คอลัมน์แท็งก์ความคิด : โมเดลท้องถิ่น

แฟ้มภาพ (ที่มา : sustainablecommunication.org)

จากเทศบาลตำบลยางเนิ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่

แวะเวียนไปที่องค์การบริหารส่วนตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง จังหวัดเดียวกัน

ไปพบกับ นายรุ่งสุริยา เชียงชีระ นายก อบต.ข่วงเปา และทีมงาน

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่นั่น มีงานสร้างเสริมเครือข่ายมาโชว์

Advertisement

จับมือกับกำนันผู้ใหญ่บ้าน ร่วมมือกับบริษัทเอกชน และหน่วยราชการ

คัดแยกขยะ จัดตลาดซื้อ-ขายขยะ และทำบัญชีร่วมกัน

จาก 10 หมู่บ้านที่ดูแล อบต.ข่วงเปา ทำโครงการนี้กับ 5 หมู่บ้าน

Advertisement

ส่วนหมู่บ้านที่เหลือ ทำไมจึงไม่ร่วม สอบถามได้ความว่า ชาวบ้านที่นั่นอยู่ใกล้แหล่งรับซื้อ

ไม่ต้องพึ่งพิงตลาดขยะที่ อบต.จัด เพราะทุกวันเขาสามารถแยกขยะไปขายได้เองตลอดเวลา

ชาวบ้านสามารถขายได้ทันทีไม่ต้องรอ

ส่วนชาวบ้านในหมู่บ้านที่เข้าโครงการ จะใช้บริการตลาดซื้อขายขยะ

ก่อนถึงวันเปิดตลาด อบต.จะปิดป้ายประกาศราคารับซื้อ

ราคานี้ได้จากทางร้านค้าที่จะมารับซื้อ

แต่ละครั้งจะรับซื้อในราคาไม่เหมือนกัน

เช่น ตอนที่เดินทางไป อบต.เขาจำลองสถานการณ์ตลาดขยะให้ดู

มีบอร์ดติดราคาระบุว่า กระดาษหนังสือพิมพ์ รับซื้อกิโลกรัมละ 5 บาท

พลาสติกใสขุ่น กิโลกรัมละ 7 บาท กระดาษลังกิโลกรัมละ 2 บาท

ขวดเหล้าพร้อมลังแต่ละยี่ห้อรับซื้อต่างราคากัน

เหล็กรวม ขวดเบียร์ สังกะสี แผ่นซีดี ขายได้หมด

แต่ราคาคราวนี้กับราคาครั้งก่อน อาจจะรับซื้อไม่เหมือนกัน

เช่นเดียวกับราคาครั้งนี้กับครั้งหน้าก็อาจจะแตกต่าง

ส่วนขยะที่ไม่มีการรับซื้อ อบต.จะให้นำมาแลกกับผลิตภัณฑ์อื่น เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ ซึ่งผลิตจากกลุ่มแม่บ้าน

อัตราการแลกเปลี่ยน มีอาทิ ใบไม้แห้ง 20 กิโลกรัม แลกน้ำยา 1 ขวด

หรือขยะต้องทำลายอย่างภาชนะใส่สารเคมี หลอดไฟ สเปรย์

อบต.กำหนดให้ 20 กิโลกรัม แลกน้ำยาได้ 1 ขวด เป็นต้น

นอกจากเรื่องตลาดซื้อขายขยะแล้ว อบต.ข่วงเปา ยังใช้เครือข่ายช่วยดูแลรักษาป่า

ป่าที่นั่นมีเป็นร้อยไร่ แต่มีการบุกรุกทำสวนลำไยทุกปี

กระทั่งมีการจัดตั้งเครือข่ายสิ่งแวดล้อมขึ้นมา

เครือข่ายนี้ค้นหาวิธีดูแลป่าผืนสุดท้ายของ อบต.ข่วงเปา

กำหนดเขตป่าให้ชาวบ้านรู้ จัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชน

ตั้งกฎกติการ่วมกัน ไม่ให้ใครรุกล้ำทำลายป่า

จัดกิจกรรมบวชต้นไม้ พร้อมกันนั้น ยังได้จัดทำฝายเพื่อฟื้นฟูสภาพป่า

ฝายที่ทำมี 30 กว่าแห่ง แต่ละแห่งช่วยชะลอน้ำไม่ให้ไหลเลยผืนป่าไปเฉยๆ

ฝายจะเป็นเครื่องชะลอน้ำ

น้ำที่ฝายชะลอไว้จะค่อยๆ แผ่แทรกซึมให้ความชุ่มฉ่ำในดิน

เมื่อดินชุ่มชื้น พืชชื่นใจ ป่าไม้ก็ขยายพันธุ์

จากที่แห้งแล้ง ปัจจุบันเริ่มมีความหวัง

ป่าเริ่มเป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ได้บ้างแล้ว

ผลที่เกิดขึ้นให้เห็นในขณะนี้ บรรลุเป้าหมายเบื้องต้น

นั่นคือรักษาแนวป่า ยับยั้งการบุกรุกจากการทำสวนลำไย

จากวันที่ชาวบ้านร่วมดูแลป่าชุมชน

สวนลำไยรุกมาแค่ไหน ปัจจุบันสวนลำไยก็ยั้งหยุดอยู่แค่นั้น

คืบหน้าล้ำเข้าไปในพื้นที่ป่าไม่ได้

ยิ่งเมื่อ อบต.สนับสนุน หน่วยงานราชการเอาด้วย

กิจกรรมในผืนป่าเกิดขึ้นบ่อยๆ เท่ากับว่าป่าไม้มีชุมชนคอยเฝ้าดูแลตลอดเวลา

ยิ่งชาวบ้านตั้งเครือข่าย ตั้งกลุ่มอาสาดูแลสิ่งแวดล้อม ป่าก็ยิ่งมีคนดูแลอยู่เนืองๆ

หากภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และชาวบ้าน จับมือกันทำได้เช่นนี้

อีกไม่นานคงได้เห็นป่าสมบูรณ์กว่านี้เกิดขึ้นในเขต อบต.

ขอเป็นกำลังใจให้ทำกันต่อไป

สำหรับปีนี้ การติดสอยห้อยตามสถาบันพระปกเกล้าลงพื้นที่สิ้นสุดลงแล้ว

รางวัลพระปกเกล้า และรางวัลพระปกเกล้าทองคำ ได้สร้างโมเดลใหม่ๆ ของท้องถิ่นขึ้นมาเยอะ

ลงพื้นที่ทีไร ได้ความรู้ ได้ความคิด พกกลับมาหลากหลาย

บางส่วนคัดมานำเสนอ อีกหลายส่วนยังค้างคา

เล่าได้ไม่หมดไม่สิ้น

เหมือนกับพลังของท้องถิ่นที่มีมากมหาศาล

แต่ที่ผ่านมา มีผู้คนได้สัมผัสและเข้าไปค้นหาน้อย

กระทั่งเมื่อรัฐบาลมีนโยบายกระจายอำนาจ และท้องถิ่นเติบโตขึ้นทันตา

หน่วยงานต่างๆ สนใจ และสลับกันลงไปสัมผัส

พลังของท้องถิ่นจึงค่อยๆ ได้รับการถ่ายทอดออกมา

หลายท้องถิ่นใช้พลังที่เหลือเฟือ ผลักดันจนพัฒนาพื้นที่จนประสบความสำเร็จ

จนบัดนี้ มีโมเดลระดับท้องถิ่นมากมายหลากหลาย

แต่ละโมเดล แต่ละตัวอย่างสามารถนำมาเป็นต้นแบบได้ทั้งสิ้น

หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไหนนำไปศึกษา ดัดแปลง ต่อยอด

น่าจะก่อประโยชน์ให้เกิดต่อองค์กรของท้องถิ่นนั้นๆ ได้

ไม่มากก็น้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image