สุจิตต์ วงษ์เทศ : เมืองศรีเทพ ควบคุมเส้นทางการค้าภายในข้ามภูมิภาค มีความเป็นมาเริ่มแรกราว 3,000 ปีมาแล้ว

ปรางค์สองพี่น้อง ศาสนสถานในวัฒนธรรเขมร อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อ. ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ (ภาพจากเฟซบุ๊กอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ)

เมืองศรีเทพ มีความเป็นมายาวนานหลายพันปีมาแล้ว อาจสรุปย่อที่สุดได้ดังนี้

  1. ราว 3,000 ปีมาแล้ว มีชุมชนเริ่มแรก

มีชุมชนคนดึกดำบรรพ์นับถือศาสนาผี มีผู้หญิงเป็นใหญ่ในพิธีกรรม ทำนาในที่ลุ่ม ปลูกข้าวเหนียว ทำภาชนะดินเผา ฝังศพใต้ถุนเรือนในชุมชน

มีภูเขาศักดิ์สิทธิ์ (เป็นแลนด์มาร์ก) เรียกสมัยหลังว่าเขาถมอรัตน์

  1. ราว 2,500 ปีมาแล้ว ยกย่องหมาเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์

มีคนจากที่อื่นโยกย้ายอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งเพิ่มเติม (เช่น จากลุ่มน้ำโขง ฯลฯ) รู้จักทำโลหะเป็นเครื่องมือเครื่องใช้

Advertisement

เชื่อว่าคนตายแต่ขวัญไม่ตาย ต้องทำพิธีเรียกขวัญคืนร่างแล้วคนจะฟื้น

เชื่อว่าหมาเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นผู้ให้กำเนิดคน และนำพันธุ์ข้าวให้คนปลูกกิน ยกย่องเป็นผู้มีอำนาจพิเศษนำทางผีขวัญของคนตายไปรวมพลังกับผีขวัญบรรพชนที่อยู่บนฟ้า จึงฆ่าหมาเซ่นผีบรรพชนแล้วฝังดินรวมกับศพคนตาย

นักโบราณคดี กรมศิลปากร จึงขุดพบโครงกระดูกหมาฝังรวมกับโครงกระดูกคน ในเมืองศรีเทพ

Advertisement
  1. หลัง พ.ศ. 1000 เติบโตเป็นบ้านเมืองและรัฐ

นับถือศาสนาผีเหมือนแต่ก่อน แล้วรับศาสนาพราหมณ์กับพุทธจากอินเดียเข้ามาผสมด้วย โดยผ่านทางรัฐจินหลิน (อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี) กับรัฐโถโลโปตี (อ. เมือง จ. ลพบุรี) จึงเติบโตเป็นบ้านเมืองและรัฐ

ผู้ชายมีอำนาจมากขึ้น มีการค้ากว้างขวางขึ้น จึงมีคนและมีแรงงานขุดคูน้ำก่อคันดินล้อมรอบชุมชนดั้งเดิมที่อยู่สืบเนื่องมา

ประชากรมีหลายชาติพันธุ์และหลายชาติภาษา พูดหลายภาษา ทั้งจากที่ราบสูงและที่ราบลุ่ม แต่คนชั้นสูงมีอำนาจ ล้วนพูดตระกูลภาษามอญ-เขมร

หลังจากนั้นราวหลัง พ.ศ. 1200 ขยายเครือข่ายถึงลุ่มน้ำชี-มูล บนที่ราบสูงโคราช เป็นเครือญาติกับเชื้อวงศ์ที่ครองเมืองพิมาย (อ. พิมาย) กับเมืองเสมา (อ. สูงเนิน)                     จ. นครราชสีมา

  1. หลัง พ.ศ. 1700 ร่วงโรย รกร้าง

เมืองศรีเทพค่อยๆ ลดความสำคัญ ในที่สุดก็ร่วงโรยแล้วรกร้าง เหมือนรัฐรุ่นเก่าหลายแห่ง เช่น อู่ทอง (สุพรรณบุรี), หลั่งยะสิว (นครปฐม), มโหสถ (ปราจีนบุรี) ฯลฯ

เหตุจากมีศูนย์กลางแห่งใหม่ทางอำนาจการเมืองและการค้า ได้แก่ อโยธยา-ละโว้, สุพรรณภูมิ-อู่ทอง ฯลฯ บรรดาผู้คนพากันโยกย้ายออกจากเมืองศรีเทพไปอยู่อโยธยา-ละโว้ แล้วสืบทอดเป็นกรุงศรีอยุธยา

ไม่เคยพบหลักฐานว่ามีโรคระบาดร้ายแรง และไม่เคยมีปัญหาภัยแล้งรุนแรงจนเมืองล่มจม มีแต่แห้งแล้งในฤดูแล้งตามปกติ

 

คุมการค้าภายในภูมิภาค

เมืองศรีเทพ ตั้งอยู่บริเวณที่เป็นชุมทางเส้นทางคมนาคม ระหว่างลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ที่ราบลุ่ม) กับลุ่มน้ำโขง (ที่ราบสูง) เท่ากับมีอำนาจควบคุมการค้าภายในภูมิภาค มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนยาวนานมากๆ ดังนี้

  1. อยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ซึ่งมีต้นน้ำอยู่ อ. ด่านซ้าย จ. เลย ที่มีช่องเขาติดต่อแม่น้ำโขงที่ อ. เชียงคาน จ. เลย เข้าถึงหลวงพระบาง (อยู่ทางทิศเหนือ) กับเวียงจัน (อยู่ทางทิศตะวันออก) ทั้ง 2 แห่งต่อเนื่องถึงอ่าวตังเกี๋ย (เวียดนาม) กับจีน
  2. อยู่ที่ราบลุ่มต่อเนื่องที่ราบสูงโคราช บริเวณต้นน้ำชี-มูล (ทิวเขาพังเหย) จ. ชัยภูมิ- จ. นครราชสีมา เข้าถึงเมืองพระนครที่โตนเลสาบ (กัมพูชา) กับแม่น้ำโขง ทางจัมปาสัก (ลาว) ออกไปเมืองจาม (เวียดนาม) ได้สะดวก

 

ชื่อศรีเทพ มาจากไหน?

“ศรีเทพ” เป็นชื่อเมืองที่พบในพระราชพงศาวดาร ตามพระนิพนธ์สันนิษฐานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ

ชื่อศรีเทพไม่ได้มีขึ้นมาลอยๆ แต่มีเค้ามูลเก่าแก่เกี่ยวข้องลุ่มน้ำป่าสัก ดังนี้

  1. 1. พันบุตรศรีเทพ (ขุนวรวงศาธิราช) มีในพระราชพงศาวดารอยุธยา ว่าเป็นตำแหน่งพนักงานเฝ้าหอพระ แต่เมื่อสอบสวนทวนความหลักฐานต่างๆ ครบถ้วนแล้ว พบว่าเป็นตำแหน่งนักปราชญ์ประจำราชสำนักครั้งนั้น และเป็นผู้รู้ดูแลคัมภีร์โบราณราชประเพณีต่างๆ

ขุนวรวงศาธิราช (พันบุตรศรีเทพ) เป็นเชื้อวงศ์ละโว้ มีหลักแหล่งและเครือญาติเป็นโขยงอยู่บ้านมหาโลก แหล่งถลุงเหล็ก ลุ่มน้ำป่าสัก เท่ากับเป็นขุมกำลังคนและอาวุธ

  1. 2. หมอศรีเทพ เป็นชื่อตำแหน่ง (คนหนึ่งในจำนวนหลายคน) ในกรมหมอช้าง (หมายถึง ผู้เชี่ยวชาญจับช้าง และเลี้ยงช้าง) มีศักดินา 200 (พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน)
  2. 3. ขุนสีเทพ เป็นชื่อตำแหน่ง (คนหนึ่งในจำนวนหลายคน) ในกรมพระคลังวิเศศ มีศักดินา 800 (พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image