ชาวนาไทยกับ’สังคมการเมือง’ โดย ปราปต์ บุนปาน


ในหนังสือ “ชาวนาการเมือง:อำนาจในเศรษฐกิจชนบทสมัยใหม่ของไทย” เขียนโดย “แอนดรู วอล์คเกอร์” (แปลโดย “จักรกริช สังขมณี”)

วอล์คเกอร์ นักมานุษยวิทยาซึ่งเดินทางไปศึกษาวิถีการดำรงชีวิตของกลุ่มคนชนบทที่เขาเรียกว่า “ชาวนารายได้ปานกลาง” ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ เสนอว่า ระบบเศรษฐกิจ-การเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้คนกลุ่มนี้มีสถานะเป็น “พลังทางการเมือง” ที่เข้มแข็ง

การมีมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ “สังคมการเมือง” ของ “ชาวนารายได้ปานกลาง” ไม่ได้มีความหมายเชื่อมโยงกับการต่อต้านรัฐในรูป “กบฏชาวนา” อีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นความปรารถนาที่จะสานสายสัมพันธ์กับ “แหล่งอำนาจแบบต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์แก่ตน”

ตามความเห็นของวอล์คเกอร์ มีปัจจัยสี่ประการ ที่ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงนี้ขึ้น

Advertisement

หนึ่ง “ชาวนาไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มีฐานะยากจนอีกต่อไป” ปัญหาที่พวกเขาต้องเผชิญหน้าจึงไม่ใช่เรื่องการขาดแคลนอาหารและการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด แต่คือ

ความพยายามในการสร้างช่องทางอาชีพให้หลากหลายขึ้น และการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตของตนเอง

สอง “ชาวนารายได้ปานกลางมีช่องทางทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย” สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่าสำหรับครัวเรือนจำนวนมากในพื้นที่ชนบท แหล่งรายได้นอกภาคเกษตรกรรมได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ชาวนาจึงไม่ได้ดำรงชีพด้วยการพึ่งพาภาคการเกษตรเป็นหลักอีกแล้ว

Advertisement

สาม “ชาวนากำลังเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่” เพราะแม้รายได้ของผู้คนในพื้นที่ชนบทจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ไม่ได้รวดเร็วเหมือนกับภาคการผลิตอื่นๆ ของระบบเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวเป็นผลมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่เสมอภาค อันนำไปสู่ขีดความสามารถที่ค่อนข้างต่ำในการผลิตของภาคการเกษตร

สี่ “รัฐไทยมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจของชาวนา” ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2510 รัฐบาลไทยพยายามแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจผ่านการให้เงินอุดหนุนแก่ภาคชนบท อันนำมาสู่กรอบความคิดในการต่อสู้ของ “ชาวนารายได้ปานกลาง” ว่าทำอย่างไร พวกเขาจึงจะสามารถดึงเงินอุดหนุนจากภาครัฐมาให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ วอล์คเกอร์ยังเน้นย้ำถึงแนวคิด “สังคมการเมือง” ซึ่งเขาได้รับอิทธิพลมาจาก ปาร์ธา แชทเทอร์จี นักวิชาการอินเดีย

แชทเทอร์จีได้เสนอถึง “สังคมการเมือง” หรือความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างชาวนากับรัฐสมัยใหม่ในทวีปเอเชีย

กล่าวโดยสรุปได้ว่าเพราะความจำเป็นที่รัฐจะต้องบรรเทาความแตกแยกในสังคม อำนาจที่เพิ่มขึ้นของคนชนบทผ่านคูหาเลือกตั้ง ตลอดจนการตระหนักว่าภาคอุตสาหกรรมไม่สามารถจะดูดซับแรงงานที่อพยพออกจากภาคการเกษตรได้หมด

รัฐจึงต้องมีส่วนช่วยในการ “ดำรงรักษากระบวนการผลิตแบบชาวนาและวัฒนธรรมชาวนา” ไม่ว่าจะในรูปของโครงการบรรเทาความยากจน การประกันการจ้างงาน โครงการสินเชื่อขนาดย่อม และการสนับสนุนปัจจัยเพื่อการยังชีพ ซึ่งส่งผลให้เกิดกระบวนการพัฒนาการเกษตรเชิงพาณิชย์ รวมถึงการมีช่องทางอาชีพอันหลากหลายยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน “ชาวนารายได้ปานกลาง” ก็ต้องพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นกับโครงการด้านสวัสดิการต่างๆ ที่รัฐสมัยใหม่จัดหาให้

สิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญสูงสุด ก็คือการมีหลักประกันว่าตนเองจะได้รับส่วนแบ่งจากการสนับสนุนและคุ้มครองโดยรัฐ “อย่างไม่ถูกเลือกปฏิบัติ”

“สังคมการเมือง” เช่นนี้ ย่อมผูกโยงอยู่กับผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มและสายสัมพันธ์ส่วนบุคคล ทั้งยังอาจอยู่ตรงข้ามกับหลักการประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม-สากลนิยม

ด้วยเหตุนี้ “สังคมการเมือง” ที่มี “ชาวนารายได้ปานกลาง” เป็นตัวละครสำคัญ จึงมักถูกประเมินค่าในฐานะสิ่งล้าหลัง ไร้เหตุผล ไม่เป็นไปตามครรลองกฎหมาย

รวมทั้งถูกดูแคลนว่าเป็น “โลกของระบบอุปถัมภ์อันเลยเถิด” และหนุนส่งให้ชาวนาเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองผ่านระบบเลือกตั้งมากเกินไป

นี่คือสภาวะที่ “สังคมการเมืองไทย” กำลังเผชิญอยู่ และคล้ายจะยังหาหนทางคลี่คลายไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image