กาลเทศะ โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

 

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับล่าสุด 11-17 พฤศจิกายน 2559

15049770_1353324781368101_1017293181_n

มีรายงานความคืบหน้าภาพยนตร์ประวัติศาสตร์

Advertisement

พสกนิกรชาวไทย 3 แสนคน ร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เพื่อรำลึกถึง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีการบันทึกไว้เมื่อ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา

โดยล่าสุด ท่านมุ้ย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ผู้กำกับและผู้ถ่ายทำ ได้เข้าพบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

นำภาพยนตร์เพลงสรรเสริญพระบารมี ความยาว 10 นาทีให้นายกรัฐมนตรีรับชม

Advertisement

ปรากฏนายกรัฐมนตรีชอบ พอใจ และไม่มีข้อติติงใดๆ

ขั้นตอนต่อไปจะนำกราบบังคมทูลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ว่าจะทรงมีพระราชวินิจฉัยออกมาอย่างไร

หากไม่มีข้อขัดข้องใดๆ ถึงจะนำออกฉายตามโรงภาพยนตร์ โทรทัศน์ และบนป้ายโฆษณา ต่อไป

แม้ภาพยนตร์นี้เป็นการริเริ่มของท่านมุ้ย แต่กระนั้นมีขั้นตอนดำเนินการหลายขั้นตอน

มิได้เป็นไปตามอำเภอใจของใคร

สะท้อนความละเอียด ถี่ถ้วน รอบคอบ

มีกาละ และเทศะ

ด้วยเพราะเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และรวมถึงการเป็นบทเพลงสรรเสริญที่ใช้ถวายความเคารพแด่องค์พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ด้วย

จึงถูกต้องแล้ว ที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล จะดำเนินการอย่างระมัดระวัง มีขั้นตอน

 

มาถึงตรงนี้แล้ว

อดจะกล่าวถึง สมเถา สุจริตกุล วาทยากรชื่อดัง ไม่ได้

เพราะ “ภาพ” ที่สมเถา สุจริตกุล ยืนควบคุมการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ยิ่งใหญ่สง่างาม

สมกับที่มีการยกย่องว่าเป็นวาทยากรระดับโลกจริงๆ

แต่พอภาพเดียวกันมาปรากฏบนเครื่องบินของสายการบินนกแอร์ ขณะเดินทางไป จ.ยะลา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน

กลับเกิดอาการพิพักพิพ่วนในหลายคน

โดยเฉพาะเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นพอดีกับที่แอร์โฮสเตสได้เข้ามาแจ้งตามกฎการบิน ให้ผู้โดยสารเข้านั่งประจำที่

เนื่องจากนักบินแจ้งว่าได้รับรายงานว่ามีสภาพอากาศแปรปรวน จึงแจ้งเตือนผู้โดยสารให้นั่งอยู่กับที่และคาดเข็มขัดนิรภัย เพื่อความปลอดภัย

แต่ดูเหมือนว่ากิจกรรมดังกล่าวดำเนินต่อไปจนกระทั่งจบ

ด้วยเหตุผลจากการชี้แจงของนายสมเถาว่า

“การร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีไม่สามารถหยุดกลางคันได้”

พร้อมกับมีคำชี้แจงเพิ่มเติมของนายสมเถาในภายหลังว่า

“การนำร้องเพลงสรรเสริญบนเครื่องบินเป็นการกระทำแบบที่เรียกว่าเป็นไปอย่างธรรมชาติ และไม่ได้มีการบังคับผู้โดยสารให้ร้องบนเครื่องบิน ทั้งนี้ ผู้โดยสารที่ไม่รู้จักกันบอกว่าเสียดายที่ไม่ได้ร้องที่สนามหลวง จึงนำร้องบนเครื่องบิน ซึ่งการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีไม่สามารถหยุดกลางคันได้ ทั้งนี้ ไม่มีสภาพอากาศแปรปรวนอย่างที่ประกาศแต่อย่างใด”

คงไม่มีใครสงสัยในเจตนาของนายสมเถาว่ามีเจตนาไม่ดี

แต่กระนั้น ภายใต้กาละและเทศะดังกล่าว ก็ชวนให้เกิดคำถามโตๆ ที่คนในสังคมควรช่วยกันคิด

เพราะประเด็นนี้ละเอียดอ่อน สามารถพลิกผันไปทางหนึ่งทางใดได้ หาก “หลักไม่ดี”

ข้ออ้างที่ “การร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีไม่สามารถหยุดกลางคันได้” อาจเป็นโทษอย่างมหันต์สำหรับแอร์โฮสเตสและสายการบิน ทั้งที่เธอและสายการบินกำลังปฏิบัติตามกฎการบิน

เช่นเดียวกัน แอร์โฮสเตสและสายการบินก็อาจถูกกล่าวหา “เถรตรง” เป็นแท่งคอนกรีต มิได้มีข้อยกเว้นให้กับการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ที่สะท้อนถึงความจงรักภักดี

บาปบริสุทธิ์สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ แถมเกิดแก้ยาก

อย่าให้เพลงสรรเสริญพระบารมีที่ “รวมใจ” คนได้แล้ว กลายเป็นประเด็นขัดแย้งอย่างที่เคยเป็นอีกเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image