แนวรบด้านตะวันตกที่ผิดปกติ โดย ลลิตา หาญวงษ์

เข้าสู่เดือนที่ 17 หลังกองทัพพม่ารัฐประหารล้มล้างรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของพรรค NLD เวลาเพียงปีเศษอาจจะฟังดูไม่นานนัก แต่สำหรับประชาชนในพม่าและฝ่ายที่เลือกยืนหยัดขึ้นต่อต้านรัฐประหาร คงเป็นเวลาที่แสนยาวนานทีเดียว เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นใหม่ๆ ประชาชนออกมาเดินขบวนประท้วงกันอย่างคึกคัก แต่ในที่สุดก็ถูกปราบปรามอย่างรุนแรง จนมีจำนวนผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้น ทั้งจากการกราดยิงของกองทัพ การจับกุมฝ่ายต่อต้าน และการใช้วิธีการซ้อมทรมานแบบเดิมๆ รวมทั้งโทษประหารชีวิตที่คณะรัฐประหารนำกลับมาใช้

นี่คือภาพของการต่อสู้ภายในเมืองใหญ่ๆ แต่สำหรับพื้นที่รอบนอก โฉมหน้าของการต่อสู้เป็นอีกแบบ

จากรายงานของสภาที่ปรึกษาพิเศษว่าด้วยเมียนมา (Special Advisory Council Myanmar) ซึ่งเป็นองค์กรที่รวมบุคคลระดับไฮโปรไฟล์ที่เคยทำงานเกี่ยวกับพม่า ได้แก่ ยังฮี ลี (Yanghee Lee) อดีตผู้สอบสวนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติประจำพม่า มาร์ซูกี ดารุสมาน (Marzuki Darusman) อดีตประธานคณะกรรมการสืบหาความจริงเกี่ยวกับ พม่าของสหประชาชาติ และคริส ซิดอตติ (Chris Sidotti) อดีตคณะทำงานของดารุสมาน ชี้ให้เห็นว่ากองทัพพม่าควบคุมพื้นที่ได้แบบเบ็ดเสร็จเพียง 17 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ ที่เหลืออยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังหลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ประกาศสงครามต่อต้านกองทัพและคณะรัฐประหารชัดเจน ยังมีพื้นที่อีก 23 เปอร์เซ็นต์ ที่กองทัพพม่าควบคุมอยู่ก็จริง แต่พบกับการโจมตีจากกองกำลังหลายฝ่าย จนไม่สามารถควบคุมได้ และอีก 8 เปอร์เซ็นต์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังของคนในท้องถิ่นที่สนับสนุนรัฐบาลทหาร

จากสถิติของรายงานฉบับนี้ยังชี้ว่าพื้นที่ที่มีการสู้รบกันดุเดือดที่สุดคือพื้นที่ชายแดน ทั้งในเขตรัฐกะเหรี่ยงติดชายแดนไทย รัฐฉานภาคตะวันออกและรัฐฉิ่นติดชายแดนจีน และรัฐยะไข่ติดชายแดนบังกลาเทศ ในขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่แถบที่ราบลุ่มในพม่าตอนกลางและตอนล่าง โดยเฉพาะที่อยู่รอบๆ กรุงเนปยีดอและเมืองย่างกุ้ง ยังอยู่ภายใต้การควบคุมที่รัดกุมของกองทัพ และจากรายงานอีกฉบับหนึ่งของกลุ่มนักวิจัยอิสระเมียนมา (Myanmar Independent Researchers หรือ MIR) ก็มีข้อมูลไปในทางเดียวกัน กองกำลังฝั่งรัฐบาลพม่าไม่สามารถควบคุมทั้งหมู่บ้านและตำบลในพื้นที่ของตนได้ ผู้วิจัยลงพื้นที่สำรวจหมู่บ้านหลายแห่งใน 15 มณฑล และพบว่าการบริหารภายในหมู่บ้านและตำบลส่วนใหญ่ไม่ปกติ เช่น อาคารที่ทำการองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นปิดทำการ แม้คณะรัฐประหารจะแต่งตั้งคนของตนเองเข้าไปประจำในทุกพื้นที่ที่ตนควบคุมแล้ว

Advertisement

จากการสำรวจในรายงานทั้ง 2 ฉบับ เราอาจเห็นภาพกว้างๆ ว่าเกิดภาวะสุญญากาศขึ้นในพื้นที่ส่วนใหญ่ของพม่า ด้วยการสู้รบที่ดำเนินอยู่ ต่างฝ่ายต่างก็ต้องการขยายพื้นที่ของตนให้มากที่สุด หนึ่งในพื้นที่ที่มีการสู้รบดุเดือดที่สุดในหลายเดือนที่ผ่านมาคือในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า จากแถลงการณ์ของกองทัพอาระกัน (Arakan Army หรือ AA) ที่แถลงผ่านระบบซูม ก็ชี้ให้เห็นว่าในรัฐยะไข่มีการต่อสู้ระหว่างกองทัพอาระกันกับกองกำลังฝั่งรัฐบาลพม่าอย่างดุเดือด เรียกว่าเป็นพื้นที่ที่มีการสู้รบเข้มข้นที่สุดในปัจจุบัน กองทัพพม่าใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดและอาวุธหนักโจมตีฐานที่มั่นของกองทัพอาระกัน เพราะรู้ดีว่ากำลังภาคพื้นดินเพียงอย่างเดียวไม่สามารถเผด็จศึกกองกำลังในรัฐยะไข่ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านพื้นที่เป็นอย่างดีได้

จากแถลงการณ์ของจาย ตู คา (Khaing Thu Kha) โฆษกของกองทัพอาระกัน เรายังทราบอีกว่ากองทัพพม่ามีกองกำลังประจำอยู่ทั่วประเทศก็จริง แต่ในปัจจุบันเกิดปัญหาว่ากองกำลังแต่ละกลุ่มมีจำนวนทหารและอาวุธไม่เพียงพอ เนื่องจากต้องต่อสู้กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มพร้อมๆ กัน ยังไม่นับกองกำลังฝั่งประชาชน หรือ PDF ที่ก็มีจำนวนมากขึ้น แม้ PDF จะมีปัญหาเรื่องเงินทุนและอาวุธที่ไม่ได้มีมากมายเหมือนกองกำลังฝั่งรัฐหรือของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในปัจจุบัน กองกำลังฝั่งรัฐบาลพม่าไม่สามารถนำทหารจำนวนมากเข้าไปในรัฐยะไข่ได้อีกแล้ว และทหารที่ยังประจำการอยู่ในรัฐยะไข่ก็แทบไม่ออกจากฐานที่มั่น เพราะเกรงว่าจะสูญเสียฐานที่มั่นที่เหลืออยู่ไม่มากไป และหากต้องเปิดฉากโจมตีกับกองกำลังต่างๆ ก็ใช่ว่ากองทัพพม่าจะชนะ

สถานการณ์ในรัฐยะไข่ตอนนี้อยู่ในขั้น “ล่อแหลม” เพราะกองทัพอาระกันยืนยันระดมทัพเพื่อเผด็จศึกกองทัพพม่าเต็มสูบ กองทัพอาระกันส่งกองกำลังเข้าไปในพื้นที่ที่มีกองทัพพม่าประจำอยู่และอาจเปิดฉากโจมตีกองทัพพม่าได้ทุกเมื่อ รวมทั้งยังเตือนประชาชนในพื้นที่แถบเมืองหม่องด่อ (Maungdaw) ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ว่าให้เตรียมตัวอพยพแล้ว โฆษกกองทัพอาระกันแถลงว่ากองทัพพม่ามีกำลังพลราว 10,000 นาย ประจำอยู่ในรัฐยะไข่ ส่วนใหญ่ประจำอยู่ทางตอนเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยมีชาวโรฮีนจาอาศัยอยู่หนาแน่นมาก่อน ในจำนวนนี้เกินครึ่งเป็นตำรวจตระเวนชายแดน และอีกราว 3,000 นาย เป็นทหารที่ถูกเกณฑ์เข้ามาประจำในรัฐยะไข่

Advertisement

ปัญหาสำคัญของกองทัพพม่าในขณะนี้คือทหารจำนวนมากขาดกำลังใจ หลายคนไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐประหาร จึงเกิดปรากฏการณ์ทหารหนีทัพ เฉพาะในรัฐยะไข่ มีทหารพม่านับร้อยคนที่หนีทัพและมีบางส่วนที่ไปเข้าร่วมกับกองทัพอาระกัน กองทัพอาระกันยังยืนยันด้วยว่าตนไม่ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับกองกำลังประชาชน PDF โดยตรง ให้ความช่วยเหลือด้านการปฐมพยาบาล และรักษาทหาร PDF ที่ป่วยเป็นบางครั้ง แต่ไมได้ให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธกับ PDF แต่อย่างใด

ประเด็นสุดท้ายที่โฆษกกองทัพอาระกันกล่าวถึง และผู้เขียนมองว่าน่าสนใจเป็นพิเศษคือการอ้างอิงถึงการชาวโรฮีนจา และกระบวนการนำชาวโรฮีนจากลับคืนถิ่นฐาน (repatriation) หากกล่าวถึงเรื่องนี้ในยุคก่อนรัฐประหาร อำนาจการจัดการปัญหาโรฮีนจาขึ้นอยู่กับกองทัพ ที่กดดันให้รัฐบาลพลเรือนผลักไสให้ชาวโรฮีนจาต้องอพยพหนีตายเข้าไปในบังกลาเทศนับล้านคน แต่ภาวะสุญญากาศทางอำนาจในรัฐยะไข่ที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร ทำให้กองทัพอาระกันมีบทบาทในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวกับการรับชาวโรฮีนจากลับเข้ามามากขึ้น ท่าทีของกองทัพอาระกันคือพยายามให้ความเชื่อมั่นกับทั้งบังกลาเทศและประชาคมโลกว่าหากโลกให้การสนับสนุนกองทัพอาระกันแล้วล่ะก็ พวกเขาก็จะช่วยให้ชาวโรฮีนจากลับเข้าไปในรัฐยะไข่โดยเร็วที่สุด เป็นไปได้ว่ากองทัพอาระกันใช้โอกาสที่รัฐบาลของคณะรัฐประหารกำลังมีข้อพิพาทกับรัฐบาลบังกลาเทศ และกระบวนการนำชาวโรฮีนจากลับไปในรัฐยะไข่ที่หายเงียบไปสักระยะแล้วมาเป็นเหตุผลเพื่อขอความสนับสนุนจากนานาชาติ กองทัพอาระกันยังประกาศว่าพวกเขาจะเริ่มหารือเรื่องโรฮีนจาก็ต่อเมื่อประชาคมโลกให้การรับรอง “รัฐบาลอาระกัน” อย่างเป็นทางการแล้วเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image