สุจิตต์ วงษ์เทศ: พระพุทธสิหิงค์ เคยอยู่ในวัดบรมพุทธาราม บ้านเดิมพระเพทราชา ในรั้ว มรภ. พระนครศรีอยุธยา

บายพาส - นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าฯ พระนครศรีอยุธยา พร้อมคณะร่วมกันทำพิธียกต้นมะขามขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ อายุกว่า 300 ปี ภายในโบราณสถานวัดบรมพุทธาราม ที่โค่นล้มพร้อมตัดแต่งกิ่งและทำบายพาสโดยการใช้ต้นมะขามขนาดเล็ก ทาบกับลำต้น เพื่อดูดซับแร่ธาตุมาเลี้ยงต้นมะขามใหญ่ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน (ภาพและคำบรรยายจากมติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 หน้า 11)

พระพุทธสิหิงค์ เคยประดิษฐานอยู่วัดบรมพุทธาราม อยุธยา (ในรั้ว มรภ. พระนครศรีอยุธยา) เมื่อแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (ระหว่าง พ.ศ. 2275-2301)

พบบันทึกในศุภอักษรของอัครมหาเสนาบดีกรุงศรีอยุธยา มีไปถึงอัครมหาเสนาบดีกรุงลังกา เมื่อ พ.ศ. 2299

เล่าความหลังว่าคราวก่อนทูตจากลังกาเดินทางถึงพระนครศรีอยุธยา พ.ศ. 2293 ได้แวะไปที่วัดบรมพุทธาราม (หรือที่ชาวบ้านเรียกวัดกระเบื้องเคลือบ)

ทูตลังกาเห็นพระพุทธสิหิงค์ในมณฑปวัดบรมพุทธาราม จึงได้แลกเปลี่ยนเรื่องต่างๆ ทูตลังกาบอกว่าในลังกาไม่มีตำนานสิหิงคนิทาน ทางการอยุธยาจึงคัดลอกตำนานสิหิงคนิทาน ถวายพระเจ้าแผ่นดินลังกา

Advertisement

ข้อความในศุภอักษรฯ มีดังนี้

“ทูตานุทูตอำมาตย์ได้เห็นพระพุทธสิหิงคในมณฑปน่ามโนรมย์ในวัดบรมพุทธารามวิหาร ประดับทองเงินรัตนงามวิจิตร จึงพากันเจรจาเหตุที่ไม่ทราบเรื่องนั้น ให้กันฟัง

ราชบุรุษจึงนำเรื่องนั้นมาเล่าให้ทูตานุทูตนั้นทราบชัด

Advertisement

ทูตานุทูตอำมาตย์ทั้งหลาย ต่างพากันพูดว่าตำนานสิหิงคนิทานนี้ในกรุงศิริวัฒนนครไม่มี

เราจึงให้ราชบุรุษจารึกตำนานพระพุทธสิหิงคนิทานส่งมาให้ ขอท่านอัครมหาเสนาบดีได้นำตำนานสิหิงคนิทานนี้ทูลพระเจ้ากรุงศิริวัฒน แล้วทูลว่าขอให้ทรงหวงแหนพระตำนานนี้ไว้ในกรุงศิริวัฒนบุรีด้วย”

[จากหนังสือเรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับมติชน พ.ศ. 2546 หน้า 313]

กรมพระยาดำรงฯ ยืนยัน

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระอธิบายสั้นๆ ไว้ในเชิงอรรถว่า

ตรงนี้ผู้ศึกษาโบราณคดีควรจะสังเกต ว่าพระพุทธรูปซึ่งมีพระนามว่าพระพุทธสิหิงค์ อยู่ที่กรุงเก่าในแผ่นดินสมเด็จพระบรมโกศเป็นแน่ ข้อนี้ยังมีเนื้อความในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าประกอบว่าได้เชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาจากเมืองเชียงใหม่เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรได้เมืองเชียงใหม่ ถ้าเช่นนั้นเมื่อพม่าข้าศึกตีได้กรุงเก่า เมื่อปีกุน นพศก จุลศักราช 1129 พ.ศ. 2310 คงเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปไว้เชียงใหม่ แลอยู่นั้น 28 ปี จนปีเถาะ สัปตศก จุลศักราช 1157 พ.ศ. 2338 กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจึงได้โปรดให้เชิญลงมาไว้กรุงเทพฯ จนบัดนี้”

แต่ยังมีบอกในคำให้การขุนหลวงหาวัด ว่า พระพุทธสิหิงค์เชิญมาจากเมืองเชียงใหม่ แล้วประดิษฐานไว้ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ (สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. 2549 หน้า 60-61]

 

วัดบรมพุทธาราม ตั้งอยู่บ้านเดิมพระเพทราชา

วัดบรมพุทธาราม ตั้งอยู่ที่ถนนศรีสรรเพชญ์ ต. ประตูชัย อ. เมืองฯ จ. พระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันเป็นวัดร้าง อยู่ในเขตรั้วมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

พระเพทราชา (พ.ศ. 2231-2246) โปรดให้สร้างขึ้นที่พระนิเวศน์เดิมของพระองค์ในบริเวณที่เรียกว่าย่านป่าตอง (ภายในเขตกำแพงเมือง ระหว่างประตูชัยกับคลองฉะไกรน้อย)

และโดยที่สมเด็จพระเพทราชาเป็นพระมหากษัตริย์ต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง วัดนี้จึงเปรียบเสมือนวัดประจำราชวงศ์บ้านพลูหลวง

วัดบรมพุทธาราม มีชื่อเรียกกันเป็นสามัญว่า วัดกระเบื้องเคลือบ เหตุเพราะหลังคาอุโบสถมุงกระเบื้องเคลือบสีเหลืองแกมเขียว ต่างไปจากวัดอื่นๆ ทั่วไปในสมัยนั้นที่มุงกระเบื้องดินเผากันเป็นพื้น

ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมโกศ (พ.ศ. 2275-2301) บูรณปฏิสังขรณ์ และทำบานประตูประดับมุกติดประตูพระอุโบสถ

ปัจจุบันอยู่ที่หอมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดารามคู่หนึ่ง มีจารึกบอกไว้ที่บานประตูแห่งนี้ว่า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดให้ทำบานมุกประตูพระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม เมื่อปีมะแม ตรีศก จ.ศ. 1113 พ.ศ. 2245 นอกนั้นยังมีอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรอีกคู่หนึ่ง

ส่วนอีกคู่หนึ่งมีผู้นำไปตัดทำเป็นตู้ใส่หนังสือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงได้มาและประทานแก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นงานฝีมือประดับมุกยอดเยี่ยม ซึ่งได้นำมาจัดแสดงไว้ในตำหนักแดง

เฉพาะอุโบสถที่ยังมีผนังเหลืออยู่เกือบเต็มทั้ง 4 ด้าน มีร่องรอยจิตรกรรมที่ยังหลงเหลือให้เห็นที่บานแผละ และประตูหน้าต่างอย่างเลือนราง เช่น เป็นรูปลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายพันธุ์พฤกษา เป็นต้น

[จากหนังสือโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (เล่ม 1) กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2551 หน้า 141-142]

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image