ที่เห็นและเป็นไป : “บทเรียน”ที่ต้องร่วมตอกย้ำ

ที่เห็นและเป็นไป : “บทเรียน”ที่ต้องร่วมตอกย้ำ

แม้ความเคลื่อนไหวเพื่อแสดงออกทางการเมืองในวาระย้ำเตือนพิษภัยของ “รัฐประหาร 19 กันยายน 2549” ต่อพัฒนาการของประเทศ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่มีกิจกรรมที่ร้อนแรงมากนัก ปรากฏเพียงแค่การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์จากเยาวชนคนรุ่นใหม่กลุ่มเล็ก ที่ไม่มีอะไรให้พูดถึงเท่าไร

แต่ทรรศนะที่สะท้อนผ่านสื่อต่างๆ ในทุกรูปแบบ ทั้งสื่อออนไลน์ ออฟไลน์ สื่อเก่า สื่อใหม่ กลับเป็นไปด้วยความคึกคักอย่างยิ่ง

ที่น่าสนใจคือเนื้อหาหนักแน่นไปในทางเดียวกันเกือบทั้งหมดคือชี้ให้เห็นความเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับประเทศ เมื่อผู้มีอำนาจเลือกที่จะนำพาการปกครองออกจากระบอบประชาธิปไตยที่นานาชาติยอมรับ มาเป็นอำนาจโดยคนกลุ่มหนึ่งใช้กองกำลัง และอาวุธยึดการปกครองประกาศตัวเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” คำสั่งของคนคนเดียวเป็นกฎหมายบังคับใช้ได้ทุกเรื่องในประเทศ

Advertisement

เป็นการร่วมชี้ให้เห็นว่า แม้ในช่วงหลังการควบคุมอำนาจจะสร้างกลไกที่เนียนขึ้น ด้วยใช้กฎหมายที่ดีไซน์มาเพื่อการสืบทอดมาปกปิดไม่ให้เห็น “ความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของอำนาจมากนัก” แต่หากมองไปที่ผลของการใช้อำนาจ จะพบว่าวิธีการที่ดูเนียนขึ้นนั้น ไม่ได้ทำให้ผลที่เกิดขึ้นแตกต่างกันมากนัก

เป้าหมายมุ่งปิดกั้น และทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมือง และคุ้มครองป้องกันฝ่ายตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัย เพื่อสืบต่อไปไม่รู้จบสิ้น ยังมีกลไกรองรับซึ่งปฏิบัติการอย่างได้ผลเฉียบขาด ไม่ต่างอะไรกับอำนาจเต็มหลังรัฐประหาร

เป็นการแสดงออกเพื่อสร้างกระแสร่วมกัน เพื่อตอกย้ำว่า “รัฐประหาร” นั้นมีแต่ผลเสีย และหลายเรื่องรุนแรงจนกระทบต่อพัฒนาของประเทศ ทำให้คนรุ่นใหม่สิ้นหวังกับอนาคตอย่างน่าเสียดาย

Advertisement

ก่อนหน้า 19 กันยายน 2549 คนไทยส่วนใหญ่ในกลุ่ม ในฝ่ายต่างๆ มีความเชื่อไปในทิศทางเดียวกันว่า “ประเทศไทยผ่านพ้นจากความคิดทำรัฐประหารแล้ว”

แม้ว่า ในมือของ “นักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชน” จะให้ความรู้สึกว่ายังลุ่มๆ ดอนๆ มีข้อครหา และเรื่องราวที่ถูกโจมตีมากมาย

แต่ยากที่จะเห็นใครสักคนคิดไปถึงการหาทางออกด้วย “รัฐประหาร” เหมือนก่อนหน้ารัฐประหาร

คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นไปไม่ได้แล้ว ท่ามกลางกระแสโลกที่ต่อต้าน และกระแสภายในประเทศที่ประชาชนเกิดความตื่นตัวในประชาธิปไตยสูงมาก

มีความเชื่อว่าหากมีการรัฐประหารอีกจะทำให้ประเทศสู่ความเลวร้ายหนักหน่วง แบบหมดหนทางนำประเทศสู่ความเจริญรุ่งเรืองอย่างที่ควรจะเป็นได้

แต่แล้ว 19 กันยายน 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นได้ทำให้ทุกคนรับรู้ว่าทุกคนคิดผิด

“ผู้นำกองทัพยังอยู่กับความคิดที่ปฏิเสธอำนาจประชาชน พร้อมที่จะยึดอำนาจมาไว้กับคนบางกลุ่ม”

แม้ในทางปฏิบัติ การยึดอำนาจของ “พล.อ.สนธิ” ไม่ประสบความสำเร็จนัก เพราะไม่นานก็ต้องคืนอำนาจให้ประชาชน ต้องจัดการเลือกตั้ง และพ่ายแพ้ต่อนักการเมืองที่อาศัยอำนาจประชาชนเลือกเข้ามา เป็นความพ่ายแพ้อย่างยับเยิน

แต่ในความเป็นไป รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการพิสูจน์ว่า “รัฐประหาร” ยังเกิดขึ้นได้เสมอในแผ่นดินนี้

และเป็นหัวเชื้อให้เกิดการรัฐประหารอีกครั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ ผบ.ทบ.เช่นเคย ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และสืบทอดอำนาจมายาวนานจนถึงวันนี้ พร้อมๆ กับความพยายามที่จะอยู่ยงคงกระพันไปเรื่อยๆ

เป็นการใช้ความล้มเหลวของ “พล.อ.สนธิ” มาเป็นบทเรียนเพื่อวางแผน “อยู่ยาว” อย่างได้ผล

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะคิดผิดว่า “ประเทศไทยเราพัฒนามาไกลเกินกว่าจะมีใครกล้าที่จะทำรัฐประหารแล้ว”

เพราะในที่สุดเมื่อการยึดอำนาจเกิดขึ้น กลับไม่มีใครทำอะไรได้

แต่ในอีกมุมหนึ่ง คนส่วนใหญ่ไม่เพียงไม่ได้คิดผิด แต่สภาวะที่เกิดขึ้นกับประเทศจากรัฐประหารวันนั้น จนถึงการสืบทอดอำนาจในวันนี้

ความเชื่อของทุกคนกลับ “ถูกต้อง” จนยากจะปฏิเสธ ด้วยเป็นเรื่องที่เห็นอยู่ตำตา ตำใจ

นั่นคือความเชื่อที่ว่า “หากประเทศกลับไปสู่รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ความเสื่อมทรามจะเกิดขึ้นกับความเป็นประเทศในทุกมิติ” ถึงวันนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า เป็น “ความจริง” เป็น “ความเชื่อที่ถูกต้อง”

ความเป็นไปของประเทศในช่วง 19 กันยายน 2549 จนถึงวันนี้เป็นบทพิสูจน์ได้ชัดเจน

เป็นบทเรียนสำหรับประชาชนทุกคนทุกฝ่าย

โดยเฉพาะนักการเมืองซึ่งทั้งที่อาศัยประชาชนก้าวขึ้นสู่การมีอำนาจ แต่ยังร่วมทำลายประเทศชาติอย่างไม่รู้สึกรู้สา

แม้ความเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐประหารยังไม่มีพลังอะไรมากนัก

แต่การร่วมกันสร้างกระแสให้ใช้ “สภาพของประเทศที่เกิดขึ้นจากรัฐประหาร” กลับเข้มข้นและเอาจริงอย่างยิ่ง

ด้วยความหวังว่าประชาชนจะรับเรื่องนี้ไปเป็นบทเรียน เพื่อร่วมกันนำพาประเทศชาติในทางที่เหมาะที่ควรด้วยพลังของทุกคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image