อนิจจัง การเมือง เลือกตั้ง ประธานาธิบดี อนิจจัง เลือกตั้ง

ยังมีลักษณะ “อนิจจัง” ดำรงอยู่ภายในกระสวนแห่งกระบวนการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐในวันที่ 8 พฤศจิกายน

เป็น “อนิจจัง” อันไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอน

แม้ว่าผลจาก “โพล” จำนวนมากหลาย โดยเฉพาะนับแต่การดีเบต 3 ครั้งติดต่อกันจะสำแดง “ทางโน้ม” ค่อนข้างแน่ชัด

แน่ชัดว่า “ฮิลลารี” ชนะ

Advertisement

แน่ชัดว่าคะแนนของ “ทรัมป์” ตกเป็นรอง แต่ก็เป็นรองอย่างไม่ห่างกันมากเท่าใดนัก ทั้งยังไล่ตามหลังรดต้นคอมาอย่างติดๆ

ยิ่งเมื่อ “เอฟบีไอ” แผลงฤทธิ์ ยิ่ง “หวาดเสียว”

เป็นความหวาดเสียวอันบ่งชี้อย่างเด่นชัดว่า อาจทำให้การลงคะแนนในโค้งสุดท้ายนำไปสู่การพลิกผันและแปรเปลี่ยน

Advertisement

โดยเฉพาะในมลรัฐซึ่งตกอยู่ในสภาวะ “สะวิง”

ลักษณะอันเป็น “อนิจจัง” ไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอน ภายในกระสวนแห่งกระบวนการของ “การเลือกตั้ง” นี้เองที่สะท้อนถึงธรรมชาติของ “การเลือกตั้ง”

เพราะเป็นส่วนหนึ่งของ “กลไก” ในทาง “สังคม”

รับรู้กันมาอย่างยาวนานแล้ว กระบวนการทางวิทยาศาสตร์นั้นแยกจำแนกออกได้เป็น 2 สายใหญ่ในทางวิทยาการ

1 วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ 1 วิทยาศาสตร์สังคม

มองอย่างเปรียบเทียบ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติดำรงอยู่อย่างเป็นระบบ เป็นกระบวนการมากกว่าเพราะมีสูตร มีกฎเกณฑ์ที่ค่อนข้างแน่นอน

สามารถตรวจสอบได้ใน “ห้องทดลอง”

ขณะที่วิทยาศาสตร์ “สังคม” มากด้วยความสลับซับซ้อน แม้จะพยายามอิงอยู่กับพื้นฐานอย่างเป็น “ศาสตร์” อันผ่านกระบวนการค้นคว้า วิจัย ก็ตาม

เพราะดำรงอยู่ภายใน “สังคม”

การเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย ระบอบและระบบประชาธิปไตยและดำรงอยู่ภายในพรมแดนแห่ง “วิทยาศาสตร์สังคม”

องค์ประกอบสำคัญของสังคมก็คือ “คน”

ก็อย่างที่มีปราชญ์หลายท่านเคยสรุปอย่างรวบรัดมาแล้วว่า “คนต้องคนให้ทั่ว คนตั้งแต่หัวไปจนถึงตีน จึงจะเรียกว่าคน”

คนคน 1 ก็สลับซับซ้อนอยู่แล้ว คนหลายร้อย หลายพันยิ่งสลับซับซ้อน

มีตัวอย่างมากมายของ “การเลือกตั้ง” แสดงออกอย่างพลิกผัน แปรเปลี่ยน ยากยิ่งที่จะสามารถคาดเดาหรือทำนายได้อย่างแม่นยำ

ตัวอย่าง 1 คือ ประชามติที่ “สหราชอาณาจักร”

ความเชื่อมั่นที่ปรากฏในทางสาธารณะก็คือ แนวโน้มที่จะ “รีเมน” มากกว่าที่จะ “ลีฟ” แต่เมื่อผลออกมาปรากฏว่า “ลีฟ” ประสบชัยชนะ

การเลือกตั้งของไทยเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ก็เช่นเดียวกัน

ใครจะคิดว่าพรรคพลังประชาชนจะได้ชัยชนะ เพราะกะปลกกะเปลี้ยอย่างยิ่งจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

แต่ก็ได้ชัยชนะเหนือ “พรรคประชาธิปัตย์”

การเลือกตั้งของไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ยิ่งมากด้วยความผันผวน ปรวนแปร ใครจะคิดว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ชัยชนะ

เพราะมรสุมจากการยุบพรรคพลังประชาชน

เพราะสภาวะปั่นป่วน โกลาหล เมื่อพันธมิตรในแนวร่วมที่ “คนเสื้อแดง” ถูกสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงในเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

แต่ก็ได้ชัยชนะเหนือ “พรรคประชาธิปัตย์”

กระสวนแห่งกระบวนการของ “การเลือกตั้ง” มากด้วยความสลับซับซ้อน มากด้วยความพลิกผันและแปรเปลี่ยน

ไม่ว่าจะเป็นใน “ไทย” ไม่ว่าจะเป็นใน “สหรัฐ”

ความเชื่อมั่นที่ว่า ฮิลลารี คลินตัน จะกำชัยเหนือ โดนัลด์ ทรัมป์ จึงดำรงอยู่บนพื้นฐานแห่งสภาวะที่ไม่เที่ยงแท้และยังไม่แน่นอน

เพราะว่าการตัดสินใจอยู่กับ “ประชาชน”

“ประชาชน” ต่างหากคือ “ปัจจัย” สำคัญและชี้ขาดผลของ “การเลือกตั้ง”

ภายในความไม่เที่ยงแท้ ภายในความไม่แน่นอน นั้นเองที่ยืนยันในความล้ำเลิศของระบอบ “ประชาธิปไตย”

เพราะ 1 เสียงของประชาชนมาจากความเสมอภาค ความเท่าเทียมกัน เพราะ 1 เสียงของประชาชนเมื่อผนวกตัวรวมพลัง ปรากฏออกมาก็เท่ากับเป็น “เจตจำนงร่วม”

เป็น “อำนาจ” อันยิ่งใหญ่ของ “ประชาชน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image