ตามรอยพระยุคลบาท…วิชาการรับใช้สังคม : คอลัมน์ดุลยภาพดุลยพินิจ โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

แม้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชผู้เป็นพ่อของแผ่นดินจะเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้วก็ตาม แต่ผลงานตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์เป็นประจักษ์พยานถึงความสนพระราชหฤทัยในปัญหาความเดือดร้อนและสภาพความเป็นอยู่ของพสกนิกรโดยเฉพาะเกษตรกร อันเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ทรงส่งเสริมการเพาะปลูกพืชมูลค่าสูงทดแทนฝิ่น ส่งเสริมอาชีพเกษตรกร บำรุงพันธุ์สัตว์ พัฒนาการอนุรักษ์ดินและน้ำโดยพระราชทานโครงการพัฒนาจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ อาทิ โครงการหลวง ทรงยึดหลักให้ราษฎรสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้

ผู้ที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณโดยเฉพาะผู้ที่มีการศึกษาหากมีโอกาสควรที่จะนำพลังแห่งความจงรักภักดีมาเป็นพลังขับเคลื่อนสังคม มุ่งมั่นตามรอยพระยุคลบาท นำวิชาการออกไปรับใช้สังคม โดยใช้โจทย์ของชาวบ้านและเอาพื้นที่มาเป็นตัวตั้ง หาวิธีการตาม “ศาสตร์ของพระราชา” ที่ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ไม่พึ่งพาการนำเข้าเหมาะสมกับศักยภาพของผู้ใช้ซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมแตกต่างกัน

ผู้เขียนอยากจะขอนำตัวอย่างหนึ่งของงานวิชาการรับใช้สังคมตามรอยพระยุคลบาทมาให้ดูซักเรื่องหนึ่ง ได้แก่ โครงการพัฒนาระบบการสร้างอาชีพการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำสู่มาตรฐานฟาร์มและโอกาสทางการตลาดอย่างยั่งยืน ได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งมี รศ.ดร.ศิริพร กิรติการกุล จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นหัวหน้าโครงการ

มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างอาชีพการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำให้กับเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ภาคเหนือ ความโดดเด่นของโครงการ คือ การเน้นกระบวนการจัดการและเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านการผลิตและพัฒนาระบบการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำที่มีประสิทธิภาพโดยอาศัยองค์ความรู้พื้นฐานที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนา โดยกรมปศุสัตว์ และสร้างทางเลือกรูปแบบหรือแบบจำลองทางธุรกิจ (Business model) ที่เหมาะสมกับฐานะทางเศรษฐกิจและศักยภาพของเกษตรกรรายย่อยและบริบทของชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการขยายโอกาสทางการตลาด

Advertisement

โดยโครงการมีกิจกรรมจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ได้แก่ การรวบรวมและส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยเลี้ยงไก่ประดู่หางดำพันธุ์แท้ การส่งเสริมองค์ความรู้ในการพัฒนาระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพที่เน้นการจัดการสายพันธุ์ การจัดการพืชอาหารในท้องถิ่นเพื่อลดต้นทุนการใช้อาหารสำเร็จรูป สร้างมาตรฐานฟาร์มเพื่อส่งเสริมการผลิตที่ถูกสุขลักษณะและปลอดภัย การสนับสนุนการสร้างโรงฆ่าสัตว์ปีกชุมชนให้มีกระบวนการผลิตและแปรรูปที่มีมาตรฐานและปลอดภัย การส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไก่ประดู่หางดำอย่างหลากหลาย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

รวมถึงสนับสนุนให้เกษตรกรทำการตลาดร่วมกันภายใต้ตราสินค้า “นิลล้านนา” ทำให้สามารถขยายช่องทางจำหน่ายผลผลิตไก่พื้นเมืองจากตลาดชุมชนสู่ตลาดระดับกลางและตลาดระดับบนในซุปเปอร์มาร์เก็ตได้

ผลจากการดำเนินงานก่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจที่สำคัญคือ เกษตรกรรายย่อยมีรายได้สุทธิหรือกำไรเพิ่มขึ้น โครงการวิจัยเพื่อประเมินความคุ้มค่าของโครงการวิจัยและพัฒนา ภายใต้สำนักงานบริหารโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ได้ประเมินผลความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจของโครงการไก่ประดู่หางดำโดยใช้วิธีการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ (Cost-Benefit Analysis : CBA) โดยการกำหนดให้ประเมินผลประโยชน์รวมระยะเวลา 15 ปี ใช้อัตราคิดลดร้อยละ 7 และกำหนดให้ พ.ศ.2558 เป็นปีฐานในการคำนวณผลการประเมินความคุ้มค่า พบว่า มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 223.53 ล้านบาท และอัตราส่วนของผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C ratio) เท่ากับ 11.75

Advertisement

กล่าวคือ ลงทุน 1 บาท ได้ผลตอบแทน 11.75 บาท

โดยภาพรวมสามารถสรุปได้ว่า โครงการพัฒนาระบบการสร้างอาชีพการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำมีความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจในระดับสูง และหากเกษตรกรสามารถรักษามาตรฐานในการผลิตได้ดีและสามารถดำเนินการได้เองอย่างต่อเนื่อง ถ้าระยะเวลาเกินกว่า 15 ปีที่ทำการคำนวณไว้ มูลค่าผลประโยชน์ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่านี้อีก

นอกจากผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจแล้ว โครงการยังได้สร้างทุนทางสังคม คือ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำที่จะทำให้เกิดการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกลุ่มเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งยังได้มีการผลักดันให้มีการจัดตั้งสหกรณ์เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมือง เพื่อให้เกิดผลผลิตในปริมาณ (Scale) มากพอสำหรับตลาดนอกท้องถิ่นและเกิดซัพพลายเชนในลักษณะของความร่วมมือด้านการผลิต แปรรูป และจัดจำหน่ายผลผลิตไก่ประดู่หางดำอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะทำให้กลุ่มเกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองและสร้างรายได้จากอาชีพการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำได้อย่างยั่งยืน

ผลจากการดำเนินงานของโครงการยังทำให้เกิดการอนุรักษ์พันธุ์ไก่พื้นเมืองโดยอาศัยกลไกตลาด (Market-based Ex-situ conservation) การวิเคราะห์ความคุ้มค่าชี้ให้เห็นว่า โครงการเล็กๆ เพียงโครงการหนึ่ง หากตั้งใจอุทิศตนและทุ่มเทก็อาจเกิดผลให้สังคมคิดเป็นมูลค่าหลายเท่าของทุนที่ลงไป เพราะหากไก่ประดู่หางดำไม่สามารถนำมาผลิตในเชิงพาณิชย์ได้อย่างแพร่หลาย ไก่ประดู่หางดำอาจจะกลายพันธุ์หรือสูญหายไปได้ แต่ระบบตลาดและเครือข่ายเกษตรกรที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการนี้ทำให้เกิดการอนุรักษ์สายพันธุ์ประดู่หางดำในระดับฟาร์ม (In-situ) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการอนุรักษ์สายพันธุ์โดยภาครัฐ และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของไก่ไทย

ลักษณะโครงการที่กล่าวมาแล้ว มีความคล้ายคลึงกับโครงการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงพัฒนาระบบแบบครบวงจร มุ่งใช้วัตถุดิบพื้นบ้าน แต่ทรงจัดการความรู้และดึงเอาวิชาการและราชการมารับใช้ประชาชน ผลงานที่พระองค์ได้ทรงสร้างไว้มีมูลค่ามหาศาลเกินกว่าจะคณานับได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการประเมิน โดยเฉพาะทุนสังคมที่สามารถยึดเหนี่ยวประชาชนไว้ด้วยกัน

เช็ดน้ำตาแล้วมารวมพลังความจงรักภักดีเปลี่ยนเป็นพลังไปรับใช้สังคมสร้างคุณงามความดีตามรอยพระยุคลบาทพ่อของแผ่นดินกันเถอะค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image