บทบาทที่ไร้ทิศ-หมดทางของอาเซียนในพม่า โดย ลลิตา หาญวงษ์

ตลอด 18 เดือนหลังเกิดรัฐประหารในพม่า อาเซียนกลายเป็นจุดสนใจของสังคมโลก ว่าองค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีท่าทีอย่างไรต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงในพม่า หลังกองทัพพม่าเปิดฉากโจมตีกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรง จนถึงปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตไปนับพันคนแล้ว ไม่ต้องกล่าวถึงการกวาดล้างนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามจำนวนมาก ที่นำไปสู่การซ้อมทรมาน และการประหารชีวิตนักโทษการเมืองครั้งแรกในรอบ 3 ทศวรรษ

ในช่วงแรก อาเซียนมาพร้อมกับความมั่นใจว่าจะจัดการปัญหาในพม่าได้ เมื่อครั้งบรูไนเป็นประธานอาเซียนในปี 2020 ถ้าจะเรียกว่าอาเซียน “ออกตัวแรง” เป็นพิเศษก็คงไม่ผิดนัก เพราะบรูไนและประเทศมุสลิมในอาเซียน ผนึกกำลังกับสิงคโปร์ มีท่าทีขึงขังชัดเจน และออก “ฉันทามติ 5 ข้อ” (Five-Point Consensus) ออกมาตั้งแต่เมษายน 2020 ผู้นำอาเซียนทั้ง 9 ประเทศ รวมทั้งพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้นำคณะรัฐประหารพม่า ยอมรับในหลักการนี้ ที่เรียกร้องให้พม่าหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง เริ่มการเจรจากับคู่ขัดแย้งทุกกลุ่ม มีตำแหน่งทูตพิเศษที่ดูแลเรื่องวิกฤตการณ์การเมืองในพม่าโดยตรง และการให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสู้รบ

เวลาผ่านไปไม่นาน ผู้นำในอาเซียน โดยเฉพาะที่แอ๊กทีฟมากที่สุดคือสิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซีย ออกมาตัดพ้อพม่าที่ไม่ยอมให้อาเซียนทำตามฉันทามติ 5 ข้อ เพราะนอกจากจะประวิงเวลาไม่ให้ทูตพิเศษของอาเซียนเข้าไปทำงานในพม่าได้แบบสะดวกโยธินแล้ว พม่ายังกีดกันไม่ให้อาเซียนทำหน้าที่เป็นกาวประสานแผลใจระหว่างกองทัพกับคู่ขัดแย้งอื่นๆ โดยเฉพาะผู้นำพรรค NLD อย่างด่อ ออง ซาน ซูจี ที่เหมือนของแสลง ยิ่งอาเซียนกดดันอยากขอพบด่อ ออง ซาน ซูจีเมื่อใด ก็เหมือนยิ่งผลักกองทัพออกไปไกลจากโต๊ะเจรจามากเท่านั้น

แม้ในที่สุด ทูตพิเศษของอาเซียนจะได้เข้าไปทำหน้าที่ “หาความจริง” ในพม่าดังที่โรดแมปเขียนไว้ แต่ก็ต้องถามต่อว่า “ความจริง” ที่อาเซียนต้องการคืออะไร ประการแรก กองทัพกับประชาชนในพม่าถือความจริงกันคนละชุด กองทัพมองว่าตนมีอำนาจชอบธรรมในการรัฐประหาร เพื่อป้องกันไม่ให้สหภาพพม่าแตกสลาย และยังมองอีกว่านักการเมืองฝ่ายพลเรือนจากพรรค NLD เป็นเสมือนภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ ในขณะที่ประชาชนและฝ่ายต่อต้านรัฐประหารมองว่ากองทัพขาดความชอบธรรม ที่ใช้กำลังล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และยังมองว่ามีความจำเป็นที่จะสนับสนุนให้เกิดกองกำลังฝั่งประชาชนที่เข้มแข็ง บางส่วนมองว่าต้องใช้กำลังเพื่อต่อต้านกองทัพเท่านั้น ในส่วนกองทัพเองก็มองว่ากองกำลังประชาชนนี้ไม่ต่างจากขบวนการผู้ก่อการร้าย ที่ทำลายประเทศ

Advertisement

เมื่อทั้งสองฝ่ายถือความจริงคนละชุดกัน และกองทัพก็กีดกันอาเซียนทุกทางเพื่อไม่ให้เข้าพบแกนนำพรรค NLD อาเซียนจะมีวิธีการรับมืออย่างไรต่อไป เพราะการกระทำของคณะรัฐประหารพม่าทำให้ทั่วโลกมองว่าอาเซียนไม่มีน้ำยาจะจัดการปัญหาการเมืองในชาติสมาชิก ที่กลายเป็นปัญหาความมั่นคงของทั้งภูมิภาค มีแต่จะทำให้ประชาคมโลกมองว่าอาเซียนเป็นเพียงองค์กรระดับภูมิภาคที่ให้ความสนใจเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ในประเด็นอื่นๆ ทั้งการเมืองและวัฒนธรรมก็มีไว้ในวาระของอาเซียนแค่พอเป็นพิธี แต่ในความเป็นจริง อาเซียนยังยึดนโยบายไม่เข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในชาติสมาชิก

กรณีของพม่าเป็นเครื่องพิสูจน์ประโยชน์ของอาเซียนในฐานะองค์กรที่ป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง เมื่อองค์กรระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ หรือสหภาพยุโรป ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาในพม่าเท่าที่ควร อาเซียนก็ต้องพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าอาเซียนมีดี และในอนาคตจะสามารถพัฒนาไปเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการเมืองที่โปร่งใสได้ เมื่อกัมพูชาเข้ามาเป็นประธานอาเซียนในต้นปี 2022 กัมพูชาก็ออกตัวแรงถึงขั้นที่ฮุน เซน ผู้นำสูงสุดของประเทศ ไปเยือนพม่าอย่างเป็นทางการด้วยตัวเอง แต่ก็ไม่ได้อะไรติดมือกลับมา แม้จะมีนักข่าวถามว่าเหตุใดฮุน เซนจึงไม่ได้ขอเข้าพบด่อ ออง ซาน ซูจี ฮุน เซนตอบเพียงว่า ไม่ได้อยู่ในวาระการไปเยือนในครั้งนั้น นี่อาจเป็นเพียงคำพูดแก้เขินของฮุน เซน เพราะใครๆ ก็รู้ดีว่าในบรรดาภารกิจทั้งหมดของผู้แทนระดับสูงของอาเซียนหรือระดับโลก สิ่งที่ยากที่สุดคือการขอเข้าพบด่อ ออง ซาน ซูจี และผู้เขียนกล้าการันตีได้เลยว่าจะไม่มีผู้นำจากอาเซียน สหประชาชาติ หรือผู้นำประเทศชั้นนำของโลกคนใดที่จะมีโอกาสสนทนากับด่อ ออง ซาน ซูจีอีก อย่างน้อยในช่วงเวลาที่คณะรัฐประหารยังบริหารประเทศอยู่นี้

ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับพม่าในปัจจุบันเข้าขั้นวิกฤต นักวิเคราะห์หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าอาเซียนไม่สามารถกดดันคณะรัฐประหารพม่าได้เลย ในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอาเซียนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ประเด็นเรื่องพม่ายังเป็นประเด็นในการหารือหลัก ก่อนการประชุมไม่กี่สัปดาห์ คณะรัฐประหารเพิ่งประหารชีวิตนักโทษการเมืองไป 4 คน โดยไม่สนใจคำทักท้วงของนานาชาติ ท่าทีแบบเย้ยฟ้าท้าดินของคณะรัฐประหารพม่านี้จะมีผลให้อาเซียนต้องเปลี่ยนท่าทีต่อพม่าและรับมือกับคณะรัฐประหารพม่าให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต

Advertisement

มาถึงตอนนี้ ไม่มีข้อสงสัยแล้วว่าคณะรัฐประหารไม่ได้สนใจอาเซียน เพราะมองว่าอาเซียนเป็นเพียงองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่มีความเข้าใจสถานการณ์และสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพม่า ในระยะยาวคณะรัฐประหารก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาเซียน เพราะรู้ดีว่าอาเซียนไม่มีมาตรการลงโทษพม่า และไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในในพม่าได้อย่างจริงจัง ต่างจากกรณีของ UNTAC (United Nations Transitional Authority in Cambodia) ที่เป็นตัวแทนสหประชาชาติเข้าไปทำหน้าที่รักษาสันติภาพในกัมพูชาในยุคหลังเขมรแดง และยังทำหน้าที่ประหนึ่งรัฐบาลรักษาการ จัดการเลือกตั้ง และยังเข้าไปช่วยกัมพูชาฟื้นฟูประเทศหลังจากเกิดสงครามกลางเมืองต่อเนื่องกันมาหลายสิบปี

แต่พม่าไม่เหมือนกัมพูชา เพราะสมรภูมิการรบในกัมพูชาเป็นส่วนหนึ่งของสงครามเย็น ทำให้กัมพูชาอยู่ในความสนใจของมหาอำนาจของโลก และด้วยสถานการณ์ที่ทำให้มีประชาชนกัมพูชาเสียชีวิตไปหลายล้านคน ย่อมเป็นเงื่อนไขให้สหประชาชาติและรัฐบาลบางประเทศต้องการเข้าไปแทรกแซงและเป็นตัวกลางการเจรจา จนนำไปสู่ข้อตกลงสันติภาพปารีสในปี 1991 ในที่สุด ยุคสงครามเย็นจบไปแล้ว และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่าเป็นสถานการณ์ที่มาจากภายในประเทศ ไม่ได้เป็นสงครามตัวแทนระหว่างชาติมหาอำนาจ ทำให้ไม่มีใครต้องการเข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในพม่า เพราะนอกจากจะใช้งบประมาณมหาศาลแล้ว ก็ไม่ได้การันตีว่าสงครามกลางเมืองในพม่าจะจบลงได้จริงจากการแทรกแซงจากภายนอก

สิ่งที่อาเซียนต้องนำไปขบคิดต่อไปคือ เมื่อไม่สามารถใช้ไม้แข็งกับพม่าได้ (เพราะพม่าโนสนโนแคร์) จะมีวิธีการใดเพื่อกดดันพม่าต่อ แต่ก็ต้องเป็นวิธีการที่ละมุนละม่อมพอ เพราะถึงจุดนี้สงครามกลางเมืองบานปลายออกไปมากแล้ว นับวันก็จะยิ่งมีตัวแสดงเพิ่มขึ้น และมีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image