนภายใน 4 ปี จะมีการประกาศกรอบมาตรฐานคุณวุฒิวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งนักศึกษาระดับปริญญาตรีทุกคนต้องทำการทดสอบภาษาอังกฤษ เพื่อกำหนดเงื่อนไขในการรับรองผลการศึกษา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏได้เข้ารับการทดสอบ, การผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและทิศทางการพัฒนาประเทศ, ปรับโครงสร้างการผลิตทั้งในแง่การผลิตครูสายครุศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และในทักษะวิชาชีพที่มีความแตกต่างกันในแต่ละแห่ง, การส่งเสริมพัฒนาเทคนิคการสอน โดยให้มีการจัดทำคู่มือ/เทคนิค/ยุทธศาสตร์การสอนสำหรับครูผู้สอนในชั้นเรียน

ที่สำคัญในนโยบายด้านอื่นๆ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการขอให้มหาวิทยาลัยราชภัฏมีส่วนร่วมต่อนโยบายของกระทรวง เช่น การจัดการศึกษาตามพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาให้ครูรักเด็ก เด็กรักครู ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อนไม่ให้แข่งขันกัน แต่แข่งกับตัวเอง ส่งเสริมให้นักศึกษาที่จบวิชาชีพครูมีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจในนโยบายสำคัญของรัฐบาล ติดตามข้อมูลข่าวสาร และให้นักศึกษามีความประพฤติเรียบร้อย มีกิริยามารยาทที่ดี ไหว้สวย

ในขณะที่นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ ในฐานะที่รับผิดชอบกำกับดูแลการอุดมศึกษาได้กล่าวฝากอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏในวันนั้นว่า จะให้ความสำคัญด้านธรรมาภิบาลซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏควรเป็นต้นแบบในเรื่องนี้

รวมทั้งจะพิจารณาหลักเกณฑ์การควบคุมคุณภาพการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษาไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งต่อไปหากพบปัญหาว่ามีการเปิดสอนโดยยังไม่ได้รับอนุญาต จะถือว่าเป็นคดีอาญาด้วย และขอให้มหาวิทยาลัยราชภัฏปรับตัวให้ก้าวทันโลก ผลิตผู้เรียนให้สอดคล้องตลาดแรงงาน มีจุดเน้นที่จะเป็นผู้นำของท้องถิ่นและชุมชนได้อย่างแท้จริง

จากการที่รัฐมนตรีทั้งสองได้ฝากการบ้านแก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏดังกล่าว จะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏจำเป็นต้องเดินตามพันธกิจที่มีความต่างบนความเหมือนกับมหาวิทยาลัยทั่วไป และที่สำคัญผู้นำหรืออธิการบดีจะต้องเป็นต้นแบบของความมีธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง และมหาวิทยาลัยราชภัฏจากนี้ไปไม่ควรที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องเสนอให้หัวหน้าคณะ คสช.ต้องประกาศใช้มาตรา 44 เพื่อการแก้ปัญหาธรรมาภิบาลอีกต่อไปดังเช่นที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าวันนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งต่างตระหนักและให้ความสำคัญกับแนวทางในการบริหารจัดการตามนโยบายของรัฐบาล และพร้อมที่จะเข้าสู่การจัดอันดับหรือการแข่งขันเพื่อจะได้ชื่อว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ไม่ตกขบวนในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่การจะเข้าสู่อันดับต้นๆ ของการเป็นมหาวิทยาลัยคุณภาพชั้นนำได้นั้น ผู้บริหารและประชาคมจะต้องทุ่มเทและกำหนดยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมเพื่อที่จะผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในหลากหลายมิติ ที่สำคัญคือการเดินตามศาสตร์ของพระราชาในฐานะเป็นคนของพระราชา ข้าของแผ่นดิน

ผู้เขียนได้ติดตามพัฒนาการของชาวราชภัฏและสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ รวมทั้งมหาวิทยาลัยเอกชนทั่วไป พบว่าวันนี้ทุกสถาบันมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อการแข่งขัน สามารถก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่นับวันจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศไทยและประเทศสมาชิกอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ตลอดจนการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามนโยบายประชารัฐของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏจะประสบความสำเร็จได้นั้น การมีส่วนร่วมและการสนับสนุนของประชาคมภายในองค์กร รวมทั้งคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ตลอดจนศิษย์เก่าและผู้มีส่วนได้เสีย เช่น ผู้ปกครอง นักศึกษา ผู้ประกอบการ หรือชุมชน ในการสร้างความศรัทธาให้กับสังคม ล้วนแล้วแต่เป็นหัวใจที่สำคัญยิ่ง

มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศจะพัฒนาให้ก้าวไกลจนเป็นที่ยอมรับของสังคมหรือไม่ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยนั้นๆ จะต้องตระหนักคือการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยเฉพาะการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาพลิกใจให้ชาวราชภัฏทั้งมวลมีความพอเพียง และสามารถน้อมนำไปเป็นหลักปฏิบัติเพื่อความสุขและเกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างยั่งยืน

รวมทั้งการที่ชาวราชภัฏจะต้องไม่ลืมรากเหง้าที่แท้จริงที่คนรุ่นเก่าได้วางรากฐานไว้ ตลอดจนพันธกิจตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 คือการเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ทั้งนี้ เพราะหากจะให้ท้องถิ่นหรือสังคมไปคาดหวังจากสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ อาจจะได้รับการขานรับน้อยกว่า ทั้งนี้ เพราะมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีบทบาทหน้าที่โดยตรง

ในขณะเดียวกัน ชาวราชภัฏจะต้องพัฒนาองค์กรให้เป็นไปตามแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2560-2574) ที่กำลังจะประกาศใช้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งทุกสถาบันจะต้องเตรียมความพร้อมในการเดินตามแผนฯและตอบโจทย์สังคมเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันจะต้องคำนึงถึงการสร้างพลเมืองที่ดีของชาติที่มีวินัย เคารพต่อกฎหมาย ไม่มุ่งแต่ผลิตบัณฑิตที่ต้องการแต่ปริญญา ดังที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคาดหวัง

“ราชภัฏนามนี้มีความหมาย มีความสำคัญ และลึกซึ้งยิ่งนัก ดังนั้นจำเป็นอยู่เองที่มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งทั่วประเทศจะต้องดำเนินพันธกิจที่ว่าด้วยการเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีการบริหารจัดการการศึกษา เพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยความสำนึกในการเป็นคนของพระราชา ข้าของแผ่นดินอย่างแท้จริง”

รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image