NUG กับการระดมทุน ทำสงครามสู้กองทัพพม่า โดย ลลิตา หาญวงษ์

หนึ่งในปัจจัยหลักที่ชี้ชะตาคู่ขัดแย้งในสงครามคือทรัพยากร ทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ กำลังคน เทคโนโลยีทางการทหาร และสิ่งที่ค้ำจุนทรัพยากรทั้งหมดนี้ก็คือเงิน ในสงครามกลางเมืองพม่าที่กำลังดำเนินอยู่นี้ มีผู้ตั้งข้อสังเกตอย่างมากว่ากองกำลังฝั่งประชาชน หรือ PDF (People’s Defence Force) จะมีทรัพยากรอะไรไปสู้กับกองกำลังฝั่งคณะรัฐประหาร ที่มีงบประมาณกองทัพมากถึง 3.1 พันล้านเหรียญ หรือ 1 แสนล้านบาท (สถิติปลายปี 2021) หลังเกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย พร้อมการเข้ามาของรัฐบาลพลเรือนภายใต้พรรค NLD งบกลาโหม ของพม่าลดฮวบแบบไม่เคยปรากฏมาก่อน ในปี 2015 ในยุคประธานาธิบดีเต็ง เส่ง กองทัพพม่ายังมีงบประมาณราว 3.8 พันล้านเหรียญ (1.34 แสนล้านบาท) แต่ในปี 2018-2019 งบประมาณส่วนนี้ลดลงไปอยู่ระหว่าง 2.2-2.3 พันเหรียญ (7.7-8.1 หมื่นล้านบาท) คิดเป็นเกือบ 14 เปอร์เซ็นต์ของรายจ่ายทั้งหมดของรัฐบาล และ 3 เปอร์เซ็นต์ของ จีดีพีทั้งประเทศ

แม้งบประมาณของกองทัพในยุครัฐบาล NLD จะลดลง และอาจเป็นสาเหตุที่สร้างความร้าวฉานระหว่างด่อ ออง ซาน ซูจี พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย และผู้นำระดับสูงในกองทัพ แต่ตามรัฐธรรมนูญปี 2008 มาตรา 20(b) กองทัพพม่ายังสามารถสั่งการและควบคุมกิจการภายในของตนเองทั้งหมด หมายความว่าไม่มีใครสามารถตรวจสอบงบประมาณของกองทัพได้ว่าถูกนำไปใช้อย่างถูกต้องหรือโปร่งใสหรือไม่ ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือนที่มีมากขึ้น และข้อเรียกร้องจากภาคประชาสังคมให้ตรวจสอบงบประมาณของกองทัพ ทำให้กองทัพพม่าจำเป็นต้องหารายได้จากแหล่งอื่นๆ นอกเหนือจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่รัฐบาลพลเรือนจัดสรรให้ กองทัพพม่าจึงกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทร่วมทุนหลายแห่ง ทั้งบริษัทด้านพลังงาน และบริษัทที่ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่อื่นๆ ยังไม่นับธุรกิจสีเทาๆ การค้าสิ่งผิดกฎหมาย ประเภทยาเสพติด อาวุธ ฯลฯ

เมื่อพิจารณาจากงบกองทัพ จะเห็นว่ากองทัพพม่ามีความพร้อมด้านทรัพยากรทุกๆ ด้าน เพราะผ่านประสบการณ์การรบกับกลุ่มชาติพันธุ์มาอย่างโชกโชนตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา และจำนวนทหารในกองทัพที่มีมากเกือบ 4 แสนนาย เทียบกับกองกำลัง PDF ที่ประเมินว่าปัจจุบันมีกำลังพลราว 5 หมื่นนาย (ในความเป็นจริงอาจต่ำกว่านี้มาก) และกองกำลังขนาดใหญ่อื่นๆ ที่มีจำนวนพลหลักหมื่น ชี้ให้เห็นว่ากองกำลังฝั่งคณะรัฐประหารถือไพ่เหนือกว่า บวกกับท่อน้ำเลี้ยงหรือบรรดานักธุรกิจทั้งในและนอกประเทศ ทำให้กองทัพพม่ามีสายป่านที่ยาวกว่ากองกำลังฝั่งประชาชนแบบเทียบไม่ติด

สำหรับรัฐบาลคู่ขนาน NUG การหางบประมาณเพื่ออัดฉีดเข้าไปให้กองกำลัง PDF เพื่อต่อต้านกองทัพพม่าเป็นสิ่งที่ยากกว่ามาก วิธีการที่ NUG ใช้ระดมทุนแทบไม่ต่างจากองค์กรการกุศลหรือเอ็นจีโออื่นๆ มีการจัดกิจกรรมเพื่อระดมทุน เช่น การออกสลากกินแบ่งหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Spring Lottery หรือ Nway Oo Lottery พันธบัตรของ NUG หรือวิธีแปลกใหม่อย่างการประกาศขายทรัพย์สินส่วนตัวของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย เช่น บ้านพักในเมืองย่างกุ้งย่านทะเลสาบอินยา ขนาด 1.86 เอเคอร์ (4.7 ไร่) ที่ NUG ประกาศขายที่ 10 ล้านเหรียญ (354 ล้านบาท) หรือ 1 ใน 3 ของราคาตลาด NUG ออกมาประกาศว่าระดมทุนจากการขายบ้านของมิน อ่อง ลาย (ที่แน่นอนว่าไม่ได้ขายจริง) ได้ 2 ล้านเหรียญ ภายใน 72 ชั่วโมง

Advertisement

โดยรวม NUG ระดมทุนได้ไปแล้วประมาณ 42 ล้านเหรียญ (1.4 พันล้านบาท) เงินจำนวนนี้ส่วนหนึ่งใช้เป็นค่าใช้จ่ายของรัฐบาล NUG เอง การจัดหาบริการทางการแพทย์และการศึกษาให้กับประชาชนในพื้นที่สู้รบ และประชาชนที่เข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืน และอีกส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของ PDF ที่ในปัจจุบันมีกองกำลังครอบคลุม 5 เขต ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก และในแต่ละเขตก็แบ่งเป็นกองร้อยย่อยๆ ที่มีอยู่ 259 กองร้อย แน่นอนว่าหาก NUG/PDF มองถึงการต่อสู้ระยะยาว เงินตั้งต้นเพียง 42 ล้านเหรียญคงไม่เพียงพอ และ NUG ก็เข้าใจดีว่าไม่สามารถมีอาวุธหรือกำลังคนทัดเทียมกองทัพพม่าได้ จึงต้องตั้งกองกำลังในรูปแบบอื่น เช่น กองกำลังติดอาวุธของประชาชน ที่ทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้ NUG/PDF และพร้อมโจมตีกองกำลังฝั่งคณะรัฐประหารทุกเมื่อ ในปัจจุบัน การโจมตีกองทัพพม่ายังเป็นไปในแนวสงครามกองโจร คือการซุ่มโจมตี และการลอบสังหารคนที่ PDF เชื่อว่าเป็นสายให้กับกองทัพ หรือเป็นทหารในกองทัพ แต่ในอนาคต อู นาย ทู อ่อง (U Naing Htoo Aung) เลขาธิการถาวรประจำกระทรวงกลาโหมของ NUG ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิรวดี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมว่า แนวทางการสู้รบของ PDF จะให้ความสำคัญกับการโจมตีกองทัพในสเกลที่ใหญ่ขึ้น และสร้างความสูญเสียมากขึ้น จะมีการนำแทคติคทางการทหารและอาวุธที่ซับซ้อนมากขึ้นมาใช้ในการสู้รบ

แม้ตัวเลขจำนวนเงินที่ NUG ได้รับจะดูไม่มากนัก แต่ผู้นำ PDF ก็ยืนยันว่าองค์กรสามารถระดมทุนได้เรื่อยๆ และได้นำเงินที่ได้มาไปซื้ออาวุธที่ทันสมัยมากขึ้นมาสนับสนุนขบวนการต่อต้านคณะรัฐประหาร หรือแม้แต่ตั้งโรงงานผลิตอาวุธของตัวเอง คำถามคือเมื่อไม่มีบริษัทผลิตอาวุธใหญ่ๆ ที่ไหนยอมขายอาวุธให้ PDF ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจากจีน รัสเซีย สหรัฐ อิสราเอล อินเดีย ยูเครน หรือแม้แต่เกาหลีเหนือ และยังไม่มีประเทศใดที่ให้การรับรอง NUG อย่างเป็นทางการด้วย มีผู้วิจารณ์ท่าทีแบบ แบ่งรับแบ่งสู้Ž ของผู้นำฝ่ายประชาธิปไตย ทั้งสหรัฐ และยุโรป ว่าประเทศเหล่านี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างสันติภาพในโลก และไม่ได้สนใจนักว่าเกิดอะไรขึ้นในพม่าบ้าง หากมีบริษัทผลิตอาวุธเพียงบริษัทเดียวที่ตัดสินใจส่งอาวุธเข้าไปให้ PDF ต่อสู้กับกองทัพพม่า สงครามกลางเมืองอาจจบลงภายในไม่กี่เดือนพร้อมกับชัยชนะของกองกำลังฝั่งประชาชนก็เป็นได้

ในปัจจุบัน กองกำลังฝั่งประชาชนซื้ออาวุธผ่านตลาดมืดและจากความช่วยเหลือของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ร่วมเป็นพันธมิตรกับตน รวมทั้งใช้ปืนที่ประกอบขึ้นเอง และระเบิดแสวงเครื่องที่ทำขึ้นมาเองเช่นกัน ภายใน 1 ปี NUG/PDF ใช้เงินเฉพาะด้านการทหารไปแล้ว 30 ล้านเหรียญ แต่ NUG ก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าเกลี่ยงบประมาณไปให้กองกำลัง PDF ในแต่ละพื้นที่ไม่ทันเวลา เป็นเหตุให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการบุกรุกของกองทัพพม่าอย่างรุนแรง ที่สำคัญคือนอกเหนือจาก PDF แล้วยังมีกองกำลังฝั่งประชาชนอื่นๆ อีกหลายกลุ่มที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ NUG และนี่คือความอันตรายที่จะตามมา เราอาจได้ข่าวบ้างแล้วว่ากองกำลังกลุ่มนี้เริ่มสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นสายลับให้กองทัพ หรือมีความสัมพันธ์กับคนในกองทัพ

Advertisement

ดังนั้นสงครามในพม่าตอนนี้จึงไม่ได้เป็นสงครามระหว่างกองทัพพม่ากับ NUG/PDF ที่ผนึกกำลังกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์บางส่วนเท่านั้น แต่ยังมีกองกำลังอื่นๆ ที่ NUG ไม่สามารถควบคุมได้อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image