รัฐศาสตร์การเมืองเรื่องข้าว โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ข้าวเป็นพืชการเมืองไม่ใช่พืชเศรษฐกิจเท่านั้นมาแต่ไหนแต่ไร เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ข้าวเป็นสาเหตุอันหนึ่งที่ทำให้อังกฤษส่ง เซอร์ จอห์น เบาว์ริ่ง ผู้ว่าการเกาะฮ่องกงและอัครราชทูตประจำปักกิ่ง นำเรือปืนมาบังคับให้ไทยยกเลิกการผูกขาดการส่งออกและการนำเข้าของพระคลังสินค้า ข้าวสารราคาแพงขึ้น เกิดการร้องเรียนของคนในกรุง จนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวออกประกาศพระบรมราชโองการตำหนิคนกรุงที่ต้องการบริโภคข้าวราคาถูกบนความเดือดร้อนของชาวนา ข้าวไทยราคาแพงและขึ้นลงตามราคาตลาดโลกหลังจากนั้นเป็นต้นมา

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษถือว่าไทยเป็นประเทศแพ้สงคราม เพราะรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามเข้าร่วมกับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับพันธมิตร อังกฤษจึงเรียกค่าปฏิกรรมสงคราม ให้รัฐบาลไทยส่งมอบข้าวสาร 1 ล้านตันให้รัฐบาลอินเดีย ที่ผลิตข้าวไม่เพียงพอในการบริโภค ขณะนั้นอินเดีย ปากีสถานและศรีลังกาหรือซีลอน ต่างก็เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ราคาข้าวในตลาดโลกสูงมากเพราะผลของสงคราม รัฐบาลจึงเก็บภาษีขาออกและพรีเมียมหรือค่าธรรมเนียมการส่งออก ข้าว ราคาข้าวเปลือกในประเทศจึงตกลงประมาณครึ่งหนึ่งของราคาตลาดโลก

พรีเมียมข้าวและภาษีขาออกข้าวดำรงคงอยู่มาเรื่อยๆ ไม่มีรัฐบาลไหนกล้ายกเลิกและมีคำอธิบายผิดๆ มาเรื่อยว่า ถ้ารัฐบาลยกเลิกภาษีขาออกและพรีเมียมหรือค่าธรรมเนียมการส่งออกแล้ว ราคาส่งออกก็จะตกเป็นประโยชน์กับประเทศผู้นำเข้า

ราคาข้าวจึงตกต่ำลงอย่างหนักหลังวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่ 2 รัฐบาลทุกรัฐบาลจึงเดือดร้อน อาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เขียนลงในคอลัมน์ “ซอยสวนพลู” ว่า “ทุกข์ของชาวนา คือทุกข์ของแผ่นดิน” รัฐบาลจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องทำอะไรสักอย่างหรือหลายอย่าง ขณะที่รัฐบาลไม่มีเงินเลย ฐานะการคลังอ่อนแออย่างหนักเพราะภาษีเก็บไม่ได้ตามเป้าหมาย ต้องปรับงบประมาณกลางปีลง บางเดือนรัฐบาลขาดเงินสดจ่ายเงินเดือนเพราะเงินคงคลังใช้จนหมดแล้ว ต้องขอยืมโรงงานยาสูบมาชดเชยการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ

Advertisement

ขณะเดียวกัน ราคาข้าวเปลือกก็ตกต่ำลงอย่างหนัก ข้าวความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์ ข้าวเปียกน้ำ ราคาเหลือเกวียนละ 1,800 บาท ในขณะที่ราคาประกันของรัฐบาลเกวียนละ 5,000 บาท

รัฐบาลขณะนั้นโดยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เสนอมาตรการออกกฎกระทรวงตามความใน พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ.2489 ห้ามไม่ให้โรงสีรับซื้อข้าวชาวนาต่ำกว่าเกวียนละ 5,000 บาท มิฉะนั้นจะมีโทษทางอาญา เมื่อชาวนาเอาข้าวไปขายจะเอาราคาเกวียนละ 5,000 บาท เพราะฟังวิทยุมาว่าใครซื้อต่ำกว่าราคานี้จะมีโทษทางอาญา เถ้าแก่โรงสีจึงบอกชาวนาว่า “ลื้อเอาไปขายให้กับวิทยุก็แล้วกัน อั๊วซื้อได้เกวียนละ 2,500 บาทตามราคาตลาดเท่านั้น” รัฐบาลนี้ก็จะทำอย่างเดียวกันโดยให้โรงสีและนักการเมืองเป็นผู้ร้าย เอาทหารไปตรวจว่ามีโรงสีร่วมมือกับนักการเมืองกดราคาข้าวเปลือกหรือไม่ ทุกครั้งที่ข้าวเปลือกราคาตกต่ำโรงสีจะถูกจับเป็น “แพะรับบาป” ส่วนพ่อค้าคนกลางซึ่งส่วนใหญ่คือเจ้าของรถสิบล้อ เจ้าของรถสิบล้อเกือบทั้งหมดก็คือตำรวจทางหลวง แต่รัฐบาลและสื่อคงจะเกรงใจตำรวจเกือบทั้งหมด โรงสีจึงกลายเป็นผู้รับบาป ทั้งๆ ที่โรงสีเป็นกลไกสำคัญอันหนึ่งของตลาดข้าวรองลงมาจากผู้ส่งออก ที่จะต้องไปแข่งขันกับนายหน้าค้าข้าวของประเทศอื่นๆ ในตลาดข้าว ที่เขามีทางเลือกว่าจะเอาข้าวไทย ข้าวอินเดียหรือข้าวเวียดนามส่งมอบ สำหรับข้าวนาปรังคุณภาพต่ำ

ข้าวจึงเป็นพืชการเมืองตลอดมา โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางอันเป็นพื้นที่ของพรรคชาติไทย ทั้งที่เป็นชาวนาในเขตเกษตรก้าวหน้าเพราะอยู่ในเขตชลประทาน ได้น้ำใช้โดยไม่ต้องเสียค่าน้ำเหมือนประเทศอื่นๆ ทำข้าวนาปรังได้ 2 ปี 5 ครั้ง เป็นข้าวคุณภาพต่ำไม่ไวแสง ทำเป็นข้าวนึ่งส่งออกไปขายประเทศตะวันออกกลาง ปากีสถาน อัฟกานิสถาน ซึ่งเขาผลิตข้าวบัสมาตีคุณภาพสูงส่งออก แล้วนำเข้าข้าวนึ่งคุณภาพต่ำจากไทยและเวียดนามเข้ามาบริโภค นอกนั้นก็สีเป็นข้าวสารส่งไปขายฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียสำหรับคนยากจนที่บริโภคข้าวราคาถูก ที่เหลือก็เอาไปทำแป้ง

Advertisement

ส่วนตลาดที่ประชาชนมีกำลังซื้อสูง เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ส่วนหนึ่งนิยมบริโภคข้าวหอมมะลิ อีกส่วนหนึ่งนิยมข้าวค่อนข้างแข็งจากจีน

เมื่อข้าวเปลือกราคาตก ซึ่งมักจะเป็นเช่นนั้นทุกปีตอนต้นฤดูเก็บเกี่ยว คือช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนไปถึงต้นเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด ก็จะมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาแทรกแซงตลาดข้าวด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการประกันราคาหรือรับจำนำราคาข้าวเปลือก เมื่อรัฐบาลหอบเงินออกไปซื้อข้าวเปลือก แล้วมาฝากไว้ในยุ้งฉางของโรงสี โรงสีก็จะได้ค่าเช่าโกดัง ค่าขนส่ง ค่าข้าวเสื่อมคุณภาพ ในขณะเดียวกันโรงสีก็ลดการซื้อข้าวเปลือกเข้ายุ้งฉางเพื่อหมุนเวียนในธุรกิจโรงสี แต่ใช้ข้าวของรัฐบาลหมุนเวียนแทนข้าวของตนเอง

ด้วยเหตุนี้สต๊อกข้าวทั้งระบบจึงเท่าเดิม ยกเว้นในช่วงที่รัฐบาลประกาศใช้นโยบายจำนำข้าว รัฐบาลไม่สามารถส่งออกได้เพราะข้าวรัฐบาลราคาแพงกว่าข้าวในท้องตลาด ข้าวของรัฐบาลจึงเหลืออยู่เป็นจำนวนมากกว่า 10 ล้านตัน

ขณะนี้บรรยากาศกำลังเร่าร้อนเพราะข่าวเรื่องราคาข้าวเปลือกตกหนัก รัฐบาลเผลอไปกล่าวว่าโรงสีและพ่อค้าคนกลางเป็นคนกดราคาข้าวเปลือก ซึ่งไม่เป็นความจริง อย่างที่กล่าวแล้วคือราคาข้าวเปลือกข้าวสารซึ่งสัมพันธ์กันและถูกกำหนดโดยราคาตลาดโลก ซึ่งก็ตกต่ำตามบรรดาสินค้าเกษตรทั่วไปทั้งหมด ไม่มีใครกดหรือดึงราคาได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงสี ผู้ส่งออกหรือรัฐบาล

นโยบายของรัฐบาลจึงควรตั้งอยู่บนความจริงว่า ไม่มีใครทำราคาอย่างไรได้ ไม่ว่าโรงสี คนกลางหรือผู้ส่งออกในด้านผู้ซื้อ ในด้านผู้ขายคือชาวนา สหกรณ์ รวมทั้งรัฐบาล กล่าวคือ price policy นั้นใช้ไม่ได้ผล วิธีเดียวที่จะดึงราคาข้าวเปลือกได้ก็คือ “ชดเชยการส่งออก” หรือนโยบาย “export subsidy” เพราะไม่ได้ผูกพันการค้าเสรีสำหรับสินค้าเกษตรกับองค์การค้าโลก แต่นโยบายการอุดหนุนหรือชดเชยการส่งออก สำหรับประเทศไทยคงทำไม่ได้เพราะการเมืองรับไม่ได้ เพราะผู้รับเงินชดเชยหรืออุดหนุนการส่งออกคือผู้ส่งออก อธิบายให้คนเข้าใจได้ยากกว่า การชดเชยราคาส่งออกก็เหมือนกับการยกราคาส่งออกขึ้นให้สูงกว่าราคาตลาดโลก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการทำให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศตกต่ำ ถ้าขืนทำรัฐบาลก็คงอยู่ไม่ได้ เพราะดูเหมือนแทนที่จะใช้เงินช่วยชาวนาแต่กลับไปช่วยผู้ส่งออก การเมืองคงรับไม่ได้

เมื่อ “นโยบายราคา” ใช้ไม่ได้ตามหลักวิธีเศรษฐศาสตร์ ก็คงเหลือ “นโยบายรายได้” ตามหลักวิธีรัฐศาสตร์ กล่าวคือทำมาตรการหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน เช่น การให้สินเชื่อราคาถูกให้ชาวนากักตุนข้าวเปลือกเอง ให้ชาวนาสีข้าวไว้บริโภคเอง รับจำนำยุ้งฉางทั้งๆ ที่ชาวนาปกติไม่มียุ้งฉาง แต่ต่อไปนี้จะได้เห็นชาวนามียุ้งฉาง สามารถจำนำได้โดยเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.ออกใบประทวนรับจำนำให้ เอากุญแจมาคล้องและมาเฝ้ายุ้งฉางของชาวนา เพราะการจำนำยุ้งฉางผู้รับจำนำต้องรับมอบสิทธิครอบครอง ถ้าข้าวหายผู้รับจำนำต้องรับผิดชอบ

คำนวณแล้วดูจะยุ่งๆ ก็ยังดีกว่านโยบายรับจำนำทุกเมล็ด เพราะไม่สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินที่จะต้องตั้งงบประมาณใช้หนี้ ธ.ก.ส.เป็นแสนล้านอย่างที่เคยทำมา ธ.ก.ส.จะเป็นหน่วยงานที่ได้ประโยชน์มากที่สุด ส่วนชาวนานั้นก็คงจะขายข้าวเปลือกเมื่อสีได้ให้กับพ่อค้าคนกลางเจ้าของรถ 10 ล้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของตำรวจ นำไปขายต่อให้กับโรงสี โรงสีก็สต๊อกข้าวตามปกติเพื่อส่งให้พ่อค้าปลีกข้าวสารและผู้ส่งออก แล้วก็ไปรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลไร่ละ 1,000 บาท ไร่หนึ่งผลิตได้ 800 กก.บวกค่าเกี่ยว ค่าขนส่ง ค่าเก็บรักษา โดยไม่ต้องเก็บรักษารวมแล้วก็ประมาณ 12,000-13,000 บาท โดยรัฐบาลจัดงบประมาณที่ใช้จ่ายเพื่อการนี้ประมาณ 26,000 ล้านบาท ก็น่าจะเป็นที่พอใจกับทุกฝ่าย

รัฐศาสตร์การเมือง คือการทำอย่างไรที่จะทำให้ทุกฝ่ายพอใจภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ คืองบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชน ไม่มีใครได้ทั้งหมดหรือเสียทั้งหมดและไม่เป็นปัญหาการเมืองในระยะยาว

ส่วนเศรษฐศาสตร์การเมือง คือทำอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนเป้าหมายได้ทั้งหมด แต่ทำไปทำมามักจะหลงไปเป็นธุรกิจการเมืองที่การเงินการคลังของประเทศรับไม่ได้ แต่จะกลายเป็นปัญหาการเมืองในระยะยาว เพราะเศรษฐศาสตร์การเมืองมักจะกลายเป็นธุรกิจการเมืองได้โดยง่าย เพราะระบบควบคุมที่ดีไม่พอ เกิดความสงสัยมากมายจนเกิดความไม่พอใจ กับกลุ่มประชาชนผู้เสียภาษี เพราะทนไม่ได้กับข่าวความเสียหายที่เห็นอยู่ตำตาจากข่าว จากสื่อกระแสหลักทางหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์

นโยบายข้าวของรัฐบาลทหารจึงเป็นนโยบายที่ใช้หลักรัฐศาสตร์การเมือง คือทำอย่างไรก็ได้ให้ทุกฝ่ายพอใจ ภายใต้ข้อจำกัดของทรัพยากรทางการเงิน นโยบายบางอย่างปฏิบัติไม่ได้แต่ทุกฝ่ายพอใจ รัฐบาลก็ไม่เสียงบประมาณหรือเสียบ้างก็ไม่มาก การคลังของประเทศพอรับได้

เนื่องจาก “ข้าว” เป็นพืชการเมืองแท้ๆ เพราะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากและมีปริมาณการผลิตมาก จะใช้หลัก “เศรษฐศาสตร์” อย่างเดียวไม่ได้ ต้องหนักไปทางใช้หลัก “รัฐศาสตร์” จึงจะเอาตัวรอดไปได้

เมื่อกลไกการตลาดทำงาน การผลิตก็คงลดลงจนเกิดความสมดุลระหว่างความต้องการและการผลิตในระยะยาว โดยที่รัฐบาลไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับราคา แต่ไปช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของ “ชาวนา” ก็พอ

ขอให้อดทน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image