ดวงพระประทีป ณ ชายแดนตราดเมื่อปี พ.ศ.2522 โดยพลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

เขมรอพยพ 20

ภาพเก่า..เล่าตำนานตอนนี้ ผู้เขียนมิได้ต้องการจะไปขุดคุ้ยความไม่สบายใจของฝ่ายใด แต่เป็นความปรารถนาที่จะขอน้อมนำพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงพระราชทานทานแก่เพื่อนมนุษย์นับแสนคนให้รอดตายในวิกฤตการณ์ที่แสนสาหัสมาบอกเล่า กอปรกับให้ระลึกถึงไมตรี ความงดงามของจิตใจ ความเอื้ออาทรที่คนไทยแสดงต่อเพื่อนบ้านในยามทุกข์ยาก อีกทั้งผู้เขียนประสงค์จะบอกกล่าวชนรุ่นหลังให้รับทราบความทุกข์ยากในบางเวลาของเพื่อนมนุษย์ ก่อนที่ข้อมูลตรงนี้จะมลายหายไปกับกาลเวลา

เมื่อ 30 เมษายน 2516 รถถัง T-54 กองทัพเวียดนามเหนือบุกเข้าไปในทำเนียบประธานาธิบดีของเวียดนามใต้ ในกรุงไซ่ง่อน (ปัจจุบัน คือ นครโฮจิมินห์) ถือว่าปิดฉากสงครามเวียดนามที่รบกัน 30 ปี โดยเวียดนามเหนือเป็นฝ่ายชนะสงคราม

โฮจิมินห์ ผู้นำของเวียดนามเหนือขึ้นเป็นผู้นำ ปกครองประเทศด้วยระบบสังคมนิยมเต็มพิกัด ชาวเวียดนามหนีออกนอกประเทศทุกวิถีทาง ยัดเยียดกันลงเรือทุกชนิดที่เรียกกันว่า Boat People สะเปะสะปะไปทั่วท้องทะเล ส่วนหนึ่งตายเพราะเรือโดนพายุ ที่รอดตายส่วนหนึ่งมาขึ้นบกแถวจันทบุรี ระยอง บ้างก็เลยเถิดไปขึ้นบกที่สงขลา

Advertisement

กระเถิบเข้ามาที่กัมพูชา เพื่อนบ้านของไทย โดยขอเล่าแบบตัดตอนประวัติศาสตร์สงครามครับ

นายพล ลอนนอล เป็นรัฐบาลปกครองกัมพูชาได้ราว 5 ปี ประเทศชาติขาดเสถียรภาพ ปัญหารุมเร้าท่วมหัว 17 เมษายน 2518 นายพล พต บัณฑิตวิศวไฟฟ้าจากปารีส เป็นคอมมิวนิสต์ตัวพ่อสายจีน ซ่องสุมกำลังเขมรแดงมาพักใหญ่ ได้รับการสนับสนุนจากปักกิ่งนำกำลังเขมรแดงโค่นล้มรัฐบาลและบุกเข้ายึดกรุงพนมเปญ

อุดมการณ์ของนายพล พต คือการปรับโฉมกัมพูชาแบบถอนรากถอนโคน ให้เป็นเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมพึ่งพาตนเอง สูตรสำเร็จของพล พต คือสั่งเฉียบขาดให้ชนชั้นสูงและชนชั้นกลางในเมืองออกไปทำไร่ไถนาในชนบทเพื่อสังคมใหม่ และนี่คือที่มาของภาพยนตร์เรื่อง Killing Field หรือ “ทุ่งสังหาร” ที่ถูกเปิดเผยโด่งดังไปทั่วโลก

Advertisement

ผู้เขียนชักแม่น้ำทั้ง 5 เพื่อนำมาสู่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ที่เพิ่งผ่านมาเพียงแค่ 4 ทศวรรษ

ภายใต้การนำของพล พต ชาวกัมพูชาทุกคนต้องการหนีเอาตัวรอด ส่วนหนึ่งถูกจับไปขังคุกที่ตวลสเลง ตายกันเป็นเบือจากการทรมานด้วยวิธีต่างๆ ส่วนพวกที่เคยอยู่ในเมือง เมื่อต้องมาขุดดิน ทุบหิน ทำไร่ ไถนา คนเหล่านี้เกือบทั้งหมดป่วยตายในท้องไร่ท้องนา ฝังบ้าง ไม่ฝังบ้าง ศพชาวเขมรเกลื่อนกลาดทั่วแผ่นดิน แทบไม่มีข่าวเล็ดลอดออกมาสู่โลกภายนอก ประมาณกันว่าภายใต้นโยบายสังคมนิยมสุดโต่งของพล พต มีประชาชนกัมพูชาเสียชีวิตราว 3 ล้านคน (ขณะนั้นมีประชากรราว 7 ล้านคน)

ท่านผู้อ่านอาจจะนึกว่านี่เป็นเรื่องในตำนาน ผู้เขียนขอยืนยันว่านี่เป็นเรื่องจริง ที่แผ่นดินไทยเคยรองรับคนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นจาก 2 สงคราม คือสงครามเวียดนามและสงครามในกัมพูชานับแสนคน

ไทยและกัมพูชามีชายแดนทางบกติดต่อกันยาวประมาณ 798 กม. ส่วนใหญ่เป็นพื้นราบ ไม่มีรั้ว ไม่มีตาข่าย รัฐบาลไทยไม่มีทางเลือกเป็นอื่น ทางเลือกเดียวคือ จัดพื้นที่รองรับให้อยู่ในอาณาบริเวณเฉพาะ หาข้าว หาน้ำ รักษาพยาบาลให้พี่น้องชาวเขมรด้วยหลักมนุษยธรรม

ในราวต้นเดือนพฤษภาคม 2522 เขมรแดงกวาดล้างครั้งใหญ่ กวาดต้อนประชาชนไปเข้าค่ายสัมมนา ชาวเขมรมืดฟ้ามัวดินทะลักเข้ามาในพื้นที่บ้านเขาล้าน อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2522 เขมรทะลักเข้ามารวมยอดราว 1 แสนคน

ภาพเก่า..เล่าตำนานตอนนี้ เป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องบันทึกให้ลูกหลาน จะขอนำเสนอภาพเหตุการณ์ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2522 ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ บริเวณพื้นที่รองรับเขมรอพยพ เขาล้าน อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ครับ

เขมรราว 1 แสนคน บ้านแตกสาแหรกขาดทยอยอพยพหนีตายผ่านเทือกเขาบรรทัด ชาวเขมรเดินเท้าแทบไม่ไหว เสื้อผ้าขาดรุ่งริ่ง ผอมโซ ส่วนใหญ่ป่วยหนักด้วยโรคมาลาเรีย ยุงป่ากัด และอุจจาระร่วงมาตลอดทาง

ที่น่าเวทนาแสนสาหัสคือ แม่ลูกอ่อน และเด็กทารกที่ไม่มีนมกิน กำลังจะตาย ชาวเขมรเหล่านี้ถูกเขมรแดงปล้นทรัพย์สินแก้วแหวนเงินทองของมีค่าไปหมดสิ้นแล้ว
มันคือโครงกระดูกราว 1 แสนคนที่หายใจได้ คลื่นคนเขมรตกยากกำลังทะลักเหมือนเขื่อนแตกเข้ามาในแผ่นดินไทย

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งกำลังประทับอยู่ ณ วังไกลกังวล ทรงทราบถึงเหตุการณ์ดังกล่าว จึงตัดสินพระทัยเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมพื้นที่เขาล้านทันทีโดยเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะ แต่ทางราชการนำเสด็จไป ณ พื้นที่ บ.ไม้รูด ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและเรื่องของสุขอนามัย หากแต่พระองค์มีพระประสงค์อันแรงกล้าที่จะเดินทางต่อไป บ.เขาล้าน อ. คลองใหญ่ จ.ตราด เพื่อขอทอดพระเนตรเหตุการณ์จริง ที่ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลือ

เมื่อเสด็จฯ ถึง สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงอำนวยการพระราชทานความช่วยเหลือทันที สภาพความอเนจอนาถของชาวเขมรที่นอนเกลื่อนพื้นเป็นตายเท่ากัน สิ่งปฏิกูลที่ขับถ่ายออกมาระเกะระกะไปทั่วพื้นที่ คนนอนรอตาย คนตายแล้ว สภาพพื้นดินที่สกปรก กลิ่นแห่งความสกปรกของอุจจาระ ปัสสาวะ ทั้งหลายทั้งปวงมิได้เป็นอุปสรรคใดต่อพระองค์แม้แต่น้อย ท่านเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรชาวเขมรเหล่านี้ด้วยพระองค์เอง พร้อมทั้งทรงมีรับสั่งให้ระดมความช่วยเหลือ ความเร่งด่วนคือ นมผงและน้ำเกลือสำหรับเด็กทารกและเด็กๆ ที่ป่วยและหิวโหย

ต้องยอมรับนะครับว่าในประวัติศาสตร์ไทย ส่วนราชการ ภาคเอกชน หน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยยังไม่มีประสบการณ์ที่จะต้องรับมือกับผู้อพยพนับแสนที่กำลังทะลักเข้ามา

ณ นาทีนั้นที่ท่านเสด็จฯ ถึง คือจุดเริ่มต้นที่ส่วนราชการต่างๆ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ต้องตื่นตัวเข้ามาสนองพระราชเสาวนีย์ แพทย์ พยาบาล หยูกยาสารพัด นมสำหรับเด็ก ผ้าพลาสติก เครื่องนุ่งห่ม น้ำกินน้ำใช้ เครื่องจักรกลขุดดิน การปรับพื้นที่ ฯลฯ เริ่มปรากฏ ขยับเขยื้อน เกิดการขับเคลื่อนให้เห็นแบบทันทีทันใด

ถือได้ว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชทานกำเนิดศูนย์อพยพเขาล้านเพื่อรักษาชีวิตชาวเขมรนับแสน และทรงมีพระราชเสาวนีย์ที่ต้องจารึกว่า “ฉันตัดสินใจที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เหล่านี้ เท่าที่กำลังความสามารถของฉันจะมี”

พระองค์มิได้ทรงคำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนาของเพื่อนมนุษย์ และทรงกำกับการทำงานทั้งปวงผ่านเจ้าหน้าที่ของพระองค์เองที่ต้องอยู่ทำงานในพื้นที่ตลอดเวลา

นับแต่เดือนพฤษภาคม 2522 สภากาชาดไทยช่วยเหลือชาวเขมร ให้มีที่พักพิง ฟื้นคืนสภาพ หายจากเจ็บป่วย มีสุขภาพแข็งแรง บางส่วนไปประเทศที่สาม ส่วนที่เหลือเมื่อสงครามสงบจึงทยอยส่งกลับไปจนหมด รวมระยะเวลาที่ดูชาวเขมรพื้นที่ตรงนี้ราว 7 ปี

ศูนย์แห่งนี้ได้ปิดลงอย่างเป็นทางการเมื่อ 4 กรกฎาคม 2529 ต่อมาใน 29 เมษายน 2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จฯ ไปทรงวางศิลาฤกษ์เพื่อจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครบ 60 พรรษา เพื่อแสดงภาพเหตุการณ์ในอดีตและใช้พื้นที่ดังกล่าวนี้เป็นศูนย์ฝึกอบรมยุวกาชาด ลูกเสือ ฯลฯ และพัฒนาเป็นพื้นที่พักผ่อนสำหรับประชาชน

26 พฤษภาคม 2537 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปทรงเปิดพิพิธภัณฑ์ที่ก่อสร้างขึ้นในพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ โดยอาคารได้รับพระราชทานนามว่า “ศาลาราชการุณย์”

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

aislogo

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image