จัดระบบโยกย้ายทหารใหม่!

ประเทศไทยน่าจะเป็นไม่กี่ประเทศในโลก ที่บัญชีรายชื่อการโยกย้ายนายทหารของกองทัพเป็นข่าวใหญ่ในสื่อทุกปี และไม่มีปีไหนเลยที่เรื่องนี้ไม่เป็นประเด็นให้สื่อหยิบมาเป็นหัวข้อข่าว และดูจะเป็นประเด็นข่าวที่สังคมเองส่วนหนึ่งก็ติดตามด้วย จนอาจต้องสรุปว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะบทบาททางการเมืองของกองทัพเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้คนในสังคมจับตามอง

ยิ่งปีไหนการเมืองปั่นป่วน ข่าวโยกย้ายทหารยิ่งเป็นที่สนใจมาก หรือยามที่การเมืองอยู่ในภาวะ “ลุ่มๆ ดอนๆ” เช่น ปัจจุบัน เรื่องนี้ย่อมเป็นหัวข่าวของสื่ออย่างหนีไม่พ้น หรือกล่าวด้วยสำนวนของสื่อสิ่งพิมพ์ ก็คงต้องบอกว่าเรื่องโยกย้ายทหารยังคงเป็น “ข่าวใหญ่หน้า 1” ที่ขายได้เสมอ

บางที เราอาจต้องยอมรับว่าข่าวเช่นนี้เป็นหนึ่งใน “ภาพสะท้อนด้านลบ” ของการเมืองไทย เพราะหากประเทศเป็นประชาธิปไตย อย่างเช่นในประเทศตะวันตกแล้ว เราจะไม่เห็น “หัวข่าว” เรื่องนี้ เช่น เราจะไม่เคยเห็นข่าวนี้ในนิวยอร์กไทม์ หรือวอชิงตันโพสต์ เพราะการปรับย้ายทหารเป็นเรื่องภายในของกระทรวงกลาโหม และเป็นกระบวนการปกติของกองทัพ ที่นายทหารถูกปรับย้ายตำแหน่งด้วยมาตรฐานของ “เส้นทางรับราชการ” หรือประเด็นเรื่อง “career path” ในวิชาชีพทหาร

แต่การโยกย้ายทหารดูจะเป็นประเด็นที่มีปัญหาอย่างมากในสังคมการเมืองไทย และจะต้องถือเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของการปฎิรูปกองทัพไทยในอนาคต ดังนั้น การโยกย้ายด้วยการใช้กรอบของเส้นทางรับราชการของวิชาชีพทหารนั้น เป็นหนทางเดียวที่จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายใน และป้องกันการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมภายในกองทัพอีกด้วย

Advertisement

นอกจากนี้ เราอาจกล่าวได้ในอีกมุมหนึ่งว่า ข่าวใหญ่เรื่องโยกย้ายทหารบนหน้าสื่อ คือ ภาพสะท้อนถึงสภาวะที่ “กระบวนการสร้างทหารอาชีพ” ยังคงเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการปฎิรูป อีกทั้งในอดีตที่ผ่านมา เมื่อการเมืองตกภายใต้อำนาจของผู้นำทหารมาอย่างยาวนาน จึงทำให้เกิดข้อสังเกตว่า ถ้าต้องติดตามการเมืองไทย จะต้องติดตามเรื่องทหารว่า ใครเป็นใครในกองทัพ… ใครอยู่รุ่นเดียวกับใครในกองทัพ… ใครมีอำนาจในกองทัพ เป็นต้น ข้อมูลเช่นนี้มีทั้ง “เท็จ” และ “จริง” ผสมกันไป แต่ก็ “ตื่นเต้น-มีสีสัน” สำหรับการขายข่าว

การที่สังคมไทยต้องติดตามเรื่องเหล่านี้ก็คือ ภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่า กองทัพคือ “ศูนย์อำนาจ” หนึ่งที่สำคัญของการเมืองไทยที่เราปฎิเสธไม่ได้

แต่ถ้าเราสังเกตจากสื่อในประเทศประชาธิปไตยแล้ว เราจะไม่เคยเห็นบัญชีโยกย้ายทหารปรากฏในรายงานของสื่อดังกล่าวแต่อย่างใด ปรากฏการณ์เช่นนี้ก็คือ ภาพสะท้อนที่ต่างจากกรณีของไทยว่า กองทัพในประเทศเหล่านั้นไม่ได้มีบทบาทในการเมืองของประเทศ จึงไม่ต้องให้ความสนใจว่า ใครจะเป็นผู้การกรม… ใครจะเป็นผู้บัญชาการกองพล… ใครจะเป็นแม่ทัพภาค… ใครจะเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ

Advertisement

ประเด็นเช่นนี้เป็นกิจการภายในของกองทัพ และไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเป็นหัวข้อข่าวสำคัญของประเทศ อีกทั้งกองทัพก็เป็นเพียงส่วนราชการหนึ่งในระบบราชการทหารของประเทศเท่านั้น

สื่อและสังคมของประเทศประชาธิปไตยจะให้ความสนใจอย่างมากกับนโยบายยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศ นโยบายในการพัฒนากองทัพ เป็นต้น แต่ในประเทศด้อยพัฒนาที่กองทัพมีบทบาทอย่างมากเช่นในไทย ข่าวการดำรงตำแหน่งของผู้นำทหารเป็นหัวข้อข่าวใหญ่เสมอ ดังนั้น ข่าวโยกย้ายทหารจึงเป็นข่าวเพื่อบอกสังคมให้รับรู้ว่า ใครจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทหารที่จะกลายเป็น “ศูนย์อำนาจใหม่” ในอนาคต เพราะบทบาทของเขาอาจจะเป็นผู้กำหนดอนาคตทางการเมืองของประเทศได้อีกด้วย

การขึ้นสู่ตำแหน่งของนายทหารในประเทศประชาธิปไตยไม่มีนัยทางการเมือง สื่อจึงไม่ต้องรายงานข่าวนี้ อีกทั้งถ้าประเทศเป็นประชาธิปไตยได้จริงแล้ว เราคงไม่มีความจำเป็นต้อง “วิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง” ว่าใครจะมีตำแหน่งอะไรในกองทัพ… ใครมาจากรุ่นไหน เพราะตำแหน่งและรุ่นเป็นสิ่งที่ไม่มีผลในทางการเมือง เนื่องจากกองทัพในสังคมประชาธิปไตยไม่ได้เป็น “ฐานอำนาจ” ทางการเมืองของใคร แต่มีบทบาทเป็น “ฐานที่มั่นหลัก” ของทหารอาชีพ

สังคมที่ต้อง “เสพ” ข่าวเช่นนี้ จึงไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าภาพสะท้อนถึงปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยของประเทศ ว่าที่จริงแล้วเรื่องเหล่านี้ก็คือ ภาพสะท้อนถึง “ความบกพร่องของระบอบการเมือง” ที่กองทัพเป็นสถาบันที่มีอำนาจทางการเมืองอย่างมาก ทั้งที่กองทัพมีสถานะเป็นเพียง “กลไกรัฐ” ไม่ใช่เป็นรัฐ

ดังนั้น ปัญหาการสร้าง “ทหารอาชีพ” ในอนาคตจะต้องปฎิรูประบบโยกย้ายทหาร โดยจะต้องมีกระบวนการที่วิชาบริหารเรียกว่า “merit system” รองรับ คือ เป็นกระบวนการที่ถือเอาความสามารถและเส้นทางรับราชการทางทหารเป็นแนวทางหลัก ความสำเร็จจึงไม่เพียงแต่จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งภายในกองทัพเท่านั้น แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งที่สำคัญของการสร้างทหารอาชีพไทย ที่ไม่ต้องยึดอยู่กับปัจจัยทางการเมือง หรือยึดโยงอยู่กับปัญหาเรื่องของรุ่น อันเป็นชนวนความขัดแย้งที่เคยส่งผลอย่างสำคัญมาแล้วในปี 2535 (รุ่น 5 vs รุ่น7)

แต่ในด้านกลับ ดูเหมือนเราจะสนใจน้อยมากกับนโยบายทางทหารของประเทศ หรือในทางกลับกัน เราแทบไม่เคยเห็นคำประกาศ “ยุทธศาสตร์ทหาร” ของไทยเลย มีแต่การเสนอ “คำขวัญเชยๆ” (และเชยมาก!) ของผู้นำเหล่าทัพ ประมาณเดียวกับคำขวัญชักชวนท่องเที่ยวของจังหวัดต่างๆ

ภาวะเช่นนี้จึงทำให้อดคิดไม่ได้… หรือว่ากองทัพไทยมีแต่เพียง “ยุทธศาสตร์ซื้ออาวุธ” เมื่อใครมาเป็นผู้นำกองทัพก็จะต้องซื้ออาวุธ แต่สังคมแทบไม่เคยเห็น “ยุทธศาสตร์ทหาร” ในแบบที่ควรจะเป็น หรือถ้ามี ก็เป็นเพียง “ยุทธศาสตร์ฝันเฟื่อง” ที่ไม่ได้ยึดโยงกับ “การประมาณการของสภาวะแวดล้อมทางยุทธศาสตร์” ที่เป็นจริงทั้งภายนอกและภายใน

บางทีน่าคิดเล่นๆ ว่า จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าสื่อไทยไม่สนใจเสนอข่าวเรื่องโยกย้ายทหาร และปล่อยให้กองทัพเป็น “ตัวละครปกติ” โดยเราไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญเกินจำเป็น แต่ที่เราต้องสนใจบัญชีโยกย้ายทหารเนื่องจาก “อธิบดี” ของ “กรมทหารบก” ในระดับของกระทรวงกลาโหมมักจะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยการรัฐประหารเสมอ … ประเด็นเช่นนี้ล้วนเป็นคำตอบให้สังคมไทยต้องคิดถึงเรื่องการปฎิรูปกองทัพมากขึ้นนั่นเอง!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image