ข้อคิดจากรัฐประหาร 49!

แม้การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 จะเกิดขึ้นนานจนเป็นดัง “16 ปีแห่งความหลัง” แล้วก็ตาม แต่ก็มีประเด็นสำคัญที่เราอาจทดลองสรุปอย่างสังเขปให้เป็นข้อคิดทางการเมืองสำหรับอนาคต ดังนี้

1) รัฐประหาร 2549 คือ การกลับสู่วงจรรัฐประหารหลัง “พฤษภาประชาธิปไตย 2535” อย่างไม่คาดคิด ใครที่เคยคิดฝันว่าหลังปี 2535 แล้ว รัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีกนั้น เป็นต้องยกเลิกความคิดชุดนี้ไปได้เลย ระยะเวลาเพียง 14 ปีหลังจากชัยชนะครั้งใหญ่ของนักศึกษาประชาชน กองทัพก็กลับสู่การเมืองอีกครั้ง

2) ความเชื่อว่ารัฐประหาร 2534 คือ จุดสุดท้ายของรัฐประหารไทยนั้น จะพบว่าไม่เป็นจริงเลย เพราะรัฐประหารในปี 2549 และยังเกิดซ้ำอีกในปี 2557 จนรัฐประหารกลายเป็นภาพลักษณ์ของการเมืองไทยที่ลบล้างไม่ได้ และทำให้การเมืองไทยมีภาพเป็น “การเมืองของประเทศโลกที่สาม” ที่ไม่พัฒนา

3) ความเชื่อว่าเหตุการณ์ 2535 จะเป็นบทเรียนที่ผู้นำทหารจะไม่ทำรัฐประหาร ไม่จริง ผู้นำทหารไม่เคยคิดถึงเรื่องบทเรียนเก่า ผู้นำทหารปีกขวาจัดเชื่อเรื่องการยึดอำนาจเสมอ และมีความพยายามที่จะศึกษาเพื่อให้รัฐประหารประสบความสำเร็จได้มากที่สุด

Advertisement

4) ความเชื่อว่าชนชั้นกลางในทางทฤษฎีเป็นฝ่ายประชาธิปไตย และไม่สนับสนุนรัฐประหารนั้น ข้อสรุปนี้ใช้กับชนชั้นกลางอีกส่วนที่เป็นปีกขวาจัดไม่ได้ กลุ่มพวกเขายังต้องการพึ่งพาอำนาจทางการเมืองของทหาร และไม่เชื่อในเรื่องของประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง

5) ความเชื่อว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยหลังปี 2535 มีความเข้มแข็งที่จะป้องกันการรัฐประหารได้นั้น ไม่จริงแต่ประการใด เพราะกระบวนการสร้างประชาธิปไตยไทยยังคงมีความอ่อนแอในตัวเองอย่างมาก และสังคมยังไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะต่อต้านรัฐประหารได้อย่างจริงจัง แม้จะมีการประท้วงเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่มีพลังที่จะโค่นล้มการรัฐประหารได้

6) ความเชื่อว่าระบอบรัฐสภาจะช่วยลดความขัดแย้งในสังคม และลดเงื่อนไขการยึดอำนาจนั้น ยังไม่เป็นจริง เพราะรัฐสภายังไม่สามารถเป็นกลไกที่จะใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้จริง และทั้ง รัฐสภาไทยยังไม่อาจทำหน้าที่เป็นองค์กรในการต่อต้านรัฐประหารได้ ประกอบกับนักการเมืองฝ่ายขวาจัดในสภาเองกลายเป็นผู้สนับสนุนหลักต่อการรัฐประหารด้วย

Advertisement

7) กลุ่มการเมืองปีกขวาจัด (ชนชั้นนำ ผู้นำทหารปีกขวาจัด กลุ่มพลเรือนสายขวาจัด) ยังคงเชื่อในเรื่องการรัฐประหาร เพราะรัฐประหารเป็นเครื่องมือที่มีพลังในการจัดการกับฝ่ายตรงข้ามได้เสมอ ดังเช่นการล้มรัฐบาลพลเรือนที่เกิดขึ้นหลายครั้งในการเมืองไทย

8) การคอร์รัปชั่นและความไม่โปร่งใสของรัฐบาลพลเรือนเป็นข้ออ้างที่ดีในการรัฐประหาร และอาจจะช่วยดึงเสียงสนับสนุนจากคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกับชนชั้นกลางปีกขวา แต่รัฐบาลทหารหลังรัฐประหารก็มีปัญหาดังกล่าวอย่างมากไม่ต่างจากรัฐบาลพลเรือนที่ถูกโค่นล้มไป และยังไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วย

9) รัฐประหาร 2549 คือการปูทางสู่รัฐประหาร 2557 และไม่เพียงตอกย้ำวงจรรัฐประหารที่ไม่จบในการเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความขัดแย้งทางการเมืองภายในของสังคมที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2549 ที่ยังไม่จบ และสามารถปะทุได้อีกในอนาคต ไม่ต่างจากปรากฎการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต

10) รัฐประหารทำให้กองทัพไทยถอนตัวออกจากการเมืองไม่ได้ และเป็นการติดกับดักจนกองทัพกลายเป็น “ทหารการเมือง” แม้การปรับย้ายทหารก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมืองไปโดยปริยาย

11) รัฐประหารทำให้กองทัพเป็นเป้าหมายของการเรียกร้องทางการเมืองให้เกิด “การปฎิรูปทหาร” และเกิดข้อเรียกร้องเรื่องการสร้าง “ทหารอาชีพ” โดยเฉพาะการเรียกร้องให้กองทัพยุติบทบาททางการเมือง ซึ่งจะขัดแย้งกับความต้องการของกลุ่มการเมืองขวาจัดที่ต้องการให้ทหารมีบทบาททางการเมืองต่อไป

12) รัฐประหารทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในอนาคตมีปัญหา 3 ประการคือ มีความยุ่งยากมากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น และใช้ระยะเวลามากขึ้น

13) รัฐประหารไทยไม่เพียงเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งรัฐบาลทหาร แต่ยังเป็นจุดตั้งต้นของการเตรียมพรรคทหาร เพื่อรองรับบทบาททางการเมืองของผู้นำทหารหลังเลือกตั้งเพื่อนำไปสู่การจัดตั้ง “ระบอบพันทาง” ของผู้นำทหารไทย และใช้เป็นเครื่องมือในการเหนี่ยวรั้งการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย

14) รัฐประหารส่งผลให้สถานะของประเทศไทยในเวทีสากลตกต่ำลงอย่างมาก และรัฐบาลทหารไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมระหว่างประเทศ เว้นแต่ต้องหาความสนับสนุนจากรัฐมหาอำนาจบางฝ่ายที่ไม่รังเกียจการยึดอำนาจ

15) รัฐประหารไม่ใช่ “จุดขายทางการเมือง” ที่จะทำให้ไทยเป็นจุดของความสนใจทางการเมืองในเชิงบวก แต่การยึดอำนาจทำให้ภาพลักษณ์ทางการเมืองของประเทศเป็นลบ และสะท้อนถึงความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ที่กลไกทางการเมืองปกติไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ประเทศเช่นนี้ย่อมไม่น่าลงทุนในทางเศรษฐกิจ

อนาคต

จาก “16 ปีแห่งความหลัง” จนถึงวันนี้ การเมืองไทยยังตกอยู่ในวังวนของรัฐประหาร และข่าวลือของการรัฐประหารยังคงเกิดขึ้นในท่ามกลางข้อถกเถียงเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกรัฐมนตรี เสมือนหนึ่งการเมืองไทยไม่อาจขยับออกจากการรัฐประหารได้ ฉะนั้น ข้อสังเกตทั้ง 15 ประการในข้างต้นยังใช้ได้เสมอทั้งในปี 2549 และ 2557

ภาวะเช่นนี้ยืนยันว่า การเมืองไทยยังเป็น “การเมืองของผู้นำทหาร” ทั้งที่อยู่ในและนอกกองทัพ และไม่ใครจะประกันได้ว่า รัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีกในการเมืองไทย จนกว่า “กลุ่มการเมืองขวาจัด” (ชนชั้นนำ ผู้นำทหารปีกขวาจัด และกลุ่มพลเรือนขวาจัด) ยอมรับว่า ประชาธิปไตยมีประโยชน์ทางการเมืองกว่าเผด็จการทหารในการสร้างประเทศในอนาคต และตระหนักว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่ปัจจัยที่ทำลายผลประโยชน์ของพวกเขา แต่ขณะเดียวกัน พรรคการเมืองเองก็จะต้องปรับตัวที่จะไม่สร้างเงื่อนไขให้แก่การรัฐประหาร และให้ความสำคัญกับการสร้างระบบพรรคให้เข้มแข็ง เพื่อที่จะเป็นฐานของการพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคต อีกทั้ง ในสังคมที่ “ตื่นรู้” ทางการเมืองมากขึ้นนั้น บทบาททางการเมืองของทหารจะไมเป็นที่ยอมรับ

แม้การรัฐประหารอาจเกิดขึ้นได้เสมอในการเมืองไทย แต่ชีวิตของรัฐบาลทหารในอนาคตจะไม่ง่ายและสุขสบายเช่นในปี 2549 และ 2557 อย่างแน่นอน … ความรุนแรงข้างบ้านจึงเป็นข้อเตือนใจที่ “นักรัฐประหารไทย” ต้องตระหนักให้มากเสมอ!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image