แจ๊กหม่า(Jack ma)พูด แจ๊กหม่าคิด สะท้อนอะไรให้กับการศึกษาของไทย : โดย ณรงค์ ขุ้มทอง

11 ตุลาคม 2559 รัฐบาลไทยได้เชิญแจ๊ก หม่า มหาเศรษฐีชาวจีน มาบรรยายในหัวข้อ “Entrepreneurship and Inclusive Globalization” ในการประชุมสุดยอดผู้นำและผู้แทน 34 ประเทศที่เป็นสมาชิก ACD และผู้ประกอบการรุ่นใหม่แจ๊ก หม่า ได้ทิ้งประเด็นให้ประเทศไทยและผู้นำประเทศต่างๆ ว่า รัฐบาลต้องปรับระบบการศึกษาเสียใหม่ ไม่ใช่เพื่อการเรียนรู้ (Knowledge) แต่ต้องสอนให้ผู้เรียนเกิดการคิดและสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovation) และส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดจินตนาการ (Imagination)

แจ๊ก หม่า ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่

เขาสะท้อนถึงความเดือดร้อนและเป็นนักสู้จากการลงทุนที่น้อยนิดรวมตัวกับเพื่อนๆ จนแจ๊ก หม่า เป็นเจ้าพ่อ อีคอมเมิร์ซ สู่อาณาจักร “อาลีบาบากรุ๊ป”

แจ๊ก หม่า ทิ้งปริศนาที่ชวนให้นักการศึกษาของไทยให้คิดว่า “ต้องสอนให้เด็กคิดและใช้ทักษะอยู่เสมอ อย่าสอนหรือรีบทำตามที่คนบอกให้ทำและจงมองโลกในแง่ดี” หม่ายังย้ำเพิ่มเติมอีกว่า ทีมงานเพื่อนร่วมงานหรือการมีส่วนร่วมจะเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จและให้โอกาสกับธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งในประเทศไทยมีอยู่ 2-3 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีความสุขกับการกินรวบธุรกิจขนาดเล็กจนร้านโชห่วย กำลังล้มหายตายจากไปกินรวบทั้งประเทศ เขาภูมิใจที่ร่ำรวยมหาศาลแต่เขารู้ไหมว่าเขาทำลายสายใยธุรกิจรากหญ้าของประเทศอย่างไม่เคยมีมาก่อน

Advertisement

อีกหน่อยเขาขายตั้งแต่ปลาร้าและกะปิ ชาวบ้านเขาเหลืออะไร

ประเด็นนี้ไม่ทราบรัฐบาลได้ยินเสียงโอดครวญ จากตาสีตาสาบ้างหรือไม่ บางประเทศอย่างอินโดนีเซีย เขาจะไม่เปิดโอกาสให้ธุรกิจเช่นนี้เข้ามากินรวบทั้งประเทศ

จากข้อคิดของแจ๊ก หม่า ไม่ทราบว่าชาวกระทรวงศึกษาธิการได้นำมาคิดและทบทวนนโยบายการจัดการศึกษาของไทยได้บ้างหรือไม่ ผู้เขียนมองว่าแนวคิดของแจ๊ก หม่า เกี่ยวโยงการพัฒนาผู้เรียนและกระบวนการเรียนรู้ และการเรียนการสอน ประเภทต่างๆ ดังนี้

Advertisement

1.การสอนแบบนำปัญหามาเป็นโจทย์เป็นประเด็น (PBL Problem Based Learning) วิธีสอนแบบนี้ผู้เรียนเกิดทักษะการค้นคว้าด้วยตนเอง เกิดการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจด้วยตนเอง คิดเอง ทำเอง วิเคราะห์เอง

2.การสอนลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ (Teach less learn more) การสอนแบบนี้เน้นผู้เรียน เรียนรู้น้อยๆ เรียนเฉพาะหลักการและทฤษฎี แต่ให้นำมาขยายผลในเชิงปฏิบัติและชิ้นงาน โครงงานเป็นหลัก ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้นำมาใช้เป็นวิชา IS1, IS2, IS3 แต่เท่าที่คิดตามดูได้ผลบ้างไม่ได้บ้างเพราะขาดการคิดตามอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง บางโรงเรียนทำบ้างไม่ทำบ้าง บางโรงเรียนทำให้ได้ทำ, ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ เป้าหมายเน้น 4H แต่ผู้บริหารรู้มากเพิ่มอะไรไม่รู้ เด็กเรียนหนักกว่าเดิมเลิก 5 โมงเย็น 6 โมงเย็น ก็มีการสอนแบบนี้เน้นคิดเป็นทำเป็นแก้ปัญหาเป็น

3.การสอนที่สร้างเงื่อนไขการสงสัย อยากรู้อยากเห็น อยากเรียนรู้ อยากหาคำตอบ (Community of Inquiry) การสอนแผนนี้ นักเรียนจะค้นหาคำตอบ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ ยึดปัญหาเป็นฐาน (Problem-based learning-PBL)

4.การเรียนการสอนแบบการคิดสร้างสรรค์ (Creative Learning) เน้นให้นักเรียนหาคำตอบจากสถานประกอบการจากการทดลอง การสอนแบบนี้ ทำให้นักเรียนและครูได้พบสิ่งใหม่ สร้างสรรค์ความรู้ใหม่ สร้างนวัตกรรมในอนาคตได้ (Innovation)

5.การสอนแบบ STEM เป็นการบูรณาการวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เข้าด้วยกันการสอนแบบนี้เป็นการสอนให้ผู้เรียนเกิดความรู้ และทักษะทั้ง 4-5 ด้าน แต่โรงเรียนและครูต้องพร้อมทั้งคน เงินและอุปกรณ์ต่างๆ

สุดท้ายแนวคิดของแจ๊ก หม่า ผู้เขียนเห็นว่าชาวกระทรวงศึกษาธิการควรนำมาเน้นและวางพื้นฐานให้ชัดเจนและเข้มข้น คือ เน้นให้ผู้เรียนเกิดทักษะ 5 ด้าน คือ 1.ทักษะการคิด (Thinking Skill) เป็นทักษะที่ส่งเสริมให้เด็กคิดสร้างสรรค์อยู่เสมอ การสอนแบบ Teach Less Learn More น่าจะสอดคล้องของแจ๊ก หม่า มากที่สุด 2.ทักษะการสื่อสาร (Communication Skill) ทักษะนี้มีความจำเป็นมากในยุคที่โลกไร้พรมแดน รู้ไว รู้เร็ว ถูกต้อง ฉับไว ทันเหตุการณ์จะเป็นผู้ที่ได้เปรียบเสมอแค่ 2 ภาษาน่าจะไม่พอสำหรับคนรุ่นใหม่ และโลกยุคใหม่ 3.ทักษะการมีส่วนร่วม (Participation Skill) เป็นทักษะที่จำเป็นต้อง อยู่ร่วมกันช่วยเหลือกัน ทำคนเดียวอยู่คนเดียวไม่ได้ ธุรกิจก็เช่นกัน ทำคนเดียว กินรวบไม่ได้ ต้องคิดร่วมกันทำด้วยกัน 4.ทักษะการแก้ปัญหา (Problem solving Skill) แจ๊ก หม่า เขาล้มเหลว เขาพลาดหวังจากการสมัครงานกว่า 30 ครั้ง แต่เขาสู้ เขาไม่ยอมแพ้ เขาไม่มีทุน แต่เขาคิดและเขามีทักษะด้านนี้ที่เป็นเลิศ ฉะนั้น โรงเรียนหวังสอนให้เด็กคิด เด็กทำและสุดท้ายต้องรู้จักแก้ปัญหา เพราะปัญหาเกิดขึ้นจากความคิดและการกระทำ 5.ทักษะการเสียสละหรือจิตสาธารณะ (Public mind Skill) ทักษะนี้เป็นทักษะที่เน้นสร้างคุณธรรมให้เกิดกับมนุษย์เกิดกับผู้เรียน

โลกหน้าแจ๊ก หม่า บอกว่า ถ้าอยากจะชนะหุ่นยนต์ เราต้องแข่งด้วยคุณธรรม ต้องสอนให้ผู้เรียนรู้จักพอ รู้จักการให้ รู้จักยอมรับ เป็นต้น

ที่กล่าวมาข้างต้น อยากเห็นชาวกระทรวงศึกษาได้นำมาประยุกต์ใช้ ซึ่งแนวคิดของแจ๊ก หม่า สะท้อนอะไรได้มากทีเดียว ผู้เขียนในฐานะกรรมการ กศจ.สงขลา ได้เห็นแนวคิดการบริหารของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในฐานะประธานคณะกรรมการ กศจ.สงขลา ประกอบด้วย ผู้อำนวยการ สพม.16, ผู้อำนวยการเขตประถมศึกษา 3 เขต พบว่าท่านทั้งหลายได้ให้ความสำคัญของการสร้างโอกาส สร้างความเข้มแข็งให้กับการศึกษาและธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจระดับรากหญ้า เป็นสำคัญ ชาวบ้านมักจะเห็นท่านผู้ว่าฯสงขลา นั่งคุยกับชาวบ้านร้านค้าข้างถนน เห็นผู้ว่าฯเยี่ยมชมประชาชนบ่อยครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของแจ๊ก หม่า อย่างไม่น่าเชื่อ สุดท้ายท่านได้นำแนวคิดนี้เข้าสู่ยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาของจังหวัดสงขลา โดยมีท่านประเสริฐ ชิตพงศ์ เป็นหัวเรือใหญ่พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ที่หลากหลายอาชีพ

อย่างน้อยแจ๊ก หม่า มาไทยครั้งนี้คงไม่เสียเปล่า อย่างน้อย กศจ.สงขลา โดยผู้ว่าฯทรงพล สวาสดิ์ธรรม เป็นจิ๊กซอว์ให้แจ๊ก หม่า แล้วนะ แล้วกระทรวงศึกษาไม่คิดเป็นจิ๊กซอว์ของแจ๊ก หม่า บ้างหรือ ถ้าคิดไม่ออกบอกไม่ได้ลองถามผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาดูสิ

ณรงค์ ขุ้มทอง
ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
โรงเรียนนวมินทราชูทิศทักษิณ โรงเรียนดาวนายร้อย
และกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนวรนารีเฉลิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image