สุจิตต์ วงษ์เทศ : มีลอยโคม มีเสด็จทางชลมารค แต่ไม่มีเห่เรือ ยุคอยุธยา

ริ้วกระบวนแห่พยุหยาตราทางชลมารค สมัยสมเด็จพระนารายณ์ เขียนลงสมุดไทยขาวยาวต่อเป็นแผ่นเดียวกัน (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ)

เดือน 11, 12 ต่อเนื่องกัน ยุคอยุธยามีประเพณีชักโคมลอยโคมขอขมาผีน้ำผีดิน โดยไม่กำหนดตายตัวว่าเริ่มวันไหน? เลิกวันไหน?

ชักโคม ทำโดยปักไม้ไผ่ลำยาวเป็นเสา แล้วโน้มปลายไม้ลงมาผูกเชือกชักโคมกระดาษ

ลอยโคมกระดาษ รูปดอกบัวสีแดง, สีขาว มีเทียนจุดอยู่ข้างในโคมนั้น แล้วปล่อยลงลอยน้ำ

ชักโคม ลอยโคม ในฤดูน้ำหลากตั้งแต่ราวเดือน 11 ต่อเนื่องถึงเดือน 12 เป็นประเพณีขอขมาผีน้ำผีดินของคนบริเวณที่ราบลุ่มน้ำในอุษาคเนย์มาแต่ดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว

Advertisement

เมื่อออกพรรษา ลอยโคมไปด้วยพร้อมทอดกฐิน ซึ่งข้าราชการแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ บอกทูตลังกาที่เข้าไปอยุธยาช่วงนั้นพอดีว่า

“เป็นราชประเพณีเคยทำมาในกรุงศรีอยุธยาแต่ดึกดำบรรพ์”

 

Advertisement

ทูตลังกาจดว่าราชประเพณีลอยโคมทำมาแต่ดึกดำบรรพ์ เป็นพยานอย่างหนึ่งว่าลอยโคมต้นทางลอยกระทง ไม่ได้มีกำเนิดที่กรุงสุโขทัย

ลอยโคมนี้เองเมื่อถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ก็เรียกลอยกระทง ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับกรุงสุโขทัย

 

ไม่มีแห่เรือ

ราชทูตลังกา เห็นขบวนเรือสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เสด็จทางชลมารคไปทอดกฐิน แล้วมีบันทึกว่าในขบวนเรือมีเล่นระบำเล่นดนตรี แต่ไมพูดถึงเห่เรือ

แสดงว่ายุคอยุธยาไม่เคยมีประเพณีเห่เรือเมื่อเสด็จทางชลมารค เพราะเอกสารอื่นๆ อีกหลายเรื่องก็สอดคล้องกัน คือไม่พูดถึงเห่เรือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image