74 ปีหลังพม่าได้รับเอกราช ลัทธิชาตินิยมของคนขี้ระแวงยังคงอยู่ โดย ลลิตา หาญวงษ์

หลายคนที่ไม่เข้าใจสังคมและผู้คนในพม่ามักมองว่าคนพม่ามีลักษณะคล้ายคนไทย เพราะต่างเป็นสังคมแบบพุทธ อาจจะต่างบ้างตรงที่คนพุทธในพม่าดูจะเคร่งครัดกว่า ผู้คนมีวิถีชีวิตที่ผูกติดกับพุทธศาสนาแบบแนบแน่น หลายปีที่ผ่านมา หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองหลายครั้ง ทั้งในยุครัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของพรรค NLD ที่ถูกคาดการณ์ว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และจะเปลี่ยนให้พม่าเป็นสังคมประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบ มาจนถึงรัฐประหารล่าสุดในต้นปี 2021 คำถามที่เกิดขึ้นในหัวของผู้เขียนคือ อะไรเล่าที่ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นในพม่าบ่อยครั้ง ไม่ว่าพม่าจะอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลพลเรือน ก็จะมีเหตุการณ์ที่ท้าทายความสามารถของผู้นำและยิ่งท้าทายการทำให้เป็นประชาธิปไตยในพม่าไม่เคยขาด

ที่เด่นที่สุดคงเป็นการกวาดล้างชาวโรฮีนจาที่มีมาตลอดหลายสิบปี แต่มาปะทุจนกลายเป็นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี 2017 ผลักให้ชาวโรฮีนจานับล้านคนต้องหนีเข้าไปในเขตบังกลาเทศ หมู่บ้านชาวโรฮีนจาจำนวนมากถูกเผาทำลาย และมีกรณีการสังหารหมู่ชาวโรฮีนจาเกิดขึ้นหลายครั้ง อย่าลืมนะคะว่าเรื่องราวช็อกโลกในครั้งนั้นเกิดขึ้นในยุครัฐบาลพลเรือน ภายใต้การนำของด่อ ออง ซาน ซูจี ผู้ที่คนทั่วโลกให้ความเคารพและถือว่าเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของประชาธิปไตย เทียบเท่าอดีตประธานาธิบดี เนลสัน แมนเดลา แห่งแอฟริกาใต้เลยทีเดียว การปราบปรามชาวโรฮีนจาเป็นปฏิบัติการของกองทัพพม่า ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล เพราะหากรัฐบาลพลเรือนไม่เห็นด้วย อย่างน้อยๆ ก็คงจะมีแถลงการณ์ออกมาประณามกองทัพกันบ้าง แต่นอกจากจะไม่มีการห้ามปรามใดๆ แล้ว ท่าทีของสังคมพุทธในพม่าครั้งนั้นยังออกไปแนวทางยินดีปรีดา ที่ได้ขับ “กะลา” หรือ “แขก” โรฮีนจามุสลิม ที่พวกเขาถือว่าเป็นคนต่างชาติต่างถิ่นมาตลอด ออกไปจากประเทศของพวกเขาสักที

ผู้เขียนหยิบยกเรื่องนี้กลับมาพูดถึงอีกครั้ง เพื่อชี้ให้เห็นว่าคนพม่าจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นนำในกองทัพ พรรคการเมืองขนาดใหญ่ หรือแม้แต่ประชาชน ที่เคยผ่านระบอบทหารภายใต้เน วิน SLORC และ SPDC มาก่อน รวมทั้งคนพุทธที่คุ้นเคยกับการเทศนาของพระผู้ใหญ่ระดับ “เซเลบ” หลายรูป ล้วนมีปัญหาเดียวกัน คือคนเหล่านี้อินกับแนวคิดชาตินิยม ตลอดจนความรักชาติและความหวงแหนในเชื้อชาติและศาสนาพุทธของตน

ในอาณานิคม อัตลักษณ์ความเป็นคนพม่า และความศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนาถูกท้าทายอย่างมาก เพราะเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษให้ความสนใจกับการพัฒนาด้านวัตถุเป็นหลัก และเปลี่ยนให้พม่าเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อกระแสชาตินิยมเติบโตขึ้น จึงเริ่มมีคนพม่าที่ประณามระบอบอาณานิคมและอังกฤษว่าเป็นผู้ทำลายศาสนา (ทั้งๆ ที่อังกฤษมีนโยบายส่งเสริมให้ศาสนิกทุกศาสนาอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข) และลดคุณค่าของคนพม่า (ซึ่งเป็นเรื่องจริงส่วนหนึ่ง เพราะอังกฤษมองว่ามีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่มีศักยภาพมากกว่าคนพม่า) แนวคิดชาตินิยมลักษณะ อันเป็นส่วนผสมของความภาคภูมิใจในความเป็นคนพุทธ อัตลักษณ์ความเป็นพม่า และความหวาดระแวงชาวต่างชาติ ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน และเป็นคีย์เวิร์ดที่ผู้เขียนมันเน้นย้ำว่าจะทำให้เราเข้าใจผู้คนและสังคมพม่าได้ลึกซึ้งขึ้น

Advertisement

เมื่อสัปดาห์ก่อน สำนักข่าวบีบีซีภาษาพม่ารายงานว่า วิคกี้ โบว์แมน (Vicky Bowman) อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำพม่า ระหว่างปี 2002-2006 ที่ในปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจผู้มีความรับผิดชอบแห่ง
เมียนมา (Myanmar Centre for Responsible Business) และเป็นส่วนหนึ่งของผู้ขับเคลื่อนสถาบันสิทธิมนุษยชนและธุรกิจ (Institute for Human Rights and Business หรือ IHRB) ถูกจับกุมตัวที่บ้านพักในย่างกุ้ง

ก่อนโบว์แมนถูกควบคุมตัว สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำพม่ากล่าวกับสื่อว่ามีผู้หญิงสัญชาติอังกฤษผู้หนึ่งถูกควบคุมตัว และกำลังติดต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ (คณะรัฐประหาร) เพื่อเจรจาให้ปล่อยตัว หลังการควบคุมตัวโบว์แมน คณะรัฐประหารออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการว่าได้ควบคุมทั้งโบว์แมน และเทง ลิน (Htein Lin) สามีของเธอ ที่เป็นทั้งศิลปินที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของพม่า และเป็นอดีตนักโทษการเมือง ที่เคยถูกควบคุมตัวนานถึง 6.5 ปี หลังเหตุการณ์การลุกฮือของนักศึกษาในปี 1988

คณะรัฐประหารให้เหตุผลว่าโบว์แมนละเมิดกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง เพราะไม่ได้พักอาศัยในบ้านหลังที่เธอลงทะเบียนไว้กับ ตม. ส่วนเทง ลิน ผู้เป็นสามี ก็ถูกตั้งข้อหาปกปิดที่อยู่ที่แท้จริงของภรรยา และกลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด โทษสำหรับทั้งสองคนอาจอยู่ระหว่างจำคุก 6 เดือนถึง 5 ปี โบว์แมนลงในเอกสาร ตม.ว่าเธอพำนักอยู่ในย่างกุ้ง แต่เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ที่เมืองกะลอ (Kalaw) ในรัฐฉาน ซึ่งเป็นเมืองตากอากาศที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่ง

Advertisement

สถานีวิทยุ Radio Free Asia รายงานว่า ทั้งสองคนถูกควบคุมตัวและส่งไปที่เรือนจำอินเส่ง เรือนจำสำหรับนักโทษการเมืองคดีร้ายแรงทันที แต่ก็ถูกส่งกลับไปสถานีตำรวจ เพราะมีการรายงานว่าทั้งคู่อาจติดโควิด-19 การพิจารณาคดีครั้งแรกจะมีขึ้นในวันที่ 6 กันยายน

ไม่มีใครเชื่อว่าสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังการจับกุมโบว์แมนกับเทง ลิน มาจากการขึ้นไปพำนักที่เมืองกะลอ และการละเมิดกฎตรวจคนเข้าเมือง แม้โบว์แมนจะแต่งงานกับเทง ลิน มายาวนาน และมีความรู้ความเข้าใจสังคมพม่าเป็นอย่างดี อีกทั้งยังเคยแปลทั้งนิยายและบทกวีจากภาษาพม่าเป็นภาษาอังกฤษมาแล้ว แต่ในสายตาของฝ่ายความมั่นคง เธอก็คือชาวต่างชาติคนหนึ่ง เป็นเหมือน “คนนอก” ที่ไม่มีทางเข้าใจความซับซ้อนของการเมืองพม่า และการงานด้านสิทธิมนุษยชนที่เธอทำก็เป็นเหมือนเหล็กแหลมที่ทิ่มแทงคณะรัฐประหาร หรือชนชั้นนำที่ซึมซาบลัทธิชาตินิยมขวาจัด รวมทั้งชาวพม่าฝ่ายขวาที่มองว่าชาวต่างชาติ (โดยเฉพาะชาวตะวันตก) คือภัยคุกคามต่อความมั่นคงของพม่า

การจับกุมชาวต่างชาติไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้ ฌอน เทอร์เนล (Sean Turnell) นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรเลียและที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของด่อ ออง ซาน ซูจี ก็ถูกจับกุมตัว และแม้จะมีข่าวออกมาเรื่อยๆ ว่าเทอร์เนลจะถูกปล่อยตัว แต่ก็ผ่านไปเกือบ 2 ปีแล้ว เทอร์เนลยังอยู่ในเรือนจำ หรือ แดนนี่ เฟนสเตอร์ (Danny Fenster) อดีตนักข่าวสำนักข่าว Frontier ก็ถูกควบคุมตัว และถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมาด้วยความพยายามกดดันจากหลายฝ่าย

ย้อนกลับไปในยุคที่เน วิน ขึ้นมาเป็นผู้นำในรัฐบาลในปี 1962 ผู้นำกองทัพอย่างเขาก็พยายามทุกทางเพื่อขับชาวต่างชาติที่มีความรักและผูกพันกับพม่าออกไป ทำให้นักวิชาการด้านพม่าศึกษาคนที่สำคัญที่สุดอย่าง เจ.เอส. เฟอร์นิวอลล์ (J.S. Furnivall) ถูกอัปเปหิออกจากพม่าแบบถาวรมาแล้ว

แม้เวลาจะผ่านไปหลายสิบปีหลังพม่าได้รับเอกราช แต่ความรู้สึกหวาดระแวงชาวต่างชาติยังคงมีอยู่ ในกลุ่มชนชั้นนำและฝ่ายขวาพม่าที่มีความเชื่อแบบฝังหัวว่าพม่าจะเปลี่ยนแปลงได้ด้วยน้ำมือของคนพม่าเอง ไม่มีชาวต่างชาติหน้าไหน ไม่ว่าจะเป็นคนจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือจากประเทศเสรีในโลกตะวันตก ที่จะมาชี้นำให้พม่าทำอะไรได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image