สุจิตต์ วงษ์เทศ : ไม้จันทน์ ไม้มงคล เกี่ยวข้องความตายและไม่ตาย เวียงจัน เมืองหลวงลาวได้ชื่อจากไม้จันทน์

ต้นจันทน์หอมที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ. ประจวบคีรีขันธ์

ไม้จันทน์ มีกลิ่นหอม ได้รับยกย่องเป็นไม้มงคลที่เกี่ยวข้องทั้งความตาย และความไม่ตาย

เกี่ยวข้องความตาย มีหลายอย่าง ดังนี้

  1. ไม้จันทน์หอม ใช้ประกอบพระโกศกับพระเมรุมาศ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน และพระศพเจ้านายชั้นสูง
  2. ท่อนจันทน์ ใช้สำเร็จโทษเจ้านาย
  3. ดอกไม้จันทน์ ใช้เผาศพตั้งแต่คนชั้นสูงถึงสามัญชน

เกี่ยวข้องความไม่ตาย ได้แก่ แกะเป็นพระพุทธรูป เรียก พระพุทธรูปแก่นจันทน์ และใช้ก่อสร้างอาคารสถานที่มงคลต่างๆ เช่น ตำหนักจันทน์, วังจันทน์, เวียงจันทน์ ฯลฯ

เวียงจัน ได้ชื่อจากไม้จันทน์

Advertisement

เวียงจัน เมืองหลวงของลาว สะกดตามอักขรวิธีลาว ตรงกับอักขรวิธีไทยว่า เวียงจันทน์ หมายถึง เมืองที่มีกำแพงล้อมรอบด้วยไม้จันทน์หอม

ชื่อนี้ไม่ได้ตั้งขึ้นลอยๆ ให้ดูงามเท่านั้น แต่มีนิทานกำกับไว้ด้วยอายุมากกว่า 500 ปีมาแล้ว เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ในตำนานอุรังคธาตุ ซึ่งเป็นเอกสารเก่าแก่และสำคัญมากของบ้านเมืองดั้งเดิมบริเวณลุ่มน้ำโขง

เวียงจัน ในตำนานอุรังคธาตุ

Advertisement

ชาวนาคนหนึ่งชื่อ บุรีจัน เป็นชายผิวดำ ร่างใหญ่ มีใจเป็นกุศล ชอบทำบุญทำทาน มีอาชีพทำนาอยู่บริเวณที่ได้ชื่อภายหลังว่า “หนองคันแทเสื้อน้ำ”

[คันแท แปลว่า คันนา, เสื้อน้ำ แปลว่า ผีน้ำ]

ด้วยบุญญาธิการ บรรดานาคกับเทวดาพากันเนรมิตเวียงทำด้วยไม้จันทน์ “หอมรอบพระนคร” ให้บุรีจันเป็นเจ้าครอง แล้วเรียกชื่อเมืองว่า “เวียงจันทบุรี”

[สรุปจากหนังสืออุรังคธาตุ (หรือตำนานพระธาตุพนม)]

เวียง เป็นคำในตระกูลไต-ไท หมายถึง บริเวณทั้งหมดที่มีกำแพงล้อมรอบ

จันทน์ มาจากคำบาลีว่า “จนฺทน” (จัน-ทะ-นะ) แปลว่า ต้นจันทน์, ไม้จันทน์ หรือน้ำมันจันทน์ หรือเครื่องหอมกลิ่นจันทน์ (พจนานุกรมบาลี-ไทย ฉบับภูมิพโลภิกขุ พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. 2547 หน้า 42)

ยังไม่พบคำบอกเล่าว่าเวียงจันไปเกี่ยวข้องกับพระจันทร์หรือดวงจันทร์ จึงไม่เขียนว่าเวียงจันทร์ ตามที่มีผู้เขียนผิดพลาดบ่อยๆ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image