เหตุที่‘ทรัมป์’ได้เป็นประธานาธิบดี : โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

เป็นอันไม่ทราบว่าพลิกล็อกหรือไม่ เมื่อชาวอเมริกันจำนวนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งตามระบบการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา เลือก นายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี

การเกิดประวัติศาสตร์ของชาวอเมริกันที่จะเลือกประธานาธิบดีหญิงคนแรกไม่เกิดขึ้น

อาจเป็นเพราะว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาไม่ใช่เกิดจากการเลือกตัวบุคคล หากเป็นเพราะพรรคเดโมแครตเป็นรัฐบาล ถือบังเหียนสหรัฐอเมริกามาหลายปี คราวนี้ชาวอเมริกันจึงปรับเปลี่ยนมาเลือกพรรครีพับลิกัน ดังที่เคยเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายครั้ง

เรื่องของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกามีประวัติศาสตร์มายาวนาน หลังจากที่เคี่ยวกรำกับความเป็นประชาธิปไตยตั้งแต่เริ่มแรก อาจเป็นเหตุให้การคัดเลือกตัวบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นเรื่องของพรรค ไม่ใช่เรื่องของชาวอเมริกัน

Advertisement

เพราะสหรัฐอเมริกาก่อนหน้านี้มีความเป็นเจ้าโลกอยู่บ้าง ดังนั้น การจะให้พรรคใดขึ้นมาครองตำแหน่งบริหารประเทศ (และโลก) จึงไม่ได้ขึ้นกับนโยบายของพรรคและของผู้สมัครเป็นประธานาธิบดีเพียงอย่างเดียว อาจเกิดจากความพอใจที่ก่อความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของชาวอเมริกันเป็นประการสำคัญ

เรื่องการเลือกตั้งของประเทศสหรัฐอเมริกา แม้จะมีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียง 2 พรรคมายาวนาน ยังไม่มีพรรคหรือบุคคลที่ 3 หาญกล้าลงสมัครแข่งขัน เพราะทั้งสองพรรค คือ เดโมแครตกับรีพับลิกันต่างมีสมาชิกของตัวเองพรรคละพอสมควร ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่ชื่นชมพรรคที่ตัวเองชื่นชอบจะเลือกตัวประธานาธิบดีที่สมัครในพรรคนั้นเสมอไป

หลายครั้งหลายหนที่ผลการพยากรณ์ออกมาเป็นของพรรคหนึ่ง แต่ปรากฏว่าผลการเลือกตั้งออกมาเป็นของผู้สมัครอีกพรรคหนึ่ง เช่นการเลือกตั้งครั้งนี้

Advertisement

ประการหนึ่งที่เห็นได้ชัดในเรื่องนโยบายของผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งสองคน ดูเหมือนว่า คนหนึ่งซึ่งเป็นผู้หญิงจะหาเสียงโจมตีอีกฝ่ายซึ่งเป็นผู้ชายไปในทางที่แสดงให้เห็นว่าฝ่ายชายดูหมิ่นถิ่นแคลนผู้หญิงในหลายครั้ง ขณะที่ฝ่ายชายหาเสียงหรือประกาศแนวนโยบายไปในทางรุนแรงให้ปรากฏ และการพูดจาปราศรัยแทบว่าไม่สนใจเสียงของตัวเอง ทั้งยังมั่นใจว่าแนวทางแบบนี้แหละที่อเมริกันชนยุคนี้ชอบ

คือแสดงความตรงไปตรงมา เหมือนจริงใจ ว่าคิดอย่างนี้ พูดอย่างนี้ แล้วจะทำอย่างนี้ หากได้รับการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้เขาได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากจริงๆ

ขณะที่การหาเสียงของฝ่ายผู้หญิงพยายามใช้คำว่า “ประวัติศาสตร์” หรือหมายถึงการจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ว่าจะเป็นผู้หญิงคนแรกในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกันที่อเมริกันชน “เปลี่ยนแปลง” เมื่อครั้งเลือก นายบารัค โอบามา ชาวอเมริกันผิวสีเป็นประธานาธิบดีมาแล้ว

แต่การณ์กลับหาเป็นเช่นนั้นไม่ แม้ว่าฝ่ายหญิงจะปรับเปลี่ยนคำขวัญการหาเสียงเป็น “stronger together” แล้วก็ตาม

ประการหนึ่งที่น่าจะเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งนี้ คือชาวอเมริกันไม่ยึดติดอยู่กับตัวบุคคลดังกล่าว หากแต่ยึดกับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเลือกพรรคการเมืองที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

คือเปลี่ยนแปลงพรรคการเมืองไม่ให้ทำหน้าที่บริหารประเทศเกินกว่า 2 หรือ 3 สมัย แล้วต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นอีกพรรคหนึ่ง

เช่นเดียวกับนโยบายที่หลายครั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งแสดงออกซึ่งความรุนแรงเช่นเดียวกับครั้งนี้ ทั้งยังเป็นตัวก่อให้เกิดสงครามขึ้นในอดีต เช่น สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม แล้วได้รับเลือกตั้ง แม้จะไม่ได้รับเลือกอีกสมัย เช่นเดียวกับครั้งนี้

การสนับสนุนให้เกิดสงครามในประเทศหนึ่ง รวมไปถึงนโยบายกีดกันแรงงานต่างด้าว และกลุ่มผู้นับถือศาสนาหนึ่งซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นเหตุให้ชาวอเมริกันรุ่นนี้ชื่นชอบก็เป็นได้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image