สะพานแห่งกาลเวลา : ‘ดูมสโครลลิ่ง’ โรคเสพติดโซเชียล!

(ภาพ-Unsplash)

สะพานแห่งกาลเวลา : ‘ดูมสโครลลิ่ง’ โรคเสพติดโซเชียล!

เมื่อเร็วๆ นี้ปรากฏรายงานผลการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งน่าสนใจอย่างมากในวารสารวิชาการ เฮลธ์ คอมมูนิเคชันเป็นผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้วิจัยเรียกว่า “การเสพข่าวแบบที่มีปัญหา”

เรียกกันง่ายๆ เป็นการทั่วไปว่า “ดูมสโครลลิ่ง” (Doomscrolling)

“ข่าว” ในที่นี้คือทุกอย่างที่ไหลบ่าผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้งหลายเข้ามารายล้อมรอบตัวเราอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านทวิตเตอร์ ไลน์ อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก ยูทูบ ฯลฯ

เป็นข่าวสารพัดชนิดที่ล้วน “ถูกออกแบบมา” เพื่อเรียกความสนใจ เร้าความอยากรู้อยากเห็น และทำทุกอย่างเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ “ง่าย” และ “รวดเร็ว” ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

Advertisement

ผู้ทำวิจัยชิ้นนี้ คือ ไบรอัน แมคลาฟลิน รองศาสตราจารย์ด้านการโฆษณา ประจำ คอลเลจ ออฟ มีเดีย แอนด์ คอมมูนิเคชัน ของมหาวิทยาลัยเท็กซัส เทค
ในสหรัฐอเมริกา พร้อมคณะ ที่ประกอบด้วย แพทย์หญิงเมลิสสา ก็อตลีบ กับนายแพทย์เดวิน มิลส์

วิธีการวิจัยคือ การขอให้กลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถามออนไลน์ เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้งานและความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มตัวอย่างกับการเสพข่าว 24 ชั่วโมงผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ก่อนที่จะมีชุดคำถามต่อเนื่องเกี่ยวกับสุขภาพทางกายและสุขภาวะทางจิตใจของกลุ่มตัวอย่างเหล่านั้น ซึ่งเป็นผู้ใหญ่เต็มวัย ไม่จำกัดเพศ รวมทั้งหมด 1,100 คน

ตัวอย่างของคำถามในแบบสอบถามมีอาทิ การให้ระบุว่าเห็นด้วยหรือไม่ ในข้อความที่ว่า “ฉันหมกมุ่นอยู่กับข่าวเสียจนไม่สนใจโลกรอบตัว” หรือ “ในหัวฉันคิดแต่เรื่องเกี่ยวกับข่าว” หรือ “ฉันพบว่ายากมากที่จะเลิกดูหรืออ่านข่าวต่างๆ” และ “ฉันไม่ใส่ใจกับงานหรือการเล่าเรียนอีกต่อไปเพราะการอ่านหรือการดูข่าวทั้งหลาย” เป็นต้น

Advertisement

ผลจากการสำรวจดังกล่าว ทีมวิจัยพบว่ามีผู้ใช้โซเชียลมีเดียสูงถึง 16.5 เปอร์เซ็นต์ ที่แสดงให้เห็น หรือส่อให้เห็นว่ากำลัง “มีปัญหาอย่างหนัก” กับการบริโภคข่าวสารต่างๆ

มีปัญหาเพราะว่า “เนื้อหาของข่าวเข้ามาครอบงำความคิดในยามตื่นของเขาตลอดเวลา, ข่าวกลายเป็นปัญหาทำให้เวลาที่ใช้กับครอบครัวปั่นป่วนผันผวน, ข่าวเบนความสนใจของเจ้าตัวออกจากหน้าที่การงานหรือการร่ำเรียน, การเสพข่าวทำให้เจ้าตัวพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือสาหัสถึงขนาดทำให้นอนไม่หลับ”

แมคลาฟลินอธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับบางคน เนื้อหาของข่าวที่กำลังคลี่คลายขยายตัวไปในทิศทางหนึ่งทางใด ก่อให้ผู้เสพตกอยู่ในภาวะ “ตื่นตัวสูงอยู่ตลอดเวลา” เข้าไปกระตุ้นแรงขับให้สำรวจตรวจตราภายในตัวให้เพิ่มขึ้นสู่สภาวะ “โอเวอร์ไดรฟ์” อยู่อย่างต่อเนื่อง

ในเวลาเดียวกันก็ส่งผลกระทบทางจิตใจ ก่อให้เกิดความรู้สึกว่า “โลกนี้ช่างเป็นสถานที่ที่มืดมน และเต็มไปด้วยภัยอันตรายสารพัดรูปแบบ” มากขึ้นทุกที

สำหรับคนกลุ่มนี้ เนื้อหาของข่าวที่กำลังเปลี่ยนแปลง ผันแปรไป กลายเป็นตัวการให้เกิด “วัฏจักรที่ชั่วร้าย” ขึ้น กล่าวคือ แทนที่จะเลิกเสพ เลิกดู กลับถูกดึงดูดเข้าไปในเนื้อหาข่าวนั้นๆ มากขึ้น หมกมุ่นมากขึ้น ตรวจสอบเพื่อหาความคืบหน้าของข่าวอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อบรรเทาแรงกดดันทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากข่าวเหล่านั้น

แต่การใส่ใจติดตามแบบลืมกินลืมนอนที่ว่านั้นกลับไม่ได้ช่วยอะไร หนำซ้ำยังทำให้ต้องตรวจเช็กมากขึ้นไปอีก จนกลายเป็นพฤติกรรมที่เข้าไปแทรกแซงพฤติกรรมด้านอื่นๆ ที่เราเคยทำในชีวิตประจำวัน

นอนน้อยหรือไม่หลับไม่นอน จนกลายเป็นกิจวัตร เรื่อยไปจนถึงการปิดตัวเองจากผู้คนรอบข้างมากขึ้น

ในโลกยุคที่เต็มไปด้วยข่าวร้ายๆ ไม่มีวันสิ้นสุด อย่างเช่น ข่าวการแพร่ระบาดของโควิด, ข่าวสงคราม, ข่าวอาชญากรรมต่างๆ, ข่าวความรุนแรงในครอบครัว การเลิกรา หย่าร้าง ฯลฯ ทำให้การติดตามเสพข่าวตลอด 24 ชั่วโมงผ่านโซเชียลมีเดีย นอกจากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพกายแล้วยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตของคนบางคนอย่างมากอีกด้วย

แมคลาฟลินไม่ได้เสนอแนะทางแก้ให้เลิกเสพข่าวไปทั้งหมดนะครับ ตรงกันข้าม เขาเชื่อว่าผลจากการศึกษาวิจัยชิ้นนี้ แสดงให้เห็นว่า “มีความจำเป็น” ที่ต้องใส่ใจรณรงค์เพื่อให้ผู้คนที่เสพข่าวสารทั้งหลายสามารถพัฒนาสิ่งที่ผู้วิจัยเรียกว่า “ความสัมพันธ์กับข่าวแบบมีสุขภาวะ” ขึ้นมา

ต้องเตือนให้เรียนรู้และตระหนักว่า การเสพข่าวไม่ควรมากจนถึงขนาดบั่นทอนสุขภาพ หรือปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญๆ เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของแต่ละคน

บางที การวางสมาร์ทโฟนลง, ไม่เปิดใช้งาน หรือไม่ก็ปล่อยมันไว้เฉยๆ เสียบ้าง ก็เป็นเรื่องดีครับ

ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image