ที่เห็นและเป็นไป : ความสำคัญของ ‘งบประมาณ’

ที่เห็นและเป็นไป : ความสำคัญของ ‘งบประมาณ’

 

ความสำคัญของ ‘งบประมาณ’

สภาผู้แทนราษฎรเพิ่งผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วาระ 2-3 ไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
เหมือนไม่มีอะไรน่าสนใจ เพราะทุกคนทุกฝ่ายเห็นว่าการเห็นชอบให้ประกาศใช้ พ.ร.บ.นี้เป็นเรื่องจำเป็น ไม่มีใครอยากให้ติดขัด ด้วยเหตุผลว่าจะทำให้การจัดการประเทศสะดุด ส่งผลต่อการทำงานของราชการ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งสิ้น

ด้วยเหตุผลนี้จึงเหมือนเป็นประเพณีปฏิบัติว่า ส.ส.จะต้องร่วมมือกันให้รัฐบาลได้ใช้งบประมาณ

Advertisement

อีกทั้งเป็นที่รู้กันดีว่าการจัดสรรงบประมาณแต่ละกระทรวงที่จะกระจายไปตามหน่วยงานต่างๆ นั้น มีส่วนหนึ่งที่เป็นของกำนัลให้ ส.ส.ทุกคนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน แม้ว่าทางนิตินัยการใช้จ่ายเงินจะมีหน่วยงานราชการหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นเจ้าของ

แต่ในทางพฤตินัยที่บางโครงการที่เป็นการพัฒนาพื้นที่ยกให้ ส.ส.เป็นเจ้าของ

แน่นอนความเป็นเจ้าของนั้นทำให้ ส.ส.ได้ผลประโยชน์ในหลายมิติ อย่างน้อยได้อ้างชื่อว่าเป็นผู้เสนอ

Advertisement

โครงการเพื่อการพัฒนาในพื้นที่ซึ่งสามารถใช้สร้างคะแนนนิยมได้

และผลประโยชน์อื่นๆ ซึ่งขอผ่านรายละเอียดไป ด้วยที่จะพูดถึงแลกเปลี่ยนในวันนี้ เป็นความคิดที่เกิดจากการได้ติดตามฟังเนื้อหาการอภิปรายในสภาช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา

เป็นการอภิปรายเพื่อเสนอให้มีการตัดงบประมาณในกระทรวง กรม และหน่วยงานต่างๆ จากรายละเอียดแต่ละมาตราใน พ.ร.บ.นี้

หากติดตามอย่างต่อเนื่องจะพบว่าที่ ส.ส.ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาลที่รุมเสนอให้ลดตัวเลขของงบประมาณในแต่ละกรม กองนั้นมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง

อาจจะมีอยู่บ้าง ที่ ส.ส.บางคนเพียงลุกขึ้นมาพูดเพื่อเอาใจคนในพื้นที่เจตนาสร้างคะแนนนิยม หรือบ้างพอจับใจความได้ว่ามีวาระซ่อนเร้นบางอย่างเป็นเบื้องหลังให้ออกมาโจมตีหน่วยงานเป็นการเฉพาะ

แต่หากมองผ่านการอภิปรายแบบนั้นไป แล้วมาโฟกัสที่เนื้อหาของ ส.ส.ส่วนใหญ่ที่ได้รับข้อมูล หรือทำการบ้านโดยวิเคราะห์สาระของงบประมาณมาพอสมควร จะพบว่าเป็นภาพรวมของสาระเป็นประโยชน์อย่างมาก ยิ่งผู้ที่ติดตาม และคิดตามอย่างต่อเนื่องจะรับรู้ว่า

ภาพรวมของการตั้งงบประมาณนั้น จะสะท้อนชัดเจนว่ารัฐบาลจะบริหารประเทศอย่างไร เนื่องจากทิศทางของประเทศจะไปทางไหน จะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอันหมายถึงทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรือง ชีวิตของประชาชนมีความหวังกับอนาคตในทางที่จะอยู่ดีมีสุข ก้าวหน้าในการทำมาหากินได้หรือไม่
การตั้งทำงบประมาณจะให้ภาพชัดเจนว่าจะมีความหวังจากการบริหารงานของรัฐบาลหรือไม่

ต้องยอมรับว่าการอภิปรายงบประมาณคราวนี้ แม้ผลประโยชน์ที่แบ่งสรรให้ ส.ส.ทั่วหน้าจะทำให้อะไรต่ออะไรถูกเบี่ยงเบนไปไม่น้อย แต่หากพูดกันถึงเนื้อหาโดยรวมแล้ว มีส่วนของการตรวจสอบมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะมี ส.ส.ในสัดส่วนของคนรุ่นที่เป็นคุณภาพใหม่เข้ามาทำหน้าที่มากขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดเรียงหมวดหมู่ของงบประมาณให้เกิดความชัดเจนในการสะท้อนทิศทางประเทศ จนสามารถอธิบายให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น

ดังนั้นจึงเป็นการอภิปรายงบประมาณที่ทำให้เห็นความหวัง ว่าปีต่อๆ ไป รูปแบบ และคุณภาพการอภิปรายจะชี้ภาพให้ประชาชนเห็นได้ชัดขึ้นว่า ในแต่ละปีรัฐบาลจัดวางทิศทางการบริหารประเทศผ่านการจัดงบประมาณไว้อย่างไร

การให้ภาพดังกล่าวกับประชาชน จะทำให้คนทั่วไปได้เรียนรู้ว่าการเมืองมีผลอย่างไรต่อความเป็นอยู่ และความหวังในอนาคตของชีวิต

และบางทีหากการอภิปรายไม่ใช่แค่ให้เวลาคนละ 7 นาที เพื่อเล่าถึงคำแปรญัตติที่สงวนไว้อย่างย่นย่อ ที่อาจจะทำให้ไม่กระจ่างในความเข้าใจ แต่เป็นการใช้เวลาพอที่จะฉายให้เห็นทิศทางการใช้งบประมาณที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ และการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน

หากจะทำให้การอภิปรายงบประมาณเป็นการตอกย้ำภาพรวมขยายจากวาระรับหลักการ โดยไม่ถูกจำกัดในเรื่องของเวลา

น่าจะเป็นประโยชน์ต่อความเข้าใจของประชาชนว่าเงินทองของประเทศถูกรัฐบาลใช้ไปกับอะไร เหมาะสมหรือไม่

บางทีอาจจะเป็นบทบาทของ ส.ส.ที่น่าสนใจไม่แพ้การอภิปรายไม่ไว้วางใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image