พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับกระบวนการยุติธรรม โดย สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

     บารมีพระมากพ้น      รำพัน                                                                                                              พระพิทักษ์ยุติธรรม์        ถ่องแท้
บริสุทธิ์ดุจดวงตะวัน      ส่องโลก ไซร้แฮ
ทวยราษฎร์รักบาทแม้   ยิ่งด้วยปิตุรงค์

“ลิลิตนิทราชาคริต” บทนี้ เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันแสดงถึงความจงรักภักดีที่พสกนิกรมีต่อองค์พระมหากษัตริย์ โดยมีหลักความยุติธรรมเป็นตัวเชื่อม ความยุติธรรมจึงเป็นคุณธรรมของบุคคลในกลุ่มในเหล่าตลอดจนในประเทศ หากปราศจากเสียซึ่งความยุติธรรม ผู้คนก็ไม่อาจรวมอยู่เป็นหมู่เป็นเหล่าได้โดยสงบ ความยุติธรรมจึงดำรงอยู่มาชั่วกาลเวลาตั้งแต่สมัยคนยังอยู่ในยุคหิน เมื่อมีผู้คนรวมกลุ่มกันอยู่คนเหล่านั้นก็แสวงหาผลประโยชน์ เริ่มตั้งแต่ความสะดวกสบายในความเป็นอยู่แบบง่ายๆ เช่น แย่งกันหาอาหาร หาเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ธรรมชาติของจิตใจมนุษย์ต่างก็ต้องการความสะดวกสบายเพื่อตนเองก่อนทั้งสิ้น

เมื่อความจำเป็นในการหาสิ่งต่างๆ มาบำรุงความสุขมีมากยิ่งขึ้นก็เกิดการแก่งแย่งในการแสวงหาผลประโยชน์เหล่านั้นทำให้เกิดข้อพิพาทกันอยู่เสมอ เดิมก็ตัดสินใจกันโดยใช้กำลัง สุดแต่ผู้ใดมีกำลังมากก็จะได้ผลประโยชน์นั้นไป โดยหาได้คำนึงถึงความถูกต้องชอบธรรมแห่งการได้มาไม่ ต่อมาเมื่อมวลมนุษย์มีการรวมกลุ่มกันจำนวนมากขึ้น หากยอมให้มีการใช้กำลังในการต่อสู้แย่งชิงกัน กลุ่มชนเหล่านั้นก็จะอยู่ร่วมกันโดยหาความสุขได้ยาก มนุษย์จึงต้องสร้างกฎเกณฑ์ระเบียบแบบแผนของการอยู่ร่วมกันโดยอาศัยการแบ่งกันกินแบ่งกันใช้แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย

เมื่อมีกฎเกณฑ์หรือระเบียบแบบแผนแห่งการอยู่ร่วมกันเกิดขึ้นแล้วก็มีความจำเป็นต้องรักษาระเบียบนั้นเพื่อให้เป็นหลักที่ทุกคนในชุมชนต้องปฏิบัติตาม โดยมอบให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้ตัดสินหรือชี้ขาดหากมีการละเมิดระเบียบดังกล่าวขึ้น

Advertisement

ผู้ที่จะทำหน้าที่นี้ก็มักจะเป็นผู้ซึ่งเป็นที่เคารพของชุมชนเหล่านั้นอันได้แก่ผู้เป็นหัวหน้าหรือประมุขของชุมชนนั่นเอง

ต่อมาสังคมขยายตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งรวมกันเป็นประเทศ ประมุขของประเทศก็จะถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่ตัดสินหรือชี้ขาดข้อพิพาทซึ่งบุคคลในประเทศพิพาทกัน เดิมผู้เป็นประมุขก็จะใช้อำนาจนี้ด้วยตนเอง ต่อมาเมื่อมีภารกิจมากขึ้นผู้เป็นประมุขก็จะมอบอำนาจดังกล่าวให้ผู้ที่ตนไว้วางใจให้ทำหน้าที่นี้แทน

สําหรับประเทศไทย เรามีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขซึ่งเป็นที่เคารพสูงสุดของคนไทยตลอดมา อำนาจในการตัดสินคดีความจึงเป็นของพระมหากษัตริย์ คงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ในสมัยสุโขทัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเป็นผู้วินิจฉัยคดีด้วยพระองค์เอง โดยให้แขวนกระดิ่งไว้ที่หน้าประตูวัง ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินผู้ใดมีเรื่องเดือดร้อนใจก็จะไปสั่นกระดิ่ง พ่อขุนรามคำแหงมหาราชจะเสด็จออกประทับเหนือพระแท่นมนังคศิลาใต้ไม้ตาล และรับวินิจฉัยฎีกาด้วยพระองค์เอง ดังความซึ่งปรากฏในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชตอนหนึ่งว่า

Advertisement

“ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้นั้น ไพร่ฟ้าหน้าปกกลางบ้าน กลางเมือง มีถ้อย มีความเจ็บท้องข้องใจ มันจักกล่าวถึงเจ้าเถิงขุนบ่ไร้ ไปลั่นกระดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยิน เรียกเมื่อถามสวนความแก่มันด้วยชื่อไพรในเมืองสุโขทัยนี้จึงชม”

พระมหากษัตริย์จึงเป็นผู้พระราชทานความยุติธรรมแก่ราษฎรอย่างเสมอภาคโดยทั่วกัน ไม่มีการเลือกชั้นวรรณะ ส่วนหลักที่นำมาใช้ตัดสินคดีก็อาจใช้หลักกฎหมายทั่วไป หลักศีลธรรม ตลอดจนจารีตประเพณีอันดีงาม ครั้นต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยามีการปกครองแบบจตุสดมภ์ แบ่งเป็น เวียง วัง คลัง นา โดยมีเสนาบดีเป็นหัวหน้า เสนาบดีกรมยังมีอำนาจในการพิจารณา พิพากษาคดีด้วย และได้มีการพัฒนากฎหมายทั้งส่วนสารบัญญัติและวิธีบัญญัติและวิธีบัญญัติ

สมเด็จพระเจ้าอู่ทองได้ทรงตรากฎหมายลักษณะพยานขึ้นใน พ.ศ.1894 และพระเจ้าทรงธรรมทรงตรากฎหมายที่เรียกว่า “พระธรรมนูญ” ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการจัดระบบศาลขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าแล้ว

ต่อมาพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราชทรงกอบกู้เอกราชคืนมาได้ขึ้นครองราชย์ ตลอดระยะเวลาดังกล่าวบ้านเมืองตกอยู่ในภาวะสงคราม จึงไม่มีเวลาที่จะมาทำการพัฒนาระบบกฎหมายและศาล

จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้สถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานี จึงได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้ชำระสะสางกฎหมายที่มีอยู่ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยานำมารวบรวมไว้ในที่เดียวกันเรียกชื่อว่า “กฎหมายตราสามดวง” ส่วนศาลก็ยังสังกัดอยู่ในหน่วยงานต่างๆ โดยศาลในหัวเมืองเหนือขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย หัวเมืองใต้ขึ้นกับกระทรวงกลาโหม ศาลในกรุงเทพฯ คือศาลนครบาลขึ้นกับกรมเมือง เป็นต้น

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2434 จึงมีการจัดตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้นและได้รวบรวมศาลต่างๆ ที่กระจัดกระจายสังกัดอยู่ตามส่วนราชการต่างๆ มาขึ้นกับกระทรวงยุติธรรม เป็นการรวบรวมเฉพาะศาลใน พ.ศ.2493 จึงได้มีการรวบรวมศาลหัวเมืองมาสังกัดในกระทรวงยุติธรรม และจัดระเบียบการศาล โดยตรากฎหมายคือ “พระธรรมนูญศาลยุติธรรม” ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2478 แบ่งแยกงานศาลออกเป็นงานธุรการ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รับผิดชอบ

ส่วนงานด้านการพิจารณาพิพากษาคดีให้อยู่ในดุลพินิจของศาลโดยเฉพาะ

ตามประวัติความเป็นมาของกระบวนการยุติธรรมดังกล่าว พระมหากษัตริย์ทุกยุคทุกสมัยจะเป็นหลักในการประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมโดยตลอด โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือในระบอบประชาธิปไตย จะเห็นได้ว่าหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ.2475 และมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใช้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศแล้ว รัฐธรรมนูญทุกฉบับจะมีบทบัญญัติรับรองอำนาจตุลาการไว้เป็น 1 ใน 3 ของอำนาจสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และบัญญัติรับรองว่าอำนาจอธิปไตยมาจากหรือเป็นของปวงชนชาวไทย ตลอดจนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในด้านกระบวนการยุติธรรมไว้ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 บัญญัติไว้ในหมวดที่ 1 มาตรา 8 ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาลที่ได้ตั้งขึ้นตามกฎหมาย” แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 และพุทธศักราช 2517 บัญญัติว่า

“พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล” แม้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งจะมีหลักการสำคัญเกี่ยวกับฐานะของศาลยุติธรรมไว้เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ

กล่าวคือมาตรา 2 บัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”

มาตรา 233 บัญญัติว่า “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” มาตรา 251 บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้พิพากษาและตุลาการและทรงให้พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่กรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย…”

มาตรา 252 บัญญัติว่า “ก่อนรับหน้าที่ผู้พิพากษาและตุลาการต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้…” และตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังกำหนดให้มีศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองตั้งขึ้นเป็นอิสระอีก 2 ศาล พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งตุลาการในศาลทั้งสองด้วย ตามมาตรา 255, มาตรา 277 และมาตรา 278

เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการ ซึ่งแต่เดิมทรงใช้อำนาจนี้ด้วยพระองค์เอง แต่ต่อมาเมื่อมีพระราชภารกิจมากขึ้นจึงมอบให้ข้าราชบริพารซึ่งเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยทำการแทนพระองค์ รัฐธรรมนูญทุกฉบับจึงรับรองความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาตุลาการ โดยให้กระทำภายใต้พระปรมาภิไธยขององค์พระมหากษัตริย์

หรืออีกนัยหนึ่งในนามของพระมหากษัตริย์นั่นเอง เท่ากับเป็นหลักประกันว่าประชาชนที่มีอรรถคดีมาสู่ศาลจะได้รับความเป็นธรรมโดยเท่าเทียมกัน ผู้พิพากษาและตุลาการทุกคนจึงมีจิตสำนึกและตระหนักดีในความสำคัญข้อนี้

การพิจารณาพิพากษาคดีไม่ใช่เรื่องที่ผู้มีความรู้ดีในทางกฎหมายจะทำได้ทุกคน ผู้ที่จะทำหน้าที่ให้ความเป็นธรรมแก่บุคคลทั่วไปจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการอบรมสั่งสมให้จิตวิญญาณของความเป็นผู้พิพากษาเป็นเวลานาน หากผู้ใดคิดว่าตนมีความรู้ในทางกฎหมายแล้วจะมาทำหน้าที่พิพากษาคดีได้โดยไม่ยากนั้น ขอบอกว่าเป็นความคิดที่ผิด

งานของผู้พิพากษาเป็นงานที่แตกต่างจากงานกฎหมายด้านอื่นอย่างไรนั้น จะเห็นได้จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสที่ประธานศาลฎีกานำผู้พิพากษาเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ครั้งแรก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในวันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2524 ความว่า
“งานของผู้พิพากษาเป็นงานที่ยากและซับซ้อน ไม่ได้เป็นงานที่เฉพาะต้องรู้จักจิตใจของคนและรู้จักชีวิตคน ซึ่งถ้ามาพิจารณาดูว่าทำไมต้องมีผู้พิพากษา ทำไมต้องมีกระบวนการยุติธรรม ก็เพราะว่ามีการเบียดเบียนกัน ซึ่งไม่มีใครชอบเบียดเบียนกัน แต่อดไม่ได้ที่จะเบียดเบียนกัน เพราะว่ามีความต้องการที่จะเอาเปรียบกันบ้าง มีความต้องการที่จะตามใจตนเองบ้าง ซึ่งเป็นธรรมดาที่มีอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง งานของผู้พิพากษานี้เป็นการทำหรือเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนที่มีข้อพิพาทต่างๆ มีเบียดเบียนต่างๆ ด้วยการให้ปรองดองกันบ้าง ปรามกันบ้าง หน้าที่ปราบปรามเป็นหน้าที่ของตำรวจ แต่หน้าที่จะให้ความยุติธรรมเป็นหน้าที่ของผู้พิพากษา หน้าที่นี้ยากเพราะว่าความเดือดร้อนยุ่งยากที่เกิดขึ้นมาก็เกิดมาจากความอคติของผู้อื่นนั่นเอง ฉะนั้นที่ผู้พิพากษาจะต้องมีความบริสุทธิใจอย่างแท้จริงและปราศจากอคตินั้น ก็เพราะเราจะต้องมีหน้าที่ไปดับอคติกับความไม่บริสุทธิ์นั่นเอง ถ้าเราไม่ตั้งอยู่ในความบริสุทธิ์ใจ ไม่ตั้งอยู่ในความปราศจากอคตินั้น ก็จะดับไม่ได้ ไม่มีทาง”

และในเรื่องเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาซึ่งเป็นเรื่องยากของการพิจารณาพิพากษาคดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสไว้ในโอกาสที่ประธานศาลฎีกานำผู้พิพากษาเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ในวันศุกร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ.2521 ความว่า

“มีข้อสำคัญที่ว่า ส่วนมากกฎหมายแต่ละมาตรามีว่าผู้พิพากษาจะต้องใช้ดุลพินิจนี้ก็เหตุของงาน แต่ว่าจะต้องใช้ดุลพินิจตรงนี้แหละที่สำคัญ จะต้องใช้สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังที่เขาเบิกความในโรงศาลเป็นประกัน มาประสมประสานกับความดี ความฉลาด และความที่มีอยู่ในตัวที่รับมาก่อน และจิตใจที่สุจริตและยุติธรรมเพื่อที่จะให้ดุลพินิจนั้นซึ่งก็หมายความว่ามาพิจารณามาดูมาเพ่งด้วยความยุติธรรม มาชั่งใจว่าที่เขาเบิกความนั้นกินความแค่ไหน ฉะนั้น การที่ผู้พิพากษาจะต้องว่าความหรือได้ตัดสินใจอย่างไรก็เพราะว่าได้ยินเขาพูดในโรงศาลเขาเบิกความอย่างนี้ ทำอย่างอื่นไม่ได้ อันนี้ข้อนี้มีขอบเขตที่กว้างพอใช้ ถ้ามาประสมประสานกับความคิดความรู้ที่ต้องมีนอกเหนือจากที่ได้ยินในโรงศาล ฉะนั้นก็เป็นงานที่ยากและรับผิดชอบมาก เพื่อจะมีความคิดหรือความรู้ที่ได้จากสิ่งที่ไม่ใช่สิ่งที่ได้ยินในศาล เพื่อที่จะปฏิบัติตามกฎหมายที่ว่าต้องใช้ดุลพินิจนั้น จำต้องทำงานนอกศาลด้วยหมายความว่าผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่เป็นผู้พิพากษา ดูเหมือนว่ามีหน้าที่เพียงแต่เวลาไปนั่งบัลลังก์แต่ว่าเพื่อให้ได้วัตถุดิบ ความรู้เพื่อที่จะมาปฏิบัติตามกฎหมายที่บอกว่าต้องมีดุลพินิจ จะต้องหาความรู้นอกโรงศาลและมาเก็บเอาไว้ มาพิจารณาเตรียมไว้เป็นเครื่องมือ…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวข้างต้นบ่งชัดถึงการทำงานในตำแหน่งหน้าที่ ตลอดจนจิตวิญญาณของคนที่จะเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการโดยไม่จำต้องมีคำอธิบายใดๆ เพิ่มเติม

สําหรับนักกฎหมายซึ่งอยู่ในกระบวนการยุติธรรมสาขาอื่นๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงมีกระแสพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะกรรมการเนติบัณฑิตรุ่นที่ 22 ในวันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2516 ความว่า

“งานในด้านกฎหมายเป็นงานที่สำคัญสำหรับบ้านเมือง เพราะว่าบ้านเมืองของเราจะต้องมีกฎเกณฑ์ มีระเบียบการที่แน่นแฟ้น เพื่อที่จะให้รักษาความยุติธรรมในหมู่ชนความยุติธรรมนี้บางทีก็หายาก เพราะว่าพวกเราอยู่ในจำพวกที่ย่อมต้องนึกถึงผลประโยชน์ผลประโยชน์ต้องอยู่ในขอบเขต มิฉะนั้นจะมีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน กฎหมายก็มีไว้สำหรับช่วยบรรเทาเท่านั้นเอง คือเมื่อการเบียดเบียนเกิดขึ้นแล้วก็แก้ไขเพื่อไม่ให้การเบียดเบียนนั้นลุกลามไป ถ้าเราสามารถที่จะรักษาความเป็นระเบียบและความยุติธรรมได้ โลกเราก็จะอยู่เย็นเป็นสุข มีความสงบเป็นรากฐานสำหรับให้มีความเจริญก้าวหน้าได้ตามความประสงค์…”

พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแก่ผู้พิพากษาและนักกฎหมายตามที่ได้คัดลอกมาบางตอนดังกล่าวข้างต้น แสดงถึงพระราชประสงค์อันแรงกล้าที่จะทรงอำนวยความยุติธรรมให้แก่พสกนิกรของพระองค์อันเป็นการดับทุกข์บำรุงสุขให้แก่ผู้คนในชาติบ้านเมือง โดยถ้ามีพระบรมราชวโรกาสเมื่อใด พระองค์ก็จะทรงกระตุ้นเตือนผู้พิพากษาและนักกฎหมายให้ระลึกถึงหน้าที่และความสำคัญของตนอยู่เสมอ

นอกจากจะทรงห่วงใยในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาแล้ว บางครั้งเมื่อโอกาสอำนวยพระองค์ยังได้เสด็จฯมายังศาลและประทับบัลลังก์พิจารณาพิพากษาคดีร่วมกับผู้พิพากษาด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพระราชทานกำลังใจให้แก่ผู้พิพากษาทั้งหลาย รวมทั้งทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในศาลยุติธรรมอันเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน เช่นเมื่อ พ.ศ.2495 เสด็จฯศาลแพ่งและศาลอาญา วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2500 เสด็จศาลจังหวัดสงขลา วันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2527 เสด็จฯศาลจังหวัดเชียงใหม่

นอกจากพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับนักกฎหมายและผู้พิพากษาดังกล่าวแล้ว พระองค์ยังมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานอภัยโทษแก่จำเลยในคดีอาญาซึ่งต้องคำพิพากษาให้ลงโทษด้วยประการหนึ่งประการใดและคดีถึงที่สุดแล้วอย่างไรก็ตาม การพระราชทานอภัยโทษมิทรงใช้อำนาจตุลาการ หากแต่เป็นพระบรมเดชานุภาพ แม้ในปัจจุบันเราจะมีศาลสูงสุดคือศาลฎีกา และห้ามมิให้มีการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาแล้วก็ตาแต่การพระราชทานอภัยโทษก็ยังปรากฏอยู่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบันนี้ แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน มาตรา 225 ก็ยังมีบทบัญญัติในเรื่องนี้ไว้ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ การพระราชทานอภัยโทษแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

ประเภทแรกคือการพระราชทานอภัยโทษเนื่องจากวาระสำคัญเกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์และประเทศชาติ อันถือเป็นประเพณีที่ปฏิบัตสืบเนื่องกันมาเป็นเวลานาน ตามหลักการของพระราชทานอภัยโทษ ประเภทนี้ เมื่อถึงอภิลักขิตมงคลสำคัญๆ รัฐบาลจะมีคำสั่งตั้งคณะทำงานขอพระราชทานอภัยโทษ โดยมีหลักเกณฑ์ที่รัฐบาลวางไว้เป็นแนวทาง เมื่อคณะทำงานดำเนินการแล้วก็เสนอไปยังคณะกรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาข้อกฎหมาย หลังจากนั้นก็นำเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาก่อนตราเป็นพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ นักโทษที่อยู่ในข่ายจะได้รับพระราชทานอภัยโทษก็คือนักโทษเด็ดขาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาประกาศบังคับใช้

อีกประเภทหนึ่งคือการขอพระราชทานอภัยโทษโดยตรง ผู้มีสิทธิขอพระราชทานอภัยโทษก็คือจำเลย ซึ่งต้องคำพิพากษาลงโทษด้วยประการใดประการหนึ่งและคดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยหรือผู้มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอาจทำได้ หากเป็นผู้ต้องขังอยู่ก็ยื่นเรื่องขอต่อผู้บัญชาการเรือนจำ ทางเรือนจำก็จะส่งเรื่องพร้อมเอกสารไปยังกรมราชทัณฑ์ กรมราชทัณฑ์พิจารณาตามขั้นตอนแล้วเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือถ้าผู้ต้องขังขอพระราชทานอภัยโทษผ่านเรือนจำหรือสำนักราชเลขาธิการก็ได้ในเรื่องเกี่ยวกับการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกานี้”

ศาลตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี ได้กล่าวไว้ในการบรรยายพิเศษในการประสานงานในกระบวนการยุติธรรมว่า “ต่อมาระยะหลังๆ ผู้ต้องโทษทั้งหลายถือเป็นสิทธิที่จะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นเรื่องใหญ่ประจำปีทีเดียว ต้องทำงานกันอย่างเต็มที่ เรื่องทูลเกล้าฯถวายฎีกานี้มีสำนวนประกอบด้วยคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คำพิพากษาศาลฎีกา คำร้องของนักโทษและคำรับรองความประพฤติ…พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรตรวจสำนวนเองแทบทุกเรื่อง เรารู้เพราะมีบางคดีที่ท่านย้อนสำนวนมาให้องคมนตรีพิจารณาอีกครั้งโดยตรง ทรงถามว่าข้อนั้นๆ อยู่ตรงไหน เช่น ทรงถามมาว่าปืนของกลางจับได้เมื่อใด ความจริงแล้วฎีกานักโทษเป็นข้อเท็จจริงทั้งหมด ข้อกฎหมายน้อย ข้อกฎหมายนั้นเราเรียนมาตั้งมากมาย ครูบาอาจารย์ก็มีมากที่จะปรึกษาหารือได้

แต่ข้อเท็จจริงมาจากความวินิจฉัยของตัวคุณคนเดียว ข้อเท็จจริงจึงเป็นเรื่องสำคัญ ข้อกฎหมายตามมาภายหลัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงละเอียด ทรงใช้เวลาวินิจฉัยฎีกานักโทษด้วยพระองค์เอง บางเรื่องก็ง่าย เช่น ยาเสพติดให้โทษ แต่คดียากที่ทรงทักท้วงให้พิจารณาอีกครั้งบ่อยๆ คือ คดีประหารชีวิต และคดีประเภทที่กระทำไปเพราะอารมณ์ คือ คดีหึงหวง แก้แค้น รักใคร่ มักจะทำให้เกิดความยุ่งยาก…”

การที่พระมหากษัตริย์ของประเทศไทยทรงปกครองแผ่นดินโดยทรงยึดมั่นในทศพิธราชธรรม อันเป็นคุณธรรมของพระมหากษัตริย์ ย่อมเป็นหลักในการจรรโลงความสงบสุขแก่พสกนิกรโดยทั่วหน้า ทุกครั้งที่ทรงมีพระราชดำรัสหรือพระบรมราโชวาทแก่ผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมนั้น เปี่ยมไปด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่แสดงถึงความห่วงใยในความสุขของอาณาประชาราษฎร์ สมดังพระราชปณิธานอันมั่นคงที่ได้ทรงมีปฐมบรมราชโองการไว้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 อันเป็นวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

บทความนี้ได้เขียนและนำลงพิมพ์เผยแพร่มาแล้วเมื่อหลายปีก่อน รวมทั้งนำลงพิมพ์ในหนังสือรวมบทความของผู้เขียนซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน เนื่องจากบทความนี้ได้กล่าวถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์กับกระบวนการยุติธรรมไทย ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่มีการนำผู้ปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมีกระแสพระราชดำรัสซึ่งนับว่ามีคุณค่ายิ่ง เป็นการเตือนใจให้บุคคลเหล่านั้นได้ระลึกถึงหน้าที่อันสำคัญยิ่ง คือการอำนวยความยุติธรรมแก่คนทั้งหลายโดยปราศจากอคติ ซึ่งจะปรากฏอยู่ในบทความหลายตอน ดังนั้น เพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านมีต่อผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ผู้เขียนจึงขอโอกาสนำบทความนี้เผยแพร่อีกครั้ง

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image